Interview: ดร.ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ปัจจัยเสี่ยงของโลกและไทยปีนี้ หนักสุดคือสงครามการค้าอเมริกา-จีน ตามมาด้วยนโยบายดอกเบี้ยของเฟด ปัญหา Brexit ของอังกฤษ ปัญหาชัตดาวน์หน่วยงานรัฐของอเมริกา แต่ที่สุดแล้วปัญหาสงครามการค้าอเมริกา-จีน อาจจบลงเร็วกว่าที่คิดแบบวิน-วินทุกฝ่าย ส่งผลให้ตลาดเงิน ตลาดทุนทั่วโลกดีขึ้นในไตรมาส 2 และ 3 ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะไม่หวือหวา แต่ในแง่ความรู้สึก ความมั่นใจ จะดีขึ้นกว่าเดิม
- ขณะนี้เฟด เริ่มแสดงท่าทีว่าจะไม่เข้มข้นเรื่องดอกเบี้ย เรื่องนี้การเมืองเข้ามาแทรกแซงหรือเปล่า
คิดว่าไม่ แต่ถ้าถามว่าผลที่จะมีต่อตลาดทุนของไทย และของตลาดเกิดใหม่ในปี 2562 นี้ อะไรจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อน มันจะเป็นปัจจัยต่างประเทศมากกว่าปัจจัยในประเทศ หลายๆ แห่งจะเป็นแบบนี้ แล้วปัจจัยต่างประเทศจะมีหลายอย่างที่เราจะต้องติดตาม อย่างแรกที่พูดถึงก็คือทิศทางในการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งตอนนี้มีแนวโน้มจะชะลอ หลายคนมองว่าปีนี้จะไม่ขึ้นอีกแล้ว ถัดมาคือปัญหาในเรื่องของเบรกซิท ว่าจะมีความชัดเจนขึ้นมาหรือไม่ ปัญหาในเรื่องการชัตดาวน์ที่มีผลมาจากงบประมาณของสหรัฐอเมริกาว่าจะกลับมาอีกหรือไม่ แต่ทั้งหมดเหล่านี้เป็นปัจจัยรอง โดยปัจจัยหลักที่จะขับเคลื่อนกระแสของตลาดหุ้น ตลาดทุนทั่วโลก แล้วจะเป็นปัจจัยใหญ่ในปีนี้เลย คือการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน
- มองแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างอเมริกากับจีนในรอบนี้อย่างไร
ในแง่การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนมันมีมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว จริงๆ สหรัฐอเมริกาจะมีการออกมาบ่นเป็นครั้งเป็นคราวในเรื่องการขาดดุลการค้า สมัยก่อนก็จะบ่นว่าขาดดุลกับญี่ปุ่น ตอนนี้ก็กับจีน ย้อนไปในหลายประธานาธิบดีแล้วหละ แต่ว่าการเจรจาของแต่ละประธานาธิบดีในอดีตนั้น แนวโน้มหรือทิศทางในการเจรจา คือพยายามจะหาทางอยู่กันให้ได้ เช่นการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกากับจีน ทำอย่างไรจะทำให้มันลดลง
แต่ว่าโดนัลด์ ทรัมป์มาใหม่ เมื่อทรัมป์เข้ามา แนวในการมองจุดยืนระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน เขามองออกว่าถ้าสหรัฐอเมริกาไปตามกระแสปกติ ไม่นานเศรษฐกิจจีนจะขยับขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลก แล้วในประวัติศาสตร์ที่เราเห็นผ่านมาเป็นหลายๆ ร้อยปีเป็นพันปี เราจะเห็นว่าเวลามหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก โดนมหาอำนาจอันดับสองเบียดขึ้นมาแล้วกำลังจะแซง มันก็จะเกิดความเครียด แล้วหลายกรณีกลายเป็นเกิดสงคราม ขณะนี้เป็นครั้งแรกที่เขาตั้งประเด็นว่า ทำไมจะยอมให้จีนแซงสหรัฐอเมริกาง่ายๆ แซงได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นเขาจะต้องมีหมากในการที่จะจัดการเพื่อให้จีนมีอัตราการขยายตัวแบบไม่ต้องเร่งมากเท่าเดิม
ที่สำคัญอีกอันก็คือ เดิมแนวการเจรจาของทางสหรัฐอเมริกา คือคุยกับจีนโดยใช้เวทีที่เราเรียกว่าพหุพาคี คือเป็นเวทีหลายๆ ประเทศมารวมกัน อย่างเช่นข้อตกลง TPP อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งมันจะมีประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ประเทศอะไรต่างๆ เข้ามาร่วม ที่จะมาสร้างแรงกดดันให้กับจีน แต่พอมาเป็นยุคทรัมป์เขาเปลี่ยนมาเป็นลักษณะการเจรจาเป็นคู่ๆ คือสหรัฐอเมริกาชกกับประเทศนี้ประเทศนั้นเป็น ตัวต่อตัว เขารู้ว่าถ้าเขาเจรจาแบบนี้ และเจรจาในเชิงนักเลงมากหน่อย อำนาจต่อรองของเขาจะสูงกว่า
นอกจากนั้น เวลานี้ทรัมป์เขามีอีกปัญหาหนึ่งก็คือ ในการหาเสียงก่อนเข้ามารับตำแหน่ง เขาหาเสียงโดยการตำหนิขบวนการโลกาภิวัฒน์ซึ่งเปิดโล่งให้สหรัฐอเมริกาถูกกระทบจากประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศเกิดใหม่เร็วเกินไป มากเกินไป เพราะฉะนั้น ขณะนี้ทางทรัมป์เขาจำเป็นจะต้องมีการดำเนินการตามที่สัญญาทางการเมืองเอาไว้
เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ถ้าเรามองไปว่าตลอดปีนี้ไปจนถึงปีหน้า จุดโฟกัสหลักของทรัมป์ จะอยู่ที่การสร้างบรรยากาศในการที่จะหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปีหน้า สิ่งที่เขากำลังมองหา คือจะต้องมองหาอะไรที่จะออกมาแล้วประกาศให้เป็นผลงาน เป็นผลงานที่บอกว่าต้องอาศัยฝีมืออย่างทรัมป์เท่านั้นจึงสามารถทำให้เกิดเป็นผลอย่างนี้อย่างนั้นได้ ขณะนี้ผลงานของทรัมป์จะอยู่ที่เรื่องต่างประเทศ พอในประเทศโดนเดโมแครตยึดเอาสภาไปแล้ว การเดินหน้านโยบายภายในของสหรัฐอเมริกายิ่งยากเข้าไปใหญ่ แล้วแนวดำเนินนโยบายของทรัมป์ภายในอเมริกามันทำให้แตกแยกเสียจนมันจะหาวิธีที่จะเชื่อมโยงระหว่าง 2 ฝั่งยากทีเดียว
แต่ว่าในด้านต่างประเทศ ต้องยอมรับว่าทรัมป์มีจุดขายเยอะแยะเลย จุดขายเวลานี้ที่เขาพยายามนำเสนอ พยายามประกาศเป็นชัยชนะ ประกาศว่านี่เป็นสิ่งที่เขาเตรียมออกมาแล้ว เพื่อเป็นผลงานสำหรับการเลือกตั้งปลายปีหน้า สถานการณ์ใหญ่ที่เกี่ยวกับเอเชียเป็นการเจรจากับเกาหลีเหนือ ซึ่งเวลานี้เขาตั้งเป้าเอาไว้ กำหนดเวลาเอาไว้คือปลายเดือนกุมภาพันธ์ แล้วอีกเรื่องคือการเจรจาการค้ากับจีน ซึ่งการเจรจาการค้ากับจีน เดิมทรัมป์ออกมาแล้ว เล่นไม้แรง โดยการประกาศขึ้นภาษีตูมๆ ๆ เดิมเขาก็คิดว่าทำอย่างนั้นไปแล้วจะบีบให้จีน จะต้องโอนอ่อนผ่อนตาม หาวิธีตกลงกับเขาโดยง่าย แต่สิ่งที่เขานึกไม่ถึงก็คือ พอจีนโดนภาษีหนักเข้าไปอย่างนั้น บรรยากาศในการลงทุนในการใช้จ่ายในจีนขณะนี้อ่อนตัวลงไปหมดเลย เศรษฐกิจจีนชะลอลง มันดึงเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่อย่างแรง ประเทศเกิดใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ขายชิ้นส่วนแล้วเอาไปประกอบเป็นไอโฟนที่จีน หรือประเทศเกิดใหม่ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่ขายวัตถุดิบที่เป็นตันๆ แล้วเอาไปถลุงที่จีน ทั้งหมดนี้เวลานี้ถูกกระทบมาก
พอถูกกระทบมากไปอย่างนั้น ก็ทำให้ผลกระทบสะท้อนกลับไปที่สหรัฐอเมริกา ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาทรุดลงมาเป็นช่วงๆ แล้วเริ่มทำให้ทรัมป์เดือดร้อน เพราะเขาแสดงภาพพจน์ว่าการเข้ามาทำหน้าที่ของเขาเชื่อมโยงกับตลาดหุ้นค่อนข้างจะมาก เพราะฉะนั้นเวลาตลาดหุ้นอ่อนยวบลงมาก เขาก็เดือดร้อนและออกมาโวยวายกล่าวหาว่าเฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไป มากเกินไป เกินความจำเป็น อย่างนี้เป็นต้น
ขณะนี้ทรัมป์เองมองเห็นแล้วว่า ถ้าเขาไม่หาทางหาข้อยุติกับจีน ก็จะทำให้ปัญหาวนมาที่ตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาอีก แต่ขณะเดียวกันเขาเองก็ต้องการประกาศชัยชนะ เพราะฉะนั้นส่วนตัวเดาว่าทิศทางในการเจรจาจะทำให้ 2 ฝ่ายมีข้อตกลงกันได้ เป็นข้อตกลงที่ยอมรับกันได้ อย่างน้อยเป็นการชั่วคราว และข้อตกลงอันนี้ ซึ่งเดิมทรัมป์อาจจะตั้งใจประกาศชัยชนะข้อตกลงในไตรมาส 3 ปีนี้ แต่มันอาจจะเร่งขึ้นมาแล้ว จะจบภายในไตรมาส 1 อย่างช้าก็เป็นไตรมาส 2 ตรงนี้พอมันมีข้อยุติแล้ว มันจะทำให้ประเทศเกิดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน หายใจได้โล่งเลย แล้วจะทำให้ความมั่นใจในการกินการใช้ การลงทุนในประเทศเกิดใหม่ดีขึ้นมา กลับขึ้นมาดี ตรงนี้จะเป็นโอกาสที่ส่วนตัวมองจะทำให้ในแง่ของตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกไตรมาส 2-3 ของปีนี้ น่าจะมีโอกาสที่จะก้าวหน้า ก็ด้วยสาเหตุที่มันโยงไปในเรื่องโจทย์ของทรัมป์ในการที่จะกั้นเวทีเพื่อให้เกิดผลงานสำหรับการแข่งขันประธานาธิบดีปลายปีหน้า
- แล้วที่เขาตีความกัน เช่นบรรดาหน่วยงานใหญ่ๆ อย่างเวิร์ลแบงก์ที่บอกว่าเศรษฐกิจปีนี้จะไม่ดี จะเกิดภาวะถดถอย
คิดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจเดิมมันอยู่ในขั้นปลายของวัฎจักรเดิมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขากังวลคือว่าพอมันอยู่ในขั้นปลายคลื่น ความหวังก็คือว่ายอดคลื่นมันยังไม่ลง มันอาจจะส่งยอดคลื่นไปในระดับเดิม หรืออาจจะต่ำกว่าเดิมไม่มาก หรืออาจจะสูงกว่านิดหน่อยไปอีกสักปีสองปี แต่ว่าคนไม่ได้เล็งว่าปีหน้าหรือปีนี้อัตราการขยายตัวจะต้องเพิ่มมากกว่าเดิม 3-4% หรืออะไรมากๆ อย่างนั้น ไม่ถึงขั้นนั้นแล้ว ความหวังตรงนี้มันสะดุดก็เนื่องจากการเจรจาการค้าที่ทรัมป์ชกมวยกับจีน แต่คิดว่าปัญหานี้จะเคลียร์ในไตรมาส 1-2 แล้วต่อให้ตัวเลขจีดีพีการขยายตัวโดยรวม อาจจะไม่กระเตื้องขึ้นมากกว่านั้น แต่ในแง่ของความรู้สึก ความมั่นใจ จะดีขึ้นกว่าเดิม
- สำหรับไทย เราจะอยู่อย่างไรในแวดล้อมแบบนี้
ถ้ามองตลาดทุนของไทย พอความคืบหน้าในแง่ของความปรองดองทางการเมืองมันดูดีขึ้น ตลาดหุ้นมันก็สนองตอบเลย จะเห็นได้อย่างนั้น เพราะฉะนั้นในปีนี้ เป็นปีที่มีพระราชพิธีอันเป็นมงคลด้วยแล้วอย่างนี้ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองคงจะมีความเรียบร้อย แล้วพอมันมีความชัดเจนขึ้นมา การเลือกตั้งจะต้องอะไรอย่างไร ในแง่ของความรู้สึกก็จะดีขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วยิ่งถ้าเป็นจังหวะประจวบเหมาะการเจรจาการค้าสหรัฐอเมริกากับจีนที่จบลงได้ด้วย ก็จะเป็นเรื่องที่ดี
ถ้าถามว่าในแง่นโยบายของพรรคการเมืองที่ส่วนตัววิจารณ์ว่าเน้นเรื่องลดแลก แจก แถม มากเกินไป จริงๆ แล้วเราควรจะหาทางที่ต้องกระตุ้นให้พรรคการเมืองมี 2 เรื่อง คือ 1. ทำอย่างไรเราจะบอกว่าเรื่องการลด แลก แจก แถม การใช้เงิน จะมาหาเงินกันอย่างไร จะมีการปฏิรูป ปรับปรุงในเรื่องของภาระภาษี หรือการหารายได้แค่ไหนอย่างไรหรือไม่ ส่วนเรื่องที่ 2. คือนโยบายของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ผ่านมา มันมีหลายโครงการซึ่งมองข้ามผลประโยชน์ของประชาชนไป แต่ไปเน้นในการสร้างประโยชน์ให้กับนายทุนระดับชาติเฉพาะราย ไม่ว่าจะเป็นออกมาในรูปแบบของโครงการขนาดใหญ่ ในรูปของมาตรการต่างๆ ทั้งหมดนี้ส่วนตัวเองอยากให้แต่ละพรรคนำในเรื่องต่างๆ เหล่านี้มาทบทวน เอามาดูสิว่ามันควรรื้อเพื่อที่จะทำให้การถ่วงดุลอำนาจต่อรองระหว่างประชาชนกับนายทุนให้มันดีขึ้น หลังจากมีการเลือกตั้งไปแล้วอย่างไรหรือไม่