top of page

ศึกหนักธุรกิจแช่แข็ง...ส่งออกลด 10-15%


Interview: คุณพจน์ อร่ามวัฒนานนท์

รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย

สะท้อนปัญหาหลักธุรกิจแช่เยือกแข็ง ขาดแคลนวัตถุดิบค่าแรงสูง เงินบาทแข็งค่า กระทบยอดส่งออกลดลง 10-15% ต้องเร่งปรับตัว ใช้ประสบการณ์ 80 ปี ผลักดันสินค้าแช่เยือกแข็งให้มีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งเพิ่ม Line การผลิตจากเดิมที่เน้นแต่อาหารทะเล

 

1 ปีผ่านไปอย่างรวดเร็วเป็นอย่างไร ยังหายใจคล่องไหม

คิดว่ารัฐบาลได้ร่วมมือกับภาคเอกชน พยายามแก้ปัญหาสินค้าประมงหรือเรื่อง IUU ใบเหลือง รัฐบาลประสบความสำเร็จแก้ปัญหาเรื่องเทียร์กับ ICAO ขึ้นมาอยู่เทียร์ 2 ธรรมดาแล้ว ก็รอผลอาจจะขึ้นไปเทียร์ 1 ได้ ซึ่งกระบวนการแก้ไขได้มาถูกทางแล้วสำหรับรัฐบาล คิดว่าเร็วๆนี้น่าจะมีข่าวดี

ข่าวดีที่ว่าจะปลดเราออกจากเทียร์และ IUU ใช่ไหม

จากใบเหลือง

หมายความเราแก้มาถูกทางแล้ว

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา เรามีปัญหาจริง รัฐบาลก็พยายามแก้ไข เรื่องใบเหลืองโดนมาตั้งแต่ 4-5 ปีแล้ว และเราโดนเรื่องแรงงานด้วย ปกติใบเหลืองสินค้าประมงของประเทศอื่นก็จะโดนแค่ใบเหลืองเรื่องสินค้าประมง แต่ของเราโดนเรื่องแรงงานด้วย เรื่องเลยยาวไปหน่อย

ทางฝ่ายแรงงานเรียกร้องให้รัฐบาลออก ม.44 ยกเลิกการให้ไทยไปอยู่ภายใต้บังคับแรงงานระหว่างประเทศ

ต้องยอมรับก่อนว่าทุกอย่างเป็นตามหลักสากล คือพันธะสัญญาแรงงาน ILO ใช้กันทั่วโลก บางมาตราบางประเทศรับแล้วแต่บางประเทศไม่รับ ถ้าคุยเรื่อง C188 มีคนร้องเรียนว่ามีผู้รับผิดประเภทต่างๆ ทีนี้เราเองแก้ปัญหาเรื่อง IUU มา เราได้ออกกฎหมายหรือแก้ปัญหาสอดคล้องกับ C188 เกือบหมดแล้ว การที่เราเซ็นไม่ใช่ปัญหา เพราะถ้าเราไม่เซ็นกลายเป็นว่าเราขาดทุน เพราะเราแก้ไปเยอะมากแล้ว การเซ็นแล้วกลายเป็นเรามีภาพพจน์ในนานาชาติที่ดีมาก และเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลและประเทศไทย โดยเฉพาะเราจะเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ซึ่งในอาเซียนจะมีอินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม พม่า มาเลเซีย ที่คุยเรื่องประมงกันอยู่ ซึ่งควรสามารถช่วยผลักดันในเขตอาเซียนให้เป็นประเทศทำประมงถูกกฎหมายให้หมด

รัฐบาลตั้งงบก้อนโตมาก้อนหนึ่ง

งบประมาณที่จะมาซื้อเรือไม่ใช่เพิ่งเกิด เป็นแผนนโยบายมาเกือบ 2 ปีแล้ว เชื่อว่าเป็นแผนการเยียวยาชาวประมงที่บังเอิญมีเรืออยู่ อะไรที่เยียวยาได้ก็เยียวยากันไป ก็มองในลักษณะนี้เพราะเป็นคนไทย

เห็นมีการทำลายเรือเก่าแล้วไปซื้อเรือใหม่ ต่อเรือใหม่

ยังไม่เชื่อว่ามีการต่อเรือใหม่ เพราะเรือเก่าที่รัฐบาลซื้อกลับมาก็ไม่ได้ซื้อมาในราคาที่แพง รัฐบาลมีโครงการที่จะซื้อเรืออยู่ ส่วนเรื่องเรือใหม่ยังไม่มีข่าว

การแก้ไขปัญหาเรื่องประมง โลกก็ดียุโรปก็ดี มองว่าเรา มีเรือมีการจับปลามากเกินไป ทำลายทรัพยากร ตรงนี้คิดว่าตอบโจทย์เขาได้แล้วใช่ไหม

เรื่องเรือประมงในการจับเราตอบไปหมดแล้ว เรื่องกฎหมายและการบังคับใช้ เรื่องแรงงานทางกระทรวงแรงงานก็ออกกฎหมายมาเยอะมาก ขาดฉบับสุดท้าย คือ พ.ร.บ.แรงงานประมงทะเล ซึ่งฉบับนี้จะไปสอดคล้องกับ C188 ซึ่ง C188 กับ พ.ร.บ.แรงงานประมงทะเลเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ว่าต่างเรื่องกัน หมายความว่า พันธะสัญญา ILO ที่เราเซ็นกัน แต่ C188 ไม่ใช่มาบังคับใช้เรา รัฐบาลต้องมาออกพ.ร.บ.แรงงานประมงทะเลให้สอดคล้องกับบ้านเรา

อย่างพวกประมงพื้นบ้านเรียกร้องอะไรก็ได้ที่ทำให้เขาทำประมงพื้นบ้านชายฝั่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับส่งออก

ก็ยังงงอยู่ เพราะเนื้อหาของ C188 ข้อที่ 1 เรือเก่าทั้งหมดไม่คิด นับเฉพาะเรือใหม่ เรือเก่าไม่ว่าจะเป็นประมงพื้นบ้านหรือประมงพาณิชย์พวกนี้ไม่คิด 2. ครอบคลุมตั้งแต่ความยาวเรือ 24 เมตรขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันเรือในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นเรือประมงในน่านน้ำ ตอนนี้ก็หยุดแล้ว เหลือไม่กี่ลำ ส่วนเรือที่จับได้บ้างก็ไม่ได้อยู่ในส่วนนี้ แม่น้ำลำคลองก็ไม่เกี่ยว สามารถทำได้ และปัญหาเกี่ยวกับเรื่องแรงงานประมง ในเนื้อหา ILO C188 มีอยู่ 14 ข้อ ซึ่ง 10 ข้อกฎหมายบ้านเราออกมาแล้ว เหลืออีก 4 ข้อทางกระทรวงแรงงานก็ต้องออกพ.ร.บ.หรือกฎกระทรวง ซึ่งมีการตกลงกับ ILO แล้วว่าจะต้องออกตามสภาพบ้านเรา ทางรัฐบาลก็มีการรับฟังความคิดเห็นมาก่อนล่วงหน้าแล้ว การออกพ.ร.บ.ฉบับใหม่ซึ่งพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานบอกแล้วว่าก่อนจะออกรายละเอียดก็จะเชิญมาคุยกันอีก คือบางข่าวอ่านแล้วก็งง เหมือนไปเซ็น C188 มาแล้วกลายเป็นโดนล็อก ซึ่งมันไม่ใช่

อย่างน้อยยังมีอีก 4 ข้อที่ต้องแก้ไขใหม่ แล้วทำให้เป็นพ.ร.บ.แรงงานประมง ให้เข้ากับสภาพบ้านเรา

ใช่ ตอนนี้เกี่ยวกับเรื่องแรงงานใน C188 มี 14 ข้อ ใน 10 ข้อบ้านเรามีกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งเหลืออีก 4 ข้อ มีข้อหนึ่งที่จำได้ว่าจะต้องทำประกันสังคมให้ลูกเรือ หรือเจ้าของเรือไปซื้อประกันให้ลูกเรือ ก็ได้ไม่ได้บังคับ

ของไทยถ้าจะทำให้ยอมรับกันได้ แล้ว C188 เขาจะรับได้หรือไม่

เท่าที่รับฟังจากรัฐบาลมา ทางรัฐบาลมีการตกลงกับ ILO ไว้แล้วว่ารายละเอียดใน 14 ข้อ จะต้องสอดคล้องกับกฎหมายไทย จะไปทำตามแบบฝรั่งเลยก็ไม่ได้

แรงงานที่ใช้อยู่ในเรือประมงส่วนใหญ่ต้องยอมรับว่าไทยใช้แรงงานต่างด้าวเป็นหลัก ต่างด้าวจะมาทำงานไหมภายใต้กติกาที่ไทยทำอยู่

อันนี้คือจุดสำคัญว่าถ้าเรามีการดูแลเขาภายใต้กฎหมาย ทั้งรายได้และความเป็นอยู่ สุดท้ายถ้าจูงใจ เขาก็มาอยู่ดี อย่างที่รัฐบาลไปตกลงกับพม่ามายอมให้ทำ MOU เรื่องการทำประมง สุดท้ายที่ผ่านมาก็ยังมาไม่เยอะ เพราะฉะนั้นการจูงใจในแง่กฎหมายที่ถูกต้องเชื่อว่าจะจูงใจเขา คือดูจากข่าวที่เขาออกมาต่อว่าหรือร้องเรียนเชื่อว่าหน้าที่ของรัฐสำคัญมากอย่างกระทรวงแรงงาน น่าจะมีการทำแถลงชี้แจงและใช้ใบนั้นเป็นใบกลางเพื่อส่งไปให้แต่ละจังหวัดไปชี้แจงประมง

เรื่องการส่งออกแช่เยือกแข็งของไทยเป็นอย่างไร ค่าเงินบาทเป็นอย่างไร

วันนี้ปัญหาหลักคือค่าเงินบาท และปัญหาวัตถุดิบ อย่างกุ้งเป็นตัวหลักที่เราส่งออก กุ้งปีนี้เหลือแค่ 240,000 ตัน ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วเกือบ 30,000 ตัน เพราะต้องป้อนตลาดในประเทศและตลาดท่องเที่ยวมาก ทำให้ไม่พอส่งออก โรงงานก็ประสบปัญหามาก ส่วนของทะเลเรื่องปลา การจัดระเบียบตรงนี้มีผลกระทบพอสมควร แต่ก็หวังว่าในอนาคตจะดีขึ้น ทำให้ระยะสั้นมีปัญหาเรื่องของจำนวนวัตถุดิบก่อน

แต่ถ้ามองสินค้าเกษตรจุดที่น่าเป็นห่วงจริงคงเป็นเรื่องค่าเงินและค่าแรง หวังว่ารัฐบาลจะไม่ปรับค่าแรง ถ้าปรับอีกรอบเหนื่อยเลย เพราะสินค้าเกษตรตอนนี้มีปัญหาเกือบทุกตัวถ้าเอามาแปรรูป จุดนี้รัฐบาลต้องระวังพอควร

ส่วนค่าเงินบาทเราแข็งมากไปก็เหนื่อย เราจะไปเปรียบเทียบกับประเทศที่การส่งออกดีไม่ได้ เราต้องดูประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรด้วย

ที่บอกว่ามีปัญหาเรื่องสินค้าส่งออกมีไม่พอ ทำไมราคาปลาหมึก กุ้ง ในประเทศถึงตก

มันไม่ตก ตกแค่ 2 เดือนเอง ในช่วงที่ราคาสูงผู้บริโภคก็หันไปบริโภคอย่างอื่น ช่วงที่ตกเป็นช่วงเดือน 8 หน้าฝน ทุกอย่างเป็นจังหวะ ก็มีการประชุมร่วมกับกรมประมง และชาวประมง ก็บอกว่าสักพักก็ขึ้นแล้ว ถึงตอนนี้ก็ดีขึ้น

เห็นโรงงานใหญ่แห่งหนึ่งแถวภาคใต้ถึงขนาดปิดกิจการ

ใช่ ของไม่มี

จะกลับมาเปิดอีกไหม

คงไม่เปิดแล้ว เพราะเขาก็ยุบไปรวมกับโรงงานอื่น ในแง่การส่งออกช่วงนี้อุตสาหกรรมแช่เยือกแข็งมีการประชุมตลอดเวลา เราต้องปรับตัวอย่างแรงมาก มันต้องเปลี่ยนตัวเองจากส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งทุกตัว ต้องเอามาทำในการเพิ่มมูลค่า

ลูกค้าเปลี่ยนเพราะไม่ชอบรับประทานอีก

คงไม่ถึงขนาดนั้น อยู่ที่ฝีมือแต่ละคนในการพัฒนาสูตร เชื่อว่าเราก็ปรับตัวเองเป็นศูนย์กลางของการผลิต อย่าลืมว่าแช่เยือกแข็งบ้านเราในประวัติศาสตร์ของสมาคมฯก็ 50 ปี ก่อนมีสมาคมฯ ก็ 30 ปี รวมเป็น 80 ปีที่เราทำแช่เยือกแข็ง เรามีสมาชิก เรามีกำลังการผลิต เรามีฝีมือการผลิต เชื่อว่าแค่ปรับสินค้าอาหารทะเลเป็นสินค้าตัวอื่น อย่างสินค้าพร้อมรับประทาน เชื่อว่าเราทำได้ แค่ใช้เวลานิดหน่อย ขอให้รัฐบาลช่วยเพราะตอนนี้สมาชิกอ่อนแอมาก ความเสียหายมีพอสมควร

ได้รับความกระทบกระเทือนจากสงครามการค้าไหม

เฉพาะอาหารทะเลไม่ได้เกี่ยวกับตรงนี้ เราทำกับยุโรปและผ่านเทียร์ไปแล้วเรื่องใบเหลือง ของสหรัฐฯที่เราหาอยู่แต่เราไม่มีของและสู้เขาไม่ได้เพราะค่าเงินเราแข็ง ค่าแรงเราแพงกว่าเวียดนาม อินโดนิเซีย อินเดีย และของเราน้อยด้วย แต่สงครามการค้ากลับมองว่าน่าจะเป็นโอกาสถ้าเรามีของ

มูลค่าการส่งออกของแช่เยือกแข็งของไทยในปีที่ผ่านมา

ลงแน่นอน กุ้งลง 10-15% ตัวอื่นก็ประมาณ 15%

ปี 62 จะดีขึ้นไหม

อยู่ที่วัตถุดิบ และการเปลี่ยนตัวเราเองว่าจะทำได้เร็วขนาดไหน อยากทิ้งท้ายเรื่อง C188 เห็นว่าอาจจะมีความเข้าใจผิดในส่วนของการประมง ต้องเป็นภาครัฐที่ต้องชี้แจงดีๆ ผมเองก็รู้รายละเอียดเรื่อง C188 ดีมากเพราะอยู่ในสภาฯอยู่ ก็มีการพูดคุยเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลากับภาครัฐ คือ จะมีผลกระเทือนกับชาวประมงถึงขนาดโวยวายคิดว่าภาครัฐคงทำไม่ได้หรอกในส่วนนี้ ต้องประสัมพันธ์มากให้มีความเข้าใจ

26 views
bottom of page