top of page
379208.jpg

บสย. เล็งค้ำปีนี้กว่า 1 แสนล้าน...โชว์ปี 62 สร้างสถิติใหม่ทุกมิติ



บสย. ตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อปีนี้ 1.05 แสนล้านบาท ออก LG กว่า 1 ฉบับ ช่วยเอสเอ็มอีกว่า 8 หมื่นราย พร้อมมีโปรดักต์ใหม่ให้บริการ ด้านผลงานปี 62 ภายใต้การบริหารของ “ดร.รักษ์” สร้างสถิติใหม่ทุกมุม ทั้งยอดค้ำลูกค้าใหม่โต 27.6% รายได้เพิ่ม 2.23% ผลกำไรที่สูงขึ้นเป็น 754 ล้านบาท โต 27%


ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า แผนงานและเป้าหมายการดำเนินงานในปี 2563 ของ บสย. ภายใต้แนวคิด “ตัวเบา ไร้แผล มีอนาคต” ตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อ 100,500 ล้านบาท อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ (LG) จำนวน 112,921 ฉบับ และช่วยผู้ประกอบการ SME รายใหม่ 83,562 ราย ผ่านมาตรการรัฐ ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย มุ่งส่งเสริมและสนับสนุน ช่วยผู้ประกอบการเข้าสู่กระบวนการการปรับโครงสร้างหนี้ เติมโอกาสให้ SME ที่กำลังจะล้ม ให้ยืนได้ โดยการ ยืดหนี้ พักชำระหนี้ สร้างโอกาสทางการเงิน ช่วย SME คนตัวเล็ก ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs สร้างไทย ต่อเติม เสริมทุน วงเงิน 60,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ 2 ปี ค้ำประกันสูงสุด 10 ปี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของนโยบายรัฐบาล ที่ได้ให้ความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ที่มีประวัติค้างชำระ แต่ยังมีความตั้งใจดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดต่อไป


นอกจากนี้ บสย. ยังได้มีการขยายระยะเวลาการค้ำประกันสินเชื่อของ SME ที่อยู่ในโครงการ PGS 5-7 ออกไปอีก 5 ปี ภายในกรอบวงเงิน 70,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีลูกค้า บสย.ที่อยู่ในระหว่างการรอการอนุมัติ ทั้ง 2 โครงการ จำนวน 5,014 ราย วงเงินรวม 12,539 ล้านบาท โดย บสย. ให้การค้ำประกันสินเชื่อไปแล้วกว่า 856,053 ล้านบาท คิดเป็นจำนวน 426,198 ราย และก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 1,261,094 ล้านบาท


ขณะเดียวกันในปีนี้ บสย.ได้มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ Direct Garantee หรือการออกหนังสือค้ำประกัน (LG) โดยตรงให้กับผู้ประกอบการ SME ขนาดกลางที่มีประวัติการชำระหนี้ดี และต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มในธุรกิจ ซึ่ง บสย.ดำเนินการเอง ไม่รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยผู้ประกอบการสามารถนำไปยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ทันที แตกต่างจากเดิมที่ผู้ประกอบการต้องติดต่อสถาบันการเงินก่อน โดย บสย.คิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน 2.50% จากปกติ 1.75% และในปีนี้ บสย. ยังสามารถเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อในธุรกิจเช่าซื้อ ลิสซิ่ง และแฟคเตอริ่ง ได้อีกด้วย


ทั้งนี้ ในปีนี้ บสย.จะยังคงเดินหน้าการขับเคลื่อนองค์กรยกระดับสู่องค์กรรัฐวิสาหกิจชั้นนำ ภายใต้แพลตฟอร์มใหม่ สู่การทรานส์ฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบ ชูบทบาทของการเป็นองค์กรแห่งการประสานความร่วมมือ การเชื่อมโยงเงินทุน และโอกาสทางธุรกิจ เพื่อพัฒนาศักยภาพ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและองค์ความรู้ทั้งระบบ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาองค์กร และผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่ออย่างไม่หยุดยั้ง ยึดมั่นในธรรมาภิบาล ดำเนินงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ สนับสนุน สร้างโอกาส ทางการเงิน ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงสินเชื่อ


กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลดำเนินงาน บสย. ในปี 2562 มีการเติบโตทุกมิติ ทั้งด้านยอดค้ำประกันสินเชื่อ รายได้ และผลกำไร สะท้อนความแข็งแกร่งภายในขององค์กร และการทำงานเชิงรุกมุ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผล ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ดังนี้


1. ยอดค้ำประกันสินเชื่อตลอดทั้งปี 2562 มีจำนวน 90,628 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% เทียบกับปี 2561 ที่มีจำนวน 88,878 ล้านบาท เติบโตท่ามกลางสภาวะสินเชื่อ SME ในระบบสถาบันการเงินที่หดตัว 2% โดยยอดค้ำประกันสินเชื่อ ปี 2562 มาจากการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 จำนวน 38,010 ล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS7 จำนวน 36,681 ล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Renew จำนวน 7,281 ล้านบาท และ โครงการ Micro3 จำนวน 5,609 ล้านบาท และอื่นๆ


การที่ยอดค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากการเปิดตัวโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 ในเดือนสิงหาคม 2562 ซึ่งพบว่ายอดการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยในระหว่างเดือน มกราคม-สิงหาคม ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5,668 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่ค่าเฉลี่ยเดือนกันยายน-ธันวาคม 2562 อยู่ที่ 11,378 ล้านบาท


2. อนุมัติหนังสือค้ำประกัน (LG) จำนวน 91,489 ฉบับ เพิ่มขึ้น 13.1% เทียบกับปี 2561 จำนวน 80,917 ฉบับ ขณะที่ในเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา บสย. ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ โดยออกหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) จำนวน 14,465 ฉบับ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ก่อตั้ง บสย.


3. ช่วยลูกค้ารายใหม่ จำนวน 70,129 ราย เพิ่มขึ้น 27.6% เทียบจากปี 2561 จำนวน 54,969 ราย

ดร.รักษ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลประกอบการ บสย. ปี 2562 มีรายได้รวม 7,793.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.23% และมีกำไรสุทธิ 754 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีกำไรสุทธิ 595 ล้านบาท โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากความสามารถในการบริหารกองทุน การบริหารเงินลงทุน และรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อจากการทำงานเชิงรุก ช่วยผู้ประกอบการ SME เข้าถึงสินเชื่อ


นอกจากนี้ บสย. ได้จัดกิจกรรมที่เป็นไฮไลต์แห่งปี 2562 ได้แก่ มหกรรมคลินิกหมอหนี้ และโครงการหมอหนี้ บสย. ซึ่งเป็นโครงการให้ความรู้และคำปรึกษาด้านการเงิน ภายใต้แนวคิด เติมทุน เติมความรู้ เติมคุณภาพชีวิต ที่ดำเนินการระหว่างเดือน กันยายน-พฤศจิกายน 2562 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 4,000 ราย มีผู้เข้ารับคำปรึกษาผ่านคลินิกหมอหนี้ บสย. จำนวน 1,119 ราย และมีความต้องการสินเชื่อกว่า 3,000 ล้านบาท และสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้จำนวน 338 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อจำนวน 2,131 ล้านบาท ขณะเดียวกันมีจำนวนผู้ประกอบการ SME ที่ขอรับคำปรึกษาผ่านช่องทาง เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ และ Line : @ doctor.tcg เป็นจำนวน 10,477 ราย


“ผลสำเร็จของ บสย. ในปี 2562 ที่โดดเด่นด้านการติดตามหนี้ คือ การปรับกลยุทธ์การบริหารจัดการหนี้ แบบผ่อนคลาย ภายใต้กลยุทธ์การสร้างแรงจูงใจ เพื่อช่วยลูกหนี้ที่กำลังประสบปัญหาการชำระล่าช้า เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ การยืดหนี้ และพักชำระหนี้ แทนการฟ้อง โดยลดการจ่ายหนี้ก้อนแรกจากเดิม 10% เหลือเพียง 1% เปิดโอกาสให้ลูกหนี้ขอรับการประนอมหนี้มากขึ้น โดย บสย. สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME กลุ่มนี้ได้ถึง 4,029 ราย สูงจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 856 ราย” ดร.รักษ์ กล่าว

3 views

Comments


bottom of page