top of page

รับมือ NPL พุ่งพรวด...NPL รายย่อยก่อนโควิดระบาด มากถึง 3.8 ล้านราย...หวั่นฝีจะแตกช่วงตุลาคม


Interview : คุณสุรพล โอภาสเสถียร

ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)

แจง...NPL รายย่อยก่อนโควิดระบาด มากถึง 3.8 ล้านราย รวมยอดหนี้ 9.5 แสนล้านบาท หวั่นฝีจะแตกช่วงตุลาคม หลังสิ้นสุดมาตรการพักต้น พักดอก ทั้งลูกจ้าง-นายจ้างจะมีรายได้ไม่พอจ่ายหนี้ NPL จะพุ่งพรวด ทุกมาตรการที่ช่วยพยุงปัญหาจะเอาไม่อยู่ ความเสียหายเกิดขึ้นแน่ๆ แม้แต่แบงก์ก็มีสิทธิ์ต้องนำเงินสำรองมาใช้ ชี้...โจทย์สำคัญในวิกฤตครั้งนี้คือรักษาการจ้างงาน รักษากิจการ-ธุรกิจท่ามกลางความสุ่มเสี่ยงที่โควิดจะระบาดในไทยรอบ 2 ทางแก้คือรัฐต้องหาเงินฉุกเฉินมาตั้งกองทุนเพื่อต่อลมหายใจให้ภาคเอกชน SME ธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว โดยต้องก้าวข้ามคำถามที่ว่าถ้าเสียหายใครจะรับผิดชอบ ส่วนแบงก์ต้องทำใจปล่อยกู้ในภาวะที่ไม่ปกติเช่นนี้

ในฐานะผู้คุมกฎเครดิตบูโร ถึงตรงนี้หนักใจไหม เพราะสถาบันการเงินช่วยลูกค้าด้วยการพักต้นพักดอก ตอนนี้ยืดเวลาพักต้นพักดอกออกไปอีก พอถึงเวลาไม่ยืดอีกจะทำอย่างไร

เมื่อเดือนมีนาคมของปีนี้ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการระบาดของโควิดมีตัวเลขคนที่เป็น NPL ไปแล้ว 3.8 ล้านลูกหนี้ นับเฉพาะนาย ก. นาย ข. ไม่นับบริษัททั้ง 3.8 ล้านลูกหนี้ คิดเป็นมูลหนี้ 950,000 ล้านบาท แล้วก่อนโควิดมีคนไปปรับโครงสร้างหนี้ 970,000 ล้านบาท อาจจะมีผลมาจากเรื่องสงครามการค้า ส่งออกไม่ได้ แล้วต่อมาเรามีการปิดเมืองในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ในช่วงนั้นมีมาตรการชะลอการจ่ายต้นและดอก ไม่ได้เรียกพักตรงๆ เขาเรียกพักการชำระหนี้ คือต้นไม่ต้องจ่าย ดอกคิดเต็ม บัญชีดอกยังเดิน แต่ยังไม่ต้องจ่ายดอกเป็นเงินสด ถ้าใครมีปัญหาจ่ายดอกได้จะจ่ายส่วนนึงครึ่งนึงได้ก็แล้วแต่

ขณะเดียวกันใครที่ค้างชำระ 30-90 วัน พอถึงสิ้นเดือนมีนาคมให้แช่แข็งทุกอย่างไว้ แล้วถือจากจุดนั้นมาเป็นปกติ ซึ่งปกติแล้วคนที่ค้างชำระ 30 วัน พอ 1 เมษายนต้องเป็น 31 วันใช่ไหม คนค้างเมษายนก็จะเป็น 61 วัน ก็ให้หยุดอยู่กับที่ การไม่ชำระต้นและดอกในเดือนเมษายน-มิถุนายนไม่ถือว่าเป็นการผิดนัด อันนี้ทั่วโลกทำและเรียกว่าแช่แข็งไปก่อน พอแช่แข็งแล้วในระหว่างนั้นเขาจะมีโปรแกรมออกมาว่าบัตรเครดิตคุณเคยจ่าย 10% ให้ลดลงมาเหลือ 5% บางสถาบันการเงินลดเหลือ 3% แต่มีคนจำนวนหนึ่งไม่อยากเสียดอกก็ไปจ่าย จำนวนที่เข้าโครงการทั้งหมดตอนนั้นประมาณ 14-15 ล้านบัญชี เป็นเงินหลักล้านล้านบาท พอเดือนมิถุนายนเฟส 1 จบ เฟส 2 เลิก แบงก์ชาติกรุณาทำเรื่องลดเพดานดอกเบี้ยลง ที่ดอกเบี้ยแพงก็ลดเพดาน ใครที่ติดอยู่เพดานก็ได้อานิสงส์ลดดอกเบี้ยลงมา รวมทั้งมีการวางเกณฑ์ขั้นต่ำของการปรับโครงสร้างหนี้ ถ้าเป็นรถต้องทำแบบนี้

การปรับโครงสร้างหนี้หลักมี 3 รูปแบบ แบบที่ 1 คือ ยกยอดที่จ่ายทั้งหมดไปไว้ข้างหลัง เช่น เราเคยผ่อน 42 งวด เราไม่ได้จ่าย 3 เดือน เอา 3 เดือนยกไปไว้ข้างหลัง บางที่ใช้วิธีใน 1 งวดที่ต้องจ่าย เช่น ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน สมมุติผ่อนรถ 10,000 มีดอกเบี้ย 2,000 เงินต้น 8,000 ให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 2,000 เอาต้นไปไว้ข้างหลัง 2,000 จ่ายได้ไหม ถ้าจ่ายไม่ได้จ่ายแค่ 1,000 เป็นมาตรการแบบนี้ มาตรการนี้จะถึงเดือนตุลาคมที่เราเรียกว่าโปรโมชันจะหมด เราก็ไม่ได้ดูต่อว่าคนที่อยู่ ณ เดือนมิถุนายน ที่เคยค้าง ที่อยู่หน้าผาหนี้ ถ้าเขาอยู่ที่การค้าง 60 วันในอดีตแล้วไม่นับต่อ วันนี้พอเปิดเขื่อนมันจะนับวันไหล พอมาดูตรงนี้มีประมาณ 700,000-800,000 คน ขณะนี้เท่าที่เห็นสิ่งที่สถาบันการเงินทำคือเขาส่ง SMS หรือโทร.ตามลูกค้าว่าจะปรับโครงสร้างคุณแบบนี้ ถ้าไม่เอาโทร.แจ้งเรา แต่ถ้าไม่ตอบเอาแบบนี้ได้ไหม

วิกฤตหนี้รอบนี้ต่างหรือเหมือนกับวิกฤตต้มยำกุ้ง

ในปี 2540 เรามีลูกหนี้น้อยรายแต่หนี้บิ๊กบึ้ม แต่ปี 2563 เรามีหนี้บิ๊กบึ้มน้อย ขณะนี้หนี้แต่ละรายจำนวนเงินไม่เยอะ สเกลเลยไม่เหมือนกัน ทีนี้สิ่งที่เราทำงานร่วมกับสถาบันป๋วยก็หยิบเอาข้อมูลเครดิตบูโรเรา 8 ล้านบัญชีเป็นเงิน 2.2 ล้านล้าน เป็นกลุ่มข้อมูลที่มีลักษณะซึ่งเราเชื่อว่าเป็นคนที่เข้าโครงการ เราอยากจะรู้หน้าตาคนเข้าโครงการว่าเป็นอย่างไร เพราะแบงก์ชาติไม่อนุญาตให้เราติดเครื่องหมายอะไร เลยไม่มีใครรู้ว่าใครเข้าโครงการ ยกเว้นธนาคารแห่งประเทศไทยคนเดียวที่รู้ แต่พฤติกรรมข้อมูลจะบอกเรา สถาบันป๋วยทำงานกับเราและหยิบข้อมูลมาดู ส่วนใหญ่พบว่าเป็นหนี้บ้านกับรถที่มีลักษณะการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับอย่างไรในช่วงที่ผ่านมาเพื่อหนีหนี้เสีย คือเงินงวดที่ต้องจ่ายมีต้นกับดอก ต้นไม่ต้องจ่าย แขวนต้น จ่ายแต่ดอก ดอกนี้จ่ายบางส่วน เช่น จ่าย 30-50% หรือจ่ายแต่ดอกเต็มยอดจ่าย แล้วดอกตัวนี้เป็นดอกที่ลดจากเพดานแล้ว อันนี้เป็นหนี้บ้าน รถ สินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนบัตรเครดิตเลี้ยงขั้นต่ำ เลี้ยงงวด

ทีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยกรุณาทำอีก 2 อัน อันที่ 1 สำหรับ SME มีวงเงิน 50-500 ล้าน กลุ่มนี้จะเข้าโครงการที่เรียกว่า DR พิเศษ Debt Restructuring ปรับโครงสร้างหนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เป็น NPL ผู้ประกอบการ SME รายไหนมีเจ้าหนี้รายใหญ่ เช่น ผมรู้มีแบงก์ ก. เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ ก็ไปเข้าโครงการนี้ ขอให้เจ้าหนี้รายใหญ่เรียกเจ้าหนี้อื่นๆ มาประชุมกันแล้วเคลียร์กับผมว่าผมมีกระแสเงินสดเท่านี้ ทุกคนจะยืดหนี้ให้อย่างไร เอาพี่ใหญ่เป็นคนแก้ เพราะเจ้าหนี้รายย่อยที่ถือหลักประกันอาจจะไม่ฟังเจ้าหนี้รายใหญ่ที่ไม่มีหลักประกันก็ได้ เหมือนตอนปี 2540 อันนั้นมีอำนาจบริหารหนี้

ส่วนกลุ่มที่เป็นรายย่อยแบงก์ชาติก็กรุณาทำอีกอัน เรียกว่า รวมหนี้ ผมมีหนี้บ้านแต่ผ่อนบ้านมาแล้ว เพราะฉะนั้นผมมีหลักประกันเกินอยู่ สมมุติผมกู้ซื้อบ้าน 3 ล้าน ผมผ่อนมาแล้วเหลือ 2 ล้าน แสดงว่าผมมีช่องว่างเหลืออยู่ 1 ล้าน ก็ให้เอาหนี้ที่ไม่มีหลักประกันมาต่อแถวหนี้บ้าน เช่น มีหนี้บัตรเครดิต 500,000 มีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 500,000 รวมกันเป็น 1 ล้าน ก็ไปผูกกับหนี้บ้าน พูดง่ายๆ ใช้บ้านเป็นหลักประกัน ดอกเบี้ยก็จะลดลงมา

สรุปว่าด้วยมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เอาอยู่ไหม

มาตรการทั้งหมดไล่เรียงลงมา เฟส 1 ชะลอจ่ายต้นจ่ายดอกที่เรียกว่าพักชำระต้นดอก มาตรการที่ 2 ลดเพดาน ปรับโครงสร้างหนี้ขั้นต่ำ มาถึงตอนนี้เติมด้วย DR และรวมหนี้ คำถามว่าเอาอยู่ไหม ต้องบอกว่าลูกหนี้ที่เข้าโครงการช่วงเฟส 1 และ 2 ส่วนใหญ่อยู่ภาคอีสาน อันนี้ตัวเลขจากสถาบันป๋วย ลักษณะการเข้าโครงการตอนนั้นหลักๆ คือ ยกมีนาคม-พฤษภาคมเอาไปท้ายสัญญา อันที่ 2 ลดยอดการผ่อน 2 งวด คือจ่ายแต่ดอกเลี้ยงงวดไป ทั้งหมดมีจุดใจความใหญ่คือ รายได้ที่จะมาหลังเดือนตุลาคมคือตั้งแต่เดือนตุลาคมจะจ่ายหนี้ไหวไหม บางอาชีพชัดเจนว่าจะยังไม่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำจนกว่าจะชัดเจนว่าเครื่องบินจะบินได้ ท่องเที่ยวได้ เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้มองเห็นว่าหนักหนาสาหัสโอกาสเป็น NPL สูงมาก คือกลุ่มที่ไปทำธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยว กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่อาจจะยังมีงานทำอยู่ แต่ถูกลดชั่วโมงการทำงาน ลดค่าจ้าง รายได้ลดลง แต่หนี้ไม่ลด กลุ่มนี้ต้องปรับอีกแล้ว ต่อมากลุ่มที่ 3 คือกลุ่มคนตกงาน ซึ่งยังไม่รวมกลุ่มที่เป็นหนี้เสียไปแล้วประมาณ 3.8 ล้านราย เพราะฉะนั้นมหกรรมการปรับโครงสร้างหนี้ยังต้องมีอีกเยอะ แล้วกลุ่มที่ไม่มีรายได้คิดว่าจำเป็นจะต้องรับความเสียหาย หมายความว่าต้องมีการปรับหนี้สูญกันบ้าง เพราะถ้าจำกันได้ปี 2540 เราเสียหายทั้งหมด 1.4 ล้านล้าน ปี 2563 เราบอกว่าหนักกว่าปี 2540 แล้วเราจะบอกว่าไม่มีความเสียหายเลยมันเป็นไปไม่ได้ ความเสียหายตอนนี้จะต้องกระจัดกระจาย แบ่งๆ กันว่าใครจะรับเท่าไหร่ ขณะนี้สิ่งที่สถาบันการเงินเขาทำคือกันสำรอง เพราะต้องได้ใช้สำรองตรงนั้นแน่ๆ อันนี้เป็นภาพที่เรามองเห็นอยู่

จะหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร

มีข้อเสนอ 2 ข้อที่น่าสนใจคือหาเงินมา 1 ก้อนอาจจะเป็นซอฟต์โลนจากที่ไหนไม่รู้ เพื่อปล่อยกู้ให้สถาบันการเงิน แล้วสถาบันการเงินเอาเงินนี้ไปปล่อยกู้กับ SME และนายจ้าง แต่มีเงื่อนไขกับนายจ้างว่าเอาไว้จ่ายค่าแรงคนงาน 80% คุณต้องรักษาการจ้างงานให้ได้ เพราะฉะนั้นซอฟต์โลนจะวิ่งจากซอฟต์โลนมาเป็นเงินกู้แบงก์ แล้วมาเป็นเงินกู้ SME แล้วมาเป็นค่าจ้าง แล้วให้ค่าจ้างวิ่งกลับไปจ่ายหนี้ของคนคนนั้นเพราะเป็นระบบลูกจ้างได้รับเงินแล้วหักหนี้เลย พอหักหนี้แล้วอาจจะเหลือครึ่งนึงหรือ 60% ให้ลูกจ้างมีกินมีใช้ วิธีนี้จะก้าวข้าม 2 เรื่อง 1. ต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นใครจะรับ 2. แบงก์ที่ไม่คิดว่าตัวเองจะมาปล่อยกู้แบบนี้ก็ต้องทำใจปล่อยกู้แบบนี้ เพราะหลักการนี้ทางอเมริกาเขาทำเพื่อรักษาคนไว้ รักษาการจ้างงาน ไม่ให้กิจการปิด เป็นหัวใจของการชนะสงครามเที่ยวนี้

ข้อเสนออีกอันนึงที่มีการคิดกันคือ ถ้าอย่างนั้นพวกธุรกิจโรงแรมเราให้ AMC ไปซื้อหนี้มาก่อนดีไหม แทนที่หนี้จะไปอยู่ในบุ๊กแบงก์ ในงบดุลของแบงก์ แล้วก็มีข้อกำหนดว่าเดินไปตามเส้นของกฎหมาย เอาเขามาอยู่ข้างนอกไหม เอามาอยู่ที่ AMC แล้วให้ตัวเจ้าของไปเช่าโรงแรมนั้นเพื่อไปทำธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เขาคิดขึ้นมาได้ เพื่อรักษาคุณภาพโรงแรมนั้นไว้ โดยมีเงื่อนไขว่าอีก 5-10 ปี เมื่อธุรกิจดีขึ้น เจ้าของเดิมจะได้สิทธิ์ซื้อคืน เขาจะซื้อคืนอย่างไรก็ไปกู้แบงก์เก่าแล้วมาซื้อหนี้จาก AMC กลับ พูดง่ายๆ คือเอาทรัพย์สินก้อนนี้ไปบ่มไว้ที่ AMC จะได้ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย

ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญญานี้หรือข้อเสนอที่สมาพันธ์ SME เสนอมาคือ ค่าใช้จ่าย SME อย่างค่าไฟ ค่าน้ำ ลดให้ต่ำที่สุดได้ไหม และพักหนี้ยาวออกไปอีกอย่างน้อย 2 ปี บรรดาข้อเสนอทั้งหลายมันต้องมีความเสียหายมากหรือน้อย แล้วกระจายความเสียหาย โดยมีคนเสนอว่าถ้ามีความเสียหายให้ออกเป็นตราสารหนี้ยาว 50-60 ปี เพราะหัวใจสำคัญเวลานี้คือ ต้องทำให้ลูกหนี้มีงานทำ ถ้ามีงานทำก็มีรายได้ และยังมีความรู้สึกว่าฉันยังมีคุณค่าในชีวิต อันนี้เป็นจุดสำคัญที่สุด ถ้าผมเปรียบเราชนะการรบในเรื่องสาธารณสุข เราชนะการรบ การประคับประคองเฟส 1 หรือ 2 แต่เราจะชนะสงครามนี้ได้เด็ดขาด คือการรักษาการจ้างงาน โดยมีความเสี่ยงสำคัญที่สุดคือการระบาดรอบ 2 ซึ่งใน 101 วันที่เรารักษาสถิติมามันก็เฉียดไปเหมือนกัน

ที่ให้แนวทางว่าหาเงินมาสัก 1 ก้อนเพื่อมาปล่อยกู้ คิดว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ถึงจะพอ

มีการติงกันมากว่าเรื่องซอฟต์โลนที่ 500,000 ล้าน ปล่อยออกไปแค่แสนเศษๆ กันออกมาจำนวนนึงได้ไหม อันนี้เป็นข้อเสนอจากฝั่งนักวิชาการหลายท่าน กันจากทางนั้นมาหมุนทางนี้ดีไหม แล้วต้องยอมรับว่าจะเสียหายเท่าไหร่ก็ไปคิดกันเพื่อให้เจ้าของเงินสบายใจว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิด หรืออาจจะต้องดึงเงินจากตรงไหนไม่รู้ตั้งเป็นกองทุน เพราะถ้าใช้วิธีกองทุนไปกำหนดกติกา ปล่อยกู้ผ่านกองทุนได้ แต่ถ้าใช้กติกาสถาบันการเงินปัจจุบันมันยาก กติกามันเยอะ

คิดว่าเครดิตบูโรต้องมีกติกาที่ยืดหยุ่น ที่ต้องแก้ไหม

เราเสนอไป ตอนนั้นจะมีการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ข้อเสนอเราคือให้มีรหัสสถานะพิเศษสำหรับคนที่เข้าโครงการ แม้เขาจะมีปัญหาการชำระหนี้ แต่ต้องถือว่าเขาไม่เป็น NPL เพราะคนเหล่านั้นอยู่ดีๆ ถูกเชื้อโรควิ่งชน ไม่ใช่ความผิดของเขา เราอยากให้มีสถานะพิเศษสำหรับคนกลุ่มนี้ คล้ายๆ ตอนเรามีน้ำท่วมใหญ่ คล้ายๆ ตอนเราพักหนี้เกษตรกร คนเหล่านั้นขอเวลา คล้ายๆ อย่าเพิ่งเร่งรัดหนี้สินอย่างดุเดือด จุดนี้เป็นข้อเสนอของเรา

ข้อเสนอตอนนี้ต้องรอท่านรัฐมนตรีหรือคนที่ดูแลตอบกลับมา มีข้อเสนอจากทุกสารทิศ

จากทุกแนวทางทั้งหมดที่พยายามจะแก้ไข แต่พอ 1 ตุลาคม ฝีที่ถูกบ่มมาเรื่อยๆ เกิดแตกขึ้นมา จะเป็นอย่างไร

ยังมีไม้อีกอัน คือถ้าทำไม่ทันจริงๆ อาจจะคิดแบบเดียวกับแบงก์รัฐก็ได้ เพราะสถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือแบงก์รัฐเขาต้องการเวลา เพราะลูกหนี้เขากระจัดกระจาย เขาก็เลยดึงเรื่องต่อไปอีก 3 เดือน เพราะฉะนั้นถามว่าสถาบันการเงินฝั่งเอกชนเร่งขนาดไหนตอนนี้ คนที่รู้ดีที่สุด คือ แบงก์ชาติ เพราะเขาต้องรายงาน ทางเราไม่มีข้อมูล ทั้งหมดคือได้รับฟังจากบทสัมภาษณ์ใครต่อใครมาว่ายังอยู่ในวิสัยที่ยังควบคุมได้ แต่ยังเป็นเงื่อนไขเดียวคืออย่ามีการแพร่ระบาดรอบ 2 แล้วมาชัตดาวน์กันอีก

41 views

Comments


bottom of page