top of page
440662.jpg

จับตาประชุมเฟด ผลการเจรจาสหรัฐฯ-จีน...อาจมีผลต่อทิศทางเงินบาทในระยะสั้น


เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงปลายเดือนก.พ. ถึงต้นเดือนมี.ค. 2562 หลังจากแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 5 ปีที่ 31.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทขยับอ่อนค่าเข้าใกล้แนว 31.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าของวันที่ 5 มี.ค. 2562 (ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบ 31.80-31.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงบ่าย) ท่ามกลางแรงกดดันที่มาจากหลายด้าน ทั้งปัจจัยในประเทศ ประกอบกับมีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ จากหลายกลุ่ม อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในระยะ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นภาพที่ค่อนข้างเร็วและมากกว่าสกุลเงินเอเชียอื่นๆ

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะใกล้ๆ นี้ จะมีทั้งปัจจัยภายในประเทศ อาทิ ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทย และปัจจัยทางการเมือง และปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ วันที่ 19-20 มี.ค. 2562 และกำหนดการพบกันระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจีน ในวันที่ 27 มี.ค. 2562 ซึ่งแม้จะมีสัญญาณในเชิงบวก แต่คงต้องยอมรับว่า ยังคงคาดเดารายละเอียดของผลการเจรจาได้ยากในขณะนี้ ทั้งนี้ จากการที่ยังคงมีอีกหลายตัวแปร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งรออยู่ในระยะข้างหน้า ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เงินบาทอาจยังคงเคลื่อนไหวในกรอบที่ค่อนข้างผันผวนต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา

 

Credit: Kasikorn Research Center

bottom of page