top of page

STGT ชูศักยภาพธุรกิจแข็งแกร่งไม่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และยังเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 3

STGT เข้าเทรดวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ชูศักยภาพธุรกิจผู้ผลิตถุงมือยางเบอร์ 3 ของโลก พร้อมวางแผนเพิ่มกำลังผลิตสู่ 1 แสนล้านชิ้นต่อปี


บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT มั่นใจนักลงทุนจะให้การตอบรับดี ในการนำหุ้นเข้าเทรดวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ชูศักยภาพธุรกิจแข็งแกร่งไม่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และยังเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ด้วยกำลังการผลิตติดตั้งในปัจจุบันประมาณ 32,619 ล้านชิ้นต่อปี อีกทั้งมี บมจ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี หรือ STA ผู้ผลิตยางธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลกเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หนุนความสามารถแข่งขันด้านต้นทุนวัตถุดิบ พร้อมวางแผนขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องในระยะยาวสู่ 100,000 ล้านชิ้นต่อปีในปี 2575 รองรับดีมานด์ทั่วโลก


นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรล์รายใหญ่ของโลก เปิดเผยว่า ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 บริษัทฯ ได้นำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้ชื่อย่อ ‘STGT’ และสามารถปิดการเสนอขายหุ้น IPO จำนวนทั้งสิ้น 438,780,000 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 30.7 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ ที่ราคาเสนอขายสุดท้ายหุ้นละ 34 บาท และมั่นใจว่าจากศักยภาพของบริษัทฯ ที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ผลการดำเนินงานที่เติบโตได้ดีในช่วงที่ผ่านมา และภาพรวมความต้องการใช้ถุงมือยางที่เติบโตได้ดีทั้งก่อนและหลังเกิดโรคระบาด COVID-19 จะสนับสนุนให้ STGT เป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน


ทั้งนี้ หลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทฯ วางแผนขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง จาก ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ที่มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมประมาณ 32,619 ล้านชิ้นต่อปี จากโรงงาน 3 แห่ง จะขยายกำลังการผลิตติดตั้งเป็นมากกว่า 50,000 ล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2567 เป็นมากกว่า 70,000 ล้านชิ้นภายในปี 2571 และเป็นประมาณ 100,000 ล้านชิ้นต่อปีในปี 2575 ตามลำดับ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตรองรับการขยายตลาดทั่วโลก นอกจากนี้มีแผนขยายตลาดใหม่ๆ ในกลุ่มประเทศที่มีโอกาสเติบโตสูง อาทิ ทวีปเอเชียแปซิฟิก แอฟริกา อเมริกาใต้ ฯลฯ ซึ่งกำลังพัฒนาระบบสาธารณสุขและสุขอนามัยและมีแนวโน้มความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้น


ส่วนภาพรวมการดำเนินงานปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้รวม 12,224.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.3% และมีกำไรสุทธิ 613.91 ล้านบาท เนื่องจากมีปริมาณการขายสินค้าเพิ่มขึ้นจากการขยายตลาดใหม่ๆ และการรับรู้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2563 มีรายได้รวม 3,873.28 ล้านบาท เติบโต 28.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 421.89 ล้านบาท เติบโต 184.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน


“เรามีเป้าหมายรักษาการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายถุงมือยางรายใหญ่ 1 ใน 3 ของโลก โดยเน้นเพิ่มกำลังการผลิตถุงมือยางธรรมชาติและรักษาสัดส่วนผลิตถุงมือยางไนไตรล์ที่ใช้น้ำยางสังเคราะห์เป็นวัตถุดิบที่เหมาะสม นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ภายในโรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต โดยจะยึดถือการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด ‘Touch of Life’ เพราะทุกสัมผัสนั้นมีความหมายต่อชีวิต และวิชั่นองค์กรที่ต้องการส่งมอบการปกป้องทุกสัมผัสด้วยความห่วงใย สู่ทุกชีวิตทั่วโลก” นางสาวจริญญา กล่าว


นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า STGT นับเป็นหุ้น IPO บริษัทแรกที่เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหลังเกิด COVID-19 และนับเป็นการเสนอขายหุ้นสามัญภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดทุนไทยอีกด้วย โดยในช่วงที่ผ่านมาได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีศักยภาพทางธุรกิจแข็งแกร่ง เป็นผู้ผลิตถุงมือยางชั้นนำรายใหญ่ของโลกที่มีการส่งออกสินค้าจำหน่ายกว่า 140 ประเทศทั่วโลก และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยโรคระบาด เนื่องจากการสวมใส่ถุงมือยางสามารลดโอกาสติดเชื้อโรคจากการสัมผัสได้ นอกจากนี้ STGT ยังมีขีดความสามารถการแข่งขันด้านต้นทุนวัตถุดิบที่ดี เนื่องจากมี บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำยางธรรมชาติแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลก เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และโรงงานตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ที่เป็นแหล่งเพาะปลูกยางพาราอีกด้วย


ขณะที่ภาพรวมความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ถุงมือยางทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา มีอัตราขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่มีการระบาดของโรค COVID-19 สะท้อนจากการประเมินความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกในปี 2562 โดยสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางแห่งมาเลเซีย (MARGMA) อยู่ที่ประมาณ 300,000 ล้านชิ้น เติบโตเฉลี่ย 12.2% ต่อปี นับจากปี 2559 ที่มีความต้องการใช้ 212,000 ล้านชิ้น จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมทางการแพทย์และความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่างๆ แสดงถึงศักยภาพการเติบโตที่ดี

21 views

Comments


bottom of page