top of page
379208.jpg

การค้าโลกพังภินท์...จีนยอมหักดีกว่ายอมงอ


Interview: ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ศูนย์อาเซียนศึกษา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

อเมริกา-จีน ปล่อยหมัดฮุกคนละหมัด ขยับขึ้นกำแพงภาษีแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน คาดจากนี้ประหมัดกันรัวๆ นานเป็นหนังซีรีส์ แต่จุดจบคือความพังทลายของระบบการค้าโลกทั้งยวง ส่วนจีนจะเจ็บตัวน้อยกว่าอเมริกาเพราะสายป่านยาวกว่า และมีพันธมิตรทางการค้า-การผลิตที่แข็งแกร่งกว่าฟากอเมริกา เผลอๆ สงครามครั้งนี้จะหนุนส่งให้จีนเป็นมหาอำนาจโลกอย่างแท้จริง ส่วนไทยจะเจ็บตัวในระยะต้นถึงกลาง แต่ในระยะยาวจะดีขึ้น ในฐานะที่เป็นหนึ่งในซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งของจีน-ญี่ปุ่น ขณะที่การท่องเที่ยวไทยต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ วิธีคิด ของการบริการใหม่ เพื่อตอบสนองไลฟ์ไตล์ของ นทท.จีนยุคใหม่ที่ต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

หลายเดือนก่อน อาจารย์มองทะลุว่าสงครามการค้ายังไม่จบ พอถึงวันนี้ เป็นอย่างไรบ้าง

หากไปดูมูลค่าการค้า สหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าจากจีนในปีที่แล้วประมาณ 5.4 แสนดอลลาร์ และครึ่งปีที่แล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 สหรัฐอเมริกาใส่ภาษีเข้าไปกับสินค้านำเข้าจากจีน มูลค่า 2.5 แสนดอลลาร์ นั่นแปลว่าก็ยังเหลือช่องว่างให้สามารถเพิ่มภาษีกับสินค้าได้อีกประมาณ 3 แสนดอลลาร์ ตรงนี้คือสิ่งซึ่ง โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้ ฉะนั้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา พอหลังเที่ยงคืนปั๊บ สินค้ามูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ที่เคยเก็บภาษีอยู่ที่ 10% ขึ้นเป็น 25% เป็นการขู่ไปก่อน ต่อยก่อนได้เปรียบ แล้วก็บอกต่อว่า ให้ไปศึกษาด้วยว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ที่เหลือ ถ้าขึ้นภาษีทั้งหมดจะเป็นอย่างไร

ในขณะของจีนเอง ใส่ภาษีสินค้าตอบโต้การค้าของสหรัฐอเมริกากลับมูลค่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์ ก็ยังถือว่าน้อย แต่จีนเองยังมีช่องที่จะใส่มาตรการตอบโต้ได้อีก แล้วมีการเริ่มพูดถึงแล้วว่าจีนจะตอบโต้หรือเปล่า

จีนจะตอบโต้อย่างไร

มองได้ 2 ทาง ทางหนึ่งก็คือ จีนตอบโต้ทางการค้า แล้วก็ดูว่าใครจะอึดกว่ากัน ใครจะสายป่านยาวกว่ากัน แล้วก็เป็นเกมในลักษณะที่เราเรียกว่าเป็นเกมซีรีส์ คือทั้งคู่มีกลยุทธ์หลักที่จะทำลายล้างกัน แล้วในที่สุดจะนำไปสู่การพังทลายของระบบการค้าของทั้งโลก เพราะการค้าของ 2 ยักษ์ใหญ่มันมีซัพพลายเชน มันมีห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งส่งผลกระทบกระเทือนไปอีกหลายประเทศทั่วโลกมาก ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราไม่อยากจะให้เกิดขึ้น

ส่วนตัวกลับคิดว่าในความเป็นจริง จีนมีการปฏิรูปเศรษฐกิจไปตั้งแต่ปี 2009 ในการที่จะทำให้การบริโภคในประเทศมีบทบาทในสัดส่วนจีดีพีมากขึ้น เพราะฉะนั้นจนถึงวันนี้มูลค่าผลผลิตของจีน 60-70% ไม่ได้ถูกส่งออกไปที่สหรัฐอเมริกาและยุโรปเหมือนแต่เดิมแล้ว แต่กลายเป็นการบริโภคภายในประเทศ ตรงนี้ส่งผลให้จีนสามารถเล่นอีกเกมหนึ่งได้ แล้วเกมนี้เป็นเกมช่วงชิงการที่จะทำให้จีนเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างแท้จริง นั่นก็คือจีนอาจจะสามารถเลือกวิธีไม่แคร์ จีนไม่ต้องกำแพงภาษีโต้ตอบสหรัฐอเมริกา และถ้าจะให้เจ๋งกว่านั้น จีนต้องบอกด้วยว่า โอเค สหรัฐคุณขาดดุลการค้ากับฉันใช่ไหม งั้นต่อไปนี้ จีนจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น แล้วเปลี่ยนรูปแบบเปลี่ยนวิธีคิดไปเลยทันที คราวนี้กลับกลายเป็นการโยนบอลกลับไปที่ของฝั่งสหรัฐอเมริกา โยนเผือกร้อนไปที่สหรัฐอเมริกา ถ้าจีนบอกว่าจีนจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น

คำถามก็คือแล้วสหรัฐอเมริกามีอะไรมาขายจีนหรือไม่ ซึ่งสหรัฐอเมริกาไม่มีอะไรมาขายจีน แล้วจีนบอกว่าฉันต้องการนำสินค้าเข้าจากคุณ เพื่อที่จะทำให้คุณแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าของคุณได้ ความผิดก็จะอยู่ที่ฝั่งสหรัฐอเมริกาเต็มตัวแล้ว เพราะที่ผ่านมาเหตุผลของสหรัฐอเมริกาในการที่จะใส่สงครามการค้ามันเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา แล้วก็บอกว่าการค้ากับจีนไม่เป็นธรรม เพราะมันเป็นการค้าที่มีภาครัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เป็นการแข่งขันของเอกชนกับเอกชน แต่มันเป็นบทบาทของรัฐวิสาหกิจของจีน ฉะนั้นถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจของจีนผ่านทางรัฐบาลจีน บอกชัดเจนเลยว่าฉันจะซื้อสินค้าจากสหรัฐอเมริกามากขึ้น คราวนี้จีนจะหล่อมาก และกลายเป็นพระเอก ส่วนสหรัฐอเมริกาก็จะไปไม่เป็นเลย แล้วฉันจะทำอย่างไร แล้วมีอะไรจะไปขายให้จีน แล้วถ้าสหรัฐอเมริกาไม่มีอะไรไปขายให้จีน ทั้งๆที่จีนจะซื้อ ไปๆมาๆคนที่คุมเกมในเรื่องการวางกฎกติกาของโลกจะเปลี่ยนทันที จากอเมริกัน เวิลด์ ออร์เดอร์ กลายเป็น สี จิ้นผิง สามารถที่จะคุมออร์เดอร์ตรงนี้ได้แทน เพราะในความเป็นจริง ถ้าไปดูเอาเข้าจริงๆแล้วจะแก้ปัญหาขาดดุลการค้าให้สหรัฐอเมริกาอย่างได้เป็นผลเป็นเนื้อเป็นหนัง สิ่งที่จีนอยากได้จากสหรัฐอเมริกาแล้วซื้อไม่มาก แต่สามารถแก้ปัญหาขาดดุลการค้าได้เยอะ คือซื้ออาวุธจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งแน่นอนว่าสหรัฐอเมริกาไม่ยอมขายให้จีนอยู่แล้ว ขณะที่สหรัฐอเมริกาขาดดุล แต่เขาไม่ขายให้จีน อย่างนี้เป็นความผิดของใคร

ดังนั้น ถ้าจีนเล่นเกมแบบนี้ คิดว่ามันจะเป็นการตอบโต้ซึ่งสหรัฐอเมริกาเองที่จะไปไม่เป็น ถ้าเกิดว่าจีนเล่นเกมตอบโต้ด้วยการขึ้นกำแพงภาษี จีนเองก็เสียมิตรประเทศเยอะ

ดูเหมือนว่าจีนยอมแพ้ แต่แท้จริงชนะ

คิดว่าจีนมีสายป่านยาวเพียงพอที่จะทำแบบนั้นด้วย เพราะสิ่งที่จีนทำตั้งแต่ปี 2009 คือการที่จีนสร้างพันธมิตรทางการค้าใหม่ โดยเฉพาะผ่านทางโครงการที่เรารู้จักกันในนาม 1 แถบ 1 เส้นทาง (one belt one road) และในขณะเดียวกันก็ปฏิรูปการผลิตภายในประเทศให้ผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศสูงขึ้น ดังนั้น ตรงนี้มันเป็นแต้มต่อของจีนที่จีนมีทางเลือกในการที่จะเล่นเกมนี้ได้หลายทางมากกว่า

วันนี้จีนพร้อมรับมือสหรัฐอเมริกา

ส่วนตัวคิดว่า จีนคิดเรื่องนี้มานานแล้ว จีนเตรียมความพร้อมเรื่องพวกนี้มาตั้งแต่การปฏิรูปเศรษฐกิจที่เราเรียกว่า New Normal มาตั้งแต่ปี 2009 มาถึงวันนี้มัน 10 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นจีนเองมีความพร้อม มีศักยภาพในการดำเนินนโยบายแนวนี้ได้

จากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งกำแพงภาษี ทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร อะไหล่ ยานยนต์

เฟอร์นิเจอร์รวมทั้งหมด 2 แสนล้านเหรียญดอลลาร์ มองว่าไม่น่าจะกระทบจีนมาก

ถ้าจีนไม่ขายกับสหรัฐอเมริกา จีนยังขายกับประเทศอื่นๆได้อีกเยอะ แต่ถ้าสหรัฐอเมริกาไม่ซื้อของจากจีน ก็ไม่รู้ว่าจะไปซื้อของจากใคร เพราะตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้วที่มีเรื่องสงครามการค้า เอาเข้าจริงๆผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาก็เดือดร้อนเยอะ ผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกาก็เดือดร้อนเยอะ เพราะต้องนำเข้าสินค้าในราคาแพงขึ้น ต้องใช้วัตถุดิบราคาแพงขึ้น

สหรัฐอเมริกาสามารถไปซื้อของถูกจากที่อื่นได้หรือไม่

ยังไม่มี เพราะนาทีนี้ของส่วนใหญ่ที่เขาใช้ มาจากเมดอิน ไชน่าทั้งหมดเลย

เป็นไปได้หรือไม่ว่า บริษัทของสหรัฐอเมริกาที่ไปตั้งที่จีน แล้วผลิตของแล้วเอามาขายคนอเมริกัน จะกลับไปผลิตในสหรัฐอเมริกา

การ Relocation มันเกิดขึ้นได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลา ไม่ได้เกิดขึ้นได้ภายใน 1-2 ปี เมื่อสายพานการผลิตมันติดตั้งไปแล้ว การซื้อวัตถุดิบ สัญญาการส่งออก สัญญาส่งมอบ มันทำล่วงหน้า เพราะฉะนั้นถ้าจะมีการย้ายฐานการผลิต มันต้องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในระยะยาว ใช้เวลาจากนี้ 3-5 ปี ทีนี้มันจะทนถึงตอนนั้นได้หรือไม่ ในเมื่อตอนนี้โครงสร้างพื้นฐาน ซัพพลายเชนทางฝั่งเอเชีย ซึ่งก็รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอาเซียน มันเป็นซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งและยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก อาเซียนเองเป็นกลุ่มที่เราเรียกว่ารับจ้างทำบิสิเนส โพเซสซิง โอเปอเรชัน หรือบีพีโอ พูดง่ายๆคือซับคอนแทค รับจ้างผลิตใหญ่ที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งแน่นอนว่าเรารับจ้างผลิตส่วนนี้ เราก็รับจ้างผลิตอยู่ในสายพานการผลิต เราอยู่ในซัพพลายเชนเดียวกันกับจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเขาพยายามทำภายใต้การตกลงการค้าที่เรียกว่า United States-Mexico-Canada Agreement ซึ่งเราก็ยังไม่เห็นว่า ห่วงโซ่อุปทานการผลิตที่จะเชื่อมอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง อเมริกาใต้ ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ มีแรงงานราคาถูก จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมเมื่อเปรียบเทียบกับทางฝั่งเอเชีย

มองอย่างไรที่เขาว่าเวียดนามได้ประโยชน์ที่สุดจากสงครามการค้า

ค่อนข้างจะมีส่วนถูก เพราะเวียดนามเป็นพันธมิตรกับทั้งสองฝ่ายอยู่ทางฝ่ายจีนด้วยในกรณีที่เราพูดถึงข้อตกลงการค้าหลายๆ ตัวอย่างเช่น อาเซียน จีน และในอนาคตก็จะมี RCEP และในขณะเดียวกันเวียดนามเองก็มีข้อตกลงการค้า TPP ถึงแม้ตอนนี้จะไม่มีสหรัฐอเมริกาอยู่ด้วย แต่ว่าเวียดนามเองก็มีสายสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาที่ดีในช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกามีการเจรจาการค้ากับ TPP อยู่

ถ้าจีนไม่สนใจอะไรเลย ไม่ตอบโต้สหรัฐอเมริกา แล้วโยนภาระไปที่สหรัฐอเมริกาเอง ถ้าออกมาแบบนี้ ไทยเราจะได้หรือจะเสียอะไร

คิดว่าเรารับผลกระทบที่เป็นระยะสั้น และระยะกลางไปตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา แล้วก็ต้นปีนี้ไปแล้ว คือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตสงครามการค้า มันมี 5 รูปแบบ

รูปแบบหนึ่งคือได้รับผลกระทบที่เริ่มต้นทันทีตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้วก็คือเมื่อสหรัฐอเมริกาขึ้นภาษี แล้วไม่ได้ขึ้นภาษีเฉพาะกับจีน แต่ขึ้นภาษีกับทั่วโลก ก็ทำให้เราส่งออกถดถอยไปแล้ว ซึ่งเรารับรู้ผลตรงนี้ไปแล้ว

อีกอันหนึ่งคือสินค้าจีนที่เข้าสหรัฐอเมริกา เคยเข้าได้มันเข้าไม่ได้ มันก็จะมาดัมพ์ขายในหลายตลาด รวมทั้งไทย เพราะฉะนั้นสินค้าจีนราคาถูก สินค้าอื่นที่เข้าสหรัฐอเมริกาไม่ได้ ตอนนี้ก็เข้ามาในไทยมากขึ้น มาแข่งกับผู้ประกอบการในประเทศ แล้วก็มาแข่งกับสินค้าไทยในตลาดของประเทศที่สาม อันนี้มันเกิดขึ้นมาตลอดนับจากครึ่งปีที่แล้ว มาจนถึงไตรมาสแรกของปีนี้และรับรู้ผลไปแล้ว

แต่ว่าของปี 2019 ช่วงไตรมาสที่สองและสาม สิ่งที่เราจะเห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้นก็คือ คราวนี้มันจะเป็นผลกระทบที่มันค่อนข้างจะรุนแรงต่อซัพพลายเชนของสินค้าขั้นกลางแล้ว สินค้าตัวไหนที่เราส่งไปจีน ให้จีนผลิตแล้วส่งไปสหรัฐอเมริกา มันมีอยู่หลายตัว โดยเฉพาะยางพารา ยานยนต์ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ผักผลไม้ สินค้าพวกนี้ จีนออร์เดอร์จากเราน้อยลง ส่งไปสหรัฐอเมริกาได้น้อยลง ตอนนั้นเราจะได้รับผลกระทบตรงนี้ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็จะเริ่มเกิดสิ่งที่เรียกว่าเทรด ไดเวอร์ชัน เอฟเฟกต์ คือผลกระทบที่สี่แล้ว ก็คือเปลี่ยนจากเดิม

สหรัฐอเมริกาเคยนำเข้าสินค้าพวกนี้จากจีน พอภาษีมันสูงขึ้นจาก 10% เป็น 25% แล้วแนวโน้มอาจจะครอบคลุมสินค้ามากขึ้น มีอัตราภาษีที่สูงขึ้น ก็เป็นไปได้ว่าสหรัฐอเมริกาอาจจะนำเข้าจากประเทศอื่นๆมากขึ้น ซึ่งก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ประกอบการของเรา และหน่วยงานภาครัฐของเราที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการส่งออกจะมองออกและเร่งบุกตลาดสหรัฐอเมริกา ตรงนี้เป็นผลกระทบที่ 3 และ ที่ 4 ซึ่งน่าจะชัดเจนและมีผลกระทบรุนแรงในปีนี้

ส่วนในระยะยาว มันจะเป็นผลกระทบในทางบวก คือถ้าสงครามการค้ามันยังรุนแรงแบบนี้ต่อไป ตอนนี้คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือจีน รองลงมาไม่ใช่สหรัฐอเมริกา แต่เป็นญี่ปุ่นได้รับผลกระทบเป็นอันดับที่สอง เพราะฉะนั้น เราเริ่มเห็นความร่วมมือของชินโซะ อาเบะกับสี จิ้นผิงตั้งแต่ปีที่แล้วแล้วว่าเขาเลือกจับมือกันไปลงทุนในประเทศที่สาม และหนึ่งในประเทศที่เขาสนใจไปลงทุนคือทางด้านเซาท์อีสต์เอเชีย อาเซียน ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย ฉะนั้นมันอาจจะเกิดรีโลเกชันการผลิตที่ญี่ปุ่นแทนที่จะไปลงทุนในจีน จีนลงทุนในจีน และ 2 ประเทศจับมือมาลงทุนในอาเซียนแทน

พูดถึงอาเซียน ไทยอยู่อันดับไหนหลังจีนญี่ปุ่นจับมือที่จะมาลงทุน

สำหรับญี่ปุ่น ไทยเราเป็นเบอร์ต้นอยู่แล้ว เพราะญี่ปุ่นมีฐานการผลิตในประเทศไทยมาต่อเนื่องยาวนานมากกว่าประเทศใดๆ ดังนั้น คิดว่าเราน่าจะมีแต้มต่อตรงนี้พอสมควร แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในประเทศของเราด้วยว่า สิ่งแวดล้อมภายในประเทศของเราต้อนรับการมาลงทุนของเขาหรือไม่ ถ้าเราจัดบ้านเราให้พร้อมที่จะมีคนเข้ามาลงทุน ตรงนี้ก็จะทำให้เรามีโอกาสที่จะคว้าเงินลงทุนได้มากยิ่งขึ้น

ล่าสุดที่คณะกรรมาธิการเอฟซีซีของสหรัฐอเมริกาปฏิเสธคำร้องของบริษัทไชน่าโมบาย เห็นว่ายื่นมา 8 ปีแล้วที่จะขอธุรกิจเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมในสหรัฐอเมริกา ตรงนี้เห็นว่าจีนโกรธมาก เรื่องนี้สะท้อนอะไร

คิดว่าสหรัฐอเมริกาใช้วิธีการนี้มาหลายรอบแล้ว ก่อนหน้านี้ สมัยที่บริษัทน้ำมันของสหรัฐ อเมริกาขาดดุลมากๆโดยเฉพาะยูโนแคล ทางการจีนก็จะไปซื้อ แต่ว่าสหรัฐอเมริกาก็ใช้เหตุผลด้านความมั่นคงในการไม่อนุญาตให้จีนไปซื้อ ตอนนั้นความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ตอนนี้ก็เช่นเดียวกัน เครือข่ายโทรคมนาคม แน่นอนในโลก 4.0 มันถือว่าเป็นสินค้าที่มีบริการเกี่ยวกับความมั่นคงอย่างมาก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาก็พยายามกล่าวหาผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือแล้วก็เครือข่ายโทรคมนาคมของจีนหลายรายว่าเป็นเครือข่ายที่ไม่มีความปลอดภัยสูง มีการส่งข้อมูลกลับไปที่บริษัทแม่ ตรงนี้มันทำให้เหตุผลด้านความมั่นคงแซงเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ

สหรัฐอเมริกาไม่ไว้วางใจจีน

แต่ว่าเรื่องทั้งหมดทำให้สังเกตเห็นได้ชัดอย่างหนึ่ง มันเป็นการคอนเฟิร์มอย่างยิ่งว่าตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นไป สหรัฐอเมริกาได้สูญเสียความสามารถในการเป็นผู้จัดระเบียบของโลกไปแล้ว สูญเสียความเป็นผู้วางกฎกติกาต่างๆของโลก สูญเสียความสามารถตรงนี้ไปแล้ว

อย่างนโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทางที่เขาประชุมไป มีชาติเข้าร่วมเยอะขึ้น ตรงนี้มองจีนอย่างไร

ตรงนี้เป็นหนึ่งในความพยายามของจีน ซึ่งจีนต้องปฏิรูปเศรษฐกิจเพราะต้องการลดการพึ่งพิงตลาดยุโรปและตลาดสหรัฐอเมริกา แล้วหันไปสร้างพันธมิตรอื่น เพราะฉะนั้น 1 แถบ 1 เส้นทาง ก็เป็นเครื่องมือในการที่จะสร้างความเชื่อมโยงระหว่างจีนกับเอเชีย กับแอฟริกา และกับยุโรป ซึ่งจะทำให้จีนมีโอกาสในการที่จะเข้าถึงตลาดพวกนี้ การเข้าถึงแหล่งทรัพยากรของภูมิภาคนี้ได้มากยิ่งขึ้น

กับดักหนี้ ที่เขาบอกว่าที่จีนทำ ทำให้พวกคุณเป็นหนี้กันเยอะ มันน่ากลัว คิดว่าจีนแก้ปัญหาได้หรือไม่

ต้องเข้าใจว่าจีนไม่ได้เหมือนกับหลายๆ ประเทศ คือในหลายประเทศศึกษาแล้วศึกษาอีกเวลาจะเริ่มต้นโครงการ แต่ในรายของจีนจะเริ่มโครงการไปก่อน แล้วจึงมาค่อยปรับสถานการณ์ที่หน้างานเอา เพราะฉะนั้น หลายๆประเทศที่ถูกมองว่ามันเกิดกับดักหนี้โดยเฉพาะที่ลาว ศรีลังกา ปากีสถาน ในคาซัคสถาน คิดว่าทางการจีนรับรู้รับทราบ แล้วก็คงจะมีวิธีการในการที่จะปรับออกไป สิ่งหนึ่งที่จีนพยายามทำอย่างยิ่งอย่างน้อยที่สุดก็มีการเปลี่ยนชื่อการเรียกจาก one belt one road ที่แปลว่าความริเริ่มที่พยายามจะบอกว่า เวลาจะริเริ่มโครงการต่อไปนี้ มันไม่ใช่โครงการที่เป็นแพ็กเกจแบบจีนออกแบบมาทั้งหมด แล้วทุกประเทศรับกู้ไปอย่างเดียว แต่มันจะกลายเป็นการเริ่มต้นโครงการที่ทั้งฝ่ายรับและฝ่ายให้ทุน ให้เงินกู้ และเป็นฝ่ายที่มาเริ่มต้นโครงการด้วยกัน วางแผนโครงการ พัฒนาโครงการด้วยกัน ตรงนี้ก็เป็นการพยายามแก้ทางของจีน

แต่ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือฝ่ายไทยเราเอง ในเมื่อเราเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเมกะโปรเจกต์เหล่านี้ ก็ต้องพิจารณาเมกะโปรเจกต์เหล่านี้ด้วยการรู้เท่าทัน และพิจารณาอย่างรอบคอบ เราจะใช้บริการเงินกู้ของจีนในโครงการเหล่านี้หรือไม่

เราเคยมองจีนเป็นผู้บริโภคที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นเศรษฐีใหม่ พอมันเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น จะเห็นว่าจีนเริ่มจะจับจ่ายใช้สอยกันน้อยลง มองอย่างไร ขณะเดียวกัน ไทยเราก็หวังพึ่งในเรื่องท่องเที่ยว

ยังพึ่งได้อยู่ แม้ว่าจีนจะมีอัตราการเติบโตที่ถดถอยลง แต่ก็ยังถือว่าสูงอยู่มากถ้าเทียบกับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ขนาดนี้ เพราะฉะนั้นเวลามองจีนควรจะมองด้วยความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น และในขณะเดียวกัน จะมองจีนเป็นภาพรวมทั้งประเทศไม่ได้ คงจะมองเลือกเฉพาะกลุ่ม เลือกเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เลือกเฉพาะเมือง เฉพาะกลุ่มรายได้ ดังนั้นการทำรีเสิร์ชมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้นแล้ว และในขณะเดียวกัน ถ้าเป็นทางด้านบริการ คิดว่ารูปแบบการใช้บริการของคนจีนที่นิยมมาใช้บริการในไทย โดยเฉพาะเรื่องท่องเที่ยว มันเปลี่ยนรูปแบบไปจาก 15-20 ปีก่อนไปมากแล้ว เพราะคนจีนแต่ละเจนเนอเรชันเองก็มีรูปแบบ มีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นสินค้าแบบเดิม บริการแบบเดิมที่เราขายให้กับนักท่องเที่ยว หรือว่าคนจีนเดิม ปัจจุบันนี้อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยน ถ้าเราไม่มีการปรับ อาจจะอยู่ในตำแหน่งนี้ยาก

24 views
bottom of page