Interview: คุณวิชัย เปาวิมาน นายกสมาคมชาวไร่อ้อย จ.ลพบุรี
อดีตเลขาธิการสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย
พ.ร.บ.อ้อย-กองทุนอ้อยและน้ำตาล คือความมั่นคงอย่างยั่งยืนของชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และผู้บริโภค ในกว่า 30 ปีที่ผ่านมา กองทุนมีบทบาทเยียวยาชาวไร่และโรงงานน้ำตาลช่วยราคาอ้อย-น้ำตาลตกต่ำโดยไม่ต้องใช้ภาษีประชาชนมาอุดหนุน แต่วันนี้ความมั่นคงเริ่มสั่นคลอน ต้นทุนปลูกอ้อยเพิ่ม ราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีแต่ทรงกับทรุด เงินสมทบกองทุนหดหาย กองทุนติดลบ ภาครัฐต้องยื่นมือเข้ามาช่วย เตรียมเจียดเงินภาษีประชาชนมาชดเชย ชาวไร่อ้อยขอบคุณรัฐที่ไม่ทอดทิ้ง แต่จะดีกว่า ถ้ารัฐมีนโยบาย มาตรการผลักดันราคาอ้อยให้สูงขึ้น ให้กองทุนกลับมาแข็งแกร่ง จะได้ไม่ต้องเบียดเบียนภาษีประชาชนโดยไม่จำเป็น
ราคาอ้อยตอนนี้ตกลงมามากพอสมควร
ระบบอ้อยน้ำตาลเราก่อนปี 2527 มันลุ่มๆดอนๆ หลังจากปี 2527 มีพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล ซึ่งเป็นพืชตัวแรกที่มีพระราชบัญญัติเป็นของตนเอง ตั้งแต่นั้นมาก็สร้างความมั่นคงในระบบอ้อยและน้ำตาล มั่นคงทั้งผู้บริโภค ชาวไร่ โรงงาน สิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันว่าเรามั่นคงหลังจากเรามีพ.ร.บ.อ้อยคือผลผลิตอ้อยจากปีละไม่กี่สิบล้านตัน ประมาณ 20-30 ล้านตัน จนมาถึงยุคที่สูงที่สุดสมัยนากยกฯสมัคร คือผลผลิตสูงถึง 134-135 ล้านตัน จริงๆปีนั้นผมคาดว่าน่าจะถึง 140 เพราะมีอ้อยไม่ได้เข้าโรงหีบเยอะ สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่าระบบอ้อยน้ำตาลไทยเรามีความมั่นคง
ในสมัยนายกฯ สมัครมีการออกฎหมายให้ราคาน้ำตาลเป็นเสรีใช่ไหม
ยังเหมือนเดิม ระบบอ้อยไม่มีการเปลี่ยนแปลง สมัยท่านสมัครตอนขึ้นราคาน้ำตาล 5 บาท ท่านเอาเงิน 12,000 ล้าน ไปช่วยแก้ปัญหาให้ชาวไร่ เหมือนเป็นเงินทุนสำรองอยู่ในกองทุน ซึ่งเงินตัวนี้โรงงานไม่ได้ ปกติระบบอ้อยเราจะแบ่งกันรายได้ 70:30 แต่พอเงินตัวนี้เป็นมติครม.สมัยท่านสมัครทำให้มีความมั่นคง ยกตัวอย่างปีนี้ราคา 700-800 บาท ตอนสมัยท่านสมัครสามารถเอามาเพิ่มได้อีก 150-160 บาท สมมติปีนี้ 800 ยุคนั้นก็จะ 900 กว่าบาทเกือบพัน คือมันมีความมั่นคง ชาวไร่ก็ปลูกอ้อยกันเยอะขึ้น ก่อนสมัยท่านสมัครผลผลิตปีละประมาณ 60-70 ล้านตัน ตอนนี้เพิ่มมาเป็น 100 กว่าล้านตัน พี่น้องประชาชนมีความเข้าใจผิดว่าเงินตรงนี้เป็นเงินภาษีอากรหรือไม่ บอกเลยไม่ใช่ เป็นเงินจากการขายน้ำตาลเอามาเข้าระบบ กองทุนอ้อยและน้ำตาลมีบทบาทสำคัญมาก
นอกจากปลูกเยอะ มีการส่งเสริมให้มีการย้ายโรงงานน้ำตาลได้ มีโรงงานน้ำตาลใหม่เกิดขึ้นมากตามมา
จาก 46 มาเป็น 57 โรงงาน การมีโรงงานเพิ่มส่วนหนึ่งดี คือชาวไร่มีที่ส่งมากขึ้น แต่รายได้ของระบบมาจากการขายน้ำตาล พูดง่ายๆ พอเราขายน้ำตาล ฝั่งของโรงงานมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ชาวไร่มีค่าใช้จ่ายในระบบเท่าไหร่ หักเสร็จแล้วมีกำไรค่อยมาแบ่งให้ชาวไร่ 70% ให้โรงงาน 30% แต่ช่วง 2 ปีนี้ เนื่องจากบราซิลกำลังจะฟ้องเรา สมมติถ้าบราซิลชนะเราจะต้องโดนปรับ 63,000 ล้าน แต่ไม่ได้ปรับเป็นเงิน ปรับเป็นลดการส่งออก ซึ่งรัฐบาลกลัวเลยรีบแก้ไข เพราะอ้อยและน้ำตาลทราย ณ วันนี้ กองทุนมีบทบาทน้อยลง เงินเข้ากองทุนก็น้อยลง ความมั่นคงเลยไม่มี พอไม่มีก็ต้องพึ่งรัฐบาล อย่างระยะใกล้รัฐบาลจะให้ตารางละ 50 บาท ปีหนึ่งไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งอันนี้เป็นเงินภาษีของประชาชน ในระบบอ้อยและน้ำตาลทรายเราไม่เคยพึ่งภาษีประชาชนเลย เราพึ่งพาตนเอง แต่ยุคนี้เริ่มแล้ว เพราะเราไปไม่รอด รัฐบาลหันมาช่วยก็ต้องขอบคุณรัฐบาล ในระยะสั้นอยากให้เข้ามาดูช่วง 1-2 ปีนี้ให้รัฐบาลมาดูราคาอ้อย อย่างปีหน้าที่จะถึงนี้ให้ได้ประมาณ 700 บาท รัฐบาลช่วยได้ไหม คือช่วยให้อยู่ได้ ถ้าไม่ได้ตันละ 700 บาท อีก 2-3 ปีดีไม่ดีประเทศไทยได้ซื้อน้ำตาลกิน เพราะชาวไร่คงล้มหายตายจากไปหมด
ต้นทุนเท่าไหร่
ต้นทุนเอาแน่ไม่ได้ แต่เท่าที่เฉลี่ยประมาณตันละ 1,100 บาท ถามว่าแล้วถ้าขาดทุนจะปลูกทำไม ก็เลิกปลูกกันเยอะ แต่อ้อยปลูกครั้งหนึ่งอยู่ได้ประมาณ 3 ปี เพราะฉะนั้นก็ยังมีตออ้อยอยู่ ยังดูแลกันอยู่ พี่น้องเกษตรกรรายใหม่ยังมั่นใจว่าระบบอ้อยเรายังคงไปได้ ยังปลูกอยู่ แต่น้อยลงมาก
ในโอกาสที่มีรัฐบาลใหม่ นายกฯเก่า ครม.ใหม่ อยากให้ทางการทำอะไรให้ชาวไร่อ้อยอยู่ได้
ช่วงแรกช่วยยังไงก็ได้ให้ราคาอ้อยต่อตันมันเพิ่มขึ้น ปีหน้าถ้า 700 บาทต่อตัน รัฐบาลช่วยอีก 200 บาทได้ไหม จะส่งเสริมอ้อยสดก็ว่ากันไป อ้อยสดเพิ่มตันละ 200 บาท คือช่วยพยุงให้เขาอยู่ได้ในช่วง 1-2 ปีนี้
ถ้ารัฐต้องอุดหนุนตันละ 200 บาท รวมทั้งระบบต้องใช้เงินเท่าไหร่
ถ้าอ้อย 1 ล้านตันก็ 20,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อก่อนนี้เราไม่ต้องพึ่งพารัฐบาลเลย เรามีกองทุนของเรา ก็ใช้เงินในกองทุน ซึ่งในยุคนั้น 12,000 ล้านบาท ที่เราเก็บได้จากการขายน้ำตาลแล้วเข้ากองทุน ผมอยากให้กองทุนมีบทบาทเหมือนเดิม
ตอนนี้กองทุนอ้อยและน้ำตาลมีเงินไหม
ตอนนี้มีเงินแต่น้อยลง การเก็บเงินเข้ากองทุนไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแบบเดิม คืออยากกราบเรียนรัฐบาลว่าอย่าไปลดบทบาทของกองทุน
ให้ผู้บริโภคช่วยควักเงินเพิ่มดีไหม ซื้อน้ำตาลแพงขึ้น
ส่วนใหญ่ชาวไร่เราโดนสังคมต่อว่า ราคาน้ำตาลเพิ่มขึ้นเป็นภาระของผู้บริโภค ผมยืนยันเลยว่าราคาน้ำตาลที่คนไทยกิน ถูกที่สุดในโลก จีนกิโลละ 50 บาท ไม่มีประเทศไหนที่กินน้ำตาลถูกเท่าประเทศไทย ณ วันนี้ราคา 22 บาทที่ถึงมือผู้บริโภค ชาวไร่ได้จริงๆ ขายหน้าโรงงานประมาณ 17-19 บาท หักเงินเข้ากองทุนจริงๆ 3-4 บาท ตอนนี้ระบบรวนก็เอาราคาลอนดอนหมายเลข 5 เป็นราคาอ้างอิง ตอนนี้กำลังทดลองใช้ระบบ อีกประเด็นคือ เมื่อก่อนมีโควตาขายน้ำตาลภายใน คือคุณมีสิทธิ์ผลิตอ้อยได้เท่าไหร่คุณมีสิทธิ์ขายได้เท่านี้ เขามีการจัดสรรปันส่วน เพราะฉะนั้นตรงนี้โรงงานไม่แข่งกันขายราคาภายในก็ดี ผู้บริโภคก็มีน้ำตาลใช้ตลอด แต่ ณ วันนี้ระบบโควตายกเลิกแล้ว กลัวบราซิลฟ้อง วันนี้โรงงานแข่งกันขายก็เหมือนตัดราคากัน รายได้เข้าไปในระบบอ้อยก็น้อยลงเพราะราคาอ้อยเกิดจากราคาน้ำตาล ไม่ใช่ใครเอามาให้เราได้ น่าเป็นห่วงรัฐบาลต้องหันมาสนใจ ระบบเก่าดีที่สุด สิ่งที่ยืนยันคือจากผลผลิตอ้อยไม่กี่สิบล้านตัน ประมาณ 20-30 ล้านตัน ตอนนี้เพิ่มเป็น 100 กว่าล้านตัน เป็นสิ่งยืนยันว่ามันมีความมั่นคงในระบบ ไม่ได้ใช้ภาษีอากรของพี่น้องประชาชน ใช้แต่เงินในระบบอ้อยน้ำตาลของเรา ที่ขายได้ก็เก็บเข้ากองทุน ในปีที่ราคาอ้อยตกต่ำเราก็เอาเงินกองทุนมาช่วย ปีไหนราคาอ้อยสูงก็เก็บเข้ากองทุน มันเป็นพืชเกษตรเดียวที่มีระบบเป็นของตนเอง ขอย้ำอีกครั้งว่ากองทุนต้องกลับมามีบทบาท และกฎหมายต้องมาดู จะแก้กฎหมายก็มาดู
ระบบส่วนแบ่ง 70:30 ไม่ต้องแก้แล้วใช่ไหม
70:30 ยังอยู่เหมือนเดิม แต่ระบบมันรวน รายได้น้อยลง
ต้องแก้กฎหมายให้เข้ากับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น
อย่าไปแก้ตามที่บราซิลต้องการ เพราะเขาเป็นคู่แข่งกับเรา สิ่งที่น่าภาคภูมิใจ คือ เราเป็นประเทศเล็กก็จริง เล็กกว่าบราซิลหลายสิบเท่า แต่สามารถส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับ 2 ของโลก เบอร์ 1 ยังเป็นบราซิล เราเป็นเบอร์ 2 มาโดยตลอด