เงินเยนอ่อนค่าเร็วและแรง กระทบส่งออกไทยไปญี่ปุ่นโดยเฉพาะกลุ่มอาหารเช่นไก่แปรรูป คาดผู้ซื้อจากญี่ปุ่นคงต้องมีการต่อรองราคาสินค้ากลุ่มอาหารจากไทย ผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมรับมือหาทางเจรจาต่อรองส่วนลดในภาวะที่ต้นทุนสูงทุกอย่าง แจง...6 เดือนแรกปีนี้ยอดส่งออกไทยไปญี่ปุ่นโดยรวมไม่สดใส ติดลบอย่างน้อย 47% ที่น่าเป็นห่วงไปกว่านั้นคือเงินเยนยังมีแนวโน้มอ่อนค่าไปอีกนาน มีสิทธิ์กระทบการลงทุนของญี่ปุ่นในต่างประเทศรวมถึงไทย เมื่อเงินเยนอ่อนค่าถึงจุดหนึ่ง ญี่ปุ่นอาจปิดโรงงาน ย้ายฐานการผลิตกลับญี่ปุ่น ไทยต้องเตรียมพร้อมและแสดงให้ญี่ปุ่นเห็นว่ามาตรฐาน-คุณภาพของโรงงานในไทย ตลอดจนศักยภาพแรงงาน เป็นจุดแข็ง เหมาะที่จะลงทุนต่อ รวมถึงไทยมีแต้มต่อในเรื่องช่องทางการส่งออกจากไทยไปยังลูกค้าทั่วโลก ที่จะเป็นผลดีของการมีโรงงานอยู่ในไทยต่อไป
Interview : ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)
ล่าสุดเงินเยนอ่อนค่า
เงินเยนอ่อนค่าเร็ว หากนับตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงวันนี้ก็ประมาณ 20% แล้ว นอกจากอ่อนเร็วยังอ่อนแรงด้วย คือทะลุแบบ 142 เลย อันนี้ช็อกเลยว่าทำไมอ่อนเร็วขนาดนั้น ต้องบอกว่าที่ผ่านมา การส่งออกของเราพึ่งพาญี่ปุ่นเยอะ เนื่องจากเราส่งออกพวกสินค้ารถยนต์ ชิ้นส่วนสำรอง ออโตโมทีฟพาร์ต รวมถึงพวกอิเล็กทรอนิกส์ โดยสัดส่วนการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นก็ไม่น้อย สัดส่วนประมาณ 9-10% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าสำคัญของเรา
ปัญหาก็มีอยู่ว่าในการส่งออก ลูกค้าเราที่ปลายทางที่นำเข้าสินค้าไป เขาต้องจ่ายเงินเพิ่ม ดังนั้น พวกสินค้าอุปโภคบริโภครวมถึงอาหารโดยเฉพาะไก่ที่เราแปรรูปส่งออกในแต่ละปีไปเยอะ ตอนนี้การเติบโตก็ยังดีอยู่ เพราะวิกฤตอาหารทำให้ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบโดยตรง แต่แน่นอนทางผู้นำเข้าเขาคงต้องเจรจากับเรา ซึ่งจะมีการขอต่อรองราคาซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะต้องมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่เราก็คงจะต้องดูว่าเรารับได้แค่ไหน เพราะถ้าลดราคาเยอะเราก็ไม่ไหวเหมือนกัน เพราะเราโดนตั้งแต่วัตถุดิบขึ้นราคา และราคาพลังงานก็จะขึ้นอีก ค่าไฟ ค่าแรง ค่าขนส่งก็จะขึ้นอีก ซึ่งก็คงต้องหาจุดร่วมกับทางลูกค้าญี่ปุ่น
แต่สำหรับพวกสินค้า ที่ญี่ปุ่นนำเข้าไปแล้วส่งออก เมื่อค่าเงินเขาอ่อน เขาก็เริ่มส่งออก ฉะนั้น อันไหนที่เขานำเข้าไปแล้วส่งออกไปตอนนี้เขาพอไหว สินค้าที่อยู่ในซัพพลายเชน พวกอิเล็กทรอนิกส์เราก็ส่งไป เขาก็ส่งออกไปในแง่สินค้าสำเร็จรูปที่มีมูลค่า ตรงนี้ส่วนตัวไม่ค่อยกังวล แต่กังวลว่าสินค้าจากไทยที่ส่งเข้าไปที่ญี่ปุ่น และเขาใช้บริโภคในประเทศจะได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะฉะนั้น ในส่วนของผู้ประกอบการคงต้องมีการเจรจากัน
ทั้งนี้ การส่งออกของเราไปญี่ปุ่นไม่ค่อยสู้ดีในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ติดลบไปตั้ง 47% ซึ่งตัวที่ส่งออกของเราคือพวกออโตโมทีฟ กลุ่มพวกอุตสาหกรรมรถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ เข้าใจว่าเป็นเพราะการชะลอตัวการสั่งซื้อของเขา ตรงนี้ก็มีผล แต่บางตัวก็ไปได้ดี ไม่ว่าจะเป็นพวกไก่ พวกเคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก พวกอิเล็กทรอนิกส์ ของเขายังไปได้
ญี่ปุ่นจะมาต่อรองราคาเราอย่างไร
คงแล้วแต่ผลิตภัณฑ์ เราก็ต้องบอกเหมือนกันว่าเราเองก็ไม่ไหว โดยเฉพาะเรื่องวัตถุดิบก็แพงทั้งโลก ค่าแรงงานก็แพงทั้งโลก ดังนั้น เราก็ต้องดูในแต่ละสินค้า ก็ต้องบอกทางผู้ส่งออกว่าคงต้องเจรจาแล้วแต่สถานการณ์ แล้วแต่ละตัว เพราะวัตถุดิบไม่เหมือนกัน
โอกาสที่ญี่ปุ่นจะไปซื้อกับคนอื่นมีหรือไม่
ส่วนตัวมองโอกาสของไทยมีใน 2-3 ประเด็น 1. ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่ากว่าที่เขาจะซื้อของใครได้ เขาตรวจแล้วตรวจอีก คุณภาพเขามาอันดับหนึ่ง เพราะในเรื่องคุณภาพสินค้า การตรวจโรงงาน ส่วนตัวมองว่าถ้าเขาซื้อจากไทยแล้ว การที่จะเปลี่ยนใจแบบตัวนี้ซื้อเจ้านั้นเดือนนั้น เปลี่ยนใจไปซื้อประเทศอื่นๆ คิดว่าโอกาสที่จะเปลี่ยนใจค่อนข้างยาก 2.ต้องดูค่าเงิน คือตอนนี้ต้นทุนวัตถุดิบต้องบอกว่าต้นทุนทุกคนแพงหมด แต่ตอนนี้อยู่ที่ใครได้เปรียบตรงไหนที่ไหนบ้าง เช่นเรื่องของกระบวนการผลิตของแต่ละคน การลดต้นทุนของแต่ละคน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือค่าเงินบาทของเรายังพอพยุงได้เมื่อเทียบกับค่าเงินของเพื่อนบ้านเราที่เป็นคู่แข่งเรา ค่าเงินของเราอ่อนกว่าเขา ตรงนี้อาจจะคล้ายๆ กับว่าเป็นแต้มต่อให้เราได้นิดนึง ที่ยังเจรจาได้ ซึ่งค่าเงินเราอ่อนไปที่ 36-37 บาท แต่ว่าญี่ปุ่นอ่อนกว่าเรากว่า 40%
สินค้าที่ญี่ปุ่นส่งมาขายไทยจะถูกกระทบไหม
ต้องบอกว่า เราเคยซื้อสินค้าเมดอินเจแปน ซึ่งตอนนี้ก็ผลิตจากประเทศไทยแล้ว ฉะนั้น เมดอินเจแปน พวกสินค้ารถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล่านี้ทำมาจากแถวนี้หมดแล้ว ดังนั้น สินค้าที่เราซื้อขายกันส่วนใหญ่ เรียกว่าสินค้ากึ่งสำเร็จรูป สินค้าที่อยู่ในระบบห่วงโซ่อุปทานของพวกอิเล็กทรอนิกส์ แล้วก็พวกรถยนต์ ฉะนั้น เวลาเราทำมาก็ส่งออกไป คือทำเท่าที่ส่งออก อย่างนี้เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ตอนนี้ทะลุไป 142 แล้ว และปีหน้าเขาก็ยังมองว่าก็ยังอ่อนค่าอย่างนี้อยู่สัก 135 อะไรอย่างนี้ ทีนี้ส่วนตัวมองอย่างนี้ คือตรงนี้มันน่าจะมีพวกบริษัทญี่ปุ่นที่เมื่อก่อนช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมาเขาลงทุนในต่างประเทศรวมถึงไทย ฉะนั้น ต่อไปเขาอาจจะมองเหมือนกันว่า ถ้าค่าเงินเขาเป็นแบบนี้ เขาอาจจะกลับบ้านดีกว่า เราก็มองข้ามช็อตเหมือนกันว่าถ้าอีก 5 ปีเขายังมองว่าค่าเงินเป็นแบบนี้ แทนที่จะลงทุนต่างประเทศ เขาก็อาจย้ายฐานกลับ ก็อยากชวนให้คิดอย่างนี้ว่าไทยก็ต้องบริหารต้นทุน แล้วหาพวกตลาด หรือว่าการทำ FTA เพื่อบอกว่าไทยสามารถแข่งขันในเรื่องของต้นทุนได้แน่ ขณะที่เราเองมี FTA หลากหลาย ดังนั้น ตรงนี้ไทยเป็นฐานการผลิตให้คุณได้ เพื่อเป็นการดึงไม่ให้เขาย้ายกลับไปญี่ปุ่น หรือย้ายไปที่อื่น
ตอนนี้ที่เห็นปิดโรงงานไป เป็นของญี่ปุ่นก็เยอะ
ใช่ เราต้องทำให้เขาเห็นว่าเรา Forever Young คือยังเป็นหนุ่มอยู่เสมอ แม้ว่าเขาจะลงทุนกับเรามาตลอดระยะเวลาร่วม 30 กว่าปี เราก็จะต้องยืนยันให้เห็นว่าเรายังเป็นโรงงานที่ยังดีอยู่ และมีประสิทธิภาพ มีเรื่องของคุณภาพที่ดี พร้อมทั้งมีเรื่องของตลาดที่ดี คุณอยู่กับเราต่อไปเถอะ แล้วมีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีซึ่งกันและกัน ซึ่งเราต้องสร้างบรรยากาศการลงทุนแบบนี้ แต่เราก็ต้องดูทิศทางและแนวโน้มของเขาด้วยเหมือนกันโดยเฉพาะในเรื่องของค่าเงินเยน
โอกาสที่คนไทยจะไปลงทุน ไปทำโรงงานที่ญี่ปุ่น ยังมีอยู่หรือไม่
ต้องบอกว่าส่วนตัวเคยไปดูการลงทุนในญี่ปุ่น คนของเขา เขาอยู่ในสังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้ว เพราะคนของเขาที่มีอายุเกิน 55 ปี มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 40% ของประชากรทั้งหมดกว่า 120 ล้านคนของเขา ฉะนั้นข้อแรกถ้าเราจะไป เราต้องไปกับเทคโนโลยีแบบไฮเทคมาก คือก็ต้องใช้คนให้น้อยที่สุด และเราต้องมีเทคโนโลยีของเราเองด้วย ซึ่งส่วนตัวกำลังมองว่าทุกโอกาสตรงนี้เป็นคำตอบด้วยขีดความสามารถในการแข่งขันของเรา แล้วก็ในเรื่องสินค้าที่หลากหลายของเรา จะเป็นโอกาสที่ดี แต่ยังต้องศึกษาให้รอบคอบในเรื่องของการลงทุน ซึ่งไม่ง่าย เพราะส่วนตัวก็เคยศึกษาแล้วเหมือนกัน
ดูแล้วน่าสนใจ แต่โอกาสยากมากใช่หรือไม่
ใช่ ยากเหมือนกัน ในแง่ของเรื่องกระบวนการผลิตของเรา เทคโนโลยีของเรา ส่วนตัวคิดว่า เราอาจจะมองอีกมุมหนึ่งว่าทฤษฎีของญี่ปุ่นเยอะ เพราะรากฐานเขามาจากทางด้านพวกเอสเอ็มอี ผลักดันเรื่องของการโต ส่วนตัวมั่นใจว่าเมื่อค่าเงินเยนอ่อนอย่างนี้ ทำให้เอสเอ็มอีของเขาเริ่มหาตลาด ก็น่าจะเป็นโอกาสของไทยที่จะหาสินค้าดีๆ คุณภาพดี เชื่อถือได้ นำเข้ามา ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ตรงนี้ถือเป็นสิ่งที่ดี คิดว่าผู้ประกอบการไทยน่าจะลองพิจารณาเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน
โอกาสที่ค่าเงินเยนจะสวิงกลับมาแถว 100 ต้นๆ จะมีหรือไม่
ส่วนตัววิเคราะห์และดูทางบลูมเบิร์กด้วย คือของทางสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ไปคนละทางคนละทิศ แต่ก็จะขึ้นไปเรื่อยๆ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าเป็นไปได้ยากที่จะกลับมาเหมือนเดิม ในแง่ของสถาบันที่เขามีความเชี่ยวชาญเรื่องการเงิน เขาก็มองว่าปีหน้าเงินเยนก็จะอยู่ที่ประมาณนี้ 130-135 ที่จะไปเหมือนในสมัยโน้น 110 คงไม่ได้แล้ว คงยังไม่ได้เห็นในปีหน้าก็แล้วกัน
ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มอินโดแปซิฟิก ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ IPEF ซึ่งมี 14 ชาติรวมสหรัฐอเมริกา ไม่เอาจีน ทางการค้าธุรกิจของไทยต้องเตรียมตัวอย่างไร
ของเราเองมีแต้มต่อเยอะพอสมควร เพราะเรามีการปรับปรุงเรื่องของโรงงานของเรา ลดต้นทุน คุณภาพของเรา เพื่อรองรับการค้าต่างประเทศได้ดี รวมถึงการส่งออกของเราเพิ่มขึ้น ฉะนั้น ลูกค้าของเราจะสอนให้เราพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นด้วย พวกนี้จะพยายามผลักดันให้เรามีคุณภาพดีขึ้น
ข้อต่อมา การมีเขตการค้าเสรีก็เป็นสิ่งที่ดี จะทำให้เกิดความหลากหลาย เหมือนอย่างยุโรปที่ตอนนี้เกิดการชะลอตัว และยังสามารถหาพันธมิตรที่จะส่งออกไปได้ ซึ่งเรื่องนี้ส่วนตัวก็ติดตามมา คิดว่าเราลองแอบไปมองๆ ดูเขาหน่อยก็ได้ว่าเขามีเงื่อนไขอะไร เหมือน TPTPP ว่าเขามีเงื่อนไขอะไรบ้าง เหมาะกับเราหรือไม่ หรือจะส่งผลกระทบดีหรือเสียอย่างไร ก็ไม่เสียหายที่เราจะเข้าไปดู ได้ไม่ได้ก็อีกเรื่อง เราก็ยังมีเวลาในแง่ของการปรับตัวและในแง่ของการพิจารณาร่วมกันทั้งหมดของไทยเลย
Comments