Interview : ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร
กรรมการและผู้จัดการทั่วไป
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ( บสย.)
บสย.เดินหน้าต่อหลังค้ำประกันสินเชื่อ SME 1.5 แสนรายในวงเงิน 1.3 แสนล้านบาท รอบใหม่ช่วยทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้าง ปลดล็อกเงื่อนไข ยืดหยุ่นวงเงิน ค้ำประกันตามความจำเป็นของผู้ประกอบการแต่ละราย ตั้งแต่ 1 หมื่น-100 ล้านบาท พร้อมผลักดันโครงการ ‘สร้างไทย’ เวอร์ชัน 2 ค้ำประกันการเติมเงิน 5 หมื่นล้านให้ลูกหนี้ NPL รายใหม่ที่พร้อมกัดฟันทำธุรกิจต่อในฐานะนักรบเศรษฐกิจ เปรียบเหมือนรักษาให้ทหารผ่านศึกกลับไปรบได้ใหม่อีกครั้ง ด้านลูกจ้าง-พนักงานที่ตกงานจากพิษโควิด-19 บสย.จับมือกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน-ออมสิน-ธ.ก.ส.-ไทยเครดิต-ทิสโก้ ในโครงการ ‘สินเชื่อตั้งตัวได้’ ให้คนตกงานเข้าคอร์สฝึกอาชีพ เรียนจบรับสินเชื่อ 1 หมื่น-2 แสนบาทต่อราย ไปสร้างอาชีพในฐานะเถ้าแก่ใหม่
มาถึงตรงนี้เศรษฐกิจไทยต้องพึ่ง บสย.แล้ว คิดว่ายังรับมือไหวหรือไม่
ยังไหวอยู่ ยังไม่ถอดใจ
ตอนนี้มีโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างไรบ้าง
ตอนนี้เราค้ำประกันสินเชื่อไปแล้วกว่า 1.3 แสนล้านบาท เราช่วยพี่น้องตัวเล็กๆ ที่เราเรียกว่าเอสเอ็มอีไปกว่า 1.5 แสนราย สิ่งที่เราทำต่อคือสำหรับคนที่ได้รับผลกระทบที่เป็นปลายเหตุหรือปลายน้ำอย่างเช่นแรงงาน ล่าสุดเราก็เพิ่งลงนามเอ็มโอยู แต่ต้องขอบอกว่าเป็นเอ็มโอยูแล้วกัน ที่ท่านรัฐมนตรีช่วยให้นโยบายเอาไว้ คือช่วยดูแลลูกจ้างแรงงานที่อาจจะกลายมาเป็นคนตกงาน เราลงนามเอ็มโอยูกับกระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในการที่จะให้คนที่อยู่ในสภาพยังไม่มีการจ้างงาน เข้ามาฝึกฝีมือ ไม่ว่าจะเป็นฝีมือช่างหรืออาชีพที่สามารถเป็นสกิลในการที่จะเลี้ยงดูตัวเองได้ แล้วเราก็จูงมือพันธมิตรที่เป็นธนาคารอีก 4 แห่งก็คือธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารไทยเครดิต และธนาคารทิสโก้ ให้สินเชื่อชื่อ ‘สินเชื่อตั้งตัวได้’ เป็นสินเชื่อวงเงินตั้งแต่ 1 หมื่นบาทจนถึง 2 แสนบาท เพื่อที่จะให้เขามีทุนไปสร้างอาชีพของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นร้านเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ ร้านอาหาร ก็สามารถที่จะเข้ามาอยู่ในโครงการนี้ได้
แผนในการรับมือคนที่จะเข้าร่วมโครงการมีอะไรบ้าง
ส่วนหนึ่งเราต้องเข้าใจบริบทของการสร้างงานในวันนี้ ว่าเรากำลังแข่งกับเวลา ไม่ว่าจะเป็นนิสิต นักศึกษาที่จบมาใหม่ กำลังหางานทำ เราก็อาจจะมีอีกหนึ่งทางเลือกที่เป็นทางเลือกให้เขาได้เป็นเจ้าของธุรกิจ ขณะเดียวกัน แรงงานที่ถูกเลิกจ้างก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น เพียงแต่ว่าอย่างน้อยแทนที่จะต้องไปเสี่ยงโชคชะตากับตลาดการจ้างงาน เราก็มาสร้างสกิล ทักษะ ในการที่จะสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับพวกเขา แล้วเราก็มีเคสที่เอามาให้พี่น้องที่เป็นลูกจ้างแรงงานที่ตอนนี้กำลังจะหางานทำที่อาจจะมีอีกหนึ่งทางเลือก คือเห็นรุ่นพี่ที่เขาผันตัวจากพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานออฟฟิศ หรือว่าเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ให้เขาได้ลืมตาอ้าปาก ไม่ยอมจำนนกับโชคชะตา เป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ หรือว่าเป็นตัวอย่างที่เป็นแรงขับในทางบวก ก็จะทำให้ตัวพวกเขามีกำลังใจ
ถามว่าทำอย่างไร ก็คือเข้าไปฝึกฝีมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ขณะเดียวกันระหว่างฝึกฝีมือ เราก็มีธนาคารอีก 4 ธนาคารที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นเข้ามาให้การช่วยเหลือในการที่จะปล่อยสินเชื่อ ซึ่งสินเชื่อตัวนี้ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพราะมี บสย.ค้ำให้อยู่ ดังนั้น สิ่งที่เขาจะได้ก็คือได้ทักษะ ได้โอกาสในการสร้างตัวเอง สร้างอาชีพ ยกระดับฝีมือ ให้โอกาสกับแรงงานพวกนี้ในการที่จะเป็นเจ้าของกิจการเอง
คนที่จะได้สินเชื่อนี้ ต้องไปฝึกฝีมือด้านแรงงานก่อน
ใช่ คือเรามี Skill Set ฝึก 3-7 วัน ใน Skill Set ที่ไม่ได้ยากอะไร แล้วก็มีที่ฝึกไปจนถึง 3 เดือน หรือเป็นหลัก 10 อาทิตย์ อย่างเช่นถ้าเป็นช่างเชื่อม หรือจะเป็นช่างล้างแอร์ ซ่อม-ติดตั้งสุขภัณฑ์หรือที่เราเรียกว่าช่างอเนกประสงค์ เหล่านี้อาจจะใช้เวลานานหน่อย แต่ถ้าเป็นการทำอาหาร ทำขนม หรือว่าทำกาแฟ กลุ่มนี้จะใช้เวลาฝึกไม่นาน ผมเชื่อว่าทุกคนจะรู้อยู่แล้วว่าหลังจากเคยอยู่ในสภาพการว่างงาน เขาจะต้องบริหารจัดการเม็ดเงินที่เป็นเงินก้อยสุดท้ายอย่างไร ซึ่งนอกเหนือจากที่มีเพื่อนพันธมิตรธนาคารทั้ง 4 แห่งแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดในวันนี้คือกำลังใจดีๆ จากตัวเองและครอบครัว
โปรแกรม PGS9 ที่จะเริ่มเดือนตุลาคมเป็นเงิน 1.5-2 แสนล้านบาท เป็นอย่างไร
เราทำเสนอทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและกระทรวงการคลัง ซึ่งหลักการตอนนี้เราติดอยู่ที่ตัวก่อนงบประมาณของปี 2564 ว่าสามารถที่จะทำให้มีวงเงินการค้ำมากขนาดไหน และอีกเรื่องคือเราพยายามที่จะทำให้ตัวรูปแบบการทำ PGS9 ต่างไปจาก PGS รุ่นก่อนๆ ซึ่ง PGS ซีรีส์ที่ 8 ในระยะที่ 8 เป็นครั้งแรกที่เราสามารถที่จะปรับสูงปรับต่ำวงเงินค้ำประกันได้ตามขนาดของตัวลูกค้าและขนาดของความเสี่ยง ซึ่ง PGS9 จะมีความสวยงามเพิ่มมากขึ้น คือเราปรับขึ้นได้มากกว่าเดิม นอกเหนือจากเป็นลักษณะความเสี่ยงของกลุ่มลูกค้า ยังมีบางส่วนที่เราจะกันเอาไว้เข้าไปสอดรับกับจุดเปราะบาง หรือกลุ่มที่มีการค้างชำระ อาจจะเป็นเอ็นพีแอลไปแล้วตอนที่เราทำไปเมื่อมกราคมที่ผ่านมา
ตอนนี้ให้ดูง่ายๆ ว่าเราสามารถค้ำประกันสินเชื่อตั้งแต่ 1 หมื่นบาทไปจนถึง 100 ล้านบาท ลักษณะของลูกค้าในแต่ละชีพจรของการทำธุรกิจของเขามีความต้องการวงเงินไม่เหมือนกัน วงเงินเริ่มต้นหลายคนบอกเป็นสตาร์ทอัพก็ดี หรือว่าเกิดมายังไม่เคยทำธุรกิจเลย แต่เนื่องจากสถานการณ์บังคับให้กลายมาเป็นเจ้าของกิจการ ตรงนี้ความเสี่ยงจะสูง การควบคุมความเสี่ยงหรือเสื้อเกราะที่เราให้สถาบันการเงินใส่มีความหนาอยู่ที่ประมาณ 20% ค่าเฉลี่ย PGS8 กระโดดขึ้นมาเป็น 30% แล้วยังมีคำเรียกร้องว่าตอนทำ PGS8 ระยะที่ 8 มันคือเมื่อไตรมาสที่ 3 ปีที่แล้ว ความเสี่ยงของเศรษฐกิจมันยังไม่ได้มากขนาดนี้ ยังไม่มีโควิด-19 เข้ามาในประเทศไทย ฉะนั้นจะปรับความหนาของเสื้อเกราะให้กลายเป็น 40-50% ได้หรือไม่ คำตอบก็คือทำได้ใน PGS9 เพียงแต่ว่าเราไม่ใช่ทำทั้งหมดให้มีความหนา 50% เราก็จะดูว่ากลุ่มเปราะบางหรือว่าอุตสาหกรรมไหน หรือว่ามีกลุ่มของคนตัวเล็กๆ เอสเอ็มอีกลุ่มไหนบ้างที่ต้องการการยอมรับความเสี่ยงได้สูง เราก็จะปรับขนาดตัวผลิตภัณฑ์ให้ตามขนาดความเสี่ยงของผู้ประกอบการ ถามว่าปรับไปทำไม ปรับไปเพื่อให้ธนาคารและสถาบันการเงินสบายใจที่จะปล่อยสินเชื่อ ฉะนั้น PGS9 จะเป็นลักษณะของเครื่องมือที่จะปรับสูงปรับต่ำได้ตามขนาดความเสี่ยงของผู้ประกอบการ
จะทำให้ปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
ใช่ จริงๆ แล้ว Key Success ในระยะเวลาประมาณ 20 เดือนที่ผ่านมาคือการเข้าใจธรรมชาติของคนปล่อยเงินและธรรมชาติของคนขอวงเงิน ไม่อย่างนั้นมันจะเหมือนระยะที่ 1 คือ PGS 1 ถึง PGS7 ขายราคาเดียว ความเสี่ยงเดียว ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือคนที่เป็นร้านโชห่วยหน้าปากซอยบ้านเรา ราคาเดียวกันเลย ซึ่งจริงๆ มันไม่ถูก แล้ววันนี้มันมีความแตกต่าง มันมีความเปราะบางในแต่ละภาคส่วนไม่เท่ากัน ตอนนี้เราพยายามที่จะปรับ เราเริ่มปรับครั้งแรกจาก PGS8 แล้วตอนนี้เรามีผลิตภัณฑ์ที่ บสย.ทำเองโดยที่ไม่พึ่งพาเงินรัฐ ที่เราเรียกว่า ‘ไทยชนะ’ ก็สามารถซื้อโปรแกรมป๊อปอัพได้ เหมือนกับจะซื้อประกันสุขภาพ แล้วเราบอกว่าอยากให้ประกันมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย คุณก็สามารถที่จะใส่วงเงินประกันเพิ่มเติมได้ เพราะฉะนั้นจะเหมือนการตัดเสื้อสูทที่ตรงตามไซซ์ขนาดตัว ก็เลยเป็นที่มาทำไมระยะเวลา 20 เดือน จากที่เราออก L/G วันละ 300 ใบ กลายมาเป็นวันละ 2 พันกว่าใบ
ถ้าโครงการพักหนี้พักดอกเบี้ยจบลง เอ็นพีแอลมีเพิ่มขึ้น บสย.จะช่วยกลุ่มนี้ด้วยหรือไม่
เรามองกลับไปที่ผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จมากตอนต้นปีคือ ‘สร้างไทย’ ซึ่ง บสย.ช่วยพี่น้องที่เป็นเอ็นพีแอล หรือว่ากำลังจะตกชั้น หรือว่าอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาทเมื่อต้นปีหมดไปแล้ว ใน PGS9 เรากำลังเจรจาว่าขอกันบางส่วนมาทำผลิตภัณฑ์ใกล้เคียงกับ ‘สร้างไทย’ เราอาจจะเรียกว่า ‘สร้างไทยภาค 2’ ที่เอามารอคนที่หนี้ตกชั้นและคนที่กลายเป็นเอ็นพีแอล มันมีประเด็นอยู่แค่ว่าเราจะไม่ดำเนินคดีตราบใดที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ มีสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เราจะจ่ายเคลมให้กับธนาคาร เพราะฉะนั้นลองนึกภาพเงินของธนาคารได้ไปแล้วจากการเข้ามาเคลมกับ บสย. เราขอต่อชีวิตให้กับผู้ประกอบการที่อยู่ในพอร์ต เขาเรียกว่าการดูแลวงเงิน เราเติมวงเงินใหม่เข้าไป ขณะเดียวกันเราจ่ายเคลมในวงเงินเก่า สิ่งเหล่านี้เรามีความเชื่อมั่นว่าเราต้องการให้ทหารผ่านศึกกลับไปรบใหม่ได้ นั่นคือนักรบเศรษฐกิจคือตราบใดที่คุณทำกิจกรรมอยู่ มีข้อแม้คือถ้าบอกเป็นเอ็นพีแอลมาแล้ว 2 ปีนี่ไม่ใช่นะ หมายถึงว่าแผลต้องสด ยังกัดฟันสู้ต่อ ยังไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา ยังมีลูกน้องอยู่ในโรงงาน อยู่ในออฟฟิศ ยังมีคู่ค้าอยู่ อันนี้เราจะช่วย ไม่ใช่คนที่ปิดโรงงานไปแล้ว ตรงนั้นอาจจะไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับ บสย.
ต้องมาปรึกษา บสย. หรือมาคลินิกแก้หนี้
คลินิกแก้หนี้เป็นปลายทาง เราส่งสัญญาณไปที่ธนาคารว่าคนที่รู้ดีว่าลูกค้าเขาจะรอดหรือไม่รอดคือเจ้าของเงินที่ปล่อย แล้วบางครั้งมันเป็นสถานการณ์บังคับที่เขาต้องฟ้องร้องดำเนินคดีพักชำระหนี้เพื่อเคลมเงินกับ บสย. เขาเองก็อยากให้โอกาส แต่เนื่องจากว่าบริบทของเขาไม่สามารถที่จะให้โอกาสนั้นได้ สิ่งที่เราทำคือสร้างให้มีแรงจูงใจในการให้โอกาสอีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นเขาเรียกว่าการสร้างโอกาส ณ พอร์ตโฟลิโอของคู่ค้าก็คือตัวธนาคารเอง ถามว่าคนที่หนี้ตกชั้น หรือว่าคนที่ค้างชำระคือคนที่อยู่ในพอร์ตธนาคาร แล้วก็เป็นคู่ค้าของ บสย.ด้วย เพราะฉะนั้นเหมือนกับบอกว่าทุกคนในช่วงที่มีภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ลูกค้าใหม่และดีคงหายาก ทุกคนคงแย่งกัน แต่จะดีกว่าไหมถ้าทุกคนมารักษาคนป่วยในโรงพยาบาลตัวเองให้กลับมายืนได้ ให้กลับมาเป็นเจ้าของธุรกิจที่สามารถจ่ายคืนต้นและดอกเบี้ยให้กับเขาได้
ส่วนตัวมองว่าการรักษาพี่น้องที่อยู่ในพอร์ตของตัวเอง น่าจะเป็นแนวทางที่ดีและสะดวกมากกว่าจะออกไปหาลูกค้าใหม่
คิดว่าจะมีปริมาณวงเงินสักเท่าไหร่
เมื่อตอนต้นปีเราทำโครงการนี้ไปแล้วครั้งหนึ่งที่เรียกว่า ‘สร้างไทย’ เราทำไปประมาณ 5 หมื่นล้านบาท มีพี่น้องที่เป็นเอ็นพีแอล รวมทั้งพี่น้องที่เราเรียกว่าอยู่ในค้างชำระประมาณ 3 งวด เรียกว่าวงเงินในการปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารของตัวเอง เราช่วยไปแล้ว 3 หมื่นกว่ารายเมื่อต้นปี ในวงเงินของ PGS9 เราก็คงจะกันมาในสัดส่วนที่ไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อที่จะทำสร้างไทยครั้งที่สอง
มีการประเมินสถานการณ์หรือไม่ว่าหลังจากหมดแคมเปญพักต้นพักดอกแล้ว ธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะมีปัญหา สถานการณ์จะเป็นอย่างไร
ได้ตอบคำถามเรื่องนี้เกือบทุกวัน แต่อยากจะให้มองอย่างนี้ ในจำนวนลูกค้าที่เข้าไปอยู่ในโครงการนี้ มีจำนวนค่อนข้างมาก แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือคนที่ยื่นเจตจำนงกับธนาคารต้นสังกัดว่าไม่ขอไปต่อ คำว่าไม่ขอไปต่อคือไม่เข้าโครงการนี้แล้ว มีประมาณ 30% สมมติว่าหลายๆ สำนักบอกว่าจะตกเป็นหนี้เสีย 20-30% มีคนขอออก 20-30% สรุปว่าน้ำเข้ากับน้ำออกเท่ากัน เท่ากับว่าเอาอยู่ คำว่าเอาอยู่ก็คือมีทั้งน้ำดีและน้ำเสียในปริมาณที่เท่ากัน ฉะนั้น เราจึงเห็นว่าทำไมคนอยากออก เราก็ตามไปสัมภาษณ์ เขาบอกว่าเขาไปต่อไหว แต่ถ้าพัก การพักแบบนี้ ทำให้ต้นไม่กระดิกเลย เพราะเป็นพักต้นพักดอก คือดอกก็ยังอยู่ ต้นก็ยังอยู่ ถ้าเขาไปไหวก็อยากจะชำระให้หนี้หมดเร็ว คือพอเขากลับไปดำเนินกิจการ หาทางที่จะปรับกิจการตัวเองให้ตอบโจทย์โควิด-19 แล้ว หลายๆ ธุรกิจเขาเอาตัวรอดได้แล้ว อันนี้เป็นหนึ่งในประเด็นที่เราพยายามจะเน้นในทุกๆ เวทีว่าคุณต้องปรับตัว ถ้าเกิดคุณทำเหมือนเดิม ธุรกิจเดิม ลูกค้ากลุ่มเดิม วิธีการเหมือนเดิม จำนวนคนเท่าเดิม เครื่องจักรเหมือนเดิม ต้นทุนเดิม แล้วคุณบอกว่าธนาคารต้องให้ความช่วยเหลือ ให้ความเมตตา ให้ความอนุเคราะห์ อันนี้คือกำลังบอกว่าทุกคนต้องมาช่วยฉัน แต่ฉันยังไม่ได้ปรับ ไม่ได้ช่วยตัวเอง คือมันต้องปรับ เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว โลกเปลี่ยนไวมาก
Comments