top of page
379208.jpg

เตือนนักค้า 'สื่อออนไลน์' กฎหมายใหม่เข้มป้องผู้บริโภค


Interview: คุณพิฆเนศ ต๊ะปวง

รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

สคบ.แจงกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ทันสมัย ทันเหตุการณ์ เพิ่มความรวดเร็วในการตรวจสอบจับกุมผู้ทำผิด เน้นตรวจสอบโฆษณาเกินจริงในสื่อออนไลน์ เพิ่มโทษจากเดิมอีกเท่าตัว จัดตั้งเครือข่ายข้าราชการท้องถิ่นทั่วประเทศ มอบอำนาจให้สามารถบังคับใช้กฎหมาย สคบ.จับกุม-ปรับ ผู้กระทำผิดได้ทันที

กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่เป็นอย่างไร

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้เพิ่งเกิด เกิดมาตั้งแต่ปี 2522 คุ้มครองผู้บริโภค 5 ประการ ผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครองตามที่กฎหมายบัญญัติ เช่น การได้รับการคุ้มครองด้านการให้ข้อมูลข่าวสารการโฆษณาที่ถูกต้องเพียงพอต่อการตัดสินใจซื้อ อันนี้เป็นเรื่องฉลากสินค้า การติดฉลาก ให้ข้อมูลเรื่องการโฆษณา ที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้ออย่างถูกต้อง อันนี้เป็นอันหนึ่งด้านความปลอดภัยของสินค้าว่าสินค้าที่ออกมาต้องมีความปลอดภัย ถ้าเกิดผลกระทบ เกิดความเสียหายกับผู้บริโภค เจ้าของสินค้าก็ต้องรับผิดชอบ ต้องชดใช้เยียวค่าเสียหายหรือถึงขั้นถูกดำเนินคดีมีโทษทั้งจำและปรับ

ต่อมาคือเรื่องของอิสระในการเลือกสินค้า จะไปบังคับขู่เข็ญ ไปล่อลวงชักจูงให้ซื้อสินค้าโดยที่ขาดเจตนา ขาดการรับรู้ข้อมูล ไม่ได้ ต้องมีการสื่อสารข้อมูล การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้องที่เป็นจริง

อีกเรื่องคือความเป็นธรรมในการทำสัญญาจะเห็นได้ว่าเวลาทำสัญญาบางธุรกิจมีสัญญามาตรฐานกำหนดไว้ มีรายละเอียดต่างๆ เช่น ซื้อคอนโดฯก็มีสัญญามาตรฐาน ซื้อบ้านก็มีสัญญามาตรฐาน ซึ่งยังมีสัญญาอื่นอีกเยอะที่ยังไม่ถูกควบคุม ผู้ประกอบการมักจะเขียนสัญญาใช้สิทธิ์หรือเขียนสัญญาที่เอาเปรียบ ตกลงจะเซ็นไหมถ้าไม่เซ็นก็ไม่ขาย แต่เงื่อนไขรายละเอียดจำกัดความรับผิดหรือยกเว้นความรับผิดของตัวธุรกิจเองซึ่งไม่เป็นธรรมกับลูกค้า

นอกจากนั้นยังมีการพิจารณาชดเชยความเสียหาย หมายความว่าถ้าผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการซื้อการใช้สินค้าแล้ว ผู้บริโภคสามารถร้องขอให้หน่วยงานภาครัฐคือสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคเรียกร้องค่าเสียหายแทน หรือฟ้องศาลด้วยตัวเอง โดยเรียกร้องการเยียวยาความเสียหายได้ อันนี้เป็นสิทธิ์พื้นฐาน 5 ประการ มีมาตั้งแต่ปี 2522

ทีนี้กฎหมายเพิ่งแก้ไขใหม่ล่าสุดฉบับที่ 4 ที่มีผลบังคับเมื่อ 25 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา จะให้ความคุ้มครองเพิ่มเติมโดยสิทธิ 5 ข้อยังเหมือนเดิม แต่เพิ่มในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเกรงกลัวเพิ่มขึ้น การจัดการภาครัฐมีความรวดเร็วขึ้น

สำหรับประสิทธิภาพเพิ่มเติมกฎหมายใหม่ฉบับที่ 4 ขอสรุปเป็น 3 ข้อ

1. การบริหารจัดการของภาครัฐเร็วขึ้น เช่น การโฆษณา เมื่อก่อนมีโฆษณาทีวี วิทยุ ซึ่งต้องผ่าน กบว. เซ็นเซอร์ กองตรวจ แต่เดี๋ยวนี้มีการโฆษณาออนไลน์ เดิมยังไม่มีการกำกับดูแลโฆษณาออนไลน์ ใครอยากโพสต์อยากขายก็ขาย เราเลยเสนอมาตรการจัดการที่รวดเร็ว คือเมื่อสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคตรวจสอบพบจะสามารถนำข้อมูลเสนอคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา สามารถสั่งระงับการโฆษณาชั่วคราวได้ ถ้ากรณีที่สคบ.ดูแล้วเห็นว่าเป็นข้อความหรือโฆษณาที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง จะมีการแจ้งไปยังเจ้าของเว็บไซต์หรือเพจให้มาชี้แจงภายใน 5 วัน 7 วัน 15 วัน ถ้าไม่มาก็เสนอคณะกรรมการสั่งระงับ พอแจ้งไปแล้วไม่ปฏิบัติก็จะแจ้งไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อบล็อกและปิดเพจ อันนี้เป็นการจัดการที่รวดเร็ว อีกอันที่จัดการเร็วคือกรณีที่มีกระบวนการที่กฎหมายเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน สินค้าบางสินค้ามีกฎหมายกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องการคุ้มครองผู้บริโภคหลายฉบับ เช่น อาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่โพสต์ขายตามโซเชี่ยลต่างๆ บางที่เป็นโฆษณาที่บอกคุณลักษณะที่ไม่ใช่อาหารเสริม บางทีก็เลี่ยงมาใช้คำบางคำว่าจะเป็นอาหารหรือสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร หรือเครื่องสำอาง มีกฎหมายหลายฉบับกำกับดูแลเรื่องโฆษณาผลิตภัณฑ์ พอมีกฎหมายหลายฉบับเกี่ยวข้องแล้วใครจะจัดการ ผลิตภัณฑ์นี้เป็นเรื่องอะไรกันแน่ บางทีมีข้อจำกัดอยู่ จึงตั้งให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเป็นคนชี้ขาดว่าเรื่องนี้ ผลิตภัณฑ์นี้ เป็นของหน่วยงานใด หน่วยงานนั้นต้องบังคับใช้กฎหมายหรือต้องรับผิดชอบในการจัดการ ถ้าไม่มีให้คณะกรรมการชี้เลยว่า สคบ.รับไปดำเนินการ ไม่ต้องเถียงกันว่าเป็นของหน่วยงานไหน เป็นกระบวนการจัดการที่รวดเร็วในการดูแลเรื่องสินค้าที่ออกมาใหม่ ฟังแล้วอาจจะกระทบกฎหมายอื่นๆ เรายังไม่รู้ว่าจะอยู่ภายใต้กฎหมายไหน อันนี้เป็นการป้องกันเบื้องต้นในการจัดการที่รวดเร็ว

2. เรื่องทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการเกรงกลัว ไม่ให้ทำผิดกฎหมายในเรื่องการปกป้องสิทธิ์ของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัย ความไม่เป็นธรรม จึงกำหนดเพิ่มบทบัญญัติเรื่องของปรับโทษ เวลาเขาทำผิดกฎหมายมีโทษทั้งจำและปรับ วันนี้จำคุกไม่เพิ่มแต่ไปเพิ่มค่าปรับ ค่าปรับสูงขึ้นอีก 1 เท่า เพราะระบบเศรษฐกิจเวลาคนประกอบการจะกลัวเรื่องเม็ดเงิน เรื่องโทษจำคุกไม่กลัวเพราะเดี๋ยวก็สู้กัน โดยเฉพาะนิติบุคคลเพราะผู้ประกอบการเป็นนิติบุคคล เวลาจะเอานิติบุคคลเข้าคุกก็เอาบุคคลเข้าคุกไม่ได้ ถ้างั้นเราปรับแรงๆ เช่น โทษโฆษณาเดิมปรับ 50,000 บาท ก็เพิ่มเป็น 100,000 บาท ทำสัญญาที่เอาเปรียบผู้บริโภคปรับจาก 100,000 เป็น 200,000 เรื่องสลากสินค้าผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าถ้าติดฉลากไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ถูกต้องเพิ่มค่าปรับจาก 100,000 เป็น 200,000 บริษัทโดนกรรมการก็โดนด้วย กรณีของการโฆษณาผู้ที่เป็นเจ้าของสื่อโฆษณาโดนเพิ่มโทษด้วย เช่น ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้ามีการโฆษณา เจ้าของสินค้าโดน 100,000 มีเดียโดน 50,000 ก็ต้องให้มารับผิดชอบด้วย

3. ต้องการดูแลผู้บริโภคอย่างทั่วถึง วันนี้สคบ.มีคนทำงาน 250 คน ประจำอยู่ที่ส่วนกลางคือกรุงเทพฯ ในส่วนต่างจังหวัดยังไม่มีเจ้าหน้าที่ ไม่มีสำนักงานประจำสาขา จึงขอผู้ว่าราชการจังหวัดให้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาดูแล เรียกว่า อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัด ในระดับท้องถิ่นเราพยายามกระจายอำนาจลงไปให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ เราเลยเขียนในกฎหมายว่าพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นร่วมปฎิบัติหรือนำปฎิบัติตามกฎหมายนี้ได้ หมายความว่าต่อไปนี้ระดับเจ้าหน้าที่สคบ. 250 คน ถ้าพบปัญหาอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เราสามารถส่งเรื่องไปที่ท้องถิ่นได้เลยว่าขอมอบหมายให้ปลัด เทศบาล ช่วยตรวจสอบเรื่องนี้ แล้วใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเลย สมมุติส่วนใหญ่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เช่น ไปสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ พบว่าร้านนี้แพง ช่วงเทศกาลขายแพงถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือเปล่า ขายสินค้าไม่มีคุณภาพหรือไม่ เอาทุเรียนอ่อนมาขายไหม ก็มอบให้ไปดำเนินการตรวจสอบ แล้วถ้าตรวจสอบแล้วพบว่ามีความผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ก็ให้ท้องถิ่นนั้นเปรียบเทียบความผิดได้เลย ปรับได้เลยโดยไม่ต้องให้สคบ.ส่วนกลางไปปรับ เงินค่าปรับที่ได้จากท้องถิ่นให้กับท้องถิ่นเลย เงินที่ได้จากการปรับจากกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคก็เอาไปสร้างองค์กรพัฒนาความรู้ให้กับผู้บริโภคท้องถิ่นว่ารับรู้ข้อมูลอย่างนี้ได้อย่างไร เตือนผู้บริโภคอย่างไร ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตัดสินใจเลือกสินค้า

อันนี้ต้องการกระจายการคุ้มครองผู้บริโภคไปยังภูมิภาคและท้องถิ่นอย่างทั่วถึง ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้จะเป็นตัวหลักที่จะทำให้การขับเคลื่อนกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับที่ 4 มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ก็อยากฝากถึงผู้บริโภคทุกท่านว่าในฐานะสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคก็ห่วงใยไม่อยากให้มีการเอารัดเอาเปรียบเกิดขึ้นกับผู้บริโภค และผู้บริโภคจะมีความเชื่อมั่นในการเลือกหาสินค้า ซึ่งย้อนกลับไปที่ผู้ประกอบการเมื่อผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการซื้อหาสินค้า ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าที่ดีมีคุณภาพก็สามารถผลิตสินค้าขายแบบธุรกิจยั่งยืน เราไม่ต้องการให้ผู้ประกอบการขายสินค้าแบบฉาบฉวย แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่น สร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้ประกอบการและตัวผู้บริโภค ขณะเดียวกันผมมองภาพใหญ่คือผู้ประกอบการไทยเข้มแข็ง ผู้บริโภคเข้มแข็ง ต่างชาติก็เห็นสินค้าไทยมีคุณภาพมาตรฐานเขาก็ซื้อสินค้าของไทย ขณะเดียวกันผู้บริโภคที่อยู่เมืองไทยมีความเข้มแข็งรู้ว่าสินค้าไหนดีไม่ดี คนต่างชาติที่มาเที่ยวเขาก็สบายใจ ความเชื่อมั่นในภาพรวมระบบเศรษฐกิจก็จะดี

144 views
bottom of page