Interview: คุณสำเริง แสงภู่วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
และผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต
ปีนี้ร้อนเร็ว แล้งเร็ว กระทบน้ำเพื่อการเพาะปลูก มีใช้ได้ถึงเม.ย.เท่านั้น พื้นที่น่าห่วงเรื่องภัยแล้งปีนี้คืออีสานกลาง อีสานล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ลุ้นรอพายุฝนฤดูร้อนช่วยเติมน้ำในแหล่งน้ำก่อนเข้าหน้าฝนในเดือน พ.ค. วอนเกษตรกรอย่าปลูกผลผลิตเพิ่มในช่วงนี้ ถ้าให้ชัวร์รอไปปลูกช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค. ที่เป็นหน้าฝนอย่างแท้จริง ขณะที่น้ำกิน น้ำใช้มีเพียงพอ แต่ถ้าทุกคนช่วยใช้น้ำอย่างประหยัดจะดีที่สุด
ภาวะฝนแล้งในเมืองไทยขณะนี้เป็นอย่างไร
ถ้าพูดถึงเรื่องแล้ง ประเทศไทยมีกำหนดกฎเกณฑ์เข้าสู่หน้าแล้งมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ตอนนั้นมีการประเมินน้ำที่อยู่หลังฤดูฝน ซึ่งปริมาณน้ำถือว่าโอเคเมื่อเทียบกับเมื่อปีที่แล้ว อาจจะน้อยกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย และที่สำคัญก็คือมากกว่าปี 2557-2559 ที่เราผ่านช่วงภัยแล้งหนักๆ หรือว่ามากกว่า ก็มีการวางแผนใช้น้ำแต่ละภาคส่วนไว้ กำหนดพื้นที่ภาคการเกษตร ที่สำคัญคือมีเกณฑ์จัดสรรว่า อันดับแรก ต้องให้น้ำผู้บริโภคก่อน อันดับสอง รักษาระบบนิเวศ รักษาน้ำเสีย ผลักดันน้ำเค็ม อันดับสาม เป็นเรื่องการสำรองน้ำไว้ใช้ช่วงต้นฤดูฝนคือต้นเดือนพฤษภาคมในกรณีที่ฝนทิ้งช่วง อันดับสี่ คือการปลูกพืชฤดูแล้ง ซึ่งมีการปรับเกณฑ์ว่าช่วงฤดูแล้งพื้นที่ชลประทานปลูกได้เท่าไหร่ นอกเขตปลูกได้เท่าไหร่ โดยทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการวางแผนไว้
แต่ปรากฏว่าพอผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ประมาณวันที่ 21 กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว เราเข้าสู่ฤดูร้อนเร็วกว่าปกติเล็กน้อย พอร้อนเร็ว อุณหภูมิสูงขึ้น ความกังวลก็เกิดขึ้นหลายส่วน เพราะพออุณหภูมิสูงขึ้น ความร้อนในดิน แหล่งน้ำ ในอากาศมันจะเกิดการระเหยมากขึ้น นั่นแปลว่าน้ำจะหายได้เร็วขึ้นอันดับแรก อันดับที่สองที่สำคัญ คือพอตรวจสอบพื้นที่การเพาะปลูกแล้ว หลายๆส่วนมีการเพาะปลูกเกินกว่าที่วางแผนที่กำหนดเอาไว้พอสมควร จึงเป็นความกังวลของทุกภาคส่วน ต้องเร่งทำความเข้าใจกันว่า อย่างน้อยที่ปลูกไปแล้ว ยังพอที่จะประคองอยู่กันได้จนถึงสิ้นฤดูแล้งก็คือสิ้นเดือนเมษายน แต่พยายามขอความร่วมมือว่าอย่าปลูกพืชเพิ่มเลย เพราะบางคนเก็บเกี่ยวเสร็จก็จะปลูกรอบใหม่ ซึ่งการปลูกรอบใหม่จะเป็นปัญหามากแน่ๆ เพราะปริมาณน้ำที่มีคาดว่ากลางๆเดือนเมษายนน่าจะประคองอยู่ได้ ปกติปลายเดือนมีนาคม เมษายนช่วงสงกรานต์ ก็อาจจะมีพายุฤดูร้อนมาผสม ทุกปีก็จะมี แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่าจะมี เราก็ต้องเตรียมไว้ก่อนว่าถ้าไม่มีจะทำอย่างไร ที่สำคัญคือเดือนพฤษภาคมที่บอกฝนจะลง แล้วไม่ลงหรือลงน้อยกว่าที่คิด จะทำอย่างไร ดังนั้น ต้องเร่งทำความเข้าใจก่อนว่าให้ประหยัดมากที่สุด สุดท้ายถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องประคองในส่วนอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศก่อน ซึ่งทุกเขื่อนทุกอ่างในแหล่งน้ำของกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต รวมถึงหนองบึงขนาดใหญ่ วันนี้มีปริมาณน้ำที่ยังพอประคองได้อยู่ แต่ต้องทำความเข้าใจกัน
น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค มองว่ายังสู้ไหวมั้ย พอใช้หรือไม่
ผ่าน แต่ก็มีจุดเปลี่ยนอยู่บ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นจุดเปลี่ยนที่เป็นชุมชนหมู่บ้านหรือนอกเขตการดูแลของการประปาส่วนภูมิภาค ก็จะมีประปาชุมชน ประปา อบต. ประปาท้องถิ่น มีจุดเสี่ยงของพื้นที่เหล่านี้บ้าง เราก็อาศัยกลไกของทางจังหวัด และกรมป้องกันสาธารณภัย ซึ่งเขาดูแลกฎหมายบรรเทาสาธารณภัยอยู่แล้ว มีการเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือ รถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ รวมถึงหน่วยงานที่เขามีเครื่องจักรเยอะๆ เช่นกรมชลประทาน หน่วยงานทหาร อันนี้ก็เป็นหน่วยงานเสริม แต่ระหว่างนี้ยังพอไหวอยู่ และทุกพื้นที่ก็มีการสแกนหมดแล้ว ตรงไหนเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย
ที่สำคัญก็คือทาง สทนช.ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางในการบริหารทิศทาง มีการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับหน่วยที่ดูแลเรื่องน้ำอยู่ ประเมินแหล่งน้ำที่มีอยู่บริเวณในพื้นที่เสี่ยงระยะทางไม่เกิน 50 กิโลเมตร เพื่อให้ทางจังหวัดดูว่าในพื้นที่ตัวเอง ตำบลตัวเองอาจจะไม่มี ตำบลใกล้เคียง จังหวัดใกล้เคียง มีอยู่ตรงไหน เพื่อวางแผนในกรณีฉุกเฉินจะได้นำน้ำเหล่านั้นมาช่วยเหลือได้ ตรงนี้คือส่วนที่แก้ไขสำหรับผู้บริโภค จริงๆแล้วมีการทำแผนแบบนี้ทุกปี วันนี้เราช่วยกันด้วยการชี้เป้าไปให้ว่าตรงไหนเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย โดยวิเคราะห์ปริมาณน้ำที่มีอยู่ วิเคราะห์ความชื้นในดิน วิเคราะห์สภาพอากาศ เรามีหน่วยงานหลายส่วน รวมถึงมีฝนหลวงและการบินเกษตรที่เขามีการวางแผนต่อเนื่อง เช่นมีความชื้นในอากาศเพียงพอ ก็จะเอาเครื่องบินมาเสริมในกรณีที่ฉุกเฉิน
อย่างกรุงเทพฯ มีประชากร 8-10 ล้านกว่าคน มีปัญหาเรื่องน้ำหรือไม่
กรุงเทพฯ ไม่มีปัญหาแน่ เพราะใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ยังโชคดีว่า 2 เขื่อนนี้น้ำเยอะ ไม่มีปัญหาเรื่องการเกษตรและผู้บริโภคเลย พอถึงเวลาก็ปล่อยน้ำมาจากเขื่อนภูมิพลกับเขื่อนสิริกิติ์ไหลลงมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและเข้าคลองประปาเข้ากรุงเทพฯ ก็จะเป็นน้ำมวลเดียวกับที่ใช้การเกษตรในทุ่งเจ้าพระยา ซึ่งทุ่งเจ้าพระยาก็จะมีการปลูกพืชที่ทำการเกษตรที่สูงกว่าแผนที่กำหนดไว้
พื้นที่ไหน หรือจังหวัดไหนที่เป็นห่วง
อีสานกลาง อีสานล่าง รวมถึงภาคกลางตอนบนไปถึงเหนือตอนล่างบางส่วน อย่างเช่นบริเวณขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ส่วนภาคกลางก็จะมีสุพรรณบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี รวมถึงพื้นที่ภาคเหนือบริเวณลุ่มน้ำยมบางส่วนก็มีปัญหา เพราะลุ่มน้ำยม เราไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ตอนบนของลุ่มน้ำ ไม่เหมือนเขื่อนภูมิพล ปิง กับน่าน ที่พอหน้าแล้งก็ปล่อยน้ำลงมา แต่น้ำยมไม่มี พอช่วงหน้าแล้งปุ๊บ ตอนบนไม่มีน้ำปล่อยลงมาก็อาศัยน้ำจากป่าต้นน้ำมาเฉยๆ และตอนหลังป่าต้นน้ำเราก็มีน้อยลง ทำให้การทยอยส่งน้ำมาจากพื้นที่ป่าลงแม่น้ำก็น้อยลง ก็เริ่มมีปัญหาอยู่บ้าง
เขื่อนใหญ่ที่มีปัญหาน้ำไม่พอ มีหรือไม่
ที่เป็นห่วงก็คือเขื่อนอุบลรัตน์ ตอนนี้มีน้ำที่ใช้การได้ประมาณ 5% เอง เขื่อนอุบลรัตน์เป็นแหล่งน้ำมาเลี้ยง ขอนแก่น ร้อยเอ็ด น้ำจะน้อย ก็วางแผนว่าน้ำจริงๆที่มีอยู่ทุกวันนี้อยู่ระดับที่น่าจะใช้ได้ถึงประมาณกลางเดือนเมษายน หลังจากนั้น ถ้าจำเป็นจริงๆ คงต้องปล่อยน้ำบริเวณที่เราสต็อกไว้อยู่ต่ำกว่าระดับท่อที่ปั่นกระแสไฟฟ้า อุบลรัตน์เป็นเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ใช้น้ำเพื่อการบริโภคแล้วก็การเกษตรและพื้นที่ด้านล่างด้วย น้ำข้างล่างอยู่ใต้การวางแผนคือต้องดึงเอามาไว้ใช้ด้วย คือระบายลงลำน้ำ เพื่อให้ข้างล่างได้ใช้น้ำ ตรงนี้คือแผนที่เราวางไว้ ที่สำคัญก็คือลักษณะอย่างนี้เคยใช้แบบนี้มาแล้วในปี 2557-2558 ถึงบอกว่าเรื่องอุปโภคบริโภคไม่น่ากังวล แต่ถ้าปล่อยมาเพื่อเสริมภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นจริงๆคงไม่พอ ก็จะมีแถวบุรีรัมย์ มีเขื่อนตะคองก็น้อย เขื่อนลำพระเพลิง นครราชสีมาก็น้อย แถวภาคกลางก็มีสุพรรณบุรี อุทัยธานี ที่เขื่อนมีปริมาณน้ำน้อยอยู่
อยากฝากอะไรถึงผู้ใช้น้ำ
คงต้องฟังข้อมูลข่าวสารจากทางราชการแล้วช่วยกันประหยัด ถ้ามีเรื่องมีเหตุตรงไหนที่เห็นว่าเสี่ยง ก็ให้รีบแจ้งหน่วยงานราชการ หน่วยราชการจะได้รีบวางแผนช่วยเสริม อย่ารอจนปัญหาหนัก ที่ขอร้องคืออย่าเปิดพื้นที่การเกษตรเพิ่ม นอกจากว่าท่านจะเดือดร้อนจากน้ำไม่พอแล้ว ยังจะพลอยทำให้เพื่อนๆที่ปลูกก่อนแล้วมีผลกระทบ อาจจะเกิดการแย่งชิงน้ำเป็นกรณีพิพาทกัน เป็นเรื่องที่ใหญ่โตในอนาคตเปล่าๆ
พื้นที่ไหนไม่ค่อยให้ความร่วมมือ
คือเขาเห็นน้ำว่ายังพอมีอยู่ แต่เขาไม่รู้ว่าน้ำที่มีอยู่ในลำน้ำ มันสามารถใช้ได้ไม่ถึงสิ้นสุดข้าวออกรวง คือถ้าถึงเมษายน พฤษภาคม ฝนมาล่าช้าไปอาทิตย์สองอาทิตย์ มันก็จะมีปัญหาแน่ๆ ข้าวระหว่างออกรวงจะขาดน้ำไปเลย ซึ่งตอนนี้กรมอุตุนิยมวิทยาวิเคราะห์ว่าปลายเดือนพฤษภาคมฝนลงมาเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ปกติทุกปีถึงแม้ฝนลงแล้วก็มีสิทธิ์ที่จะทิ้งช่วง พอตกสักสองอาทิตย์ ก็จะทิ้งช่วงอาทิตย์สองอาทิตย์ ตรงนี้ก็จะเป็นเรื่องที่ต้องเตือนไว้ รอไปปลูกสักเดือนมิถุนายน กรกฎาคม ที่เข้าสู่ฤดูฝนแท้ๆ เข้าสู่ฤดูเพาะปลูกปกติคือนาปีไปเลยดีกว่า จะได้ไม่เสี่ยง”