Interview : คุณสมเกียรติ กิมาวหา
รองผู้จัดการ
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.)
ธ.ก.ส.ช่วยเกษตรกรสู้ภัยโควิดระลอก 2 จัดเม็ดเงินเยียวยาเต็มที่ ทั้งลดภาระหนี้สิน พักหนี้ ช่วยปรับปรุงธุรกิจ นวัตกรรมการผลิตการตลาด อัดฉีดสภาพคล่องเพื่อฟื้นฟูอาชีพ สินเชื่อฉุกเฉิน สินเชื่อ New Gen Hug สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพสำหรับลูกหลานเกษตรกรที่ตกงาน สินเชื่อระยะสั้นเพื่อฤดูกาลผลิตใหม่ โครงการประกันพืชผลการผลิต เน้น...ทุกสินเชื่อมีเงื่อนไขผ่อนปรน อัตราดอกเบี้ย 0.4% พร้อมระดมทุนจากเงินฝากเงินออมเพื่อมานำมารองรับมาตรการเยียวยาและเป็นทุนในการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกรและครอบครัว
สถานการณ์ขณะนี้ ธ.ก.ส.จะช่วยลูกค้าอย่างไรบ้าง
มาตรการครั้งนี้ มีระดับและมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยพี่น้องเกษตรกรและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเราแบ่งหมวดออกเป็น 3 เครื่องยนต์ ซึ่งเครื่องยนต์เครื่องแรกจากมาตรการการเยียวยาเมื่อช่วงที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนคงได้รับฟังข่าวดีจากรัฐบาลว่าใน 2 เดือนจะมีเม็ดเงินเยียวยา ซึ่งเกษตรกรก็อยู่ในกลุ่ม โดยคราวที่แล้วเมื่อต้นปีที่แล้วที่เจอโควิด-19 เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม 3 เดือนก็ได้ช่วยเหลือเกษตรกร แต่ครั้งนี้ รัฐบาลมอบหมายภารกิจการเยียวยานี้มาให้
ส่วนมาตรการที่สองเป็นการบรรเทา เข้าใจว่าเรื่องปากท้องเรื่องเศรษฐกิจ หนีไม่พ้นเรื่องภาระหนี้สิน ฉะนั้นตัวภาระหนี้สินเองเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลมอบภารกิจให้ ธ.ก.ส.ไปดูแลพี่น้องเกษตรกร ซึ่งในมาตรการของการพักหนี้ เราดำเนินการมาแล้วในรอบแรกและจะเกี่ยวโยงจนถึงปัจจุบัน เกษตรกรก็จะคลายความกังวลใจเรื่องการพักหนี้ แต่การพักชำระหนี้ทั้งระบบก็เป็นการยืดระยะเวลา ถัดจากนั้นในมาตรการการบรรเทา คือการลดภาระหนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่พี่น้องเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของเราจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงการชำระดี มีคืน อันนี้ก็ช่วยกันดูแลเกษตรกรว่าท่านสามารถชำระดอกเบี้ยได้ในห้วงเวลาตั้งแต่มกราคมจนถึงมีนาคม 2564 เราจะคืนดอกเบี้ยให้กับพี่น้องเกษตรกรในร้อยละ 20 รายละไม่เกิน 5 พันบาท อันนี้ทางรัฐบาลเองโดยคณะกรรมการธนาคารอนุมัติเม็ดเงินจำนวนทั้งสิ้น 3 พันล้านบาท ก็จะเป็นมาตรการลดภาระหนี้
ต่อมาเราเห็นมาตรการถัดไปว่าจำเป็นจะต้องมี ก็คือในวิกฤตครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อลูกค้าของเรา เราดูแลเรื่องกลไกราคา เราดูแลเรื่องตลาดแล้ว แต่ครั้งนี้ลูกค้าของเราได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ จากโควิด-19 เราจึงมีแนวทางให้พนักงานลงไปดูแล เยี่ยมเยียนลูกค้า เพื่อไปประเมินศักยภาพ แล้วก็จัดกลุ่มศักยภาพ นอกเหนือจากนั้นเราคิดว่าการพัฒนาและการฟื้นฟูมีความจำเป็น อันนั้นก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังบอกว่าอยากจะดูเฉพาะตัวลูกค้า ก็ลงไปดูโครงสร้างธุรกิจลูกค้าด้วย รวมถึงในเรื่องของการปรับ เรื่องของเทคโนโลยีนวัตกรรมการเกษตร เรื่องการเปลี่ยนการผลิตให้สอดคล้องกับพื้นที่และความต้องการตลาด ตรงนี้จะเป็นภาพรวม
และสุดท้ายคือการเติมสภาพคล่อง เติมสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูอาชีพ ในลักษณะสินเชื่อเพื่อผ่อนปรน แล้วก็มีห้วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อพอเพียงเลี้ยงชีพ สินเชื่อฉุกเฉิน ที่มีวงเงินให้และปลอดการชำระ กำหนดงวดชำระรายเดือน 30 งวด นี่ก็จะเป็นมาตรการทางการเงินที่จะลงไปช่วยเหลือดูแลพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้
รวมเป็นเครื่องยนต์ 3 เครื่องที่ ธ.ก.ส.ช่วยเหลือ
ใช่ ในเรื่องของการเยียวยา การบรรเทาฟื้นฟู เข้าใจว่าในสภาพการณ์อย่างนี้ จำเป็นจะต้องให้เครื่องยนต์ทั้งสามตัวเดิน ถ้าจะให้ความรู้โดยไม่มีการเงินเติมไปเลย ชาวบ้าน ลูกค้า เกษตรกรก็จะไม่มีเม็ดเงินก้อนใหม่ แต่ขณะเดียวกัน การเติมเม็ดเงินก้อนใหม่ก็ต้องดูภาระหนี้เดิม ก็จะเป็นเรื่องของการจัดโครงการลดภาระหนี้ แล้วก็จูงใจให้พี่น้องเกษตรกร ลูกค้าของเรา เข้าถึงระบบการเงิน และก็ได้รับความรู้ เราคิดว่าครั้งนี้ สิ่งสำคัญคือเรื่องการให้ความรู้เรื่องการเงิน ให้ความรู้เรื่องดิจิทัล การลงทะเบียน การเข้าถึงช่องทางการบริการต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นภารกิจสำคัญๆ ซึ่งค่าชำระสิ้นปีเราอีก 2 เดือน คือ 31 มีนาคม 2564 ฉะนั้นในช่วง 2 เดือนนี้ ก็จะเป็นภารกิจที่พนักงาน 1,200 สาขาของ ธ.ก.ส.เรา จะลงไปพบปะเยี่ยมเยียนลูกค้า
ลูกค้าที่เป็นลูกหนี้ เป็นคนมากู้ การชำระคืนอะไรทั้งหลายในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
ดูจากตัวเลขที่เราประเมินกัน เอ็นพีแอลก็อยู่ที่ 3.9% เดือนล่าสุดนี้ก็ 3.8% ในห้วงวิกฤตต่างๆ รัฐบาลและ ธ.ก.ส.ได้ไปดูเรื่องของขีดความสามารถ ก็จัดระบบการตลาดมารองรับ จะเห็นว่าครั้งนี้กลไกเรื่องของการประกันในพืชหลักๆ การประกันราคาก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือ ลูกค้าของเราทั้งหมดวันนี้เข้าถึงระบบการประกันพืชผล ฉะนั้นในองค์ประกอบเรื่องของทุน เรื่องของการตลาด เรื่องของการสร้างภูมิคุ้มกันในระบบประกัน แล้วสุดท้ายคือเรื่องกลไกตลาด จะทำให้การชำระหนี้ของลูกค้าเราดีขึ้น ขวัญกำลังใจ แรงจูงใจต่างๆ แล้วล่าสุดที่ส่วนตัวได้มีโอกาสร่วมกับรายการเซียนเศรษฐกิจ เราทำโครงการที่ไปสร้างอย่าง ยัง Smart Farmer หรือเกษตรกรรุ่นใหม่ ในโครงการ New Gen Hug บ้านเกิดก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็น New Engine เป็นเครื่องยนต์หัวเชื้อตัวใหม่ที่จะเกิดในภาคการเกษตรโดยรวมๆ
แต่อย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ลูกค้าของเราต่างเจอวิกฤตครั้งนี้ ฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของการจัด ปรับศักยภาพ แล้วก็จัดกลุ่ม จำแนกแยกแยะตามมาตรการของแบงก์ชาติ เขียว เหลือง แดง แล้วก็มาหาเครื่องมือแก้ปัญหาและเข้าไปสนับสนุนในเรื่องของการฟื้นฟู ยกระดับศักยภาพล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ต้องทำไปพร้อมๆ กัน และคิดว่าลูกค้าของเราก็มีโอกาสที่จะเข้าสู่ระบบการเติบโต ส่งผลต่อการผลิตของระบบเศรษฐกิจโดยรวม
กัดฟันสู้สภาพการณ์แบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน
เราคิดว่าสักรอบการผลิต อีกสัก 2 ฤดูกาล เราทำยุทธศาสตร์เราในปี 2564-2565 ก็จะเป็นส่วนที่นอกเหนือจากการรีเซ็ต เราคิดว่าสิ่งต่างๆ ที่เราทำหัวขบวน ไม่ว่าจะเป็นเอสเอ็มอีเกษตรในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนก็สัก 3 ปี ช่วง 2563-2565 เราคิดว่าในช่วงนี้เราจะทำตัวนี้ให้ขึ้นมา และก็คาดหวังอย่างนั้น มองภาพรวมว่ายังดีอยู่
มีคนตกงานจากโรงงาน แล้วกลับไปทำนาทำสวนของตัวเอง ธ.ก.ส.ช่วยอะไรได้บ้าง
เราได้เตรียมผลิตภัณฑ์หรือเม็ดเงินสนับสนุนเพื่อรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยระลอกใหม่จากเดิมรัฐบาลได้กำหนดวงเงินไว้ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นสินเชื่อที่เรียกว่าสินเชื่อฉุกเฉินให้กับพี่น้องเกษตรกรและคนในครัวเรือนเกษตรกรในอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0.1 ต่อเดือน รายละไม่เกิน 1 หมื่นบาท กำหนดชำระ 30 งวด 30 เดือน เม็ดเงินส่วนนี้ยังเหลือเนื่องจากคราวที่แล้วให้พี่น้องเกษตรกร คนในครัวเรือน ลงทะเบียนไว้สัก 2 ล้านเศษๆ เราอำนวยสินเชื่อไปทั้งสิ้นกว่า 8.6 พันล้านบาท ถ้าท่านที่มีความต้องการสินเชื่อแล้วเป็นสินเชื่อที่มีลักษณะผ่อนปรน ปลอดการชำระ 6 เดือน และไม่ต้องใช้หลักประกัน สามารถแบ่งชำระเป็นรายงวดตามความสามารถในการชำระคืน เดิมเสร็จสิ้นโครงการไปแล้ว แต่รัฐบาลได้ขยายให้ถึง 30 มิถุนายน 2564 ตรงนี้ก็จะเป็นเม็ดเงินก้อนแรกในวงเงิน 3 หมื่นล้าน เกษตรกรสามารถติดต่อเข้าไปพูดคุยกับบุคลากรของ ธ.ก.ส.ใกล้บ้านท่านได้
ส่วนกรณีที่ต้องการเสริมสภาพคล่อง สำหรับผู้ประกอบการก็ดี สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนต่างๆ ตรงนี้เตรียมวงเงินไว้ 1 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี นั่นหมายถึงว่ายกระดับมาเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ก็สามารถที่จะเข้าถึงแหล่งทุนที่เรียกว่าสินเชื่อฉุกเฉินเสริมสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำ
นอกเหนือจากนั้น จะมีรุ่นน้องๆ คนหนุ่มคนสาวที่ได้รับผลกระทบ จากที่เคยมีรายได้ประจำ แต่งตั้งกลับมายังชุมชนบ้านเกิด ธ.ก.ส.ก็ได้เตรียมสินเชื่อที่เรียกว่าสินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ ตรงนี้อัตราดอกเบี้ย 0% ในช่วง 3 เดือนแรก นั่นหมายถึง 3 เดือนแรกไม่ต้องเสียดอกเบี้ย เข้าใจว่าท่านเดือดร้อน ดอกเบี้ยจะคิดเดือนถัดไป อัตราร้อยละ 4 ต่อปี ตรงนี้ก็เพื่อรองรับน้องๆ บุตรหลานเกษตรกร หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง โรงงานต้องปิดกิจการ เราก็เตรียมสินเชื่อรองรับไว้ ที่เรียกว่าสินเชื่อพอเพียงเลี้ยงชีพ
สำหรับน้องๆ ยัง Smart Farmer ทั้งหลาย เราเตรียมสินเชื่อNew Gen Hug บ้านเกิดไว้ เป็นทุนหมุนเวียน สามารถเข้าถึงแหล่งทุนแหล่งนี้ได้ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี อัตราดอกเบี้ย 0% 3 เดือนแรก ตรงนี้ก็จะเป็นเม็ดเงินที่จะเติม
นอกเหนือจากนั้น ถ้าโควิด-19 อยู่ยาว ไม่รู้ว่ารอบนี้จะแค่ไหน เรายังเตรียมสินเชื่อระยะสั้นสำหรับฤดูกาลผลิตให้พี่น้องเกษตรกรและคนในครัวเรือน อัตราดอกเบี้ยน่าสนใจร้อยละ 4 ต่อปี ตรงนี้คือการกระจายเม็ดเงินเพื่อเป็นการเติมทุนสำหรับเกษตรกร เดิมเป็นการช่วยลดภาระดอกเบี้ยด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน ตลอดจนเงื่อนไขต่างๆ อีกมาก
หากพี่น้องเกษตรกรต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือแม้ต้องการรับรู้ผลิตภัณฑ์ตัวไหนว่าจะเหมาะกับประเภทของกิจกรรมการเกษตร ท่านสามารถเข้าไปสอบถามได้ที่ศูนย์ธุรกิจของ ธ.ก.ส.ตามภูมิลำเนาที่พ่อแม่พี่น้องอยู่ เราคิดว่าวิกฤตครั้งนี้ เราพยายามจะให้การกระจายเม็ดเงินก้อนใหม่ ถึงด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรน ตลอดจนระยะเวลาที่สอดคล้อง เพื่อความถูกต้อง เพื่อความถูกใจ และเพื่อความถูกเวลา
คนมีเงินออม จะไปทำอะไรที่ ธ.ก.ส.ได้บ้าง
การระดมทุนของทางธนาคารก็มีความจำเป็น ด้วยสภาพเศรษฐกิจแบบนี้เราคิดว่าด้วยความที่เรากระจายทุน กระจายสินเชื่อ เราก็ต้องการเม็ดเงิน ในต้นทุนที่เหมาะสม สำหรับผู้มีเงิน เรามีผลิตภัณฑ์รองรับไว้ให้มากมาย ประเภทที่มีรางวัลที่คุ้นเคยเช่นเงินออมทวีศิลป์ ไม่ใช่ฝั่งเฉพาะสินเชื่ออย่างเดียว เรามีเงินออมทวีศิลป์ที่ยั่งยืนหน่วยละ 20 บาท ฝากทุกเดือน ลุ้นทุกเดือน สามารถซื้อ สามารถฝากได้ที่สาขา หรือตู้บุญเติม เซเว่นอีเลฟเว่น เข้าไปประเภทมีรางวัล ส่วนประเภทที่สองเป็นสลากทวีศิลป์ชุดมั่งคั่ง ตรงนี้ได้รับการตอบรับด้วยดี ก็จะมีการนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกมาเพื่อระดมทุนในรอบใหม่ และสุดท้ายสลากมีรางวัลที่เรียกว่าทวีศิลป์ชุดมั่งคั่ง 100 บาท 500 บาท ฉะนั้นเงิน 20 บาท 100 บาท และ 500 บาท เป็นเม็ดเงินที่ท่านร่วมเราระดมทุนในรูปสลากมีรางวัล
นอกเหนือจากนั้น พี่น้องเกษตรกรก็ยังเป็นผู้ที่สนับสนุนได้ นั่นคือรายได้หักออม เรามีเงินฝากเรียกว่าทวีโชค สามารถฝากแล้วจับรางวัล ดอกเบี้ยก็ได้ ทุก 6 เดือน แล้วยังเอามาจับรางวัลอีก ก็จะเป็นเล่มผู้ฝากสีแดงที่คุ้นเคยกันดี แจกรถบ้าง แจกเครื่องใช้ แจกทอง ตรงนี้ก็เป็นรูประดมเงินออม ที่เราคิดว่านอกเหนือจากการสร้างวินัยในเรื่องของการใช้จ่ายแล้ว เงินออมจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีให้พี่น้องเกษตรกร
ส่วนตัวคิดว่าท่านที่มีเงิน มีส่วนเหลือ แล้วอยากจะเห็นภาคการเกษตรมีต้นทุนที่เหมาะสม เม็ดเงินดังกล่าวสามารถมาออมในรูปมีดอกเบี้ย ในรูปมีรางวัล คือได้ลุ้นทุกเดือน ต้นก็เหลือ มีผลตอบแทน ถัดจากนั้นยังได้บุญกุศล พี่น้องเกษตรกรก็จะได้รับทุนเหล่านี้ไปกระจายในยามวิกฤต ต้นทุนเงินสำคัญ ฉะนั้นได้การระดมทุนในรูปเงินฝากที่มีต้นทุนเหมาะสม เราก็จะนำไปให้พี่น้องเกษตรกรเรา ซึ่งทุกๆ ปี เราคิดว่าการระดมทุน ธ.ก.ส.ได้รับความร่วมมือและได้รับการสนับสนุน ภาคการเกษตรก็มีรอยยิ้มในยามที่คนเมืองฝากกับธนาคารเฉพาะกิจที่เรียกว่า ธ.ก.ส. และ ธ.ก.ส.ก็จะเอาไปกระจายให้กับเกษตรกร
コメント