Credit: Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย วันที่ 8 พฤษภาคม 2019 คณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อให้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพียงพอต่อการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ นอกจากนี้ กนง. ยังคงสื่อสารถึงความกังวลเกี่ยวกับ “ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยในประเทศที่ยังมีอยู่สูงระยะข้างหน้า” จึงคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อ “รอประเมินผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ให้ชัดเจนขึ้น”
กนง. ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง จากรายงานการประชุมพบว่า กนง. ยังคงประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมขยายตัวต่ำกว่าที่คาด แต่ได้มีการตัดถ้อยคำ “ขยายตัวใกล้เคียงศักยภาพ” ออกไป นอกจากนี้ กนง. ได้แสดงความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความไม่แน่นอนภายในประเทศ โดยได้ปรับมุมมองต่อการลงทุนภาคเอกชนจาก “มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง” เป็น “มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง” รวมถึงได้ตัดประโยคที่ว่า “ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนที่อยู่ในเกณฑ์ดี” ออกจากรายงานการประชุมครั้งนี้ด้วย ส่วนด้านการส่งออกสินค้านั้น ยังคงพบว่า ขยายตัวชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในด้านการใช้จ่ายภาครัฐก็มีแนวโน้มต่ำกว่าที่ กนง. ประเมินไว้เช่นกัน และ กนง. ได้เพิ่มความกังวลเกี่ยวความไม่แน่นอนทางการเมืองจาก “การดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่” อีกทั้งกล่าวว่า จะติดตามความคืบหน้าของ “การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน” สำหรับความเสี่ยงจากปัจจัยในต่างประเทศ กนง. ยังแสดงความกังกลเหมือนการประชุมครั้งก่อน
กนง. มองอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม โดยราคาพลังงานปรับสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน ช่วยชดเชยผลของราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ นอกจากนี้ กนง. ยังคงการสื่อสารถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นช้ากว่าในอดีตจากผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง
กนง. ประเมินว่า ภาวะการเงินอยู่ในระดับผ่อนคลาย อีกทั้งยังคงแสดงความกังวลต่อความเปราะบางในระบบการเงิน โดยกล่าวถึงภาวะสินเชื่อรถยนต์เพิ่มเข้ามา และเน้นว่าควรใช้เครื่องมือนโยบายที่หลากหลาย โดยจะให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อความสามารถในการ ชำระหนี้ของลูกหนี้ โดย กนง. สื่อสารว่า “ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ” ซึ่งสะท้อนผ่านภาคเอกชนที่สามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้ กนง. ยังได้สื่อสารถึงแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ลดลงแต่ยังคงต้อง “ติดตามสถานการณ์และผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป” ในด้านเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ยังคงประเมินว่า เสถียรภาพโดยรวมยังคงดี แต่ได้กล่าวถึงการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ “สินเชื่อรถยนต์” ที่มีการกล่าวถึงเพิ่มเข้ามา สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ ยังคงรอประเมินผลกระทบภายหลังมาตราการดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) มีผลบังคับใช้ยังคง สุดท้าย กนง. กล่าวว่าการลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในช่วงต่อไปยังจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลด้วยเครื่องมือที่หลากหลายและจะต้อง “ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้”
อีไอซีมองว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ จากความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจที่สูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มีโอกาสออกมาต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย
อีไอซีมองว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้หลัง กนง. ยังแสดงความกังวลต่อความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจที่สูงขึ้น และอีไอซีประเมินว่า ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย อีไอซีมองว่า โอกาสที่ กนง. จะสามารถขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ในปีนี้มีน้อยลงเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อน โดยในรายงานการประชุมรอบนี้ กนง. ได้กล่าวถึงความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งอาจส่งผลต่อการลงทุนภาคเอกชนได้ ขณะที่ ความไม่แน่นอนในต่างประเทศยังคงสูง โดยเฉพาะสงครามการค้าที่กลับมาปะทุขึ้นอีกครั้งในสัปดาห์นี้หลังทรัมป์ขู่ว่าอาจทำการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐจาก 10% เป็น 25% ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็จะส่งผลต่อตัวเลขส่งออกไทยที่จะออกมาต่ำกว่าที่อีไอซีเคยประเมินไว้ที่ 2.7% ในปี 2019 นอกจากนี้ อีไอซียังประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปี 2019 อาจมีค่าต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน โดยจากประมาณการล่าสุด อีไอซีคาดว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2019 จะอยู่ที่ 0.9%
หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีสามารถอยู่ในกรอบเป้าหมาย ตัวเลขเศรษฐกิจปรับดีขึ้นต่อเนื่อง และความเสี่ยงทางการเมืองลดลง ก็อาจทำให้ กนง. ขึ้นดอกเบี้ยได้ในช่วงปลายปี อีไอซีมองว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งต่อไปจะยังคงเป็นการปรับขึ้น เนื่องจาก กนง. ยังมีความตั้งใจที่จะทยอยลดระดับความผ่อนคลายของนโยบายการเงินลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน แต่ยังต้องชั่งน้ำหนักกับผลกระทบด้านลบจากการขึ้นดอกเบี้ยต่อเศรษฐกิจและภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูง โดยอีไอซีประเมินว่า จังหวะเวลาที่ กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างเร็วที่สุดน่าจะเป็นในช่วงปลายปีหากอัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ ความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยคลี่คลายลง และการจัดตั้งรัฐบาลสามารถทำได้ภายในเดือนมิถุนายน (ซึ่งเป็นกรณีฐานที่ กนง. ได้ประเมินและเคยสื่อสารเอาไว้) นอกจากนี้ อีไอซียังมองว่า กนง. จะยังทยอยใช้มาตรการการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential)ในการดูแลความเปราะบางเฉพาะจุดต่อไป