กรุงเทพฯ (27 พฤษภาคม 2562) - กลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่น กรุงศรี เปิดเผยกลยุทธ์ธุรกิจปี 2562 มุ่งเน้นการขยายธุรกิจและบริการครบวงจรทั้งด้านเงินให้สินเชื่อ ด้านปริวรรตเงินตราและตราสารอนุพันธ์ ด้านเงินรับฝาก ด้านการค้าและธุรกรรมการเงิน และด้านความร่วมมือระหว่างกลุ่มธุรกิจ ด้วยเป้าหมายในการรักษาและตอกย้ำความเป็นผู้นำอันดับ 1 ในตลาดลูกค้าบริษัทญี่ปุ่น มุ่งสู่การเป็นธนาคารในใจของกลุ่มลูกค้าบริษัทข้ามชาติ (Japanese Corporate and Multi-National Corporate หรือJPC/MNC) นอกจากนี้ กรุงศรียังให้ความสำคัญกับการขยายโอกาสทางธุรกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) ขณะที่มูลค่าการลงทุนโดยตรง (FDI) ของนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย มีแนวโน้มที่จะทรงตัวที่ประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้
นายยูโซะ นาคาดะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่น (JPC/MNC) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า“กลุ่มธุรกิจ JPC/MNC ได้ริเริ่มแผนกลยุทธ์ในการส่งเสริมธุรกิจ 5ด้าน เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำในตลาด โดยกลยุทธ์หลักจะเน้นในด้านการใช้ประโยชน์จากธุรกรรมเงินให้สินเชื่อเพื่อสร้างความมั่นคงในฐานะผู้นำตลาด การขยายโอกาสการทำธุรกรรมด้านปริวรรตเงินตราและตราสารอนุพันธ์ และยังคงเน้นขยายฐานเงินฝากในส่วนบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ (CASA) และเงินฝากในรูปแบบอื่นๆ ส่วนด้านการค้าและธุรกรรมการเงิน กรุงศรีมีเป้าหมายที่จะขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่องและสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าเพื่อให้ใช้กรุงศรีเป็นธนาคารหลัก และด้านความร่วมมือระหว่างกลุ่มธุรกิจ ธนาคารมีเป้าหมายที่จะสร้างประโยชน์สูงสุดจากความร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจและกลุ่มลูกค้ารายย่อย รวมทั้งการผสานพลังความแข็งแกร่งกับ MUFGและธนาคารพันธมิตร นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดแนวคิดริเริ่มการพัฒนาแพลตฟอร์ม 3 ด้าน คือ ความเป็นเลิศด้านการดำเนินงาน การนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการพัฒนาความสามารถของบุคลากร”
“แม้ว่าปัจจัยแวดล้อมภายนอกมีความท้าทายมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านๆ มา กรุงศรียังคงรักษาความเป็นผู้นำของตลาดบริษัทญี่ปุ่นในไทย ซึ่งเป็นผลจากความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูกค้าและศักยภาพในการให้บริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างเต็มรูปแบบและครบวงจร กรุงศรีสามารถครองความเป็นผู้นำทั้งในส่วนเงินให้สินเชื่อและเงินฝากในกลุ่มธนาคารญี่ปุ่นในไทย โดยมีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักในช่วงปี 2559-2561 สำหรับในปีนี้ มูลค่าการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย คาดว่าจะทรงตัวที่ประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ที่4.0% ขณะที่ตลาดกลุ่มบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทข้ามชาติในไทยคาดว่าจะมีการเติบโตที่จำกัด และการแข่งขันในตลาดน่าจะเพิ่มมากขึ้น แต่กรุงศรีจะยังคงรักษาการเป็นผู้นำตลาดด้วยศักยภาพในการให้บริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า” นายนาคาดะกล่าว
ทั้งนี้ จากผลสำรวจของ JETRO บริษัทญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจในไทย คาดว่ามีประมาณ 4,500 บริษัท โดยกรุงศรีเป็นผู้ให้สินเชื่อรายใหญ่ที่สุดแก่กลุ่มธุรกิจญี่ปุ่นในไทย และประเมินว่า ประมาณ 70-75%ของจำนวนบริษัทญี่ปุ่น มีบัญชีกับกรุงศรี ในปี 2561 มีการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อนหน้า และยอดเงินฝากเติบโต 10%ทั้งนี้ เป็นที่เข้าใจได้ว่าการผสานความแข็งแกร่งของกรุงศรีและศักยภาพเครือข่ายระดับโลกของ MUFG เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธนาคาร ได้รับการจัดอันดับจาก TRIS Rating ล่าสุดที่ AAA
“เพื่อสนับสนุนการลงทุนของต่างชาติในไทย ทั้งจากลูกค้าบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทข้ามชาติ กรุงศรียังคงเน้นการขยายโอกาสการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างต่อเนื่อง การที่ภาครัฐให้การสนับสนุนหลายโครงการใน EEC จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย และดึงดูดให้นักลงทุนจากญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยกรุงศรีต้องการที่จะมีบทบาทสำคญต่อทิศทางการลงทุนดังกล่าว” นายนาคาดะกล่าวเพิ่มเติม