กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (“กองทุนฯ” หรือ “DIF”) เตรียมลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 15,800 ล้านบาท เคาะราคาเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่ที่ 15.90 บาทต่อหน่วย เตรียมขึ้นเครื่องหมาย XB วันที่ 2 สิงหาคมนี้ พร้อมประกาศจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหน่วยลงทุน 0.3469 บาทต่อหน่วย เตรียมเปิดให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีรายชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ในวันที่ 20 – 23 ส.ค.นี้ ที่อัตราใช้สิทธิ 9.40 หน่วยลงทุนเดิม ต่อ1 หน่วยลงทุนใหม่ ซึ่งผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิสามารถจองซื้อเกินสิทธิได้ โดยส่วนเกินสิทธิจะได้รับการจัดสรรตามสัดส่วนการถือหน่วยหากมีหน่วยลงทุนที่เหลือจากการจองซื้อตามสิทธิ
ทั้งนี้ ผู้ถือหน่วยลงทุนที่จะได้รับสิทธิจะต้องเป็นผู้ถือหน่วยลงทุน ณ สิ้นวันที่ 1 ส.ค. นี้
นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ Digital Telecommunications Infrastructure Fund (DIF) เตรียมเข้าลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพิ่มเติมครั้งที่ 4 มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน15,800 ล้านบาท โดยเตรียมออกและเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีรายชื่อปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนในวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีสิทธิในการจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ (Record Date) ตามสัดส่วนการถือหน่วยลงทุน กำหนดวันขึ้นเครื่องหมาย XB ในวันที่ 2 สิงหาคม 2562 (ซึ่งเป็นวันแรกที่ผู้ซื้อหน่วยลงทุน DIF จะไม่ได้รับสิทธิจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่) และวัน Record Date เป็นวันที่ 5 สิงหาคม 2562 โดยกำหนดอัตราส่วนสิทธิจองซื้อแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิ ในอัตราส่วน 9.40 หน่วยลงทุนเดิม ต่อ 1 หน่วยลงทุนใหม่
ล่าสุดกองทุน DIF ได้กำหนดราคาเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่ที่ 15.90 บาทต่อหน่วย โดยจะเปิดให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิจองซื้อ สามารถจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ในวันที่ 20 - 23สิงหาคมนี้ ตามอัตราส่วนใช้สิทธิจองซื้อที่กำหนด พร้อมกันนี้ได้ประกาศจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหน่วยลงทุน DIF จากงวดผลการดำเนินงานวันที่ 1 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ในอัตราหน่วยละ 0.3469 บาท โดยกำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ ทั้งนี้ สำหรับผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่ได้ใช้สิทธิจองซื้อและได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุนใหม่จากการเสนอขายครั้งนี้นั้น ส่วนของหน่วยลงทุนใหม่ที่ได้จองซื้อจะไม่ได้รับเงินปันผลในส่วนของหน่วยลงทุนใหม่ที่จองซื้อดังกล่าวจากการจ่ายเงินปันผลของกองทุน
อนึ่ง การเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จะทำให้ประมาณการเงินปันส่วนแบ่งกำไรต่อหน่วยลงทุน (Cash Distribution Per Unit หรือ DPU) ไม่ต่ำกว่าประมาณการเงินปันส่วนแบ่งกำไรของกองทุน ในกรณีที่กองทุนฯ ไม่ได้เข้าลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติมครั้งที่ 4 สำหรับช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม2562 ถึง 30 กันยายน 2563 ซึ่งจัดเตรียมโดยบริษัทจัดการ ตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต อยู่ที่ 1.044 บาทต่อหน่วย นอกจากนี้ผู้ถือหน่วยลงทุน DIF จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินปันผลที่ได้รับจากกองทุนอีกด้วย
นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด ในฐานะบริษัทจัดการ เปิดเผยว่า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 กองทุน DIF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 150,289.60 ล้านบาท ส่วนทรัพย์สินใหม่ที่ จะเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จากกลุ่มทรู ประกอบด้วย 1. การลงทุนในกรรมสิทธิ์เสาโทรคมนาคมรวม 788 เสา แบ่งเป็นเสาที่ตั้งอยู่บนพื้นดิน 749 เสา และเสาที่ตั้งอยู่บนดาดฟ้า จำนวนประมาณ 39 เสา ซึ่งอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี
2. ลงทุนในกรรมสิทธิ์ใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cable หรือ FOC) สำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด ระยะทางประมาณ 1,795 กิโลเมตร (หรือประมาณ107,694 คอร์กิโลเมตร) ซึ่งปัจจุบันใช้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในต่างจังหวัด และ 3. ลงทุนในกรรมสิทธิ์ FOC ซึ่งปัจจุบันใช้รองรับเทคโนโลยีระบบ FTTx สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดรวมระยะทางประมาณ 315กิโลเมตร (หรือประมาณ 40,823 คอร์กิโลเมตร) และประมาณ 3,414 กิโลเมตร (หรือประมาณ147,209 คอร์กิโลเมตร) ตามลำดับ
ทั้งนี้ การเข้าลงทุนทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จะส่งผลให้กองทุนฯ มีทรัพย์สินที่กระจายตัวครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมรองรับการขยายตัวทางเทคโนโลยีสื่อสารและความต้องการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตและไวไฟ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยคาดว่ากองทุนฯ จะสามารถจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่เข้าลงทุนเพิ่มเติม โดยการให้เช่าระยะยาวแก่กลุ่มทรูซึ่งเป็นผู้เช่าหลักของกองทุนฯ และเป็นหนึ่งในผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายใหญ่ในประเทศไทยที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง นอกจากนี้ยังสามารถนำทรัพย์สินส่วนที่เหลือไปจัดหาผลประโยชน์เพิ่มเติมจากผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่น ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มแก่กองทุนฯ และผู้ถือหน่วยลงทุน
ขณะที่ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน DIF ย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2559 – 2561) สามารถจ่ายเงินปันส่วนแบ่งกำไรต่อหน่วยลงทุนแก่ผู้ถือหน่วยอย่างสม่ำเสมอ รวมต่อปีในอัตรา 0.956, 0.975และ 1.016 บาทต่อหน่วยตามลำดับ โดยคาดว่าภายหลังเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 กองทุน DIF จะสามารถจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินที่ลงทุนเพิ่มเติมเพื่อสร้างผลการดำเนินงานที่ดีแก่กองทุนฯ