top of page
379208.jpg

จับตาประชุมเฟด คาดยังคงดอกเบี้ยที่ 0.0-0.25%....มองเงินบาทซื้อขายในกรอบ 31.20-31.50


Image source : https://www.flickr.com/photos/federalreserve/26114201185/in/album-72157666418422281/


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย : คาดเฟดยังคงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.0-0.25% ในการประชุมวันที่ 27-28 เม.ย. นี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0-0.25% สำหรับการประชุมนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในวันที่ 27-28 เม.ย. นี้ โดยมองว่า แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะส่งสัญญาณฟื้นตัวได้ดี หลังจากมีการเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้เป็นปกติมากขึ้น ประกอบกับมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี คาดว่าตลาดแรงงานจะใช้เวลายาวนานในการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ตามเป้าหมายของเฟด เนื่องจากโดยรวมยังคงมีคนว่างงานที่ขอสวัสดิการว่างงานมากกว่า 17.4 ล้านคน ขณะที่ แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ จะบรรเทาลง แต่ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดยังคงมีอยู่ โดยจะเห็นว่าหลายประเทศยังคงเผชิญการแพร่ระบาดระลอกใหม่ อีกทั้งมีการเกิดไวรัสกลายพันธุ์ในหลายประเทศ ดังนั้น ท่ามกลางตลาดแรงงานที่ยังอ่อนแรง ประกอบกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ยังมีอยู่ คาดว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะยังคงนโยบายแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

นอกจากนี้ แม้ว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้น แต่เฟดมีมุมมองว่าการเร่งขึ้นของเงินเฟ้อจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว ประกอบกับเฟดมีแนวโน้มที่จะให้น้ำหนักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ทั้งนี้ เงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเร่งสูงขึ้นในระยะอันใกล้ เนื่องจากฐานที่ต่ำในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. ของปีก่อนหน้า ขณะที่อุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ดี ประกอบกับมีการชดเชยอุปสงค์ที่ค้างจากช่วงก่อนหน้า (Pent-up demand) ส่งผลให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเกินเป้าหมายระยะยาวที่ 2.0% ในไตรมาส 2/2564 อย่างไรก็ดี เงินเฟ้ออาจปรับลดลงมาต่ำกว่าระดับ 2.0% ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ หากปัจจัยฐานต่ำและแรงหนุนจาก Pent-up demand นั้นลดลง ดังนั้น เฟดจึงยังไม่มีความจำเป็นในการดำเนินนโยบายแบบตึงตัวเพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฟดจึงเผชิญความท้าทายในการคงนโยบายผ่อนคลายและอาจจำเป็นต้องเริ่มถอนนโยบายผ่อนคลายในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดีศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเฟดน่าจะยังคงการซื้อสินทรัพย์ที่ระดับเดิมและคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับใกล้ศูนย์อย่างน้อยไปจนถึงสิ้นปีนี้ โดยหากเฟดเริ่มส่งสัญญาณปรับลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE tapering) จะสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงินอย่างมาก ในขณะที่ แม้ว่าสหรัฐฯ จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีขึ้น ประกอบกับมีการเร่งฉีดวัคซีนในประเทศ แต่อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดยังคงมีอยู่ ซึ่งเห็นได้จากในหลายประเทศมีการเผชิญการแพร่ระบาดระลอกใหม่ และในบางประเทศมีการเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัส ซึ่งวัคซีนที่มีอยู่อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เฟดจึงน่าจะยังคงจุดยืนด้านนโยบายแบบผ่อนคลายไปจนถึงสิ้นปีนี้ และรอดูสถานการณ์ในปีหน้าเมื่อภาพต่างๆ ชัดเจนขึ้น


กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 31.20-31.50 จับตาประชุมเฟด, โควิดในประเทศ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.20-31.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 31.39บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 31.18-31.44 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินหลัก โดยดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินแตะจุดต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯย่ำฐาน และนักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงท่ามกลางสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทางด้านธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)คงนโยบายตามคาด ส่วนธนาคารกลางแคนาดาปรับลดขนาดการเข้าซื้อพันธบัตรและส่งสัญญาณว่าอาจจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 65 ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 8,712 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 10,326 ล้านบาท

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า จุดสนใจหลักของตลาดโลกอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) วันที่ 27-28 เมษายนนี้ ซึ่งคาดว่าจะเน้นย้ำว่ายังไม่มีการปรับนโยบายในอนาคตอันใกล้พร้อมประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในปีนี้เป็นเหตุการณ์ชั่วคราว นอกจากนี้ ประธานาธิบดี โจ ไบเดนจะแถลงต่อสภาคองเกรสเป็นครั้งแรก โดยนักลงทุนจะจับตาแผนการปรับขึ้นภาษีในระยะถัดไป ตลาดจะติดตามข้อมูลจีดีพีไตรมาส 1/64 ของสหรัฐฯ ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)จะจัดประชุมนโยบายการเงินในสัปดาห์นี้เช่นกันและมีแนวโน้มคงนโยบายไว้ตามเดิม ขณะที่ วิกฤต COVID-19 ในอินเดียอาจทำให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นต่อทิศทางเศรษฐกิจโลก

สำหรับปัจจัยในประเทศ กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดส่งออกเดือนมีนาคมแตะมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.42 หมื่นล้านดอลลาร์ และเพิ่มขึ้น 8.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 28 เดือน โดยภาคส่งออกได้แรงหนุนจากกลุ่มรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก ยางพารา และเหล็ก ส่วนยอดนำเข้าเดือนมีนาคมขยายตัว 14.12% ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี มูลค่าส่งออกและนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.27% และ 9.37% ตามลำดับ ทางด้านธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า มีความเสี่ยงที่จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยสำหรับปีนี้และปี 65 ลง เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ อนึ่ง คาดว่าเงินบาทในระยะนี้อาจแกว่งตัวออกด้านข้าง (sideways) เทียบกับดอลลาร์ท่ามกลางสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลกที่ชัดเจนมากขึ้นสะท้อนจากข้อมูลส่งออกของไทยและตัวเลขการผลิตของโลกหลายรายการ อย่างไรก็ตาม เงินบาทอาจอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ อาทิ เงินยูโร และเยน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศยังคงบั่นทอนความเชื่อมั่นและฉุดรั้งการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจภายใน

12 views

Comments


bottom of page