top of page
image.png

หุ้นไทยจะไม่วิ่งเหมือนภาพใหญ่ของโลก


ตลาดหุ้นโลกยังดี !

Momentum ของตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาขึ้นในระยะสั้นต่อไปได้นะครับ โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI ปรับตัวขึ้นอีก 1.67% โดยที่ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากได้รับปัจจัยบวกจากการเปิดเผยผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 ที่แข็งแกร่งโดยที่ 75% ของบริษัทที่รายงานผลประกอบการออกมาแล้วรายงานตัวเลขกำไรดีกว่าที่คาดการณ์ ขณะที่ในส่วนของที่มาของรายได้ ข้อมูลจาก Factset บอกว่า 38% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี S&P 500 มาจากนอกสหรัฐ

นอกจากนี้หากแบ่งราย Sector พบว่า Info Tech เป็นsector ที่มีรายได้จากนอกสหรัฐมากที่สุดถึง 57% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่ง Sector ดังกล่าวมีน้ำหนักในการคำนวณดัชนี S&P 500 มากที่สุด ซึ่งการที่มีรายได้จากนอกสหรัฐในสัดส่วนที่สูง ช่วยให้บริษัทเหล่านี้ได้รับผลดีจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้น อีกทั้งแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐในสัปดาห์ก่อนหน้า

ตลาดหุ้นทั่วโลกยังได้รับปัจจัยบวกจากสหรัฐ และจีนได้บรรลุข้อตกลงในการยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าของแต่ละฝ่ายตามสัดส่วนในแต่ละเฟสและยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติม แม้ว่าจะยังไม่มีกำหนดการยกเลิกภาษีที่แน่นอนออกมา แต่เป็นที่คาดการณ์ว่าสหรัฐพิจารณาจะยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าอัตรา 25% รอบ 1 วงเงิน 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ และพิจารณายกเลิกการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในรอบที่ 4.1 วงเงิน 1.1 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบันเก็บภาษี 15% ที่เริ่มเก็บวันที่ 1 ก.ย. 2562 รวมถึงอาจจะยกเลิกแผนเก็บภาษีนำเข้าจากจีนมูลค่า 1.56 แสนล้านดอลลาร์ ในเดือน ธ.ค. 2562 อีกด้วย

ขณะที่ในทางฝั่งของจีนคาดว่าจะสัญญานำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐเพิ่มเติมตามที่สหรัฐเรียกร้อง และกำลังพิจารณายกเลิกข้อจำกัดต่อการนำเข้าสัตว์ปีกจากสหรัฐซึ่งถือเป็นข่าวในด้านบวก เนื่องจากก่อนหน้านี้จีนได้สั่งห้ามนำเข้าสัตว์ปีกและไข่จากสหรัฐนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2558 หลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก

แน่นอนว่าความคืบหน้าในการเจรจาการค้าเป็นผลบวกต่อตลาดการเงินทั่วโลกในระยะสั้นถึงกลาง จนกว่าจะเริ่มมีการเจรจาในเฟส 2 โดยการเจรจาจะเน้นไปที่ประเด็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี ซึ่งมีนัยว่าจีนต้องมีการออกกฎหมาย รวมถึงปฏิรูปเชิงโครงสร้างลดการสนับสนุนและอุดหนุนรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวและอาจขัดกับรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของทางการจีน ซึ่งการเจรจาในเฟส 2 อาจจะยังไม่มีกำหนดการที่แน่นอนออกมาจนกว่าจะมีการลงนามสัญญาในเฟส 1 อย่างเป็นทางการ

ด้านเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยที่ตัวเลข Non-Manufacturing PMI ของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นระดับ 54.7 ในเดือน ต.ค. 2562 จากระดับ 52.6 ในเดือน ก.ย. 2562 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2559 ทั้งนี้การที่ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคบริการ ขณะที่ตัวเลข Initial jobless claims ลดลงสู่ระดับ 211,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ว่าจะลดลงสู่ระดับ 215,000 ราย

ทั้งนี้ Momentum ขาขึ้นของตลาดหุ้นโลก และสหรัฐดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากทิศทางของดัชนี VIX Index ของสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกง ที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลง -3.71%, -7.52% และ -4.04% ขณะที่ปัจจุบันดัชนีทั้งหมดเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่ากว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 25 วัน สะท้อนให้เห็นถึงระดับการยอมรับความเสี่ยงของนักลงทุนที่อยู่ในระดับสูง สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้น 6.32% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมามาอยู่ที่ 40.30%

สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลงหรือ Bearish ที่ลดลง 4.50% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 23.93%

หมดปัจจัยหนุนหุ้นไทยเมื่อแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย : อย่างไรก็ดีในส่วนของตลาดหุ้นไทยดูเหมือนว่าปัจจัยหนุนสำคัญได้ผ่านไปแล้ว หลังจากที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของแบงก์ชาติ มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จาก 1.50% ต่อปี เหลือ 1.25% ต่อปี ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี 8 เดือน (เป็นระดับต่ำสุดเทียบเท่าช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2007-2009 และเป็นระดับที่ต่ำกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 1997-1999) จากที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และต่ำกว่าระดับศักยภาพ ขณะที่การส่งออกหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้และมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดตามสภาวะการค้าโลก และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ แบงก์ชาติ ยังออก 4 มาตรการดูแลค่าเงินบาท 1) เพิ่มวงเงินให้ผู้ส่งออกไม่ต้องนำเงินกลับประเทศ จาก 5 หมื่นดอลลาร์เป็น 2 แสนดอลลาร์ต่อใบขน 2) นักลงทุนรายย่อยลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศวงเงิน 2 แสนดอลลาร์ต่อปี ไม่ต้องผ่านตัวกลาง 3) เพิ่มวงเงินการโอนไปต่างประเทศเป็น 2 แสนดอลลาร์ จาก5 หมื่นดอลลาร์ไม่ต้องยื่นเอกสาร 4) อนุญาตให้นักลงทุนซื้อขายทองคำในประเทศด้วยเงินต่างประเทศ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงแทบทันที ซึ่งมาจากแรงขายในหุ้นกลุ่มธนาคารออกมาเพราะมองว่าเป็นกลุ่มที่เสียประโยชน์จากการปรับลดดอกเบี้ย เนื่องจากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย(NIM)ที่จะลดลง และยังไม่นับรวมกับการเติบโตของสินเชื่อที่ขยายตัวได้น้อยลงเรื่อยๆ

เชื่อว่าการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้จะเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นในระยะกลาง เพราะที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับลดดอกเบี้ย เช่น หุ้นปันผลสูง, กลุ่มลีสซิ่ง และกลุ่มส่งออก เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากดูที่ปัจจัยพื้นฐานกลับพบว่า Valuation ของตลาดหุ้นไทยค่อนข้างแพง หลังจาก PE ratio ของไทย ณ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 18.86 เท่า ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่เหนือค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ระดับ 16.87 เท่า หรือคิดเป็น Premium ที่ 11.8% รวมถึงการประมาณการณ์กำไรสุทธิปี 2019 ของประเทศไทยในสัปดาห์ทีผ่านมาถูกปรับลดลง (EPS growth) หดตัว -0.3% หดตัวเป็นครั้งแรกในปีนี้ และถูกปรับลดลงไปแล้วในปีนี้ถึง -16.83% YTD

นอกจากนี้แนวโน้มของเงินทุนจากต่างชาติยังคงไม่มีทีท่าว่าจะไหลกลับเข้ามาตลาดหุ้นไทยแต่อย่างใดอีกด้วย ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยในปีนี้ถือว่ามีความท้าทายที่รออยู่ค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ในส่วนของปัจจัยหนุนใหม่คงเกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะแม้ กนง. จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยลง ก็คงทำได้เพียงประคองปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งยังไม่สามารถแก้ปัญหาใหญ่ๆ เช่น ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เร่งพัฒนาความสามารถแข่งขัน หรือสร้างความเข้มแข็งระยะยาวได้ ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจึงยังเสี่ยงโตช้า โดยเฉพาะเมื่อความไม่แน่นอนในปัญหาสงครามการค้ายังคงมีต่อไปซึ่งจะกดดันบรรยากาศการลงทุนและการค้าโลก

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดในกรอบ 1,680-1,700 จุด เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่

moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

10 views
bottom of page