top of page
379208.jpg

ภาพรวมยังคงมองลงมากกว่าขึ้น


ปัจจัยบวกแค่ช่วงสั้นต้องระวัง !

ทั้งนี้แม้ว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกจะฟื้นตัวขึ้นมาได้บ้าง หลังจากที่ดัชนี MSCI ACWI ปรับตัวขึ้น 2.22% โดยมีปัจจัยหนุนจากความกังวลในเรื่องของ Inverted Yield Curve ที่ลดลง นอกจากนี้ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่รัฐบาลสหรัฐขยายระยะเวลาในการอนุญาตให้บริษัท Huawei สามารถซื้อสินค้าจากบริษัทสหรัฐได้อีก 90 วัน เพื่อให้หัวเว่ยสามารถให้บริการต่อลูกค้าที่มีอยู่ในขณะนี้

ประกอบกับการที่ Larry Kudlow หัวหน้าที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว ก็ได้แสดงความคิดเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐไม่มีความเสี่ยงที่จะถดถอย ส่วนในเรื่องการเจรจาการค้ากับจีนนั้น ตัวแทนการค้าจากทั้งสองประเทศจะมีการหารือในต้นเดือนกันยายน และหากการเจรจาดังกล่าวเป็นไปได้ด้วยดีแล้ว Larry ก็จะเชิญจีนมาที่สหรัฐเพื่อเจรจาต่ออีกครั้งเพื่อหาข้อสรุปให้ได้

อย่างไรก็ตามนักลงทุนในตลาดหุ้นโลกยังคงมองว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงปัจจัยบวกระยะสั้นเท่านั้น หลังจากที่สหรัฐได้เพิ่มบริษัทในเครือของ Huawei อีก 46 บริษัท เข้าไปอยู่ Blacklist ที่จะถูกจำกัดการทำธุรกิจกับบริษัทอเมริกันด้วย ซึ่งบริษัท Huawei ออกแถลงการณ์คัดค้านการที่สหรัฐจะนำบริษัทในเครืออีก 46 แห่งของหัวเว่ยเข้าอยู่ใน Blacklist ซึ่งถูกสั่งห้ามไม่ให้บริษัทของสหรัฐเข้าซื้ออุปกรณ์ต่างๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐ พร้อมทั้งกล่าวว่าสิ่งที่การกระทำของสหรัฐ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่า Huawei ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่รายงานการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐประจำเดือน ก.ค. 2562 ยังคงสะท้อนข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะ Business Fixed Investment และ Manufacturing รวมถึงความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ที่ส่งผลให้หลายภาคส่วนของสหรัฐได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้หลายประเทศทั่วโลกยังเผชิญกับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจชะลอตัวและหดตัว ขณะที่ธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลกมีความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายดอกเบี้ย หรือ Policy Space ค่อนข้างจำกัด ซึ่งจะเป็น Downside Risks ต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐมีแนวโน้มจะไม่ถึงกรอบเป้าหมายที่ 2% ทั้งๆที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำมาก ส่งผลให้ทางคณะกรรมการ FOMC ของเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นว่าในระยะยาว อัตราการว่างงานจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่านี้

รายงานดังกล่าวสอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ระบุว่าดัชนี Manufacturing PMI เบื้องต้นเดือน ส.ค. 2562 ของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 49.9 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 119 เดือน จากระดับ 50.4 ในเดือน ก.ค. 2562 โดยดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2552 ในขณะที่ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง หลังจากตัวเลขผู้ขอเข้ารับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก หรือ Initial Jobless Claims ลดลงสู่ระดับ 209,000 ราย ลดลงมากกว่าที่คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 216,000 ราย และลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 221,000 ราย

ทิศทางยังคงเป็นขาลงในทางเทคนิค : ทั้งนี้แม้ว่าในช่วงสั้นนักลงทุนบางส่วนในตลาดหุ้นโลก จะคาดหวังปัจจัยหนุนจากความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต่างๆทั่วโลก โดยที่ล่าสุดธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Loan Prime Rate (LPR) ประเภท 1 ปี ที่ระดับ 4.25% และกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปี ที่ระดับ 4.85% สำหรับเดือน ส.ค. 2562

มาตรการดังกล่าวถือเป็นการปรับปรุง และปฏิรูปกลไกในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR และเป็นความพยายามล่าสุดที่จะปรับลดต้นทุนการกู้ยืมสำหรับเศรษฐกิจที่แท้จริง ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีน Outperform ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สอดคล้องกับการที่รัฐบาลเยอรมนีจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเยอรมนีเปิดเผยว่า รัฐบาลมีแผนที่จะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินรวมกันราว 5 หมื่นล้านยูโร ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ของรัฐบาลเยอรมัน ส่งผลให้โอกาสในการปรับลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. 2562 เหลือเพียง 72% จาก 100% ในสัปดาห์ก่อน ในขณะที่ตัวเลข Manufacturing PMI เบื้องต้นเดือน ส.ค. 2562 ของยุโรป ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย สู่ระดับ 47 สวนทางกับที่คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 46.3 จากระดับ 46.5 ในเดือน ก.ค. 2562

อย่างไรก็ตามตัวเลขที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ถึงภาคการผลิตของยุโรปยังอยู่ในภาวะหดตัว

อย่างไรก็ดีในเชิงเทคนิคตราบใดที่ดัชนี S&P500 ของสหรัฐ, Stoxx 50 ของยุโรป และ Nikkei ของญี่ปุ่น ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย EMA 75 วัน จะสะท้อนให้เห็นว่าแนวโน้มของตลาดหุ้นโลก และสหรัฐในระยะสั้นยังคงมีโอกาสพักตัวต่อไป โดยเฉพาะ Jerome Powell ประธานเฟด ประกาศหลังจากที่ในการประชุม Jackson Hole Meeting ว่ามีความพร้อมใช้มาตรการผ่อนคลายรับมือกับความไม่แน่นอนจากสงครามการค้า แต่ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าทิศทางดอกเบี้ยจะไปทางไหน โดยระบุเพียงว่าจะใช้มาตรการที่เหมาะสมในการรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจ

ในขณะที่ในปัจจุบันประเด็นเรื่อง Brexit หรือแม้แต่ความตึงเครียดในฮ่องกง หรือการลาออกจากตำแหน่งผู้นำอิตาลี ล้วนแล้วแต่เป็นความเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงเริ่มเห็นชัดเจนขึ้น

อย่างไรก็ดี Jerome Powell มองว่าตอนนี้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตดีมาก ทั้งด้านตลาดแรงงาน และค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจะเห็นได้ชัดว่าตอนนี้ภาคการผลิตและการลงทุนในสหรัฐเริ่มเห็นสัญญาลดลง

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น(ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดในกรอบ 1,680-1,700 จุด เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้งสำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

5 views
bottom of page