“การเลือกตั้ง เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่คิดว่านักลงทุนทั้งในและต่างประเทศรอดูผลการเลือกตั้ง ประเมินสถานการณ์ในสภา เรื่องเสถียรภาพการเงินในประเทศ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ การเบิกจ่ายงบประมาณเหล่านี้ ถ้าออกมาในเชิงบวก ก็จะมีผลกับเงินทุนที่จะไหลเข้าประเทศ” ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัย Kbank ให้สัมภาษณ์พิเศษหนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจผ่านรายการเซียนเศรษฐกิจ FM 101
มองความเสี่ยงของเศรษฐกิจธุรกิจไทยในปี 2562 อย่างไร
ยังเป็นประเด็นเรื่องของต่างประเทศ ที่มีน้ำหนักที่สุด คือ ประเด็นเรื่องสงครามการค้าของสหรัฐและจีน จนถึงวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในเชิงบวก มีการเจรจากันเป็นรอบๆ บ้าง เจรจาบ้างหยุดบ้าง เราก็คาดกันว่าสหรัฐอเมริกาคือไม่น่าจะได้ข้อยุติชัดเจน และสหรัฐอเมริกา กรณีที่ดีที่สุดที่เราคาดไว้คือเลื่อนเวลาที่เขาจะปรับภาษี 25% ออกไปอีก คือไม่น่าจะทำในเดือนมีนาคม แต่ว่าสิ่งที่ทำไปแล้ว ก็ยังคงอยู่ คือภาษีต่างๆ ที่ปรับขึ้นไปแล้ว มาตรการต่างๆ ที่ทำไป ถือว่าคุยกันแต่ไม่มีความคืบหน้า
ส่วนเรื่อง Brexit ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง สิ้นเดือนมีนาคมนี้ สภาอังกฤษต้องโหวตอีกครั้ ง โอกาสผ่านก็ยังไม่ชัดเจนว่า จะผ่านได้หรือไม่ ซึ่งส่วนตัวผมมีความกังวลว่าถ้าผ่านไม่ได้ หนทางค่อนข้างจะตีบตัน เพราะต้องเข้าสภา ไม่ว่าจะเป็นการทำประชามติรอบที่สอง ก็ต้องได้เสียงข้างมากของสภา การเลือกตั้งใหม่ก็ต้องได้เสียง 2 ใน 3 ของสภา คือทำอะไรก็จะดูติดขัดไปหมด ในเรื่องของสภา ซึ่งไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฉะนั้นมีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดถ้าตกลงกันไม่ได้ อังกฤษ จะต้องออกจากยุโรปโดยไม่มีอะไรติดมือไปเลย เพราะสภาไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายไปได้
สำหรับเศรษฐกิจโลก เครื่องชี้ต่างๆ ที่ เราเห็นตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา ภาพรวมของอุตสาหกรรม ภาคบริการของหลายๆ ประเทศก็ชะลอตัวลง เศรษฐกิจของโลกเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวที่ชัดขึ้น โดยเมื่อสัปดาห์ก่อนธนาคารกลางยุโรปก็เหมือนกับส่งสัญญาณยอมรับว่า พยายามจะติดตามเรื่องการชะลอตัว คือตรึงดอกเบี้ยไว้ ไม่กล้าขยับขึ้น
จีนก็ได้รับผลกระทบหนัก อย่างนักท่องเที่ยวจีน ก็เริ่มชะลอการไปเที่ยวในต่างประเทศ
ใช่ ทางฝั่งจีนทางการจีนก็ต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาช่วยประคองออกมาอีก ตัวเลขที่เราเห็นและแนวโน้มที่จะชะลอ เครื่องชี้บางตัวก็สะท้อนในภาคอุตสาหกรรมเขาน่าจะเริ่มหดตัว ก็น่าจะมีมาตรการออกมาจากภาครัฐ
นักวิเคราะห์หลายคนก็มองว่ามาตรการ เช่น มาตรการเรื่องสภาพคล่องมันก็แค่ช่วยประคองสถานการณ์ไม่ให้แย่ลงมากนัก แต่ไม่ได้เปลี่ยนในเรื่องของพื้นฐาน เพราะมันไม่ได้นำมาสู่กำลังซื้อใหม่ๆ
ดังนั้น คิดว่าเศรษฐกิจจีนก็จะชะลอลง แล้วก็อันนี้ก็คงเป็นการต่อรองเจรจาต่อเนื่องกันอีกระยะหนึ่งพอสมควรกับสหรัฐอเมริกา
ทำให้มีความเป็นห่วงว่า จีนมีปัญหาจะกระทบไทย จากที่จีนเข้ามาซื้อหลายอย่างโดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์ ท่องเที่ยว
แน่นอนว่าจีนเขาใหญ่ด้วยขนาดเศรษฐกิจ มูลค่าการค้า จำนวนนักท่องเที่ยวก็ไป 1 ใน 3 แล้ว สำหรับประเทศไทย ก็ยังมีความสนใจที่จะเข้ามาไทย มาทั้งอยู่และทำธุรกิจ และมาท่องเที่ยวเยอะมาก
ฉะนั้น ด้วยขนาดที่ใหญ่อย่างนี้ เศรษฐกิจที่ชะลอลง เงินหยวนอ่อนค่าลง แต่โชคดีหลังปีใหม่ เงินหยวนค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ประเด็นเหล่านี้แน่นอนว่าย่อมกระทบไทยเรา เศรษฐกิจไทยโดยในภาคท่องเที่ยว ภาคอสังหาริมทรัพย์ของเราก็ทราบกันดีว่ามีอุปทานส่วนเกิน ซึ่งก็ต้องพึ่งส่วนหนึ่ง บางเซ็กเมนต์ควรต้องพึ่งกำลังซื้อจากนักลงทุนกลุ่มนี้
มองเรื่องการชัทดาวน์ของสหรัฐอเมริกา จะมีผลอย่างไร
อย่างที่เราทราบ ทาง โดนัลด์ ทรัมป์ ก็เหมือนกับยอมถอย แต่ว่าเป็นการยอมถอยชั่วคราวน่าจะถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ ก็ต้องรอดูว่าเขาจะสามารถตกลงกันได้ หรือผ่าทางตันนี้อย่างถาวรได้หรือไม่ หรือโดนัลด์ ทรัมป์ จะกลับมาชัทดาวน์กันอีกหรือเปล่า
เหล่านี้มองว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจมี แต่ไม่มาก แต่มันจะเป็นประเด็นเรื่องการเมืองมากกว่าประเด็นด้านเศรษฐกิจ
ก็เป็นประเด็นที่ตลาดยังต้องตามอย่างน้อยอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า
เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา อยู่ในภาวะแบบไหน
เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกายังดี ยังแข็งแกร่ง เทียบกับยุโรป จีน หรือประเทศเศรษฐกิจชั้นนำอื่นๆ เขาน่าจะมีความสามารถในการขยายตัวได้ดีกว่า เราดูจากการจ้างงานที่มีงานทำต่อประชากร ในความหมายต่างๆ เขาค่อนข้างชี้ว่ากำลังซื้อของเขามี เพราะมันมีประเด็นการเมืองเหล่านี้เกิดขึ้น
ส่วนเฟดเองเราเห็นมาแล้วว่า เฟด ก็เริ่มส่งสัญญาณระมัดระวังมากขึ้นในการปรับขึ้นดอกเบี้ย คิดว่าตลาดก็ลดความคาดหวังการขึ้นดอกเบี้ยลงไป ตอนนี้มองกันว่า เฟด อาจจะขึ้นดอกเบี้ยแค่ครั้งเดียว แล้วเขาคงดูตัวเลขปัจจัยอื่นทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ยังคิดว่าเขาอาจจะขึ้นดอกเบี้ยครึ่งหลังของปีด้วยซ้ำ
ฝั่งยุโรป จะมีผลเรื่อง QE กับเรื่องของค่าเงิน การลงทุนในพันธบัตร ด้วยใช่หรือไม่
ใช่ Brexit จากยุโรปเอง ซึ่งยุโรปมีเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ธนาคารกลางยุโรปไม่น่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างที่เคยคาดการณ์กันไว้ประมาณไตรมาส 4 ของปีนี้ พอมาอย่างนี้ตัวเลขที่เห็นก็ชี้ให้เห็นว่าโอกาสอย่างนั้นน่าจะน้อยลง Brexit ยังดูไม่ออกเลยว่าจะจบอย่างไร มีน้ำหนัก มีโอกาสมากขึ้น ว่าจะจบในทางที่ไม่ดีต่ออังกฤษ เงินผ่อนส่งที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้น่าจะเป็นผลลบต่อเงินปอนด์และเงินยูโร ดอลลาร์น่าจะได้รับแรงหนุนเมื่อเทียบกับ 2 สกุลหลักนี้ในปีนี้ เพราะอย่างน้อยเฟดอาจจะขึ้นได้อีกครั้งเดียว เมื่อเทียบกับคนอื่นที่ทำไม่ได้ แล้วยังมีเรื่องคาอยู่ในยุโรป
สำหรับยุโรปเขาก็จบไปแล้ว แต่เขามีท่าทีที่แบ่งรับแบ่งสู้ก็คือยืดหยุ่นว่า พอเหตุการณ์จำเป็นขึ้นมา คิดว่าเขาพร้อมที่จะปรับให้สอดคล้องกับความเหมาะสมในความจำเป็นของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ คือธนาคารกลางในยุคสมัยนี้เหตุการณ์ความผันผวนสูง คาดการณ์ในรอบยาวๆ เริ่มยากขึ้นเรื่อยๆ เหตุการณ์เปลี่ยน โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยน เงินเฟ้อก็อยู่ในระดับที่ต่ำ น้ำมันก็ต่ำ แล้วเศรษฐกิจเจอโจทย์อื่นๆ ซึ่งไม่ใช่โจทย์หลักอย่างเศรษฐกิจมีเรื่องการเมืองเข้ามา เพราะต้องตอบสนองต่อเหตุการณ์ หรือสิ่งที่ถูกกระทบ คิดว่าถ้าจำเป็นจริงๆ ธนาคารกลางยุโรปก็ยังจะน่ามีเครื่องมือเพียงพอ ถ้าจำเป็นต้องทำ กลับมาใช้ได้
กระแสความเคลื่อนย้ายของเงินทุนจะเป็นแบบไหน จะกลับเข้ามาที่ไทยบ้างหรือไม่
ตั้งแต่หลังช่วงปีใหม่ เงินก็ยังเข้ามาบ้าง ไม่ถึงกับไหลออก คือบ้านเราส่วนตัวคิดว่าอย่างไร เรามีฐานะเรื่องดุลการค้า เรื่องเศรษฐกิจมหภาค ความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่ดี
ฉะนั้นถ้าเทียบกับเป้าหมายอื่นๆ แล้ว นักลงทุนต่างชาตินำเงินมาไว้กับเรามีความมั่นใจ ตรงนี้เป็นจุดดึงดูดเงินลงทุนเข้ามา
ตอนนี้ไทยจะมีเลือกตั้ง นักลงทุนไทยเทศจะมีความมั่นใจมากขึ้น
ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่คิดว่านักลงทุนทั้งในและต่างประเทศรอดูผลการเลือกตั้ง ประเมินสถานการณ์ในสภา เรื่องเสถียรภาพการเงินในประเทศ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ การเบิกจ่ายงบประมาณเหล่านี้ ถ้าออกมาในเชิงบวก ก็จะมีผลกับเงินทุนที่จะไหลเข้าประเทศ
จะเห็นว่าหลายอาทิตย์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ตรงนี้ปกติหรือไม่
ถ้าเราดูเอาง่ายๆ เลย ดูจากเรื่องดุลการค้า บางทีบางช่วงเราอาจจะบอกว่าตัวเลขไม่ดี แต่ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทย ยังถูกประเมินว่ายังน่าจะเกินดุลใกล้เคียงกับปีก่อน ฉะนั้นถ้าเราจะเกินดุลการค้าในขณะนี้เยอะ และเงินไหลออกอย่างที่เราเห็น ก็มันน้อยมาก คือจริงๆ ไม่ได้มีเงินไหลออกในช่วงหลังปีใหม่ ยังไงก็ยังหนุนเงินบาทอยู่
เงินบาทยังมีแรงหนุนจากพื้นฐานของการค้า ซึ่งไม่นับเงินไหลเข้าซึ่งอาจจะเข้ามามากขึ้นในบางช่วง โดยเฉพาะถ้าเขามองว่าความเสี่ยงในเรื่องต่างๆ เพิ่มขึ้น แล้วต้องหาที่ที่มีความมั่นคงปลอดภัย
ถ้าอย่างนั้น ทาง กนง. แบงก์ชาติ เขาน่าจะมีนโยบายเรื่องดอกเบี้ยอย่างไร
มองว่าเรื่องนี้น่าจะแย่กว่าเรื่องค่าเงิน ดูสัญญาณจาก กนง.อย่างที่เราทราบกัน ว่ากนง.ให้น้ำหนักกับเรื่องเสถียรภาพเป็นหลักมากกว่า เสถียรภาพในประเทศ ประเด็นที่เกิดขึ้นจากการก่อหนี้ ประเด็นที่เกิดขึ้นจากภาคอสังหาริมทรัพย์ นำมาสู่มาตรการที่เราเห็น ก็พูดถึงความไม่สมดุลต่างๆ ทำให้ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำนานเกินไป คิดว่าเขาแยกเรื่องนี้ออกจากเรื่องค่าเงิน และก็ยังเดินหน้าตามกรอบที่ กนง. เคยระบุไว้