ข้าวไทยศึกหนัก...ราคาข้าวเปลือก-ข้าวสารตกต่ำ
- Dokbia Online
- 1 day ago
- 3 min read

ราคาข้าวเปลือก-ข้าวสารตกต่ำ มีสาเหตุมาจากผลผลิตข้าวนาปรังของไทยมีปริมาณมากขึ้น รวมทั้งปริมาณผลผลิตข้าวจากผู้ส่งออกรายใหญ่ทั่วโลกมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว ทำให้การแข่งขันส่งออกข้าวสูงขึ้นและราคาข้าวในตลาดโลกลดต่ำลง ซึ่งผู้ส่งออกข้าวไทยต้องแข่งขันด้านราคากับผู้ส่งออกอย่างอินเดีย ปากีฯ เวียดนาม เมียนมา ย้ำ...ราคาข้าวของไทยระดับตันละ 6,800-7,200 บาท เป็นราคาที่เกษตรกรไม่ได้กำไร แต่ขณะเดียวกันก็ยังเป็นราคาที่สูงกว่าราคาข้าวในตลาดโลก ด้วยสถานการณ์เช่นนี้จึงเป็นปัญหาทั้งเกษตรกรและผู้ส่งออกของไทย อีกทั้งด้านผู้ซื้อข้าวไทยหลักๆ อย่างฟิลิปปินส์-อินโด ที่ปีที่แล้วซื้อข้าวจากไทยประเทศละ 4-5 ล้านตัน ยังคงมีสต๊อกข้าวเหลืออยู่มาก จึงจะไม่มีการซื้อข้าวจากไทยเพิ่มในปีนี้ นอกจากนั้น ด้วยสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่ายิ่งทำให้การแข่งขันของผู้ส่งออกไทยยากลำบากมากขึ้น แจง...ในสถานการณ์เช่นนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวเพื่อลดปริมาณข้าว ซึ่งถ้าไม่เร่งออกมาตรการนี้เชื่อได้ว่าแม้แต่เทวดาก็ช่วยไม่ได้
Interview : คุณจำเริญ ณัฐวุฒิ คณะที่ปรึกษาสมาคมโรงสีข้าวไทยและผู้ประกอบการโรงสีข้าวเจริญพาณิชย์ กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
ข้าวนาปรังออกมาแล้ว โรงสีก็คงจะมีภาระหนักพอสมควรที่จะดูแล ชาวนาต้องออกมาร้องเรียนเรื่องของข้าวที่ราคาตกต่ำเยอะเลย
ข้าวนาปรังเริ่มเก็บเกี่ยวกันแล้ว การเก็บเกี่ยวจะมากประมาณช่วงกลางเดือนมีนาคมจนถึงสิ้นเดือนเมษายน ช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตกันเยอะในเขตคุ้งน้ำเจ้าพระยา
ตอนนี้โรงสีมีสต๊อกข้าวอยู่เยอะขนาดไหน รองรับข้าวนาปรังเดือนมีนาคม เมษายน ที่จะออกมาเยอะๆ ได้มากแค่ไหน
จากตัวเลขการวิเคราะห์ของทางราชการก็ดี จากการประเมินจากทางสมาคมโรงสีก็ดี ปริมาณข้าวนาปรังที่จะเก็บเกี่ยวในรอบนี้ในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม ประมาณ 6.5-6.7 ล้านตัน จากพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 9 ล้านกว่าถึง 10 ล้านไร่
ถือว่าเป็นปริมาณที่เยอะหรือน้อยผิดปกติไปจากเดิมไหม
จากการประเมินตัวเลขที่ทางรัฐบาลเก็บมา ปีนี้ผลผลิตข้าวนาปรังจะมีมากกว่าปีที่แล้วคือเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 ล้านตัน ในส่วนที่เพิ่มขึ้นมา 1.5 ล้านตันจริงๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อราคาอะไรมากมาย เหตุที่ราคาข้าวเปลือกและข้าวสารปัจจุบันราคาลดลงอย่างมากตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา สาเหตุเนื่องมาจากว่าปีนี้สภาวะอากาศทั่วโลกดี ผลผลิตทั่วโลกก็ดีกันทุกประเทศไม่ใช่เฉพาะประเทศเรา ทำให้ผลผลิตของโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 11 ล้านตันทั่วโลก เท่ากับมีซัพพลายมีผลผลิตมากเกินจากปีที่แล้วถึง 11 ล้านตัน ก็บ่งบอกถึงสภาวะว่าข้าวเกินความต้องการ
ราคาที่ถูกลงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปริมาณสินค้ามีมากกว่าความต้องการ แล้วราคาข้าวที่ถูกลงไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ถ้าเรามองแบบเป็นธรรม แล้วมองด้วยภาพกว้างก็คือราคาข้าวถูกกันทั่วโลก ทุกประเทศ ถูกหมด ไม่ว่าอินเดีย ปากีสถาน เวียดนาม พม่า ไทยก็ถูกตาม เราคงจะสวนทิศทางตลาดไม่ได้ ก็ต้องพูดถึงบนพื้นฐานของความเป็นจริง ในเมื่อประเทศที่ผมเอ่ยมาอินเดียก็ดี ปากีสถานก็ดี เวียดนามก็ดี พม่าก็ดี และไทย ต่างเป็นประเทศผู้แข่งขันในการส่งออกข้าวด้วยกันทั้งสิ้น ถ้า 5-6 ประเทศที่ผมเอ่ยมาเหล่านี้เขาปรับลดราคาลงเพราะเขามีปริมาณผลผลิตล้นประเทศ เขาที่ปรับลดราคาลงเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดในตลาดโลก
สำหรับไทย ถ้าเราไม่ปรับลดราคาตามคู่แข่งนั่นจะเป็นผลร้ายกับเราอย่างยิ่ง การที่เราปรับถูกลงตามเขาเป็นการช่วยตัวเราเอง ถ้าในขณะที่ประเทศคู่แข่งเราเขาลดราคาลงอย่างมากแต่หากเรายังขืนไม่ลดราคา เราจะขายได้ไหม เมื่อเราขายไม่ได้จะเป็นยังไง ก็ปล่อยคู่แข่งเราขายกันไป แล้วข้าวที่เราขายไม่ได้เหล่านั้นก็ถูกเก็บ ตกค้าง เก็บเป็นสต๊อกไว้ในประเทศใช่ไหม ไม่ได้ระบายออก เมื่อไม่ระบายออกข้าวเหล่านั้นก็เป็นสต๊อกตัวที่จะกดดันราคาข้าวในประเทศเราเมื่อมีข้าวฤดูใหม่เก็บเกี่ยวออกมา ตัวนี้ก็จะเป็นตัวที่กดดันราคาในประเทศให้ตกต่ำมากกว่าความเป็นจริง
เพราะฉะนั้นการระบายออกก็เป็นการช่วยทางหนึ่ง แต่ถ้าเราขายราคาแพงกว่าเขาเราก็ระบายออกไม่ได้ ก็ต้องให้ความเป็นธรรมทางภาคธุรกิจเขาด้วย การที่ข้าวราคาถูกไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ไปดูข้อมูลได้จากทุกแหล่งที่เป็นแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าราคาข้าวเวลานี้ในตลาดต่างประเทศ ราคาเราจะแพงกว่าทุกประเทศที่เป็นคู่แข่งกับเรา
ผมจะพูดถึงราคาตลาดโลกให้ฟัง อย่างปัจจุบันนี้ ข้าวสารชนิด 5% ของเวียดนามราคาโค้ดขายกันในต่างประเทศอยู่ที่ 395 เหรียญต่อตัน ปากีสถานอยู่ที่ 394-395 เหรียญต่อตัน อินเดียอยู่ที่ 400 เหรียญ ส่วนของไทยเราอยู่ที่ 415 เหรียญ ที่พูดอย่างนี้เพื่อฉายภาพให้เห็นว่าราคาในต่างประเทศที่เราไปขายเมื่อสะท้อนกลับไปเป็นราคาต่างประเทศเรายังขายอยู่ที่ 415 เหรียญ ซึ่งถ้าขายต่ำกว่า 415 เหรียญ ราคาข้าวในประเทศเราต้องถูกกว่านี้ ถ้าเราขายตามราคาเวียดนามนะ
หมายความว่าที่ชาวนาออกมาร้องว่าข้าวราคาถูก ราคาตกต่ำมาก แล้วบอกด้วยว่าอาจลงไปต่ำกว่า 6,800-7,200 อีก ราคานี้โค้ดตามราคาส่งออก 415 เหรียญแล้วหรือยัง
อันนี้พูดกันตามสภาพความเป็นจริง ว่าราคาที่บอก 6,800-7,200 เป็นราคาที่เรายังไม่ได้ได้เปรียบหรือจะไปแข่งขันในต่างประเทศได้เลย เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าราคา 6,800-7,200 บาท เป็นราคาที่เกษตรกรไม่มีกำไร เป็นราคาที่ถูก เราไม่ปฏิเสธ แต่ขนาดที่ถูกแล้วแต่พอเทียบกับราคาที่เราขายอยู่ในต่างประเทศ ราคาของเราก็ยังแพงกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ ในเวียดนาม 395 เหรียญต่อตัน ปากีสถาน 395 เหรียญต่อตัน อินเดีย 400 เหรียญต่อตัน เมียนมาอยู่ที่ประมาณ 445 เหรียญต่อตัน ของเรา 415 เหรียญ
ราคาที่ใกล้เคียงกันคือไทยกับอินเดีย 400-415 เหรียญต่อตัน สำหรับอินเดียข้าวของชาวนาของเขาขายได้ตันละเท่าไหร่
ที่เราพูดหมายถึงข้าวที่คุณภาพเดียวกันที่ชนิด 5% ที่ซื้อขายกันในตลาดโลก ผมเข้าใจว่าตอนนี้ราคาลดลงมากจนเกษตรกรชาวนาเดือดร้อน แต่ทีนี้เราต้องดูสภาพความเป็นจริงด้วยว่าถ้าประเทศอื่นเขาแพงหมดตั้งแต่ 8,000-9,000 แล้วของเราอยู่ที่ 6,000 กว่าอย่างนี้ก็เป็นเรื่องแปลกประหลาดที่ผิดปกติ แต่ขณะนี้ราคาข้าวถูกทั่วโลก เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าข้าวที่แพงมันแพงมาอย่างไร แล้วที่ถูกเพราะอะไร สาเหตุมาจากอะไร ผมจะขออธิบายให้ฟังอย่างนี้ ราคาก่อนหน้าปี 2566 คือปี 2564-2565 ราคาข้าวเราอยู่ในระดับราคา 8,500-9,000 บาทที่เป็นข้าวแห้ง ถ้าเป็นข้าวสดก็อยู่ที่กว่า 7,500-7,800 บาท อยู่ตรงนี้ใกล้เคียงกับราคาปัจจุบัน แต่พอมาปี 2566 ราคาเริ่มขยับขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน ปี 2566 ก็ต้องดูเหตุการณ์ว่าในปี 2566-2567 เกิดอะไรขึ้นทำไมราคาข้าวแพง อย่าลืมว่าปี 2566 เดือนกุมภาพันธ์เกิดสงครามยูเครน-รัสเซียใช่ไหม การเกิดสงครามยูเครน-รัสเซีย เกิดอะไรขึ้นต่อราคาข้าว สงครามสมัยนี้เขาไม่ได้รบทำลายล้างทางการทหาร เขาถล่มกันทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะแหล่งท่าเรือและน่านน้ำ การเดินเรือไม่สะดวกเพราะมีการถล่มท่าเรือ ถล่มคลังสินค้าของแต่ละประเทศ เกิดการบอยคอตสินค้ากันระหว่างกลุ่มของประเทศอเมริกาและทางรัสเซีย ยูเครนกับรัสเซียเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีรวมกัน 2 ประเทศ มากเกินกว่า 50% ของปริมาณข้าวสาลีของโลก เมื่อเกิดสงครามใน 2 ประเทศนี้ขึ้น การขนส่ง การเพาะปลูก การค้าขายข้าวสาลี การขนถ่ายข้าวสาลีออกสู่ตลาดโลกเป็นไปไม่ได้เลย ทําให้เกิดการขาดแคลนข้าวสาลีไปทั่วโลก ทำให้ข้าวซึ่งเป็นสินค้าที่สามารถบริโภคทดแทนข้าวสาลีได้มีราคาสูงขึ้น
ต่อมาอีก 2 เดือนเกิดภาวะเงินเฟ้อในอินเดียและในหลายๆ ประเทศ ทำให้อาหารราคาสูงขึ้น อินเดียก็เลยระงับการส่งออกข้าว อินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก ปีหนึ่งเขาส่งออก 22 ล้านตัน แต่เขาไม่ได้ระงับการส่งออกข้าวทุกชนิด เขาระงับการส่งออกข้าวขาว ข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติที่อินเดียส่งออกในขณะนั้นประมาณปีละ 9 ล้านตันที่เคยออกไปสู่ตลาดโลก เคยเป็นซัพพลายอยู่ในตลาดโลกหายไปทันที ก็เกิดการขาดแคลนข้าวจนเกิดความตื่นตระหนกของหลายๆ ประเทศที่จะต้องสำรองข้าวไว้เพื่อเป็นความมั่นคงด้านอาหารของแต่ละประเทศ จึงเกิดการซื้อข้าวกันมากกว่าปกติของทุกๆ ประเทศ ประเทศที่เคยสำรองข้าวเอาไว้ 5 แสนตันก็จะสำรองเป็น 1-2 ล้านตัน เมื่อมีการแห่ซื้อกันทั่วโลกทำให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้น
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ทั่วโลกตื่นตระหนกและทำให้ข้าวราคาสูงมากขึ้นคือสภาพอากาศของปี 2566-2567 เกิดเอลนีโญ เกิดภาวะแห้งแล้งไปทุกภูมิภาคของโลก สภาพอากาศร้อนทําให้การเพาะปลูกไม่มีประสิทธิภาพ หลายๆ ประเทศได้ผลผลิตลดลงอย่างมากโดยเฉพาะฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซีย ก็เกิดการนําข้าวเข้าจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เดิมฟิลิปปินส์เคยนําข้าวเข้าประมาณปีละ 2 ล้านกว่าไม่เกิน 3 ล้านตัน แต่ช่วงปี 2566-2567 นำเข้ามากถึง 4 ล้านกว่าตันร่วม 5 ล้านตัน ส่วนอินโดนีเซียเคยนำเข้าปกติแค่ปีละล้านกว่าตันไม่เกิน 2 ล้านตัน ก็กลายเป็นว่าอินโดนีเซียนำเข้าถึง 5 ล้านตันในปี 2567 และ 2568 ก็เลยส่งผลให้ราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนของปี 2566 หลังจากเกิดสงครามยูเครน ราคาข้าวสารในบ้านเราจากกิโลกรัมละ 14 บาท ขึ้นมาเป็น 16 บาท 17 บาท หรือตันละ 14,000 บาท เพิ่มเป็น 16,000-17,000 ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พออินเดียประกาศระงับการส่งออกข้าว ทำให้เกิดการตื่นตระหนกไปทั่วโลกและแย่งกันซื้อข้าวเพื่อจะสำรองคลังอาหารของแต่ละประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาขยับไปต่อเนื่องจาก 14 บาทเป็น 16, 17, 18, 19, 20 แล้วไปพุ่งสูงสุดถึงราคาตันละ 21,000-22,000 บาทในเดือนมกราคมของปี 2567
แล้วหลังจากนั้นมากลางปี 2567 สภาพอากาศของโลกเริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ภาวะปกติ เริ่มมีฝน มีน้ำ ปัจจัยการเพาะปลูกเริ่มดีขึ้น สภาพอากาศแวดล้อมดีขึ้น ผลผลิตข้าวก็เริ่มดีขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2567 อินเดียมีผลผลิตเพิ่มขึ้น หลายๆ ประเทศมีผลผลิตเพิ่มขึ้น อินเดียก็เริ่มกลับมาส่งข้าวออกเพราะมีข้าวล้นสต๊อก จากนั้นมาราคาข้าวสารก็เริ่มปรับตัวลงตั้งแต่เดือนกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน 2567 ค่อยๆ ลงมา แต่ช่วงแรกยังไม่ลงรุนแรงเนื่องจากผู้ส่งออกเราไปรับออร์เดอร์ข้าวของอินโดนีเซียไว้ 5-6 แสนตัน เรามีออร์เดอร์ที่จะต้องส่งมอบข้าวตั้งแต่เดือนกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม ให้กับอินโดนีเซียที่ยังไม่ได้ส่งมอบอยู่ 5 แสนกว่าตัน ก็เลยเป็นตัวประคองให้ราคาข้าวในประเทศไม่ได้ลดต่ำลงมากในช่วงนั้นเพราะยังมีภาระที่จะต้องส่งมอบอยู่ แต่เมื่อส่งมอบข้าวให้อินโดนีเซียใกล้ครบ ทำให้ราคาข้าวที่ออกมาในเดือนพฤศจิกายน ธันวาคมของปี 2567 เริ่มตกต่ำลง แต่ยังไม่ตกต่ำรวดเร็วและรุนแรงมากเหมือนปัจจุบัน ขณะเดียวกันในขณะนั้นข้าวของเวียดนาม ปากีสถาน แข่งกันลดราคาอยู่ในตลาดโลกแล้ว แต่ในประเทศไทยยังไม่ได้รับผลกระทบเพราะเรามีออร์เดอร์ส่งออกที่ตกค้างอยู่จำนวนมาก ก็เลยช่วยประคองให้ราคาในประเทศไม่ตกต่ำมาก นี่คือภาพความจริง
แต่ก่อนหน้าเดือนกันยายนต้องพูดตั้งแต่เดือนเมษายนของปี 2566 ตอนที่ราคาเริ่มขึ้นจากราคาตันละ 14,000 บาท ก่อนที่จะเกิดสงคราม ก่อนที่อินเดียจะประกาศระงับการส่งออกนั้น ราคาข้าวในตลาดโลกอยู่ที่ตันละประมาณ 420-440 เหรียญ หรือ 460-470 เหรียญเต็มที่ แต่พอเกิดสงครามยูเครน-รัสเซีย เกิดเหตุอินเดียระงับการส่งออก เกิดเอลนีโญ ราคาข้าวในตลาดโลกขึ้นไปถึง 640 เหรียญต่อตัน แล้วพออินเดียประกาศลดราคา ประกาศออกมาส่งออก ราคาข้าวจาก 640 เหรียญ ไหลลงมาที่ 590 เหรียญก่อนประมาณเดือนธันวาคม ในขณะนั้นราคาในประเทศไม่ได้ลดลงตามราคาตลาดโลกเพราะประเทศไทยยังค้างออร์เดอร์ส่งมอบอินโดนีเซียอยู่ 5-6 แสนตัน ก็เลยทำให้ออร์เดอร์ตรงนี้ช่วยประคองให้ราคาข้าวในประเทศยังไม่ได้ลง ชาวนาที่เก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ก็ได้รับอานิสงส์จากตรงนี้
แต่ขณะเดียวกันเวียดนาม ปากีสถาน ลดราคาส่งออกข้าวลงเหลือ 590 เหรียญในเดือนธันวาคม 2567 แต่พอมกราคม 2568 เขาลดลงมาเหลือ 530-540 เหรียญ มาจนปัจจุบันเหลือตันละ 395 เหรียญ ลดลงเยอะมาก มันเป็นเรื่องของกลไกตลาดซึ่งเป็นปกติที่เมื่อซัพพลายมันมากดีมานด์มันน้อย พอมาปีนี้ประจวบกับว่าอินเดียเริ่มกลับมาส่งออกข้าวและผลผลิตข้าวของโลกเพิ่มขึ้น จึงต้องดูปัจจัยและตัวแปรต่างๆ ด้วย ออร์เดอร์ส่งออกเราหมดแล้วขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น และคู่แข่งของเราก็มากขึ้น
ด้านผู้ซื้อเป็นอย่างไร
ประเทศที่เป็นผู้ซื้อ ผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าหลักเราเช่น ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ตอนนี้อินโดนีเซียประกาศบอกจะไม่นำเข้าข้าวเลยในปีนี้จากปีที่แล้วนำเข้าข้าว 5 ล้านตัน ฟิลิปปินส์ปีที่แล้วนําเข้าข้าว 4.7-5 ล้านตัน แต่ตั้งแต่มกราคมมาก็ยังไม่มีการนําเข้าเลย ปีที่แล้วที่เขานำเข้าตอนตื่นตระหนกเขาก็นำเข้าเกินมากกว่าความเป็นจริง คือข้าวที่ตกค้างอยู่ในประเทศเขาก็ยังเหลือเยอะอยู่ ขณะเดียวกันปีนี้ผลผลิตของเขาเองก็เพิ่มขึ้นทำให้เขาลดการนำเข้าลง
อีกตัวแปรหนึ่งคือเมื่อปีที่แล้วค่าเงินบาทเราอยู่ที่ 38 บาทต่อดอลลาร์ ตอนนี้อยู่ที่ 33-34 บาท เวลาเราขายของไปต่างประเทศ เราขายเป็นดอลลาร์สหรัฐใช่ไหม วันนี้คิดราคาปัจจุบันเอาที่ 400 เหรียญ พูดตัวเลขกลมๆ วันนี้เราขายเราต้องคูณด้วย 33 บาทกว่า คูณตัวเลขกลมๆ ที่ 34 คูณกลับมาเป็นเงินบาท แต่ปีที่แล้ว สมมุติเราขาย 400 เหรียญเหมือนกันแล้วคูณด้วย 38 บาท เทียบแล้วค่าเงินที่เราแลกกลับมาก็ลดลงด้วยจากเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนปริมาณการส่งออก ปี 2565 เราส่งออกแค่ 7 ล้านตัน แต่พอปี 2566 อินเดียระงับการส่งออกและข้าวราคาแพงขึ้น เราส่งออกไปถึง 8.7 ล้านตัน พอมาปี 2567 เราส่งออกได้ถึง 9.9 ล้านกว่าตัน หรือเพิ่มขึ้น 20-30% แต่มาปี 2568 เราประเมินว่าการแข่งขันจากอินเดียที่เข้ามาเพิ่มในตลาดจะทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น รวมถึงในเรื่องของมีปริมาณสินค้ามากขึ้นในขณะที่ประเทศผู้ซื้อลดลง
สถานการณ์เช่นนี้เราก็ประเมินว่าเราคงจะมีความสามารถในการส่งออกปีนี้ไม่เกิน 7.5 ล้านตัน ลดลงเยอะเลย ขณะที่ปริมาณและความสามารถในการส่งออกเราลดลง แต่ผลผลิตของเราเพิ่มขึ้น อันนี้มองเห็นภาพว่าราคาจะไม่ดี ซึ่งถ้าเรารักษาเป้าตามที่เราประเมินไว้ว่าเราสามารถส่งออกได้ 7.5 ล้านตัน ถ้าได้ 7.5 ล้านตัน ก็ถือว่าเป็นความโชคดีของประเทศไทย เพราะผมประเมินว่าปีนี้เราจะส่งออกไม่ได้ตามเป้า 7.5 ล้านตัน ถ้าส่งออกไม่ถึง 7.5 ล้านตัน ก็เป็นลางร้ายของประเทศไทยแล้ว และอยากจะบอกให้ทราบอีกประเด็นหนึ่งว่าข้าวเป็นพืชที่อายุสั้น 3 เดือนก็ออกมาใหม่อีกรอบหนึ่ง ถ้าเรายังไม่มีมาตรการควบคุมปริมาณการปลูกหรือจำกัดการปลูกหรือมีนโยบายลดพื้นที่การปลูกลง อันนั้นผมบอกได้เลยว่าเทวดาก็แก้ไม่ได้ เมื่อผลผลิตมันล้นแล้วถ้าคุณไม่ลดปริมาณโดยลดการเพาะปลูกลง จะมีวิธีไหนแก้ได้
สรุปคือราคาข้าวน่าจะถูกกว่านี้ด้วยซ้ำไป แต่ชาวนาก็อยู่ไม่ได้ แล้วก็ออกมาเรียกร้อง ขณะเดียวกันภาครัฐก็พยายามช่วยโดยออกเป็น 3 มาตรการ แต่ดูเหมือนชาวนาจะไม่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการชะลอขายข้าว ชดเชยดอกเบี้ยให้โรงสี หรือเปิดจุดรับซื้อ มองมาตรการของภาครัฐอย่างไร แล้วโรงสีจะได้รับผลจากกรณีนี้มากน้อยแค่ไหน
ถ้าพูดถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ไม่ใช่เดือดร้อนแค่เกษตรกรชาวนา โรงสีส่วนใหญ่ก็ได้รับผลกระทบ ขาดทุนกันระเนระนาดหมดไม่มีใครขายทันเพราะราคามันลงเร็วมาก เดือนธันวาคมราคาข้าวอยู่ที่เกวียนละ 11,000 บาท แต่พอมาเดือนมกราคม พอเปิดศักราชใหม่วันที่ 6 เป็นต้นมาราคาลงมาต่อเนื่อง จนปัจจุบันข้าวแห้งเหลือประมาณ 8,500 บาทจาก 11,000 บาท เกวียนหนึ่งลงประมาณ 3,500 บาท โรงสีที่เก็บสต๊อกไว้แต่ละโรงที่ทำในเชิงธุรกิจเขาไม่ได้เก็บสต๊อกกันน้อยๆ แต่ละโรงมีกันเป็น 10,000-30,000 ตัน ตันหนึ่งหายไป 3,000 บาท รวมแล้วหายไป 40-50 ล้าน เขาก็อยู่ไม่ได้ เพียงแต่โรงสีเป็นภาคธุรกิจ ร้องไปก็ไม่มีใครช่วยเหลือก็เลยทนไว้ ไม่มีคำร้องหรือข้อเรียกร้องจากโรงสี เพราะเราต้องรับผิดชอบต่อการที่เราประเมินสถานการณ์ผิด การบริหารจัดการการซื้อการขายเราผิด ธุรกิจไม่สามารถไปเรียกร้องจากใครได้ เราไม่ใช่เกษตรกร แต่วัฏจักรของราคาข้าวมันเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่อดีต 50-60 ปีก็เป็นมาอย่างนี้ตลอด ราคาจะดีแค่ 1-2 ปี แล้วก็จะเลวร้าย 6-7 ปีที่ราคาจะตกต่ำลงไป แล้วพอ 6-7 ปีผ่านไปราคาก็จะกลับมาดีครั้งหนึ่ง เพราะเป็นธรรมชาติที่ว่าพอเวลาสินค้าอะไรดีหรือพืชอะไรดี คนใหม่ๆ ก็จะแห่เข้ามาปลูก ผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นๆ จนปริมาณล้น
ถ้าตามที่เกษตรกรร้องเรียนบอกว่าขอเป็นประกันราคาข้าวหรือจำนำข้าว ทางโรงสีโอเคไหม
การจำนำข้าวผมไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการบิดเบือนกลไกตลาดแล้วก็ไม่ได้เกิดประโยชน์กับชาวนาไทย เกิดประโยชน์กับชาวนาของเวียดนาม แล้วก็ชาวนา อินเดีย ปากีสถาน เพราะการที่เราจำนำ เราซื้อข้าวแบบสมัยยุคยิ่งลักษณ์ เราประกันราคา 15,000 บาท ในขณะที่ตลาดโลกราคาเกวียนละ 8,000-9,000 บาท เราก็เลยขายต่างประเทศไม่ได้เลย ข้าวทุกเม็ดถูกเก็บอยู่ในประเทศ ก็เปิดโอกาสให้ว่าเมื่อข้าวในประเทศไทยส่งออกไม่ได้ ข้าวในตลาดโลกก็หายไปปีหนึ่งประมาณร่วม 10 ล้านตัน เพราะพอข้าวไทยไม่ได้ออกก็ส่งผลให้เวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน ขายข้าวได้ราคาดีเลย
แต่การประกันรายได้ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ถ้าไปทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ให้ลึกซึ้ง การประกันรายได้เป็นตัวเดียวที่จะแก้ปัญหาให้เกษตรกรไม่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าข้าวจะราคาตกต่ำไปเท่าไรก็ตามเกษตรกรไม่เดือดร้อนเลย เช่น รัฐบาลประกันราคา สมมุติว่าประกันรายได้ไว้ 10,000 บาทที่ข้าวแห้ง เกษตรกรขายข้าวแห้งได้ราคาที่ปัจจุบันนี้ 8,500 รัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างที่ตันละ 1,500 เกษตรกรก็จะขายได้ที่ 10,000 บาท ขณะที่ภาคธุรกิจภาคส่งออกเขาก็ซื้อข้าวได้ที่ราคา 8,500 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไปขายในตลาดโลกได้ ข้าวเราก็ถูกระบายออก ไม่ถูกสกัดอยู่ในประเทศไทย ถ้าเก็บไว้ก็เป็นภาระสต๊อก
แต่ผมจะบอกอย่างนี้ว่าที่ผ่านๆ มา เราพายเรืออยู่ในอ่างมาตลอด นโยบายของรัฐในการช่วยเหลือกเกษตรกรเรามีแต่โครงการยิบๆ ย่อย ๆ โครงการผลาญเงินงบประมาณของประเทศ แล้วไม่ได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์อะไรเลยทั้งสิ้น ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ทั้งสิ้น โครงการไร่ละ 1,000 โครงการ ไร่ละ 500 ชดเชยการเก็บเกี่ยวไล่ละ 700-800 โครงการยิบๆ ย่อยๆ เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ คุณบอกว่าช่วยส่งเสริมพัฒนาการผลิตไร่ละ 1,000 เขาพัฒนาไหม เอาไปกินหมดไม่ได้ใช้เลย หลอกกินรัฐบาล โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง หลอกกินงบประมาณรัฐแต่ไม่ได้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ยกเลิกให้หมดแล้วกลับมาประกันรายได้อย่างเดียว ถ้าคุณประกันรายได้ เกษตรกรมีความมั่นคงทางด้านรายได้ อะไรก็ไม่ต้องช่วย ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาโดยผิดๆ พลิกกลับหัวกลับหางมาโดยตลอด การที่ข้าวถูกเพราะมีปริมาณมากเกินความต้องการ การแก้ให้ตรงจุดเราต้องไปลดปริมาณการเพาะปลูกลง
Comments