แกว่งขึ้นต่อระยะสั้น ! ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงปรับตัวดีขึ้นหลังจากได้รับปัจจัยบวกอย่างต่อเนื่องจากความคืบหน้าในการประนีประนอมสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐ โดยการเข้าร่วมหารือในครั้งนี้เพื่อชะลอการเก็บภาษีเพิ่มเติมเป็นเวลา 90 วัน และพยายามที่จะบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยี โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐ และจีนได้เริ่มร่างบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อคลี่คลายประเด็นที่ยุ่งยากที่สุดของข้อพิพาทการค้าระหว่างทั้งสองฝ่าย ถือเป็นความคืบหน้าที่สำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่การยุติสงครามการค้า
นอกจากนี้ทางสหรัฐได้มีการร้องขอให้มีการ Stabilize ค่าเงินหยวน ซึ่งในเดือนที่ผ่านมาจะพบว่าค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น 2% ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดเปิดเผยรายงานการประชุมว่ากรรมการของเฟดส่วนใหญ่เห็นพ้องกับแนวทางการใช้ความอดทนต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งต่อไป แต่ในขณะเดียวกันกรรมการของเฟดส่วนใหญ่มองว่าเฟดควรประกาศแผนยุติการปรับลดการถือครองพันธบัตรก่อนสิ้นปีนี้เพื่อให้กระบวนการการปรับลดงบดุลของเฟดให้กลับสู่ภาวะปกตินั้นมีความแน่นอนมากขึ้น
ทั้งนี้หากเงินเฟ้อมีการเร่งตัวเพิ่มมากกว่าที่คาดการณ์ก็อาจเป็นเหตุจำเป็นให้เฟดพิจารณาปรับเพิ่มขึ้นดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตามเฟดกล่าวว่ายังคงมีความเสี่ยงปัจจัยนอก อาทิ การชะลอตัวเศรษฐกิจของจีนและยุโรป และ Brexit ที่ยังเป็นประเด็นกดดัน ขณะที่เมื่อไปพิจารณาในแง่ของ Momentum จะพบว่าทิศทางของตลาดหุ้นโลกในระยะสั้น 1-2 สัปดาห์น่าจะยังคงอยู่ในขาขึ้นต่อเนื่องได้ หลังจากที่ดัชนี VIX Index ซึ่งมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้าม หรือ Negative Correlation กับตลาดหุ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าดัชนี VIX Index ของสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงปรับตัวลดลง 7.60%, 8.96 % และ 3.25% ตามลำดับ
ขณะที่ปัจจุบันดัชนี VIX Index ของสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงยังคงเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 25 วัน (SMA 25) สะท้อนให้เห็นถึง Momentum ขาขึ้นในระยะสั้นของตลาดหุ้นโลกชัดเจน ซึ่งทิศทางดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้น 4.2% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 39.3% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.3% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 25.4%
ทั้งนี้จากทิศทางดังกล่าวของตลาดหุ้นโลก มีความเป็นไปได้มากที่ตลาดหุ้นเอเชียจะได้รับประโยชน์มากกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นโลก จากทิศทางของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และค่าเงินเอเชียที่แข็งค่าขึ้น โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี US Dollar Index อ่อนค่าลง 0.30% ขณะที่ดัชนี Asian Dollar Index แข็งค่า 0.23% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทิศทางดังกล่าวของค่าเงินดอลลาร์ ส่งผลต่อทิศทางของสินทรัพย์เสี่ยงหรือ Risky Asset ชัดเจน ไม่เฉพาะตลาดหุ้นโลกเท่านั้น สะท้อนออกมาจากการที่ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.75% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าในเชิงปัจจัยพื้นฐาน จะมีปัจจัยลบจากการที่สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้น 3.672 ล้านบาร์เรลต่อสัปดาห์ มากกว่าที่คาดที่ 3.080 ล้านบาร์เรลก็ตาม
ขึ้นต่อรอขาย : ในเชิงเทคนิคตราบใดที่ดัชนี S&P500 ของตลาดหุ้นสหรัฐ, Stoxx50 ของตลาดหุ้นยุโรป และ NIKKEI ของตลาดหุ้นญี่ปุ่น ยังคงเคลื่อนไหวอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA 25 วันได้ ทิศทางของตลาดหุ้นโลกยังคงมีแนวโน้มที่จะอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นในระยะ 1 เดือนข้างหน้า ซึ่งตลาดหุ้นไทยน่าจะได้ประโยชน์จากปัจจัยดังกล่าวด้วย หลังจากที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ไตรมาส 4 ปี 2561 ออกมาขยายตัวขึ้นที่ 3.7% YoY เพิ่มขึ้นจาก 3.2% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยที่ปัจจัยหลักมาจากการบริโภคทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวกลับมาเติบโตในอัตราเพิ่มมากขึ้นเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจไทย โดยการบริโภคภาคเอกชนเร่งขึ้นต่อเนื่อง โดยเติบโตสูงสุดในรอบ 23 ไตรมาสที่ 5.3% YoY ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 5.0%
อย่างไรก็ดี “นายหมูบิน” ยังคงยืนยันว่าตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปยืนเหนือ Fib Node 0.618 บริเวณ 1,700 จุดได้ การดีดตัวขึ้นช่วงสั้นให้มองเป็นแค่การ Technical Rebound ไว้ก่อน และเป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไรระยะสั้น” หรือ “ขายเพื่อปรับต้นทุนระยะกลาง” เนื่องจากตลาดหุ้นโลกยังคงมีความเสี่ยงที่รออยู่อีกพอสมควร โดยเฉพาะจากตลาดหุ้นยุโรป หลังจากที่ล่าสุดธนาคารกลางยุโรป หรืออีซีบีออกมาระบุว่ามีความกังวลต่อการชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจขอสหภาพยุโรปที่ชะลอตัวมากกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ โดยความเสี่ยงภายนอกหลักยังๆคงเป็นปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐที่ยังคงน่ากังวลต่อไป ขณะที่มีระบุว่าอัตราเงินเฟ้อก็ยังคงเป็นประเด็นที่น่ากังวลสะท้อนผ่านทาง Inflation Swap Rate ที่อยู่ในระดับต่ำ โดยที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 1.4% ต่อปีในเดือน ม.ค.2562 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของอีซีบีที่ 2%
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) : ใช้โอกาสที่ SET ดีดตัวขึ้นไม่ผ่าน 1,670 (+/-5) จุด เป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไร” ในลักษณะ “Short-Against” ไปรอ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO,TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: Wealth Hunters Club