Interview: คุณกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)
ส่งออกปี 62 หืดจับ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าโต 8% แต่ภาคเอกชนบอกแค่ 5% กว่าๆ ก็ลุ้นกันเหนื่อยแล้ว แจง...ปัญหาคือภาพรวมเศรษฐกิจแย่ สงครามการค้ารุมเร้า ราคาพืชผลเกษตรดำดิ่ง แถมถูกตอกลิ่มด้วยเงินบาทที่แข็งค่าและอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น
ตัวเลขการส่งออกรวมทั้ง 12 เดือนของปี 2561 เป็นอย่างไร
จริงๆ แล้วเราไม่ได้คาดคิดว่าเดือนพฤศจิกายนปี 2561 จะกลายเป็นติดลบ แม้จะติดลบไม่เยอะ แต่ดึงตัวเลขทั้งปีลงไปพอสมควร เพราะตอนช่วงที่ติดลบเดือนกันยายน เรามองว่าไม่น่าจะเกิดอีกแล้ว เพราะช่วงตอนนั้น เกิดกระแสที่สหรัฐอเมริกาเพิ่งจะประกาศเรื่องสงครามการค้ากับจีน และเพิ่งจะพ้นช่วงฤดูร้อนของโลกตะวันออก ก็คิดว่าคงจะไม่มีอะไรทำให้สะดุดอีกแล้ว ก็ไม่คิดเหมือนกันว่าเดือนพฤศจิกายนจะติดลบ ก็กลายเป็นว่า ก็เลยไม่สบายใจว่าจะถึงเป้าที่ทางกระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 8% หรือไม่ เพราะเหลือแค่เดือนเดียวก็จะหมดปี
อย่างไรก็ดี ในปี 2561 ภาพรวมถ้าจะลำบาก ถ้าจะให้มีการเติบโต 8% ซึ่งก็หมายถึงว่าเดือนธันวาคมปี 2561 จะต้องโตมากขึ้นไปอีก เพื่อที่จะไปกลบตัวเลขที่หายไปในเดือนพฤศจิกายน ถามว่าเราจะขึ้นไปถึง 23,000 ล้านบาทได้หรือไม่ ต้องบอกตรงๆ ว่าไม่ง่าย ซึ่งปี 2561 เชื่อว่าน่าจะใกล้ๆ 8%
สาเหตุที่ยอดส่งออกปี 2561 อาจจะไม่ได้ตามเป้าหมาย คืออะไร
มีหลายเรื่อง หากเราดูในภาพรวมก่อน จริงๆ เศรษฐกิจโลกก็มีผลอยู่บ้าง ซึ่งเรายังไม่พูดถึงเรื่องสงครามการค้า โดยเริ่มเห็นการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก จะเห็นว่ากลุ่มรัสเซียเก่าที่แตกออกมาเป็นประเทศอิสระเริ่มเบาๆ ลงไป ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรป ก็มีการพยากรณ์ว่าน่าจะโตได้ประมาณ 2% ก็แผ่วๆ มา ล่าสุดยังไม่ถึงหรือได้ประมาณ 1% เท่านั้นเอง ขณะที่เรื่องเบรกซิท ก็มีผลต่อความมั่นใจของธุรกิจในสหราชอาณาจักรถึงภาพรวมการค้าระหว่างยูเคกับอียูจะเป็นอย่างไรบ้าง ส่วนจีนกับสหรัฐอเมริกา ก็คงเป็นเรื่องกลยุทธ์ทางการค้า เพราะว่าด้วยความที่สหรัฐอเมริกาเองยังต้องการลดการขาดดุลกับจีน ก็เลยผลักดันตัวมาตรการภาษีเข้ามา คือเริ่มเห็นผล ช่วงแรกๆ เรามองว่าเรายังได้อานิสงส์ คือช่วงนี้ยังเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่าน ต่างคนต่างไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ฉะนั้นมันก็เลยมีการนำเข้าสินค้าจากจีนเข้าไปขายในสหรัฐอเมริกาค่อนข้างจะมาก และตัวนี้อาจจะส่งผลว่าซับพลายเชนที่เราเคยส่งของให้กับทางจีนเพื่อประกอบและส่งต่อไป อาจจะชะงักไปช่วงหนึ่ง
ถ้าเราวัดตามมูลค่า เรื่องผลกระทบทางการค้าจะมากน้อยขนาดไหน
ตรงนี้ยังบอกไม่ได้ คือช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาก่อนสิ้นปี 2561 อย่างที่เราติดตามดู เราจะดูว่าสินค้าพิกัดไหนที่เราส่งไปจีนลดลง ตรงนี้เราก็เห็นว่าสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ลดลง เราก็ไปส่งเข้าสหรัฐอเมริกามากขึ้น เพียงแต่ว่าเรื่องมูลค่า เราบอกยาก เพราะเราไม่ค่อยมีสถิติที่แน่นอนของจีนที่ส่งเข้าสหรัฐอเมริกาเอง เราติดตามส่วนที่ไทยส่งไปจีนลดไปเท่าไหร่ และไปโผล่ที่สหรัฐอเมริกาเท่าไหร่ โดยทั่วไปเรายังมองว่าอาจจะต้องรอให้ผลกระทบการขึ้นภาษีมาเต็มที่ก่อน เมื่อถึงเวลานั้น ทางผู้ประกอบการคงจะมีความมั่นใจมากขึ้นว่าจะไปซื้อจากใคร หรือหาที่แหล่งไหน เพราะช่วงนี้สหรัฐอเมริกาก็ยังพยายามถ้อยทีถ้อยอาศัย คือยืดไปก่อน 90 วัน แต่เรื่องสงครามการค้า สุดท้ายคงขึ้นภาษีเต็มในที่สุด ตรงนั้นเราจะเห็นว่าไทยเราจะเข้าไปทดแทนเต็มที่อย่างไร คือช่วงนี้ขึ้นครึ่งๆ กลางๆ ก็กลายเป็นว่ายังมีการส่งจากจีนเข้าสหรัฐอเมริกาอยู่ มีการทำสต็อกอะไรบางอย่างอยู่หรือเปล่า ตรงนี้ประเมินยากนิดนึง
การยืดเวลา 90 วันระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ช่วยหรือไม่
ยังไม่ได้ช่วยไทยเท่าไหร่ ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จริงๆ เราก็เริ่มเห็นว่าการส่งออกจากไทย เริ่มลดลง ถึงแม้จะบอกว่าส่งไปจีนลดลง ส่งไปสหรัฐอเมริกามากขึ้น แต่โดยภาพรวมตัวเลขการส่งออกกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์น่าจะโดนผลกระทบ เนื่องจากจีนซื้ออุปกรณ์ชิ้นส่วนเข้าไปประกอบมาก เราเป็นแค่ซับพลายเชน ถ้าจีนส่งสินค้าสำเร็จรูปเข้าสหรัฐอเมริกาไม่ได้ เราเริ่มเห็นผลกระทบแล้วว่ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อาจจะมีการชะลอตัวลงไปบ้าง
อีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มที่สหรัฐอเมริกาเพ่งเล็งอยู่เหมือนกัน ที่เขาเสียดุลการค้าเยอะ คือกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ตัวนี้เราก็เป็นกังวลว่าตัวเลขการส่งออกจะเป็นอย่างไร เพราะในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 รายงานจากกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า ในกลุ่มของรถยนต์ลดลง อาจจะไม่ได้ลดลงจากเรื่องสหรัฐอเมริกา แต่เป็นผลกระทบจากภาพรวมทั้งหมด
ปี 2562 ประเมินว่าการส่งออกของไทยจะมีการเติบโตอย่างไร
ทางกระทรวงพาณิชย์เองได้มีการประชุมนโยบาย และเป้าหมายการส่งออกเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ทางกระทรวงพาณิชย์พยายามผลักดันการส่งออกให้โตขึ้น โดยวางเป้าไว้ที่ 8% จากปี 2561 ในส่วน สรท. (สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย) เอง เรามองว่า โดยภาวะเศรษฐกิจ สงครามการค้า และราคาสินค้าเกษตรที่เจอหลายเรื่อง ทำให้ราคาไม่สามารถกระเตื้องขึ้นมาได้เร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งยางพารา ซึ่งมองว่าเป้าการเติบโต 8% ในปี 2562 นี้ค่อนข้างลำบาก เรามองไว้ที่ 5% กลางๆ แค่นี้ก็เหนื่อยแล้ว และอีกอย่างในปี 2561 ฐานเราสูงขึ้นมา และที่มองต่อไปหลายองค์กรอย่างไอเอ็มเอฟก็เริ่มออกมาพูดเหมือนกันว่าอัตราการเติบโตในปี 2562 อาจจะเติบโตได้ช้า
นักธุรกิจไทยประสบปัญหาเรื่องบาทแข็ง ดอกเบี้ยขึ้น
เรื่องบาทแข็ง ต้องบอกว่าความรู้สึกผู้ที่เข้ามาลงทุนในไทย เขามองไทยเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพ และเล็งเห็นว่าเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนไม่ว่าจะเป็นเงินระยะสั้นที่เข้ามาในตลาดทุนหรือตลาดหุ้น เท่าที่ผ่านมาหรือลงทุนระยะยาวในปี 2562 นี้นั้น เงินที่เข้ามาลงทุนจะทำให้บาทแข็ง แต่ส่วนหนึ่งเราบอกว่าเราภูมิใจว่าต่างชาติเขาวางใจประเทศไทย แต่ถ้ามองในแง่ส่งออก เราก็จะเหนื่อยหน่อย เพราะสิ่งที่เราส่งออกไป อย่างกลุ่มสินค้าพื้นฐานที่ไม่ได้มี Value Added มาก ซึ่งลูกค้าก็พยายามสร้าง Value Added ให้มากขึ้นในการที่จะไปขาย ไปทำตลาด แต่ในช่วงที่บาทแข็งอาจจะไม่เอื้อต่อสินค้ากลุ่มเกษตรแปรรูปอาหาร เพราะเราใช้วัตถุดิบในประเทศค่อนข้างเยอะ ประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีศุลกากร จีเอสพีกับตลาดยุโรปเราก็ไม่ได้แล้ว ซึ่งเราแข่งขันในตัวสินค้าเดียวกันค่อนข้างลำบาก ตอนนี้เรามีจีเอสพีกับสินค้าที่ไปสหรัฐอเมริกาอยู่บ้าง ถึงแม้ว่าเราจะโดนประกาศยกเลิกไปแล้วประมาณ 11 รายการ แต่ว่าเรายังได้รับอยู่ ตรงนี้ก็ต้องระวัง คือถ้าช่วงบาทแข็งก็ต้องบอกว่าจะเป็นโอกาสให้พวกเราไปดูว่าเราจะปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างไร เราต้องดูเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพ ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง