top of page

ใช้ปัจจัยหนุนระยะสั้นเป็นโอกาสขาย


เริ่มผ่อนคลายนโยบาย !

แนวโน้มของตลาดหุ้นโลกในระยะสั้น 1-2 สัปดาห์ยังคงเป็นขาขึ้นต่อไปได้นะครับ โดยที่จะได้รับปัจจัยหนุนจากแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางสำคัญๆของโลก หลังจากที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด มีมติ 7-3 เสียงในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 1.75-2.00% ตามที่ตลาดคาดการณ์ โดยระบุว่าแรงกดดันเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ เป็นสาเหตุของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้

การปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพื่อประกันการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ นอกจากนี้ยังได้ลดอัตราดอกเบี้ย Interest on Excess Reserve ลงอีก 0.30% มาที่ 1.80% ทั้งนี้หากพิจารณาที่ภาคแรงงานในส่วนของการจ้างงาน และอัตราค่าจ้างยังคงเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจของสหรัฐ แต่ภาคการส่งออก และอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าอย่างชัดเจน

ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก ประกาศอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดการเงิน 4 วัน ติดต่อกันเกือบ 3 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นการแทรกแซงตลาดการเงินเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี เพื่อสกัดการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ข้ามคืนที่ใกล้แตะระดับ 10% โดยการแทรกแซงตลาดในครั้งนี้ ส่งผลให้นักวิเคราะห์บางส่วนคาดการณ์ถึงเฟดอาจจะต้องเริ่ม “QE lite” ซึ่งหมายความว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจจะกลับไปขยายงบดุลตามเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบให้สูงขึ้น หลังจากเมื่อต้นเดือน ส.ค. 2562 เฟดได้ตัดสินใจที่จะยุติการปรับลดงบดุล ซึ่งได้ระงับการปรับลดการถือครองพันธบัตรที่เฟดได้ทำการซื้อตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ

ในช่วงเวลาเดียวกัน สัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวไว้ใกล้ระดับศูนย์ นอกจากนี้ยังได้คงขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์ในปริมาณมากเช่นกัน ซึ่งเป็นแบบผ่อนคลายพิเศษ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน โดยการตัดสินใจดังกล่าวของ BOJ มีขึ้นหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงอีก 0.25% สู่ระดับ 1.75-2.00%

หากดูปัจจัยเชิงพื้นฐานจะพบว่าเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่นค่อนข้างท้าทาย หลังจาก Inflation ขยายตัวเพียง 0.6% ในเดือน ก.ค. 2562 เมื่อเทียบกับ Inflation Target ที่ 2% ขณะที่ตัวเลขการส่งออกก็หดตัวทุกเดือนในปี 2562 ส่งผลให้ BOJ จะพิจารณาความคืบหน้าทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้ออย่างละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้นอีกครั้งในการประชุมนโยบายครั้งถัดไปในเดือน ต.ค. 2562 ซึ่งหากดูประกอบกับโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ พบว่ามีโอกาส 100% ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. 2562 ทั้งนี้การขยับของธนาคารกลางสหรัฐ และญี่ปุ่นเป็นไปในทิศทางเดียวกับธนาคารกลางยุโรป และจีนที่เดินหน้าประกาศผ่อนคลายนโยบายการเงินไปก่อนหน้านี้แล้ว และแน่นอนว่าจะส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่านโยบายอัดฉีดสภาพคล่องในลักษณะดังกล่าวทั้งการลดดอกเบี้ย และ QE จะถูกธนาคารกลางสำคัญของโลกนำกลับมาใช้อีกครั้ง

ดีดขึ้นเป็นจังหวะในการน่าขายก่อน : โอกาสในการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นโลกในระยะสั้น ได้รับการสนับสนุนจากการที่ดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงยังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 25 วัน (SMA 25) แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนในตลาดหุ้นโลกที่ลดลงชัดเจน สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ระบุว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้น 2.2% WoW มาอยู่ที่ 35.3% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ลดลง 3.4% WoW มาอยู่ที่ 27.8%

อย่างไรก็ดีในมุมมองของ “นายหมูบิน” มองว่าโอกาสที่ตลาดหุ้นโลกยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นในระยะสั้นนี้ น่าจะเป็นโอกาสในการขยายออกมาก่อนสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะในกรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดเหนือกรอบ 1,680-1,700 จุดได้ เพราะแม้ว่าตลาดจะคาดหวังกับโอกาสที่ธนาคารกลางสำคัญของโลกจะเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป แต่จากการประชุม FOMC ล่าสุดเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อไป ทั้งนี้การที่มีกรรมการเฟดถึง 3 รายลงมติต่างจากเสียงส่วนใหญ่ บ่งชี้ถึงความเห็นต่างระหว่างกรรมการเฟดครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ ธ.ค. 2557

ขณะที่ Jerome Powell ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐได้กล่าวว่าการดำเนินนโยบายการเงินอย่างพอเหมาะเช่นนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐยังคงขยายตัวอย่างแกร่งท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบัน พร้อมกับกล่าวว่าเฟดจะดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง หากมีความจำเป็น

อย่างไรก็ดี Jerome Powell ยังไม่เห็นว่าสิ่งนี้มีความจำเป็นในขณะนี้ นอกจากนี้ประเด็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นความเสี่ยงที่รออยู่ สะท้อนออกมาจากการที่ David Palmass ประธานธนาคารโลก หรือ World Bank ได้แสดงความเห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากกว่าที่ธนาคารโลกคาดการณ์ไว้ในเบื้องต้น โดยสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมานั้น ทำให้ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจที่แท้จริงของโลกจะขยายตัวต่ำกว่าที่ธนาคารโลกคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 2.6% ซึ่งสาเหตุของการชะลอตัวส่วนใหญ่มาจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในประเทศจีน รวมทั้งความอ่อนแอของเศรษฐกิจใน อาร์เจนตินา อินเดีย และเม็กซิโก รวมทั้งการขยายตัวที่น่าผิดหวังของกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา

ขณะที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ระบุว่าการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนได้ฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้แตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี ทั้งนี้ OECD ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ สู่ระดับ 2.9% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2551-2552 จากระดับ 3.6% ในปีที่แล้ว

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดในกรอบ 1,680-1,700 จุด เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

6 views
bottom of page