มีคนกล่าวว่า คนไทยยุคดิจิทัล 4.0 ไม่ถืออ่านหนังสือกันแล้ว เพราะคนไทยอ่านหนังสือจาก สมาร์ทโฟน อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์... จึงเกิดคำถามใน “ช่องว่างระหว่างบรรทัด” ว่าก่อนหน้านี้ที่เรายังถือหนังสือเป็นเล่มๆอ่านกัน แม้กระทั่งอ่านหนังสือจากข้างถุงกล้วยแขก ยังให้ความสำคัญกับห้องสมุด มีการทำสถิติกันว่า คนไทยอ่านหนังสือกันวันละ 8 บรรทัด แล้วในยุคดิจิทัลคนไทยอ่านหนังสือเหลือวันละกี่บรรทัด
อย่างไรก็ตามจนถึงวันนี้ การรณรงค์ให้อ่านหนังสือก็ยังเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นมากๆ การอ่านเป็น 1 ใน 4 คาถาของ “พาหุสัจจะ” หรือ "หัวใจนักปราชญ์" คือ "สุ จิ ปุ ลิ”
วันก่อนมีบทความใน ไลน์ของกลุ่มนักคิดทางเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน ที่เรียกตัวเองว่า กลุ่ม FINNOMENA ได้ลงบทความที่น่าสนใจ เลยหยิบมาถ่ายทอดเล่าสู่กัน เป็นบทความใน www.finno.me/reading-tips ที่ระบุถึง เคล็ดไม่ลับของ Mark Tigchelaar ที่สอนเทคนิคในการอ่านหนังสือให้เร็ว เข้าใจ และไม่มีวันลืม ตามนี้....
1. “สมอง” คนเราประมวลผลข้อมูลได้ 800-1,400 คำต่อนาที แต่ความเร็วในการอ่านอยู่ที่ 200 คำต่อนาที เพราะฉะนั้น ขณะที่เราอ่านหนังสืออยู่จะมีพื้นที่สมองว่างๆ ให้คิดฟุ้งซ่านถึงเรื่องอื่นๆ ได้มากมาย
ทีนี้ส่วนที่สำคัญที่ใช้อ่านคือ “ลูกตา” ซึ่งถูกเปรียบว่า เวลาเข้าไปในห้องใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย ลูกตาก็จะมองไปรอบๆ เพื่อสำรวจสิ่งต่างๆ... เวลาอ่านหนังสือก็เหมือนกัน ตาของเราก็จะมองไปรอบๆ หรือบางทีก็มองย้อนไปย้อนมาถึงตัวอักษรก่อนหน้าบ้างบรรทัดข้างบนบ้าง ทำให้สมาธิของเราหลุดลอยไป
วิธีแก้ปัญหา คือ ต้องอุดช่องว่างของสมองด้วยการ “อ่านให้เร็วขึ้น” และทำให้ ลูกตา มีสมาธิจดจ่อกับตัวหนังสือ ทำง่ายๆ โดยใช้นิ้วหรือปากกาจิ้มไปที่ตัวหนังสือ...(อันนี้เป็นเทคนิคเดียวกับที่ครูคนไทยสมัยก่อนส่อนให้เด็กฝึกระหว่างวิชาอ่านเอาเรื่อง จะให้เอานิ้วชี้ไปตามตัวหนังสือที่เด็กอ่าน)... คอยนำสายตาอ่านตามตัวอักษรที่ชี้อยู่ ปรับสปีดการอ่านตามที่ต้องการ ควบคุมจังหวะให้เหมาะสม
แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการ “อ่านให้เร็ว” คือ ต้อง “อ่านให้เข้าใจ” ด้วย
“ไม่ใช่แค่เรื่องการอ่านนะครับ การฟังก็ใช้ได้ด้วย เวลาเราฟัง Youtube, Podcast หรือ Opp Day ลองปรับสปีดเป็น 1.5 หรือ 2 เท่า เพื่ออุดช่องว่างของสมอง จะได้จำได้มากขึ้น ประหยัดเวลาดีด้วย ลองดูครับ” ผู้ถ่ายทอดบทความเทคนิคการอ่าน แนะนำ
2. หลายคนชอบทำงานทีละหลาย ๆ อย่างแบบ Multi-tasking เช่น เปิดคอมหลาย ๆ หน้าจอ ประชุมไปด้วย ตอบเมลล์ไปด้วย เพราะคิดว่าจะทำงานได้เร็วกว่า แต่จริง ๆ ไม่ใช่ สมองกลับทำงานหนักกว่าด้วย
การทำแบบนี้ต้องใช้ “สมาธิแบบรู้ตัว” ในการทำงาน เป็นการที่เราต้องจดจ่อกับตัวงานที่ทำ มันไม่ใช่การทำงานทีละหลายๆ อย่าง... แต่เป็นการสลับงานไปมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นการใช้สมองทำงานสองอย่างในเวลาเดียวกัน ซึ่งกลับทำให้เสียเวลามากขึ้นและจำได้น้อยลง ต่างจากการที่เราเดินไปพูดไป อันนั้นเป็นการใช้ “สมาธิแบบไม่รู้ตัว” ซึ่งเกิดโดยอัตโนมัติ สมองจะจัดการได้
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น เวลาเราจดงานตามคำพูดของครูหรือเจ้านาย ถ้าจดตามทุกคำยังไงก็จดไม่ทัน และไม่ได้ฟังเนื้อหาต่อไปด้วย หรือขับรถไปคุยมือถือไป ขับรถไปแต่งหน้าไป จนรถชนกัน ก็เพราะสมองเราทำงานหลายอย่างพร้อมกัน
วิธีแก้ปัญหา คือ ให้ทำงานทีละอย่าง หรือเวลาประชุมก็ฟังให้จบ เสร็จปุ๊บก็ให้รีบจดเลยว่าเนื้อหาสาระที่ได้ยินมาคืออะไร ... ประเด็นสำคัญ Next Step คืออะไร หรือเวลาอ่านหนังสือก็ไม่ต้องมานั่งจำทุกคำที่อ่าน เอาให้เข้าใจก่อนจบบทหนึ่งค่อยมาเขียนสรุปสิ่งที่จำได้ สิ่งที่สำคัญ
เวลาจด ให้จด “คำนาม” เป็นหลัก เพราะคำเหล่านี้เป็น Key Words พวกคำเชื่อม คำคุณศัพท์ คำขึ้นต้นแบบ a, an, the พวกนี้ไม่ต้องจดมาก็ได้ เพราะไม่ใช่ใจความสำคัญ
3. สมองคนเราจำ “ภาพ” ได้ดีกว่า “ตัวหนังสือ” ในหนังสือของ ของ Mark chelaar ยกตัวอย่างว่า ผู้ชายคนหนึ่งนามสกุล “Baker” ก็จำว่าเป็น “ขนมอบ” ก็จะจำได้ง่ายขึ้น อีกคนชื่อ “จัสติน” ก็ให้นึกถึงนักร้องอย่าง “จัสติน บีเบอร์” การจำตัวเลขก็ให้เปลี่ยนเป็นภาพ หรือ เชื่อมโยงกับตัวเลขที่คุ้นเคย เช่น เห็นเลข 911 หรือของไทยก็ 191 ก็ให้จำว่าเป็นเลขสถานีตำรวจ หรือจะจำแบบนี้ก็ได้
คือ 1 = เทียน 2 = หงส์ 3 = กุญแจมือ 4 = เรือใบ 5 = ตะขอ … จำสัญลักษณ์ประมาณนี้ หรือว่าจะเอาไปแต่งเป็นเรื่องราว เป็นนิทานก็ได้ 4. เวลาเราต่อจิ๊กซอว์ 1,000 ชิ้น ที่แยก ๆ กันมา เราจะเริ่มต้นไม่ถูกเพราะไม่รู้ว่ามันคือภาพอะไร แต่ถ้าให้เราเห็นภาพใหญ่หรือภาพรวมก่อน แล้วค่อยกระจายออกมาเป็นชิ้นเล็ก ๆ แบบนี้เราจะต่อกลับเป็นรูปเดิมได้ เพราะสมองเราจะประมวลภาพได้ชัด....วิธีการนี้เอามาใช้กับการอ่านได้คือ เปิดอ่านคำนำ อ่านสารบัญ อ่านบทสรุป เพื่อจะได้เข้าใจโครงสร้างของหนังสือเล่มนี้ว่าเริ่มต้นและจบอย่างไร พอเรามาอ่านเนื้อหาก็จะเข้าใจได้ง่ายและเร็วขึ้น
อีกวิธีคือ อ่านรีวิวหรือบทสรุปของคนอื่นที่เค้าอ่านมาแล้ว เราก็จะได้เห็นภาพรวมของหนังสือ พอเราไปอ่านเองก็จะเข้าใจง่าย เชื่อมโยงเนื้อหาได้เร็วขึ้น เก็บรายละเอียดได้มากขึ้นด้วย
5. จำนวนชั่วโมงที่อ่านหนังสือไม่ได้แปรผันตรงกับคะแนนสอบ จำนวนชั่วโมงทำงานก็ไม่ได้แปร
ผันตรงกับประสิทธิภาพในการทำงาน พูดง่าย ๆ ก็คือ อ่านหนังสือแบบเอาเป็นเอาตาย หรือทำงานจนดึกดื่น ไม่ได้แปลว่าจะสอบได้คะแนนดี หรือทำงานได้ดี … เหตุผลก็คือ สมองคนเราต้องการเวลาพักผ่อน ถ้ามันซึมซับข้อมูลตลอด มันจะอิ่มตัวแล้วรับอะไรเพิ่มไม่ได้อีก เหมือนเวลาที่เรารู้สึกว่าสมองตื้อหรือรู้สึกเหนื่อย ๆ ล้าๆ นั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องหาให้เหมาะกับตัวเอง เช่น อ่านหนังสือ 30 นาที พัก 5 นาที แล้วกลับมาอ่านใหม่ หรือทำงาน 30 นาที พักมองต้นไม้เขียวๆ สักพัก แล้วกลับมาทำงานต่อ