top of page
379208.jpg

นั่งประธานกรรมการบริหาร "ปวีณา" come back เร่งฟื้นชีพ UMI

ปวีณา เหล่าวิวัฒน์วงศ์ ใช้เวลาอันยาวนานและขมขื่นกว่า 5 ปีกู้ศักดิ์ศรีคืน ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ หลังถูก สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวหาและแบล็กลิสต์ว่าเธอกับพวกปั่นหุ้น UMI แล้วสั่งและให้จ่ายเงินค่าปรับจากการกระทำผิดเมื่อเดือนตุลาคม 2556 แต่ด้วยความมั่นใจว่าตัวเองไม่มีความผิด เธอและคณะกรรมการบริษัทจึงไม่ยินยอมจ่ายค่าปรับให้กับ ก.ล.ต. ส่งผลให้ สำนักงาน ก.ล.ต.ส่งฟ้องเธอเป็นจำเลยที่ 1 พร้อมพวก 25 คนต่อ DSI เมื่อเดือนเมษายน 2559 และเข้าสู่กระบวนการศาล ซึ่งนับเป็นข่าวใหญ่โตมากในวงการหุ้นและธุรกิจกระเบื้องเกิดความเสียหาย ทั้งนี้หลังจากที่ใช้เวลาต่อสู้เพื่อทวงความยุติธรรมคืน และยืนยันว่านางสาวปวีณา ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทไม่มีความผิดตามที่ถูก สำนักงาน ก.ล.ต.ตัดสินชี้ผิด โดยระบุว่าเธอกับพวกกระทำผิดกรณีสร้างราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้น UMI ในระหว่างวันที่ 9 ม.ค. ถึง 28 ก.พ. 2556 ทำให้ต้องพ้นสภาพ ไม่สามารถนั่งเป็นผู้บริหารในบริษัท UMI ที่ทำงานมาทั้งชีวิต ตลอดจนบริษัทในเครือได้

ในชั้นแรก นางสาวปวีณา ถูกฟ้องว่ามีความผิดร่วมกับพวก 13 คน และต่อมาได้มีการฟ้องเพิ่มอีก 12 คนเป็น 25 คนซึ่งเป็นคนที่เธอไม่รู้จักมาก่อน

บทสรุปที่เป็นข่าวดีสำหรับ นางสาวปวีณา คือ DSI มีคำสั่งว่าเธอไม่มีความผิด อัยการสั่งไม่ฟ้อง จนเรื่องมาถึงอัยการสูงสุด ใช้เวลาพิจารณาสืบความจนกระทั่งเมื่อ 1 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา อัยการสูงสุดสรุปมีคำสั่งไม่ฟ้อง นางสาวปวีณา รวมกับผู้ถูกฟ้อง 11 คน

“หุ้นที่ถือมา ไม่ได้ซื้อๆขายๆ ก็ถือยาวๆมาเรื่อยๆ จนราคา UMI ขึ้นตั้งเยอะก็ไม่ขาย จนแม้กระทั่งเมื่อต้องลาออกเพราะถูก ก.ล.ต.ฟ้องกับ DSI ราคาหุ้นขึ้นมาก็ไม่ได้ขายแม้มีสิทธิ์ขาย จนถึงทุกวันนี้จำนวนหุ้นที่ถือไม่ได้เปลี่ยนแปลง เพราะเรารักหุ้นนี้รักกิจการนี้ ทำงานทุ่มเทมาตลอด ที่ผ่านมาจึงรู้สึกเสียใจมากกับสิ่งที่ไม่ได้ทำตามข้อกล่าวหา” นางสาวปวีณา เหล่าวิวัฒน์วงศ์กล่าวกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ”

การที่ นางสาวปวีณา เป็นผู้ชนะคดี อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องตามที่ถูกกล่าวหา เธอจึงรอวันที่ สำนักงาน ก.ล.ต. มีหนังสือปลดล็อกจากสภาพ “บุคคลที่ขาดความน่าไว้วางใจเรื่องคุณสมบัติของกรรมการบริหารบริษัท” โดยได้รับหนังสือเป็นทางการยืนยันสถานภาพบริสุทธิ์จากสำนักงาน ก.ล.ต.อย่างเงียบเชียบเรียบร้อยไม่กระตู้วู้

นั่นหมายความว่า นางสาวปวีณา สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์แล้วว่าไม่ได้ปั่นหุ้นตามข้อกล่าวหาของ ก.ล.ต. หมายความว่า จะสามารถกลับเข้ามาบริหาร UMI ได้อีกครั้งหนึ่ง หลังถูกดองมานานกว่า 5 ปี

ด้วยเหตุนี้ ในการประชุมผู้ถือหุ้น นางสาวปวีณา จึงได้รับการเสนอชื่อกลับเข้าเป็นกรรมการ และเป็นผู้บริหารในตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหาร UMI ในการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา

ขณะที่กำลังต่อสู้คดี ทางบริษัท สหโมเสคอุตสาหกรรม หรือ UMI ตกอยู่ในสภาพขาดทุนมาเรื่อยๆ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาแม้ว่าคณะผู้บริหารที่มาทำงานต่างทุ่มเทเต็มที่ แต่ก็เหมือนขาดมือดีนำทัพ ด้วย นางสาวปวีณา คือผู้หญิงแถวหน้าของวงการกระเบื้องเมืองไทยที่มีความชำนาญ ทำงานทุ่มเทสั่งสมประสบการณ์มาอย่างยาวนานชนิดหาตัวจับยากที่จะให้ใครมาแทนที่ได้

นางสาวปวีณา เหล่าวิวัฒน์วงศ์ เหมือน เชนคัมแบ็ก กลับคืนสู่วงการ นั่งเป็นประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัท สหโมเสคอุตสาหกรรม หรือ UMI ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกระเบื้องเซรามิก ภายใต้แบรนด์ 'ดูราเกรส' ด้วยความมุ่งมั่นว่าเธอจะใช้ประสบการณ์และความเก๋าที่มี พลิกฟื้นกิจการกระเบื้องที่ครองมาร์เก็ตแชร์อันดับ 3 ในวงการ ให้กลับพลิกฟื้น เทิร์นอะราวด์ขึ้นมาใหม่ และแปลงสภาพจากขาดทุนเป็นกำไร และนางสาวปวีณากล่าวอย่างตั้งใจว่าจะไม่ทำให้ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร พนักงาน และลูกค้าผิดหวัง

นางสาวปวีณา พร้อมทีมบริหารกรรมการผู้จัดการบริษัทและบริษัทในเครือ เริ่มเดินเครื่องทันทีหลังจากที่กลับเข้ามา โดยทำแผนธุรกิจ 3 ปีข้างหน้า (2562-2564) ที่จะฟื้นยอดขายให้กลับมาเติบโต ตามยุทธศาสตร์คือ

1. รุกตลาดตัวแทนจำหน่ายหรือผู้จัดจำหน่าย (Dealer) ที่ปัจจุบันบริษัทมีกว่า 30 รายทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีการทำตลาดร่วมกับดีลเลอร์แต่อาจจะยังไม่มากส่งผลให้ยอดขายลดลง แต่หลังจากนี้บริษัทจะร่วมมือทำการตลาดกับดีลเลอร์ให้มากขึ้น เนื่องจากมองว่าดีลเลอร์สามารถที่จะเพิ่มยอดขายให้ได้ในปีนี้อย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากฐานลูกค้ายังต่ำ จากปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากดีลเลอร์ และ ร้านค้าปลีก โมเดิร์นเทรด

2. ขยายตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ซึ่งปัจจุบันบริษัทกำลังการตลาดในประเทศลาวได้ดีมาก และในปีนี้กำลังจะขยายตลาดเข้าไปในประเทศเมียนมาและกัมพูชา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากประเทศไทยทำให้ไม่มีภาระเรื่องต้นทุน เนื่องจากกระเบื้องเป็นสินค้าที่มีน้ำหนักสูง การขนส่งไปขายไกลๆ อาจไม่คุ้มค่า เสียเปรียบในด้านต้นทุนค่าขนส่ง การรุกตลาดต่างประเทศปีนี้คาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 10-12% จากที่เคยมีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศไม่ถึง 10%

3. รุกตลาดซื้อมาขายไป โดยในปีนี้บริษัทมีแผนเพิ่มสินค้านำเข้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายในเมืองไทยมากขึ้น จากการจ้างผลิต (OEM) ภายใต้มาตรฐานของบริษัทและติดแบรนด์ของบริษัทด้วย เนื่องจากการ OEM มีต้นทุนต่ำกว่าที่บริษัทจะผลิตสินค้าเอง โดยล่าสุดบริษัทพึ่งเดินทางไปดูโรงงานในประเทศอินเดีย ในการจ้างผลิตสินค้าและนำเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย หลังจากที่ผ่านมาบริษัทมีการนำสินค้าจากโรงงานในประเทศจีนเข้ามาแล้ว ตั้งเป้าหมาย 3 ปีข้างหน้าสัดส่วนรายได้สินค้า OEM จะอยู่ที่ 30% และสินค้าที่ผลิตเอง 70% จากปัจจุบัน OEM 10% และที่เหลือ 90% ผลิตเอง

4. ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Commerce โดยเมื่อปี 2561 บริษัทเปิดเว็บไซต์ของตัวเอง ซึ่งถือว่าได้รับกระแสตอบรับจากลูกค้าทั่วไปและดีลเลอร์ที่ดี เนื่องจากในเว็บไซต์ของบริษัทมีจำนวนสินค้าให้เลือกหลากหลาย รวมทั้งมีข้อมูลให้ครบถ้วน และยังมีบริการหลังการขายทั้งการติดกระเบื้อง โปรโมชั่นตามฤดูกาล

“ตามแผนธุรกิจ จะช่วยให้ UMI พลิกกลับมาเทิร์นอะราวด์ ได้ในปี 2562 และผลปกระกอบการรวมคาดว่าจะใช้เวลา 3 ปี ที่บริษัทจะกลับมาเป็นกำไรสุทธิ เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทต้องรับขาดทุนสุทธิของบริษัทลูก คือ บริษัท ที.ที.เซรามิค ที่มีผลประกอบการขาดทุนซึ่งคาดว่า TTC จะขาดทุนสุทธิน้อยลง

ทั้งนี้ ตลาดเมืองไทยปัจจุบันมีปริมาณการใช้กระเบื้องเซรามิกเฉลี่ยเพียงประมาณ 3 ตารางเมตรต่อคนต่อปี ดังนั้น ตลาดยังมีโอกาสและช่องทางการเติบโตอีกมาก เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีปริมาณและการใช้กระเบื้องเซรามิกสูงกว่าประเทศไทย 2-4 เท่าตัว ซึ่งสินค้ากระเบื้องเซรามิกมีความเหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนชื้นเช่นประเทศไทยมาก ฉะนั้นในอนาคตปริมาณความต้องการก็ยังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นมาก

นอกจากนี้ ในไตรมาส 2/2562 บริษัทได้ออกสินค้ากระเบื้องตัวใหม่ที่เข้ากับสังคมผู้สูงอายุ โดยเป็นกระเบื้องกันลื่น ถือเป็นกระเบื้องนวัตกรรมที่เข้ากับเทรดของโลก คาดว่าจะวางจำหน่ายทั่วไปได้ราวไตรมาส 2 นี้ และจะช่วยกระตุ้นยอดขายในช่วงครึ่งปีหลังได้

นางสาวปวีณา มั่นใจว่าด้วยประสบการณ์ที่เคยประสบความสำเร็จสามารถล้างขาดทุนสะสมของบริษัทจนหมดและกลับมามีกำไรมาแล้ว ดังนั้นกลับมาครั้งนี้ก็จะสามารถทำได้ โดยจะพลิกบริษัทที่ขาดทุนมาตลอด 5 ปี ให้มีกำไรภายใน 3 ปีนับจากนี้ โดยเฉพาะปี 2562 นี้ตั้งเป้ารายได้ปี 2562 เติบโต 7% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2,417.20 ล้านบาท

“ปีนี้เรามองว่าภาพรวมอุตสาหกรรมกระเบื้องจะเติบโตประมาณ 3-4% แต่ที่ผ่านมาบริษัทมีผลประกอบการที่ตกต่ำเพราะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศและเรายังโดนเรื่องการตัดราคาด้วย แต่ยังไงเราก็มีลูกค้าหลักอย่างโมเดิร์นเทรด และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว

ขณะเดียวกัน ปีนี้บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้วงเงินราว 500 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับชำระหุ้นกู้เดิมที่จะหมดอายุในเดือนกรกฎาคมนี้ 347 ล้านบาท และใช้รองรับการลงทุนต่างๆในอนาคต โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจเดิมในต่างประเทศ CLMV โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ตามบริษัทไม่มีแผนที่จะเพิ่มทุน โดยปัจจุบันบริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.53 เท่า

ปีนี้งบเดี่ยว UMI จะดีขึ้น แต่งบรวมเรายังมีผลขาดทุนเนื่องจากบริษัทลูกคือ TTC ยังคงต้องใช้เงินเพื่อการลงทุนที่ค่อนข้างเยอะ”

215 views
bottom of page