top of page
image.png

อยู่ในสถานการณ์ที่อ่อนแอและเปราะบาง


เริ่มชะลอการปรับขึ้น!

ในสัปดาห์กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกเริ่มชะลอการปรับตัวขึ้นแล้วนะครับ โดยดัชนี MSCI ACWI ลดลง 0.40% หลังจากที่ตลาดเริ่มขาดปัจจัยหนุนใหม่ หลังจากที่ Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดออกมายืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัวที่เหมาะสม โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด

นอกจากนี้ Jerome Powell ยังส่งสัญญาณว่าเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไป ตราบใดที่ข้อมูลซึ่งได้รับมานั้นยังคงสอดคล้องกับมุมมองของเฟดที่ว่าเศรษฐกิจจะมีการขยายตัวปานกลาง, ตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้ออยู่ใกล้เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% สะท้อนให้เห็นว่าการประชุมนโยบายการเงินที่เหลืออยู่อีก 1 ครั้งในปีนี้ คงจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกแล้วในปีนี้ ขณะที่การเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐยังคงไม่ชัดเจน เพราะถึงแม้ว่า Donald Trump ได้กล่าวว่าสหรัฐ และจีนใกล้จะบรรลุข้อตกลงการค้าเฟสแรก ขณะที่จีนเองก็ต้องการทำข้อตกลงกับสหรัฐเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม Donald Trump ย้ำว่าสหรัฐจะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน หากสหรัฐไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับจีน และจะยอมรับข้อตกลงที่ดีสำหรับสหรัฐและแรงงานสหรัฐเท่านั้น ทั้งนี้ Donald Trump ไม่ได้ส่งสัญญาณเกี่ยวกับการยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจีน หรือส่งสัญญาณใดๆ ที่ชัดเจนเกี่ยวกับช่วงเวลาในการทำข้อตกลงการค้าเฟสแรก ขณะที่ในทางฝั่งของจีนเองยังคงเรียกร้องให้สหรัฐยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าจากจีน รวมถึงปฏิเสธเงื่อนไขของสหรัฐที่ต้องการให้จีนยุติการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี ทำให้ความคาดหวังของตลาดเบาบางลงไป

นอกจากนี้แนวโน้มเศรษฐกิจของเอเชียกลับมาเป็นปัจจัยกดดันอีกครั้ง หลังเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงซบเซาต่อเนื่อง หลังจาก GDP ในไตรมาส 3 ของญี่ปุ่น ขยายตัวเพียง 0.2% YoY ต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 0.8% YoY และต่ำกว่าไตรมาส 2 ที่มีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งถึง 1.8%

เหตุผลสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นขยายตัวช้าที่สุดในรอบหนึ่งปีนั้น เป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ได้ส่งผลกระทบกับการส่งออกของญี่ปุ่นให้ลดลง 0.7% ในไตรมาส 3 รวมถึงการที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศขึ้นภาษีผู้บริโภคจาก 8% เป็น 10% เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับเศรษฐกิจจีนทียังคงชะลอตัวต่อเนื่อง หลังจากตัวเลข Industrial Production เพิ่มขึ้นเพียง 4.7% YoY ต่ำกว่าที่คาดการณ์ ไว้ที่ 5.4% YoY และลดลงจากระดับ 5.8% YoY ในเดือน ก.ย. 2562 ขณะที่ตัวเลข Retail Sales ขยายตัวเพียง 7.2% YoY น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 7.8% ซึ่งลดลงใกล้ระดับต่ำที่สุดในรอบ 16 ปี ขณะที่ตัวเลข Fixed Asset Investment ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 5.2% ในช่วง 10 เดือนแรก ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2541 ส่งผลให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางจีนได้อัดฉีดเงินสดเข้าสู่ระบบเป็นวงเงินสูงถึง 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านโครงการเงินกู้ระยะเวลา 1 ปี โดยมีอัตราดอกเบี้ยทรงตัวอยู่ที่ 3.25%

ตัวเลขกำไร และเศรษฐกิจกดดันหุ้นไทย : อย่างไรก็ดีโอกาสที่ตลาดหุ้นโลกจะยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นต่อไปได้ และการปรับตัวลงระยะสั้นเป็นเพียงแค่การพักฐานเพื่อไปต่อเท่านั้น เพราะเฟดยังไม่ได้ปิดโอกาสในปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2563 หลังจาก Jerome Powell ยังคงเน้นย้ำถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ รวมถึงการแยกตัวของสหราชอาณาจักร (Brexit) อีกทั้งการตัดสินใจทางนโยบายการเงินยังคงขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้รับมา (Data Dependency) เพราะถึงแม้ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปถึง 3 ครั้งในปีนี้แล้วก็ตาม แต่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐก็ไม่สามารถเร่งตัวตามที่เฟดคาดการณ์ไว้ได้

สะท้อนให้เห็นว่ายังคงไม่มีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ สอดคล้องกับ Fed Funds Future ซึ่งบ่งชี้ว่าในปี 2563 มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึง 51% ในขณะที่โอกาสคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 49% ขณะที่ไม่โอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเลย สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้น 0.42% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมามาอยู่ที่ 40.72% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 0.89% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 24.82%

อย่างไรก็ดีในส่วนของตลาดหุ้นไทยยังคงมีโอกาส Underperform ตลาดหุ้นโลกต่อไป หลังหลายบริษัทที่ประกาศงบการเงินออกมาแล้วดูจะเปราะบางมาก ก็ส่งผลให้การประมาณการมีแนวโน้มที่จะถูกทยอยปรับลดลง

นอกจากนี้ปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นไทยยังคงมาจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ทั้งตัวเลข Private Consumption ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 1.4% เมื่อเทียบรายปีในไตรมาส 3 จาก 2.2% ในไตรมาส 2 ขณะที่ตัวเลข Private Investment ก็อ่อนตัวลงเช่นกัน

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดในกรอบ 1,680-1,700 จุด เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

15 views
bottom of page