top of page
369286.jpg

จับตา IPEF มาตรฐานใหม่การค้าโลก...เกมใหม่ USA ธุรกิจไทยต้องรีบปรับตัว


อเมริกาผลักดัน IPEF ชูประเด็นสร้างมาตรฐานใหม่ของการค้าโลก ที่ยึดหลักความเป็นธรรม เน้นความเป็น Green Economy ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน แนะ...ไทยในฐานะประเทศสมาชิกต้องเร่งปรับตัว ทำความเข้าใจอีก 12 ประเทศสมาชิกเพื่อปรับจูนให้ค้าขายกันได้สะดวกราบรื่น เชื่อว่าเวทีนี้จะมีความสำคัญต่อไปของการค้าโลกยุคใหม่ ถึงแม้จะรู้กันอยู่เต็มอกว่าเป็นเกมการเมืองที่อเมริกาใช้เป็นเครื่องมือสกัดจีนในภูมิภาคนี้ก็ตาม


Interview : คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล

นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย


IPEF หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก มีความน่าสนใจแค่ไหน

เป็นเวทีใหม่ ที่ผ่านมาเราไม่ได้ไปสนใจ ซึ่งความจริงเราควรสนใจตั้งนานแล้ว คือที่ผ่านมาเรามัวไปสนใจเรื่อง FTA เรื่องภาษีใครลด ใครไม่ลด แต่ประเด็นอื่น เวลาค้าขายกันจะต้องเกี่ยวข้องกันอยู่ เราเองก็สนใจน้อย เวทีใหม่นี้ส่วนตัวมองว่าเป็นเวทีที่น่าสนใจมากและกระทบมากๆ ทีเดียว เป็นเวทีที่เชื่อมโยงกับการค้าแน่นอน แต่จะไปอยู่ในประเด็นของสังคมและสิ่งแวดล้อม

ถ้าเราดูในเรื่องของธุรกิจ ตอนนี้การแข่งขันเราขึ้นอยู่กับต้นทุนว่าใครจะถูกกว่ากัน ต่อไปนี้จะเป็นคำถามที่ว่า กฎหมายหรือวิธีปฏิบัติของประเทศคุณ จะเท่ากับเราหรือเปล่า

ห่วงโซ่ของอุปทานสินค้า ตอนนี้ไม่ได้เชื่อมโยงแค่ราคาและต้นทุนแล้ว จะเป็นเรื่องของการเชื่อมโยงของกฎหมาย กฎระเบียบ ของประเทศที่เป็นภาคี 13 ประเทศ ซึ่งสิ่งที่อยากแนะนำคือว่าตอนนี้จะต้องไปดูความสามารถในการแข่งขันในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ไม่ใช่เรื่องต้นทุนอย่างเดียวแล้ว คนที่เกี่ยวข้องไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์แค่กระทรวงเดียว แต่จะไปเกี่ยวข้องระบบกฎหมายทั้งประเทศเลย


ไทยควรจะตีตั๋วร่วมกับเขาไปก่อน

คือตอนนี้ไม่สามารถปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะคำว่าห่วงโซ่อุปทานมันไปทั่วโลก เราจะไปอยู่คนเดียว หรือจะอยู่เฉยๆ ไม่อยู่ในห่วงโซ่นี้ เป็นไปไม่ได้ เราต้องคิดให้หนักว่าประเด็นอยู่ที่ไหน เราต้องเข้าใจมันก่อน ที่เขาพูด 4 อย่างในกรอบนี้จะไม่ใช่ FTA ตรงนี้เป็นเหมือนกรอบทางเศรษฐกิจที่เน้น 4 อย่างคือความเชื่อมโยงกันของประเทศทั้งหลาย เขาใช้รายละเอียดว่า เชื่อมโยงด้วยดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล ก็ไปใช้หุ่นยนต์ ใช้อย่างที่เราเข้าใจ เครื่องมือสื่อสารทุกชนิด ตรงนี้จะเชื่อมโยงกันอย่างไร

ถามว่าเราจะปฏิเสธได้หรือไม่ จะไม่เอาได้หรือไม่ ผมไม่เชื่อมโยงกับคุณ จะอยู่คนเดียว แล้วมีการเน้นที่กฎหมาย กฎระเบียบ มันไม่ใช่เน้นไปที่เครื่องมือสื่อสาร 5 G 8G 20G ไม่ใช่ แต่จะเป็นเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบ ความยืดหยุ่นของธุรกิจ ประเทศหนึ่งจะกระทบซัพพลายเชน จะต้องจัดการอย่างไรไม่ให้กระทบกันทั้งหมด มันมีความยืดหยุ่น เหมือนเรามีโควิด บางประเทศก็บอกว่าเราไม่ส่งออกอาหาร หรือเรื่องอะไรก็ตามที่มาดูแลประเทศตัวเอง แต่วันนี้ไม่ใช่ จะต้องมีระเบียบ ที่กลับมาดูแลตรงนี้ให้ยืดหยุ่นกัน

เรื่องต่อมาคือเศรษฐกิจสะอาด หรือคลีนอีโคโนมี่ เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเต็มที่เลย ถ้าเราอยู่ในข้อตกลง ตอนนี้เราทำทันหรือไม่ กฎระเบียบเราทำอะไรบ้าง เราจะแข่งขันกับเขาอย่างไร ระเบียบต่างๆ ของเราจะตรงกับเขาหรือไม่ แล้วก็ต้องยุติธรรม เขาเรียกว่าแฟร์ ต้องยุติธรรมต่อกัน ส่วนของความเรื่องยุติธรรมพูดถึงเรื่องทุจริตด้วย เรื่องใต้โต๊ะ ติดสินบนกัน จะเป็นเรื่องกฎหมายทั้งหมดเลย ตอนนี้ก็ต้องมาดูตัวเองว่าเราจะเข้าไปอย่างไร แล้วต้องเข้าใจก่อนว่ากรอบนี้คืออะไร


ทำไมสหรัฐอเมริกามาชวนไทย แล้วรวมเป็น 13 ชาติ ทำไมไม่รวมชาติอื่นในโลกนี้มีตั้งกว่า 200 ประเทศ

คือมีการเมืองอยู่ในนี้ด้วย ต้องดูอดีตที่ผ่านมาด้วยว่าสมัยโอบามา ประธานาธิบดีไบเดนเป็นรอง เขาใช้ข้อตกลง TPP แต่ว่าตอนนี้กลายเป็น CPTPP ดังนั้น ตัว TPP แนวคิดเหมือนกับ IPEF คล้ายกันมากเลย ซึ่งใน TPP จะมีเรื่องของภาษีอยู่บ้าง แต่ที่เหลือกว่า 30 รายการเป็นเรื่องกฎระเบียบ กฎหมายต่างๆ ที่พูดมาข้างต้น ตรงนี้เขาต้องการที่จะปรับระดับการทำการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศที่พัฒนาแล้ว ญี่ปุ่น เกาหลี และพื้นที่ของประเทศกำลังพัฒนาที่มีกฎหมาย กฎระเบียบ ที่ไม่ตรงกับเขา คือระดับต่างกัน และเมื่อระดับต่างกัน เป้าหมายของเขาก็คืออยากจะให้เท่ากัน เวลาค้าขายจะได้ยุติธรรมต่อกัน เขาก็มองว่าการทำธุรกิจของเราบางทีมีเรื่องที่เขาเสียเปรียบ ชัดเจนมากก็คือมองไปที่จีนว่ามีระบบการจัดการเศรษฐกิจที่ไม่โปร่งใส แต่ของเขาจะมีระเบียบชัดเจน แต่ของคุณอะไรก็ไม่รู้ มีรัฐวิสาหกิจอุดหนุนการใช้ อุดหนุนการเงินอะไรอย่างนี้ เลยทำให้เขาเสียเปรียบ มันไม่สะอาดสีเทาๆ อย่างนี้

ดังนั้น เขาก็พยายามจะปรับพื้นที่ของเราให้เท่ากัน ให้ยุติธรรมกับเขา เขาพูดแบบนี้ ซึ่งพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่เขาทำการค้ามากๆ ฉะนั้น เขาก็อยากจะปรับพื้นที่นี้ตาม ขณะที่ยุโรปไม่จำเป็นต้องทำอะไรเยอะ เพราะมันเท่าๆ กันอยู่ จะมีอีกพื้นที่หนึ่งคืออเมริกาใต้ ก็คิดว่าเหล่านี้คือเป้าหมายของเขา แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีประเด็นการเมืองที่เกี่ยวกับประเทศจีนที่ค่อนข้างมีข่ายอิทธิพลในช่วงหลังๆ มานี้ เขาก็เลยต้องมา พูดง่ายๆ คือสกัดจีนออกไปก่อน จะสังเกต IPEF ไม่มีจีน มีแต่อินเดีย


ถ้าไทยไม่เข้าร่วม จะมีปัญหาหรือไม่

มีแน่นอน อย่างที่บอก ถ้าเราไม่อยู่ตรงนั้น อีก 12 ประเทศเขาก็ตัดไป เขาไม่ได้บังคับว่าเราจะต้องทำให้เหมือนกับเขาเป๊ะๆ เพียงแต่เขาเปิดช่องไว้ว่า ถ้าคุณพร้อมวันไหน ถึงจะมาจับคู่คุยกันวันนั้น สมมุติว่าเราบอกว่าสิ่งแวดล้อมเราพร้อม เราเก่งมาก มีกฎหมาย มีนโยบายเยอะแยะ เราพร้อมที่จะแข่งขันในสินค้ากลุ่มนี้ เราทำได้ดีกว่า สะอาดกว่า มีกฎหมายที่ดีกว่า ทีนี้เราก็ไปที่สหรัฐอเมริกาบอกว่า เอามั้ย ตลาดคุณใหญ่ เรามีสินค้าแบบนี้ขายคุณ มาพิสูจน์ได้เลยว่าเราดีกว่า ฉะนั้นเราจะไปจับมือกัน สินค้าชุดนี้เรามาซื้อขายกัน อาจจะมีระเบียบจัดการพิเศษ ภาษีพิเศษ คุยกันตรงนี้เป็นรายละเอียด แล้วเราก็จับคู่กับสหรัฐอเมริกา จับคู่กับญี่ปุ่นได้ ถ้าเราเก่งจริง จับคู่เกาหลีได้ อะไรเราก็ไม่กลัวแล้ว เรื่องสิ่งแวดล้อมเราทะลุทะลวงผ่านหมดเลย ถ้าอย่างนั้นเราก็โอเค

ส่วนเรื่องใต้โต๊ะ การทุจริต สมมุติว่าเรื่องนี้เราไม่พร้อม ตรงนี้เราไม่จับมือกับใคร เราขอปรับก่อน ตรงนี้ที่สำคัญถ้าเรามองในด้านบวก เราก็สามารถที่จะไปดูในแนวนี้ได้ แต่ถ้าเรามองในด้านลบ สู้ไม่ได้ ไม่อยากเข้า ตรงนี้ก็อยู่เฉยๆ เราก็ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน ก็ปล่อยให้ 12 ประเทศเขาทำกันไป


ภาคธุรกิจไทย มีความพร้อมหรือไม่ ต้องปรับปรุงอะไรบ้าง

คือเราต้องไปศึกษากฎระเบียบ มาตรการของชาติต่างๆ ของประเทศพัฒนาแล้ว ทั้ง 12 ประเทศคือคู่แข่งของเราทั้งหมด ต้องรีบไปศึกษาเลยว่ามีอะไรบ้าง ยกตัวอย่าง เช่นสหรัฐอเมริกา เวลานี้เขาออกกฎหมายสิ่งแวดล้อมอะไร และเขาทำอย่างไร ญี่ปุ่นทำอย่างไร เกาหลีทำอย่างไร อินเดียทำอย่างไร แล้วสิงคโปร์ หรือที่อื่นเขาทำอย่างไร ไปดูให้หมดเลย ตรงนี้ต้องรีบทำ เพราะเราไม่รู้ว่าเขาทำอะไร แล้วก็มาดูกฎระเบียบของประเทศ เราก็ไปเทียบเคียงว่าตำราของเขาเป็นแบบนี้ แล้วตำราของเราอยู่ที่ไหน ต้องชัดเจน

เรื่องต่อมา เครื่องไม้เครื่องมือที่เขาใช้เป็นอย่างไร มีองค์กรอะไรที่ทำอยู่ ต้องมาเปรียบเทียบกันให้หมดเลย จะแข่งขันอะไรก็ไปดูกฎระเบียบด้วย ไม่ดูต้นทุนอย่างเดียว เหล่านี้คือสิ่งที่ต้องรีบทำ ถ้ารัฐบาลไม่ทำ เอกชนก็ต้องรีบทำ แต่ถ้าไม่ทำก็ยังบอกไม่ได้ว่าตอนนี้ผมดีที่สุด ตอนนี้ผมแย่ที่สุด ยังพูดไม่ได้ แต่ผมโดยเฉลี่ยกลางๆ

ผมคิดว่ากฎระเบียบอะไรต่างๆ ความสามารถในการที่จะเปลี่ยน คิดว่าประมาณสัก 50 ไม่เก่ง สัก 50% เราทำไม่ได้ทั้งหมด แต่ว่าเราทำได้บางอย่าง โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมส่วนตัวมองว่าเราทำได้ระดับหนึ่ง มีองค์กร มีกฎระเบียบ มีกระทรวง แต่ว่าเราจะปรับอย่างไร ตรงนี้ต้องไปหาโจทย์ตั้งแต่วันนี้เลย แล้วเราจะเห็นตัวเอง


ถ้าไทยเข้า IPEF แล้ว จะต้องไปเข้าองค์กรอื่นด้วยหรือไม่เช่น CPTPP

อยู่ที่เราเลือกที่จะเข้าหรือไม่เข้า ถ้าเราเข้าได้ หรือเราพร้อมเข้า ส่วนตัวมองว่าก็ใช้ได้แล้ว เรื่องการแข่งขันในตัวต้นทุนส่วนตัวไม่ห่วง ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ที่จะเรียนรู้ IPEF นี่ ถ้าเราเข้าตรงนี้เท่ากับว่าเราพร้อมที่จะปรับตัวประเทศไทยให้อยู่อีกระดับหนึ่งขึ้นไป พร้อมที่จะปรับกฎหมาย พร้อมที่จะบังคับใช้กฎหมาย พร้อมที่จะปรับระเบียบในประเทศให้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และแน่นอนสิ่งที่จะตามมาก็คือพร้อมที่จะพัฒนาเรื่องต้นทุน ตรงนี้จะตามมา

ตรงนี้ถือว่าถ้าเราท้าทายมัน คิดว่าถ้าเราจะเข้าร่วมเราคงเข้าแน่ๆ หมายความว่าเคลียร์ปัญหาแล้ว CPTPP ก็เป็นเรื่องง่ายแล้ว ไม่ยาก เรื่องแข่งขันต้นทุนตรงนี้เราคิดว่าเราทำได้ ซึ่งในเรื่องระเบียบใน CPTPP จะมีคล้ายๆ กันอยู่แล้ว


มีคนวิจารณ์ว่า IPEF คือสิ่งจะเอามาสกัดจีน ดังนั้น ถ้าไปเข้า IPEF จีนจะโกรธไทยหรือไม่

ไม่เกี่ยวกัน ตรงนี้เราไม่ได้บอกว่าเราจะไม่เอาจีน เราก็ค้าขายกับเขาอยู่ มีข้อตกลงเสรี การค้าเสรี มีเรื่อง RCEP มีข้อตกลงอะไรหลายอย่างที่จีนอยู่ในนั้น 10 กว่าประเทศเหมือนกัน ญี่ปุ่น เกาหลีอยู่ในนั้น ยกเว้นอินเดียที่เขาไม่ได้อยู่ตรงนี้ เมื่อไม่อยู่ตรงนี้ เขาก็ดูว่าเขาเสียเปรียบเรื่องต้นทุน แต่ว่า IPEF ก็จะไม่มีจีน ถามว่าไบเดนจะตัดจีนหรือไม่ คำตอบก็คือใช่ ซึ่งเดิม CPTPP ก็สกัดจีนอยู่แล้ว เขาก็มองว่า RCEP มีจีน ถ้าปล่อยเอาไว้ จีนก็จะมีอิทธิพลทางด้านการค้าเศรษฐกิจด้านนี้มาก อเมริกาก็จำเป็นที่จะรักษาตำแหน่งเขาอยู่ที่นี่ด้วย เพราะเราค้าขายกับอเมริกาเยอะในพื้นที่นี้ ฉะนั้น อเมริกาจะทิ้งไปไม่ได้ และชัดเจนว่าอเมริกาจะตัดจีนแน่นอน เพราะจีนมีปัญหากับเขามากในเรื่องการค้า ตัวเลขชัดเจนมาก ตั้ง 4-5 แสนล้าน

สรุปแล้ว เรื่องระเบียบที่เขามีปัญหากับจีน เขาพยายามสร้างตรงนี้เพื่อคานอำนาจกับจีน แล้วกำลังจะบอกจีนว่า คุณจะต้องทำอย่างนี้ ถึงจะทำงานกับเราได้ ถ้าคุณไม่ทำแบบนี้ ก็จะค้าขายกันลำบาก ชัดเจนอยู่แล้ว


สุดท้ายจะพัฒนากลายเป็นสร้างมาตรฐานใหม่ แล้วก็เป็นการบอยคอตการค้าอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่

สร้างมาตรฐานใหม่แน่นอน ส่วนจะบอยคอตหรือไม่ตรงนี้จะมาโดยอัตโนมัติของมัน สมมุติว่าสร้างได้แล้ว พัฒนาขึ้นไป แล้วประเทศต่างๆ ที่เป็นภาคีอยู่ ส่วนตัวไม่เชื่อว่าญี่ปุ่นทำไม่ได้ เกาหลีได้ ประเทศที่เก่งๆ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ที่เป็นภาคีได้ แต่ที่อยู่ในอาเซียนลำบาก สิงคโปร์คิดว่าได้ แต่อย่างไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ส่วนตัวมองว่าเราต้องแข่งกับเขาในการที่จะเอาโจทย์มาดู แล้วเราต้องรีบพัฒนาโจทย์ตัวนี้ และมองว่าจะเกี่ยวข้องกับคนทั้งประเทศเลย ส.ส. รวมถึง ส.ว. ที่เกี่ยวก็จะได้มาสนใจกฎหมายเหล่านี้ หน่วยงานรัฐก็ต้องดูแล เอกชนนี่ตัวสำคัญเลย อย่าขี้เกียจ ต้องเร่งให้ไปหาข้อมูลกันเลยตอนนี้ ตรงนี้ถือเป็นการยกระดับกฎหมายขึ้นไปด้วย

170 views

Comments


bottom of page