top of page

ธ.ก.ส. หนุนคาร์บอนเครดิต ลดก๊าซเรือนกระจกผ่านธนาคารต้นไม้ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล


ธ.ก.ส.เดินหน้ายกระดับโครงการธนาคารต้นไม้ สู่ชุมชนไม้มีค่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า 300,000 ไร่ สนับสนุนการกักเก็บคาร์บอน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แปลงรายได้สู่ชุมชน จัดอบรมผู้ประเมินมูลค่าต้นไม้เพื่อนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ ค้ำประกัน ควบคู่การสร้างอาชีพ รายได้สู่ชุมชน และสร้างความมั่นคงยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นายศรายุทธ ธรเสนา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า

ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการธนาคารต้นไม้ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาพึ่งพาตนเอง โดยการปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเองและของชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สิน ลดความยากจน และยังช่วยเพิ่มพื้นที่ป่า นำไปสู่การสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 6,852 ชุมชน และมีต้นไม้ปลูกเพิ่มขึ้นภายในประเทศกว่า 11.8 ล้านต้น เพื่อขยายผลโครงการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ไม้ทุกชนิดในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ ไม่เป็นไม้หวงห้าม และสามารถนำไม้มาใช้เป็นหลักประกันได้ ธ.ก.ส. จึงสนับสนุนให้ธนาคารต้นไม้ ยกระดับไปสู่ชุมชนไม้มีค่า ในปี 2562 จำนวน 1,000 ชุมชน โดยแต่ละชุมชนต้องมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 50 คน และปลูกต้นไม้เพิ่มอย่างน้อยชุมชนละ 20,000 ต้น และขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ คาดว่าภายใน 10 ปี จะสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศไม่ต่ำกว่า 137 ล้านต้นหรือประมาณ 300,000 ไร่

การสร้างผู้ตรวจประเมินมูลค่าต้นไม้ โดย ธ.ก.ส. ร่วมกับกรมป่าไม้ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อบรมให้ความรู้กับคณะกรรมการและสมาชิกโครงการธนาคารต้นไม้ 400 ชุมชน ๆ ละ 2 คน รวม 800 คน เพื่อทำหน้าที่ประเมินมูลค่าต้นไม้ สำหรับนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน พร้อมสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน นำผลผลิตจากต้นไม้มาสร้างเป็นอาชีพ เช่น นำไม้ที่ได้จากการตัดแต่งกิ่งมาเผาถ่าน นำไม้ที่ครบอายุมาทำเฟอร์นิเจอร์ การแปรรูปพืชสมุนไพร เป็นต้น เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ในรูปวิสาหกิจชุมชนให้คนในชุมชนธนาคารต้นไม้อย่างน้อย 77 กลุ่ม

นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยเติมเต็มองค์ความรู้ให้ชุมชน ในการประเมินมูลค่าการกักเก็บคาร์บอน ตามโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme : LESS) และมอบใบประกาศเกียรติคุณให้กับชุมชนที่ดำเนินการตามมาตรฐาน เพื่อเป็นการการันตี และแปลงมูลค่าคาร์บอน เครดิต สร้างเป็นรายได้คืนสู่ชุมชน โดย ธ.ก.ส. จะนำร่องการประเมินการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกซ์ไซด์ ที่ไปสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของอาคารสำนักงานใหญ่ ธ.ก.ส. บางเขน และอาคารสำนักงานในภูมิภาคทั่วประเทศอีก 9 แห่ง จากนั้นนำผลกระทบดังกล่าว ไปเชื่อมโยงกับชุมชนที่ปลูกต้นไม้ และกักเก็บคาร์บอนในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน พร้อมสนับสนุนเป็นเงินทุนกลับคืนให้กับชุมชน โดยในปี 2562 ตั้งเป้าหมาย ชุมชนละ 50,000 บาท จำนวน 60 ชุมชน รวมวงเงินจำนวน 3 ล้านบาท ซึ่งกิจกรรมของชุมชนถ้ำเสือในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการลดก๊าซเรือนกระจกของ ธ.ก.ส. ด้วย ดังนั้นจึงขอเชิญชวนให้องค์กรภาครัฐ เอกชนที่มีนโยบาย

หรือกิจกรรมที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมสนับสนุนชุมชนที่ปลูกต้นไม้ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนการเพิ่มพื้นที่ป่าให้กับประเทศไทย

นายศรายุทธกล่าวอีกว่า นอกจากแนวทางการสนับสนุนดังกล่าว ธ.ก.ส. ยังได้จัดเตรียมผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนมีการออมเงิน และขยายการลงทุนในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ผ่านสินเชื่อ Green Credit ที่มีเงื่อนไขที่ผ่อนปรน รวมถึงการสนับสนุนสินเชื่อโดยใช้ต้นไม้เป็นหลักประกัน ในส่วนของชุมชนบ้านถ้ำเสือ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นชุมชนที่ดำเนินงานตามหลักการธนาคารต้นไม้มาตั้งแต่ปี 2541 และมีการบริหารจัดการชุมชนเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และการท่องเที่ยว โดยชุมชนจัดทำโฮมสเตย์ที่ได้มาตรฐาน จนได้รับรางวัลกินรีเป็นแห่งแรกของจังหวัดเพชรบุรี และของประเทศ มีกลุ่มอาชีพเพาะกล้าไม้ เพื่อจำหน่ายให้กับสมาชิกและผู้ที่สนใจที่จะปลูกต้นไม้มีค่า มีสถาบันการเงินชุมชนที่ส่งเสริมการออม และให้บริการทางการเงินกับสมาชิก เช่น การจำนำต้นไม้ เพื่อนำเงินทุนไปใช้หมุนเวียนโดยยังไม่ต้องตัดต้นไม้ ทั้งนี้เนื่องจาก ไม้มะฮอกกะนี ไม้พะยูง ไม้สัก มีอายุที่จะจำหน่ายได้ประมาณ 20 ปี เมื่ออายุครบจะมีราคาประมาณ 30,000 บาท ต่อต้น ถือว่าเป็นเงินออมที่ให้ผลตอบแทนสูงมากกว่าการออมรูปแบบอื่น ทั้งนี้ต้นไม้ในโครงการธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือจะมีพิกัด ใน GPS สามารถดูได้ใน Google Map ได้ทุกต้น

7 views
bottom of page