top of page

ชาวสวนขอรัฐคุมเข้มนำเข้ามะพร้าว ปริมาณการผลิตในไทยมีมากเกินพอ


Interview: คุณพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์

ผู้ประสานงานกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ภาครัฐ ไม่รับฟังชาวสวนมะพร้าว อนุมัติน้ำเข้ามะพร้าว น้ำกะทิ จากเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่ง ทั้งๆ ที่ปริมาณการผลิตในไทยมีมากเกินพอ เป็นเหตุให้ราคามะพร้าวจากสวนคนไทยรูดมหาราช เหลือลูกละ 6 บาท ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง หนำซ้ำการนำเข้ามะพร้าว น้ำกะทิ มีทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย โอด...ถ้าปล่อยปัญหาคาราคาซัง ที่ดินสวนมะพร้าวจะถูกแบงก์ยึดเรียบ หนี้สินชาวสวนที่กู้จากสหกรณ์จะกลายเป็นหนี้ NPL ก้อนมหึมา ชี้ทางรอด ต้องควบคุมการนำเข้ามะพร้าว น้ำกะทิ ในภาวะที่มะพร้าวไทยล้นตลาด อีกทั้งควรสนับสนุนการตั้งโรงงานแปรรูปมะพร้าวในแหล่งปลูก เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างเกษตรกรและโรงงาน

- ตอนนี้ทางการกับชาวสวนมะพร้าวก็ช่วยกันแก้ปัญหามาพักใหญ่แล้วใช่ไหม

เป็นผลมาจากเราเรียกร้อง แต่ก็ทำไม่จริงจัง ขาดการมีส่วนร่วมและการเปิดเผยข้อมูล

- ขาดการมีส่วนร่วมอย่างไร

กรณีที่มะพร้าวขาดแคลนก็ต้องมาเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากชาวสวนมะพร้าวทั้งบางสะพานและทับสะแกว่าขาดเท่าไหร่ แล้วถ้านำเข้าจะควบคุมอย่างไรที่ไม่กระทบกับ 3 ฝ่าย ผู้บริโภค ผู้ส่งออก และเกษตรกร ในวันนี้ยืนยันว่ามะพร้าวราคา 7-8 บาทต่อผล แสดงว่าของมีเหลือเฟือ แต่รัฐบาลอนุมัติให้นำเข้า ซึ่งถ้าของขาดแคลนราคาต้องผลละ 25-30 บาท

- ถึงตอนนี้ราคาต่ำกว่า 10 บาทต่อผล

ปัจจุบันเหลือ 6 บาท แต่ราคาต้นทุนเกษตรกรชาวสวนอยู่ที่ 8 บาท เมื่อบวกค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายที่เขาพออยู่ได้น่าจะไม่ต่ำกว่า 12 บาท

- ยังไม่พอจ้างลิงขึ้นไปเก็บเลยใช่ไหม

ครับ นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าน้ำกะทิ พอถามกระทรวงพาณิชย์ก็ไม่รู้ว่าหน่วยงานไหนเป็นผู้อนุมัติ ทั้งกรมศุลฯ อ.ย. กระทรวงพาณิชย์ นำเข้าเดือนหนึ่งเป็น 10 ล้านลิตร

- นำเข้ามาจากไหน

นำเข้ามาจากประเทศเวียดนาม อินโดนิเซีย

- นำเข้าถูกต้องตามกฎหมายหรือเปล่า

ถูกต้อง ขออนุญาต แต่ว่าพอผมถามที่กระทรวงพาณิชย์ รองปลัดกระทรวงฯบอกว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่เขา

- จำได้ว่าเคยตกลงว่าต่อไปใครจะนำเข้าต้องมาที่ท่าเรือกรุงเทพฯแห่งเดียวเท่านั้น

คือการนำเข้ามาที่ท่าเรือที่ถูกต้องเป็นผลมาจากการเรียกร้อง แต่เรื่องการตรวจจับมะพร้าวที่เข้าไม่ถูกต้องไม่สามารถดำเนินการได้เพราะไม่มี DNA แยก และไม่มีใบกำกับการเคลื่อนย้ายที่ออกทั่วประเทศ ออกเป็นบางจังหวัดที่ไม่ใช่มีแหล่งมะพร้าวเคลื่อนย้าย เช่น ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นแหล่งพักมะพร้าวเถื่อน ไม่มีใบกำกับการเคลื่อนย้าย

- ส่วนใหญ่นำเข้ามาเป็นลักษณะผล

เป็นผลปอกเปลือก ยังไม่ได้เป็นกะทิ ส่วนหนึ่งที่เป็นกะทิก็มี แต่ส่วนใหญ่เข้ามาในรูปของมะพร้าวผลทั้งเปลือกและที่ปอกแล้ว

- พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ปลูกมะพร้าวในประจวบคีรีขันธ์ ทั้งหมดมีพื้นที่กี่ไร่

ประจวบคีรีขันธ์ 400,000 กว่าไร่ ทั้งประเทศอยู่ที่ 1 ล้าน 1 หมื่นไร่

- ตอนนี้ก็แย่ตามๆ กัน จากเดิมที่เคยอยู่กันได้ พอประทังชีวิตกันได้

ถ้าปล่อยให้เหตุการณ์เป็นแบบนี้ต่อกันหลายปี ที่ดินคงถูกธนาคารยึด และหนี้สินที่ต้องส่งกับยูเนียนในพื้นที่มีหนี้ค้างจำนวนมาก เพราะราคาตกต่ำและปัญหาการเหลื่อมล้ำก็มากขึ้น คือขอให้เกษตรกรอยู่ได้ ไม่ใช่ร่ำรวย ให้เขาสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ จะพึ่งพาแต่บัตรประชารัฐคงไม่ใช่ แสดงว่าการปฏิรูปที่ผ่านมาของรัฐบาลล้มเหลว

- ชาวสวนที่ปลูกมะพร้าว โค่นมะพร้าวทิ้งแล้วไปปลูกอย่างอื่น

ก่อนหน้านี้ยางราคาแพง ชาวสวนก็โค่นมะพร้าวมาปลูกยาง แล้วนายกฯก็เคยไปภาคใต้เมื่อพฤศจิกายน 60 บอกให้โค่นยางมาปลูกมะพร้าว แต่หลังจากปี 2560-2561 ก็นำเข้ามะพร้าวจำนวนมาก ทำไมเราไม่บริหารการจัดการนำเข้าให้ดี ไม่ใช่รังเกียจการนำเข้า แต่ว่าต้องมีการควบคุม ช่วงไหนขาดแคลนก็นำเข้า ช่วงไหนราคาในประเทศต่ำกว่า 12 บาทก็หยุดนำเข้า ทำไมรัฐไม่ทำแบบนี้ แสดงว่าการนำเข้ามะพร้าวมันมีอะไรแอบแฝงอยู่

- มีการพูดกันว่าผู้ผลิตน้ำกะทิ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวสวนแย่ ไม่เห็นหัวอกคนไทยด้วยกัน

ใช่ เราเสียดุลการค้าปีเป็นหมื่นล้านเพราะมีการเอาว่าเราเอาผลผลิต เอาน้ำกะทิจากต่างประเทศมาใส่กล่องแล้วขายและใช้เป็นแบรนด์ไทย ทำไมไม่เอาเงินที่เสียดุลการค้าเป็นหมื่นล้านมาศึกษาวิจัยส่งเสริมและส่งออกน้ำกะทิ เงินจะได้อยู่ในประเทศ

- อ่านรายชื่อรัฐมนตรีจากหน้าหนังสือพิมพ์ คนประจวบฯ จะมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ น่าจะคุยกันรู้เรื่องไหม ในฐานะเป็นคนประจวบฯด้วยกัน

พวกเราคนประจวบฯ คนบ้านกรูด เป็นคนเข้มแข็ง ไม่สังกัดพรรคการเมือง ใครทำดีว่าดี ใครทำไม่ดีก็ว่าไม่ดี ไม่ว่าคุณจะเป็นส.ส.ในพื้นที่เราก็เรียกร้องให้ทำหน้าที่ทุกพรรคเหมือนกัน

- สถานการณ์ขณะนี้มองไม่เห็นอนาคต ทำไปก็มีแต่เข้าเนื้อ มีการเตรียมตัวไปคุยกับรัฐบาลไหม

วันจันทร์ที่ 8 ก.ค. เชิญนักการเมืองมาแสดงวิสัยทัศน์ว่าคุณจะแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำได้อย่างไร พรรคที่ 1 คือ คุณประมวล พงศ์ถาวราเดช ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่ 2 อนาคตใหม่ ส่วนพรรคที่ 3 เป็นที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย คือ ดร.วิทิต รังสี พรรคที่ 4 เป็นอดีตผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ คือ ดร.วนิชย์ ปักกิ่งเมือง ก็มาแสดงวิสัยทัศน์ให้ชาวบ้านถามและจะมีการยื่นหนังสือคือให้การบ้านพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเรารู้ว่ามะพร้าวเกี่ยวข้องกับ 2 หัวใจ คือกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ ให้การบ้านไปทำ หลังจากนั้น 30 วันให้คำตอบ ถ้าไม่มีคำตอบเราก็ขับเคลื่อนพบรัฐมนตรีตามเหตุตามผล

- นอกจากปัญหาลักลอบนำเข้ามา หรือนำเข้ามาโดยถูกกฎหมาย แสดงว่าขาดการร่วมมือร่วมใจว่าต้องคำนวนปริมาณราคาให้ดี ถ้าคุมให้ดีคิดว่าชาวสวนมะพร้าวคงไม่เดือดร้อนใช่ไหม

ไม่เดือดร้อน เป็นเรื่องที่ทำได้ ตัวเลขผลผลิตสำนักงานเศรษฐกิจต้องประเมินสัดส่วนตามความเป็นจริง ปัจจุบันเขาพัฒนามีแปลงใหญ่ เขามีการใส่น้ำหมักรดน้ำใช้พันธุ์ใหม่ ต้นนึงมันมากกว่า 7 ผลต่อต้น เฉลี่ยถ้าต้นละ 6 ผล การบริโภคในประเทศเพียงพอ ส่วนจำนวนพื้นที่ต้องสำรวจโดยการใช้ดาวเทียม แล้วระเบียบการนำเข้าเราจะแยกยังไงให้เจ้าหน้าที่เขาปฎิบัติได้ว่ามะพร้าวปอกเปลือกลูกไหนเป็นของอินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า ซึ่งเจ้าหน้าที่ในท้องที่ไม่สามารถแยกได้ เขาจับไม่ได้ก็ถูกฟ้อง มันต้องมีลักษณะคล้ายกับว่าตรวจสารเสพติดสีม่วง เป่าแอลกอฮอล์ และระเบียบการขนย้ายมันทำไม่ได้ ไม่ควบคุม เพราะฉะนั้นควรเลื่อนออกไปก่อนโดยใช้ชาวสวนมีส่วนร่วมมาคุยกันกับผู้มีอำนาจ

- ถ้าสั่งห้ามไม่ให้นำเข้าเลยทำได้ไหม

ทำได้ เพราะสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์เคยทำ ผมเคยเรียกร้องปี 55 ปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำจากการนำเข้าที่มาก สุดท้ายก็แก้ได้ ถ้าขาดแคลนก็สามารถนำเข้าได้ทั้งแบบกรอบ WTO หรือ AFTA เป็นเรื่องพิจารณาได้ อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรี

- อยากให้มีมาตรการอื่นมาช่วยอีกไหม

ควรมีโรงงานอุตสาหกรรมกะทิแปรรูปอยู่ในบางสะพาน ทับสะแก เพราะเป็นพื้นที่ที่มีมะพร้าว เราจะเห็นว่ามะพร้าวส่งไปแปรรูปที่กรุงเทพฯ ชลบุรี อันนี้มีค่าใช้จ่าย ค่าน้ำแข็ง ค่าขนส่ง ค่ามะพร้าวคนกลาง แต่ถ้าอุตสาหกรรมกะทิมาอยู่ในพื้นที่ ส่วนต่างตรงนี้ถ้าเราให้เกษตรกร เขาก็ได้ราคาเพิ่ม ผู้ผลิตก็ได้ของที่มีคุณภาพ

22 views
bottom of page