top of page
image.png

ตลาดหุ้นไทยไร้ซึ่งปัจจัยหนุนใหม่...หุ้นเอเชียตกสำรวจ !


การที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น โดยที่ทิศทางตลาดหุ้นโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับปัจจัยหนุนจากการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐเฟส 1 ที่มีแนวโน้มที่จะบรรลุได้ โดยประธานาธิบดี Donald Trump ส่งสัญญาณว่าสหรัฐกำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการทำข้อตกลงการค้ากับจีน ซึ่งถือเป็นข้อตกลงที่มีความสำคัญอย่างมาก และการเจรจาก็กำลังไปได้ดี ประกอบกับการที่ตลาดหุ้นโลกยังได้แรงหนุนจากการที่ Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ได้แสดงมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ พร้อมส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ และยังมองว่าเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 2% เป็นสัญญาณที่ดีในการเติบโตอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อสหรัฐในเวลานี้ยังคงต่ำกว่าเป้าหมาย 2% แม้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปถึง 3 ครั้งในปีนี้แล้วก็ตาม โดยมุมมองของ Jerome Powell ในครั้งนี้ยังคงสอดคล้องกับสุนทรพจน์ครั้งก่อน ที่ยังมีมุมมองในการคงอัตราดอกเบี้ยตลอดปี 2563 ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐยังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนตลาดหุ้นโลก และสหรัฐ โดยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับอัตราการขยายตัวของ GDP ไตรมาส 3 ที่ระดับ 2.1% สูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งแรกที่ระดับ 1.9% โดยได้แรงหนุนจากมูลค่าของสินค้าคงคลังและการลงทุนในโครงสร้างที่ได้รับการปรับทบทวนเพิ่มขึ้น

ส่วนตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐลดลง 5.7% สู่ระดับ 6.65 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน ต.ค. 2562 ขณะที่ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ ปรับตัวขึ้น 0.6% ในเดือน ต.ค. 2562 สวนทางกับที่คาดว่าจะลดลง 1.1% ขณะที่ตัวเลข Beige Book ระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวปานกลางในช่วงเดือน ต.ค. 2562 จนถึงกลางเดือน พ.ย. 2562 แต่แนวโน้มการเติบโตยังเป็นบวก

อย่างไรก็ดีทิศทางของตลาดหุ้นโลกที่ยังคงเป็นบวก ส่วนใหญ่มีเพียงตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรปเท่านั้นที่ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น ขณะที่ตลาดหุ้นในกลุ่มเอเชียกลับสร้างผลตอบแทนได้แย่กว่า เนื่องจากชัดเจนแล้วว่าปัจจุบันผู้จัดการกองทุนระดับโลก หรือ Global Fund Manager เริ่มที่จะเลือกลงทุน หรือ Selective Buy เพียงบางประเทศเท่านั้น และแน่นอนว่าตลาดหุ้นในกลุ่มเอเชียเป็นทางเลือกท้ายๆในเวลานี้ เนื่องจาก Global Fund Manager ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะมีขึ้นในอนาคตอยู่ค่อนข้างมาก สะท้อนออกมาจากผลสำรวจ Asset Allocation Survey จาก AAII ที่ระบุว่าผลสำรวจในเดือน ต.ค. 2562 นักลงทุนได้ลดสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นลงราว 2% และเพิ่มสัดส่วนการถือเงินสดเพิ่มขึ้นราว 2% เช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยงรออยู่เพียบเลย : ปัจจัยเสี่ยงที่ผมมองว่า Global Fund Manager กังวลมากที่สุด คือโอกาสที่การเจรจาทางการค้าระหว่างจีน และสหรัฐจะล้มเหลวในท้ายที่สุด อันเป็นผลมาจากประเด็นทางการเมือง หลังจากที่ประธานาธิบดี Donald Trump ได้ลงนามบังคับใช้กฎหมาย "Hong Kong Human Rights and Democracy Act" โดยกฎหมายดังกล่าวจะคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนต้องรับผิดชอบในการทำลายเสรีภาพขั้นพื้นฐานและการปกครองตนเองในฮ่องกง นอกจากนี้ร่างกฎหมายจะกำหนดให้มีการทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางการค้ากับฮ่องกง ภายใต้กฎหมายของสหรัฐ โดยการทบทวนดังกล่าวจะพิจารณาถึงประเด็นที่ว่าฮ่องกงได้รับอำนาจในการปกครองตนเองอย่างเพียงพอจากจีนหรือไม่ ซึ่งจีนก็ขอให้สหรัฐหยุดกระทำการโดยพลการ มิเช่นนั้นจีนจะดำเนินการตอบโต้ ซึ่งสหรัฐจะต้องรับผลจากการกระทำของตัวเอง ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเกิดความกังวลว่าการเจรจาระหว่างสหรัฐ และจีนอาจต้องสะดุดลง

ขณะที่ประเด็นของการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือ Brexit ล่าสุดระหว่างที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่นี้ YouGov ได้เปิดเผยผลสำรวจแนวโน้มผลการเลือกตั้งทั่วประเทศของอังกฤษในวันที่ 12 ธ.ค. 2562 พบว่าพรรค Conservative ของ Boris Johnson นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะชนะการเลือกตั้งโดยมีเสียงข้างมากถึง 68 เสียง ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 32 ปีของพรรค Conservative สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ Bloomberg Economists ที่มีมุมมองว่าพรรคของ Boris Johnson จะชนะการเลือกตั้ง ซึ่งถ้าผลการเลือกตั้งออกมาตามผลสำรวจจริง จะหมายความการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษจะเป็นในลักษณะรูปแบบของ Hard Brexit หรือ No deal ในวันที่ 31 ม.ค. 2563

หากผลการเลือกตั้งเป็นเสียงรัฐบาลปริ่มน้ำ แน่นอนว่าผลลัพธ์ของ Brexit ก็ยังอยู่บนความไม่แน่นอนต่อไป นี้ยังไม่นับรวมความเสี่ยงจากประเด็นของราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นหลังจากที่การประชุมโอเปก ซึ่งเดิมคาดไว้ว่าจะมีขยายระยะเวลากำลังการผลิตออกไปอีก 3 เดือนจากเดิมที่จะสิ้นสุด มี.ค.2563 อาจไม่เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์แล้ว เนื่องจากรัสเซียอาจตัดสินใจไม่ขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไป ส่งผลให้ความขัดแย้งในกลุ่มโอเปกชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยสมาชิกที่มีอิทธิพลมากที่สุดอย่างซาอุดีอาระเบีย เริ่มไม่พอใจที่ต้องเป็นประเทศที่พยุงตลาดอยู่ฝ่ายเดียว จากการที่สมาชิกในกลุ่มโอเปกไม่ยอมลดกำลังการผลิตตามโควตาจริงๆ

ทั้งนี้เหตุผลหลักที่ประเทศสมาชิกอื่นไม่ลดกำลังการผลิตตามโควตา เนื่องจากกำลังประสบปัญหาฐานะการคลังที่ย่ำแย่ เนื่องจากรายได้จากการขายน้ำมันลดลง โดยตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดได้แก่ประเทศเอกวาดอร์ เตรียมประกาศถอนตัวจากการเป็นสมาชิกโอเปกตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 เนื่องจากต้องการเพิ่มการผลิตน้ำมันเพื่อหารายได้เข้าประเทศ

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดในกรอบ 1,600 จุด เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ

8 views
bottom of page