Interview: ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผอ.ศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เตือนอย่าเพิ่งดูเบา/วางใจสงครามการค้ามะกัน VS จีน ไม่จบลงง่ายๆ แบบ Happy Ending ดูเพียงแค่ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ อ่อนผ่อนปรนเส้นตาย 1 มีนาคมออกไปไม่ได้ เพียงแต่มะกันยอมเลื่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าเลิกแล้วต่อกัน ไม่เก็บภาษี 2 แสนล้านดอลลาร์ อีกยังมีเรื่องคอขาดบาดตายอย่างคดีจับ CFO หัวเว่ย แคมเปญอเมริกาไม่ให้ใช้โทรศัพท์-ระบบ 5จี ฯลฯ เป็นไปตามความเชื่อฝ่ายความมั่นคงมะกันว่าจีนเป็นชาติอันตราย/ภัยคุกคาม สหรัฐอเมริกาเลยต้องหาทางกำจัดให้ได้ ถึงตรงนี้ไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้นำมะกันต้องเล่นงานจีนลูกเดียว เตือนไทยต้องรักษาสถานะอยู่ให้ถูกที่ถูกทางถูกเวลา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ในท่ามกลางการแผ่อิทธิพลชาติมหาอำนาจ Indo & Pacific
- สถานการณ์โลกโดยรวมมาถึงตรงนี้น่าตื่นเต้นไหม นึกไม่ถึงเลยใช่ไหมว่าประธานาธิบดีทรัมป์กับประธานาธิบดีคิมจะมาพบกันได้
คิดว่าสมควรแก่เวลากลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ กับคิม จอง อึน เพราะว่าเมื่อคราวที่แล้วเดือนมิถุนายน 2018 ที่สิงคโปร์ ข้อตกลง 4 ข้อที่เขาพูดถึงไม่ได้เห็นความคืบหน้าเลย
- มองจะเกิดขึ้นมายังไงบ้าง ทรัมป์พบคิม นัมเบอร์ 2
ข้อแรกต้องรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับอเมริกาโดยเน้นเรื่องเศรษฐกิจและความมั่นคง ทุกคนคาดหวังว่าเพื่อลดแรงกดดันต่อเกาหลีเหนือ เราควรจะเห็นภาพการยกเลิกการทำแซงชั่นหรือบอยคอตเศรษฐกิจกับเกาหลีเหนือ
ข้อที่ 2 พูดถึงเรื่องการสร้างสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งตรงนี้ยังไม่เกิดขึ้นในตัวสนธิสัญญาสันติภาพสงครามเกาหลีที่มีการหยุดยิงเมื่อ 1953
ข้อที่ 3 ต้องทำให้คาบสมุทรเกาหลีปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ ความเป็นจริงคือถ้าตีความตามตัวอักษรหมายถึงยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกา แต่สิ่งที่เราเห็นคือยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรม อาจจะเห็นการพยายามของคิมในการเชิญนักข่าวต่างประเทศเข้าไปและมีการระเบิดฐานทัพ 1 ฐานทัพที่บอกว่าเป็นที่พัฒนาอาวุธนิงเคลียร์ แต่ว่าในความเป็นจริงยังไม่มีกระบวนการต่อเนื่อง ระบบต่อต้านขีปนาวุธทรัมป์ที่อยู่ในเกาหลีใต้ก็ยังไม่มีการเอาออกไป และวงล้อมของอาวุธนิวเคลียร์ของอเมริกาที่เข้ามาในคาบสมุทรเกาหลีก็ยังไม่มีการยกเลิก
มีแค่ประเด็นเดียวที่มีความคืบหน้าใน 4 ข้อตกลง คือ ข้อสุดท้าย การส่งคืนศพทหารในสงครามที่เข้าไปทำภารกิจในช่วงสงครามเกาหลีที่ยังตกค้างในเกาหลีเหนือ มีการส่งกล่องตรงนี้กลับไปที่อเมริกาจำนวน 55 กล่อง ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทุกคนเห็นในเรื่องของศีลธรรมว่าในที่สุดแล้ววีรบุรุษที่มาสงครามได้กลับบ้าน
หลังจากนั้นไม่เห็นความคืบหน้าอะไรเลย ถึงแม้ว่าสัญญาณที่ดีมันไม่เห็นการทดลองอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น ซึ่งตรงนี้ทรัมป์ก็เอาไปประกาศโฆษณาชวนเชื่อทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกว่านี่คือความสำเร็จของเขา แต่ถ้าไม่มีการต่อยอดแน่นอนเกาหลีเหนือยังไม่ได้รับการยกเลิกการทำแซงชั่น ความเป็นไปได้ของเกาหลีเหนือไม่จำเป็นต้องทำตามสิ่งที่ตกลงกันไว้ ก็อาจจะรื้อฟื้นการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ขึ้นมาใหม่และเป็นภัยคุกคามของโลกขึ้นมาใหม่ นาทีนี้เกาหลีเหนือต้องการที่จะเจรจาเพื่อที่ตกลงคุณจะเอายังไงกันแน่ ถึงแม้ในช่วงที่ผ่านมารัสเซียกับจีนจะผ่อนคลายการแซงชันแล้วก็ตาม
แรงกดดันภายในเกาหลีเหนือซึ่งแน่นอนว่าถ้าขาดแคลนหนักคนอดอยากปากแห้งมากอาจจะเกิดการรุกฮือโค่นระบบคิมขึ้นมา ความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นคือระบอบคิมจะอยู่ไม่ได้ ครอบครัวและตัวเขาเองจะไม่ได้รับสถานะผู้นำสูงสุดแบบนี้ในเกาหลีเหนือและเกาหลีเหนือต้องเปลี่ยนระบบไปเลย ถ้าจะคงสถานะนี้ไว้คิมก็ต้องการเจรจา
ขณะที่ทรัมป์ผลงานไม่มีให้เห็นเลยโดยเฉพาะผลงานอื่นๆ เราอาจจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาดีขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่นอกนั้นแล้วไม่เห็นความสำเร็จอะไรเลย โดยเฉพาะนโยบายการสร้างสงครามการค้ากับจีนมันเริ่มส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นต่อสหรัฐมากขึ้นทุกที เพราะฉะนั้นนาทีนี้ทรัมป์ต้องการผลงาน ถึงขนาดก่อนหน้านี้ไปล็อบบี้ชินโซ อาเบะช่วยเขียนเอกสารเพื่อที่จะส่งไปคณะกรรมการรางวัลโนเบลว่าให้รางวัลสันติภาพกับโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งในที่สุดก็มีการปฎิเสธก็แสดงให้เห็นว่าทรัมป์ต้องการอย่างยิ่งในการเจรจาที่จะสร้างผลงานให้กับตัวเอง
- ปธน.ทรัมป์พบกับปธ.คิม ในที่สุดแล้วผลรอบนี้ที่จะมาเจอกันจะดีขึ้น มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันหรือไม่อย่างไร
ตรงนี้เป็นสิ่งไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แม้จะประชุมกัน 27-28 ก.พ.นี้ แล้วแต่ตอนนี้ไม่มี agenda ไม่มีข่าวว่าคณะทำงานทั้ง 2 ประเทศ คือ เกาหลีเหนือ กับ สหรัฐ ได้คุยเจรจาอะไรกันไปแล้วบ้าง คือ ปกติเวลาผู้นำสูงสุดมาเจอกันจะต้องมีการทำงานมาก่อนหน้านั้น ระดับ high level task force ระดับ senior official ระดับ ministry meeting ต้องเกิดขึ้นก่อน ปูทางมาแล้วถึงจะมาระดับผู้นำ ผู้นำก็จะมาลงนามเจรจา อาจจะมีการปรับแต่งขั้นสุดท้ายเล็กน้อย
แต่ในกรณีนี้ไม่เห็นการทำงานพวกนี้มาก่อน เพราะฉะนั้นก็ไม่มีใครรู้ว่าโปรแกรมครั้งนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม การเจอกันแบบ eye to eye ตัวต่อตัว ตาต่อตา อย่างน้อยที่สุดในทางความมั่นคงเป็นสิ่งที่ดีเพราะว่าการมี dialog กันก็ลดความรุนแรงลงได้
- ในฐานะเจ้าบ้านอย่างเวียดนาม จะได้อะไรจากเรื่องนี้
เวทีนี้ก็คอนเฟิร์มว่าทุกประเทศเห็นความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคง บทบาทของเวียดนามในระดับเวทีโลกสูงขึ้นทันที เรื่องหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจน คือ นอกจากคิม จอง อึน จะเดินทางมาเวียดนามเพื่อเจรจาแล้ว คิม จอง อึนก็มาพูดถึงเรื่องของความร่วมมือ การเรียนรู้ ประสบการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม
คือมีความเชื่อในบางความเชื่อที่ปัจจุบันพิสูจน์ว่าผิดพลาด ความเชื่อนั้น คือ มองว่าทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะทำให้คุณสามารถประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะนาทีนี้เศรษฐกิจที่มีมูลค่ามากและใหญ่ที่สุดในโลก คือ จีน ซึ่งแน่นอนไม่ได้เป็นระบบประชาธิปไตย ขณะที่ระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่าสังคมนิยมแบบเอกลักษณ์จีน อาจจะเอากลไกตลาดเข้ามาผสมแต่เขาก็ยังยืนยันว่าเขาเป็นสังคมนิยมเอกลักษณ์จีน และระบบการปกครองยังเป็นประเทศคอมมิวนิสต์อยู่
ขณะที่ประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุดในโลกปี 2019 น่าจะเป็นเวียดนามน่าจะทะลุ 7.9% เพราะฉะนั้นเวียดนามก็เป็นระบบเดียวกัน คือ สังคมนิยมแบบของเวียดนาม แต่เป็นสังคมนิยมที่เอากลไกตลาดเข้ามาปรับใช้ ขณะที่การเมืองการปกครองยังเป็นพรรคคอมมิวนิสต์
ตรงนี้กลายเป็นโมเดลที่คิดว่าเกาหลีเหนือต้องการเรียนรู้ ถึงแม้ระบบเกาหลีเหนือทุกคนอาจจะเรียกว่าเผด็จการแต่สำหรับตัวเขาเองเขาเป็นคอมมิวนิสต์ เขามีพรรคแรงงานเกาหลีที่เป็นคนดูแลและเขาใช้ระบบสังคมนิยมดูแลระบบเศรษฐกิจ
ตรงนี้ทำให้บทบาทของเวียดนามโดดเด่นมากยิ่งขึ้นว่าแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามกลายเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆที่จะเดินตาม
- สงครามการค้าอเมริกากับจีนจะลงเอยด้วยดีใช่ไหม...ล่าสุดเห็นยืดเส้นตายการเก็บภาษีออกไปจาก 1 มีนาคมแล้ว ไปเจรจากันต่อหลังครบ 90 วัน
ไม่น่าจะดี
ต้องเข้าใจก่อนปี 2010 เป็นต้นมา ฝ่ายความมั่นคงของอเมริกาลงมติเป็นเสียงเดียวกันว่าภัยคุกคามของอเมริกาที่อันตรายส่งผลกระทบรุนแรงต่อสหรัฐไม่ใช่ภัยก่อการร้าย โลกร้อน ยกเว้นเรื่องขยายอิทธิพลเศรษฐกิจของจีน นโยบายของผู้นำสหรัฐตั้งแต่สมัยที่ 2 ของโอบาม่า เป็นนโยบายที่สร้างขึ้นมาปิดล้อมจีน วิธีการทำของบารัก โอบาม่า คือ ทำตัวร่วมเข้าไปกำหนดระเบียบโลก ในช่วงนั้นวิธีการปิดล้อมการขยายอิทธิพลของจีนโดยการใช้กรอบการค้า เช่น transpacific partnership TPP หรือ transatlantic trade and investment ในการวางระเบียบต่างๆ การค้าเพื่อสกัดการขยายตัวของจีน
เมื่อเปลี่ยนจากโอบาม่าเป็นทรัมป์ ทรัมป์เป็น businessman เขาไม่ได้ใช้วิธีการมาวางกรอบกติกาแล้วให้ทุกอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามกติกา แต่เขาใช้วิธีการเห็นผลทันที วิธีการปิดล้อมจำกัดเขตจีนของทรัมป์ก็เลยเปลี่ยนจากการจัดระเบียบมาใช้เป็นสงครามการค้า ไม่ว่ายังไงก็ตามต่อจากนี้ไปผู้นำสหรัฐจะเป็นทรัมป์สมัย 2 หรือใครก็ตาม เรื่องการลดอิทธิพลของจีนจะเป็นประเด็นหลักของสหรัฐที่เป็นนโยบายหลักไม่ว่าเป็นผู้นำคนไหนก็ต้องทำ
อย่างเราจะเห็นภาพสหรัฐไปเป็นผู้นำสันติภาพกับเกาหลีเหนือ เรามองว่าบทบาทของสหรัฐทำให้บทบาทของจีนในเวทีลดลงทั้งที่สำหรับเกาหลีเหนือจีนเป็นพี่ใหญ่ ไม่จริงเสมอไปเพราะวันนี้คิม จอง อึน เริ่มออกเดินทางแล้วทั้งที่ประชุมวันที่ 27 ก.พ. แต่ทำไมออกเดินทางตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. เพราะคิม จอง อึน ไม่ได้ขึ้นเครื่องบินจากเปียงยางมาฮานอย วิธีการเดินทางคือขึ้นรถไฟจากเปียงยางข้ามชายแดนไปจีนแล้ววิ่งเข้าเวียดนาม การเดินทางมาประชุมของคิม จอง อึน ก็ยังต้องผ่านจีน ขณะเดียวกันเป็นการคอนเฟิร์มว่าการเชื่อมโยงหลายประเทศของจีนที่จะให้ประสบความสำเร็จที่เรียกว่า อี้ไต้ อี้ลู่ หรือ One Belt One Road หนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง จะเห็นว่าจากเกาหลีเหนือสามารถเชื่อมมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แล้วผ่านทางจีน ตรงนี้ทำให้เราเห็นว่าอิทธิพลของจีนในเวทีนี้ก็ยังมีอยู่ต่อไป แน่นอนอิทธิพลของจีนใหญ่ขนาดนี้สหรัฐคงต้องการปิดล้อมจีนต่อไป
เรื่องสงครามการค้าที่มีการเจรจาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ในระยะยาวการปิดล้อมอาณาเขตจีนยังเกิดขึ้นต่อไป
- เมื่อเป็นแบบนี้ไทยจะต้องเตรียมตัว-รายตัวอย่างไร
คิดว่าไทยใกล้ชิดมากที่สุดกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน จีนยังถือเป็นคู่ประเทศที่ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ การบาลานซ์การแผ่อิทธิพลของจีนลงมากับไทยในบทบาทอาเซียนและบทบาทของประเทศมหาอำนาจไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย ในการปิดล้อมจำกัดเขตจีนโดยใช้นโยบาย Indo-Pacific ตรงนี้สิ่งที่เราต้องทำต้องบาลานซ์ทั้งสถานภาพตำแหน่งให้ดี แน่นอนไทยเป็นประเทศที่ไม่ได้ใหญ่และไม่ได้เล็ก แต่อิทธิพลในเวทีโลกจะมีมากขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรารวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน
ในความเป็นจริงบทบาทของไทยในฐานะประธานอาเซียน ในเวทีอาเซียนเราก็เป็นผู้นำโดยตลอด ตรงนี้จะเป็นการเพิ่มแต้มต่อและทำให้เรามีความสามารถวางตำแหน่งตัวเองท่ามกลางการแผ่อิทธิพลมหาอำนาจใน Indo-Pacific
- ปีนี้เราเป็นประธานอาเซียนซะด้วยซี แล้วยังมีการเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม ผลการเลือกตั้งออกมาจะมีผลไหมต่อการทำหน้าที่
ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ เราไม่เห็นผู้นำที่เสนอตัวว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนไหนเลยที่มีการทำนโยบายเรื่องนี้หรือมีความรู้และเข้าใจในเรื่องนี้ ยกเว้น 1 ท่านที่เห็นการเตรียมพร้อมและเข้าใจเรื่องนี้อย่างดีและมีประสบการณ์ตั้งแต่เข้าใจเรื่องนี้ ปูทางเรื่องนี้ จนหนีตายเรื่องนี้ คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นอกนั้นยังไม่เห็น
ตอนที่ลุงตู่ขึ้นมาเป็นหัวหน้าคสช.ตอนแรกมีความพยายามทำให้เราเห็นในการชูไทยในฐานะผู้นำอาเซียนในห้วงเวลาแรกๆ แต่หลังจากนั้นการให้ความสำคัญดูลดลงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ไม่ชัดเจนเหมือนปีแรก ขณะที่ทีมอื่นยังไม่เห็นความรู้ความเข้าใจในเรื่องการวางนโยบาย ตอนนี้จะเห็นทีมประชาธิปัตย์มีความพร้อมมากที่สุดในการวางตำแหน่งของไทยในอาเซียน
- ไทยในฐานะประธานอาเซียน แต่เวทีจัดประชุมทรัมป์กับคิมอยู่ที่เวียดนาม ทำให้ความเป็นผู้นำของไทยเสียหายหรือไม่
ไม่เกี่ยวเพราะทรัมป์กับคิมไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาเซียน เป็นเรื่องของ 2 ประเทศ เพียงแต่เขาเลือกใช้พื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์-เวียดนาม แต่ไม่ได้เกี่ยวกับอาเซียนโดยตรง
การเข้าไปเวียดนามฝ่ายสหรัฐก็ต้องการใช้เวียดนามเพราะว่าอเมริกาต้องการปิดล้อมเขตจีน ในทางภูมิศาสตร์มีประเด็นเรื่องทะเลจีนใต้อยู่ เดิมอเมริกาเป็นพันธมิตรกับฟิลิปปินส์ในการปิดล้อมจีน เมื่อเปลี่ยนจากเบนิกโน อากีโน เป็น โรดรีโก ดูแตร์เต ฟิลิปปินส์จะร่วมสำรวจทรัพยากรและร่วมใช้ประโยชน์ทะเลจีนใต้ร่วมกับจีน อเมริกาก็เสียพันธมิตรตรงนี้ไป
คนที่ยังมีข้อพิพาทอยู่กับจีนชัดเจนคือเวียดนาม เวียดนามยังมีพื้นที่ทะเลตะวันออกของเวียดนามซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนยังมีปัญหากับจีนอยู่ ถ้าอเมริกาต้องการสร้างพันธมิตรในการปิดล้อมจีนในเรื่องความมั่นคงอเมริกาก็ต้องการเวียดนาม ในเรื่องเศรษฐกิจคู่ค้าอันดับหนึ่งของอเมริกาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ เวียดนาม เขาก็ต้องกระชับความสัมพันธ์ตรงนี้ เป็นความจำเป็นที่ผู้นำระดับโดนัลด์ ทรัมป์ มากระชับมิตรกับผู้นำเวียดนามก็ต้องใช้เวทีนี้
ขณะที่เกาหลีเหนือเรารู้อยู่แล้วว่าเขาเป็นระบบเดียวกันกับเวียดนาม ถ้าอยากเรียนรู้โมเดลการพัฒนา พรรคอมมิวนิสต์เวียดนามนำโดยสมัยโฮจิมินห์ กับพรรคแรงงานเกาหลีเหนือที่สมัยคิม อิล ซ็อง สมัยคุณปู่ของคิม จอง อึน เขาใกล้ชิดกันมาก โฮจิมนห์เคยไปเยือนเกาหลีเหนือและคิม อิล ซ็อง ก็เดินทางไปเยือนฮานอย 2 รอบ เขาใกล้ชิดกันสมัยรุ่นปู่ เขาเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์เดียวกันในช่วงการก่อตั้งพรรค เมื่อเวลาผ่านไปการฟื้นคืนความสัมพันธ์ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องยาก
ขณะเดียวกันเกาหลีเหนืออยู่ได้ด้วยระบบโฆษณาชวนเชื่อ การโฆษณาชวนเชื่อเวียดนามคือแบบอย่างของประเทศที่เคยถูกอเมริกาหั่นออกมาเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ด้วยเส้นขนานที่ 17 เหมือนกับเกาหลีที่ถูกแบ่งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่เส้นขนาน 38 แต่กรณีของเวียดนามการรวมชาติเกิดขึ้นเนื่องจากฝ่ายเหนือที่เป็นคอมมิวนิสต์รวมกับฝ่ายใต้ที่สนับสนุนคอมมิวนิสต์ไล่อเมริกาออกจากเวียดนามได้ในเดือนเมษยน 1975 ความสำเร็จของเวียดนามตรงนี้ คือ อุดมการณ์ อุดมคติ
ถ้าเกาหลีเหนือจะใช้ประเทศไหนเป็นต้นแบบในด้านความสำเร็จของเกาหลีเหนือก็ต้องพูดถึง...เวียดนาม
- สงครามการค้าอเมริกากับจีนมันยังไม่จบ ตอนนี้คนดีใจกันมากที่จะมาคุย คือ เรื่องภาษี 2 แสนล้านที่จะเลื่อนออกไป จาก 1 มีนาคม มองว่ายังมีปัญหาอยู่ไหม
ก็เลื่อนไม่ได้ยกเลิก
การดำเนินคดี CFO หัวเว่ยก็ยังดำเนินคดีต่อไป การรณรงค์ของอเมริกาที่จะไม่ให้ใช้โทรศัพท์ของจีนก็ยังคงเกิดขึ้นต่อไป นโยบายที่จะดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศกลับมาลงทุนในสหรัฐก็ยังคงเกิดขึ้นต่อไป ขณะที่มาตรการกีดกันทางการค้าจะไม่มีอันใหม่เพิ่มขึ้นมา แต่อันเก่าก็ไม่ได้ยกเลิกภาษี เพราะฉะนั้นเอาเข้าจริงก็แค่เลื่อนการมีกำแพงภาษีระลอกใหม่ที่จะเกิดขึ้นออกไป
แต่กำแพงภาษีที่เกิดขึ้นแล้วในครึ่งปีหลังของ 2018 ที่เกิดขึ้นไทยเสียหายไป 26,000 ล้าน จีนเสียหาย 400,000 ล้าน ญี่ปุ่นเสียหาย 168,000 ล้าน อเมริกาเสียหายไป 145,000 ล้าน ไม่มีใครเยียวยาไม่มีใครชดเชยอะไรได้และความเสียหายก็เกิดขึ้นต่อ
เอาเข้าจริงการเจรจามันไม่ได้ใส่มาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่ม แต่มาตรการกีดกันทางการค้าเก่าที่ใส่มาตั้งแต่ต้นปีก็ยังไม่ได้หายไป