top of page
379208.jpg

กรณีศึกษาของจีน: ชาวจีนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำงาน เรียนรู้ ใช้ชีวิตท่ามกลางการระบาดของ COVID-19



เริ่มต้นปี 2563 หลายประเทศในเอเชียต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การทำงาน และการดำเนินธุรกิจ แต่ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น วิดีโอคอนเฟอเรนซ์อย่าง Zoom, แอปสำหรับการแชทและการทำงานร่วมกันทางออนไลน์อย่าง Slack และแอปบริการส่งอาหารและสินค้าต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตและทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยมีเมื่อห้าปีที่แล้ว


บริษัทและเจ้าของเทคโนโลยีต่างๆ พยายามหาทางแก้ปัญหาเพื่อให้คนจีนหลายล้านคนผ่านช่วงเวลาที่วิกฤตนี้ เรื่องราวเหล่านี้เป็นกรณีศีกษาว่าเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถนำทางและช่วยคนจีนฝ่าฟันอุปสรรค และใช้ชีวิตต่อไปอย่างไรในช่วงที่มีการระบาดของโรค เราหวังว่ากรณีศึกษาต่างๆ เหล่านี้จะช่วยจุดประกายความคิดท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก หากท่านสนใจในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งในกรณีศึกษาเหล่านี้ สามารถติดต่อสอบถามเพื่อขอคำอธิบายเพิ่มเติมได้ที่ อาลีเพย์


ช่วงที่ 1 – การทำให้ชีวิตกลับคืนสู่ปกติ

การใช้ชีวิตท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกนับเป็นเรื่องที่ลำบากอย่างยิ่ง แต่ด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลาย บริษัทเทคโนโลยีต่างๆได้นำเสนอโซลูชั่นที่ช่วยให้คนจีนใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด เช่น


การทำงาน


การทำงานและการศึกษาผ่านออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่วงนี้ ในประเทศจีน บุคลากรหลายล้านคนใช้เครื่องมือในการทำงานร่วมกัน เช่น DingTalk ของอาลีบาบา, WeChat Work and Meeting ของเท็นเซ็นต์, Feishu ของไบต์แดนซ์ และ WeLink ของหัวเว่ย เครื่องมือเหล่านี้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น โควตาสำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมและระยะเวลาในการโทร, การตรวจสุขภาพออนไลน์ และโซลูชั่นสำหรับอุตสาหกรรมที่เฉพาะเจาะจง


ในวันที่ 5 มีนาคม มายแบงค์ (MYbank) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์เอกชนสำหรับธุรกิจขนาดเล็กในเครือแอนท์ไฟแนนเชียล (Ant Financial) ได้เปิดตัวการบริการกู้ยืมเงิน “Contactless Loans” ภายใต้ความร่วมมือกับธนาคารของจีนและองค์กรชั้นนำกว่า 100 แห่ง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายย่อย และเกษตรกรกว่า 10 ล้านรายทั่วประเทศจีน ผ่านโมเดลการกู้ยืม “310” ซึ่งอาลีเพย์และมายแบงค์เป็นผู้บุกเบิก โดยใช้เวลาเพียง 3 นาทีในการยื่นเรื่องขอกู้ยืมเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ และอนุมัติทันทีภายใน 1 วินาที โดยทุกขั้นตอนดำเนินการโดยระบบอัตโนมัติ หรือ Zero (0) Manual Intervention นับเป็นช่องทางที่สะดวกรวดเร็วสำหรับผู้ประกอบการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในช่วงเวลาที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโดยไม่ต้องเดินทางไปติดต่อที่สาขาของธนาคารด้วยตนเอง



การใช้ชีวิต


ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซึ่งก่อให้เกิดข่าวลือมากมายในโลกออนไลน์ Ding Xiang Yuan ผู้ให้บริการคอนเทนต์ออนไลน์ยอดนิยมของจีน ภายใต้การสนับสนุนของบุคลากรทางการแพทย์ ได้ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อนำเสนอข้อมูลทางการแพทย์ที่มีประโยชน์ บริการตรวจเช็คอัพร่างกายทางออนไลน์ และการจัดการกับข่าวลือเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ Yikuang ซึ่งเป็นบริการในเครือ WeChat ผลงานของนักพัฒนาอิสระ และแอป Sspai.com ก็ช่วยจัดทำแผนที่เพื่อระบุเคสผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันในพื้นที่ใกล้เคียง โดยใช้ข้อมูลจากทางการจีน


การเล่นและเรียนรู้


นักเรียนนักศึกษาชาวจีนหลายล้านคนจำเป็นต้องหยุดอยู่บ้านเป็นเวลานาน แต่เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยให้พวกเขาไม่พลาดโอกาสที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันเปิดเทอมวันแรกภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นักเรียนนักศึกษากว่า 50 ล้านคนในเมืองต่างๆ กว่า 300 เมืองของจีนได้เข้าร่วมโครงการห้องเรียนออนไลน์ ซึ่งริเริ่มโดย DingTalk และ Youku โดยเปิดโอกาสให้อาจารย์กว่า 600,000 คนเปิดสอนวิชาต่างๆ ผ่านระบบไลฟ์สตรีม


ช่วงที่ 2 – การต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิด-19


ขณะที่หลายพื้นที่ในประเทศจีนพยายามฟื้นฟูวิถีชีวิตให้กลับคืนสู่ปกติ บริษัทเทคโนโลยีของจีนได้นำเสนอนวัตกรรมที่เหนือชั้นในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยใช้โซลูชั่นที่ช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดและค้นหาวิธีการรักษาโรค เช่น

Damo Academy ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของอาลีบาบา ได้พัฒนาระบบวินิจฉัยโรคโดยอาศัยเทคโนโลยี AI เพื่อตรวจจับเคสผู้ติดเชื้อรายใหม่ผ่านการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ซึ่งนักวิจัยได้ฝึกฝนโมเดล AI โดยใช้ข้อมูลตัวอย่างจากเคสผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันกว่า 5,000 ราย ช่วยให้ระบบสามารถระบุความแตกต่างในภาพ CT Scan ระหว่างผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กับผู้ป่วยโรคปอดบวมทั่วไป โดยมีความแม่นยำสูงถึง 96%


อาลีบาบา คลาวด์ (Alibaba Cloud) เปิดให้สถาบันวิจัยของรัฐเข้าใช้งานระบบประมวลผล AI ของบริษัทฯได้ฟรี เพื่อช่วยเร่งขั้นตอนการจัดลำดับยีนของไวรัส การวิจัยและพัฒนายารักษาโรค และการคัดกรองโปรตีน ขณะเดียวกัน ไป่ตู้ (Baidu) ก็ได้เปิดแพลตฟอร์ม Smart Cloud Tiangong IoT สำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาด รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ยับยั้งการแพร่ระบาด ส่วนเท็นเซ็นต์ก็ได้เปิดให้ใช้งานระบบ Supercomputing เพื่อช่วยให้นักวิจัยคิดค้นวิธีการรักษาโรค


DJI ผู้ผลิตโดรนของจีน นำเอาโดรนที่ใช้ในการพ่นสารเคมีในภาคการเกษตรมาใช้ในการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในบริเวณที่อาจมีการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งลำโพงไว้กับโดรนเพื่อช่วยในการแจ้งเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการชุมนุมในพื้นที่หนาแน่น และมีการบินโดรนที่ติดป้ายประกาศแจ้งเกี่ยวกับมาตรการป้องกัน รวมถึงมีการติดตั้งกล้องตรวจจับความร้อนไว้บนโดรนเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของประชาชน ช่วยให้คณะแพทย์สามารถระบุเคสที่ต้องสงสัยได้อย่างรวดเร็ว


มีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ในมณฑลหูเป่ยได้รับบริจาคหน้ากากอนามัย เครื่องมือทางการแพทย์ และเงินบริจาค ซึ่งจำเป็นอย่างมากต่อการดำเนินงาน โดยผ่านแพลตฟอร์ม Shanzong สำหรับการตรวจสอบติดตามเงินและสิ่งของบริจาคโดยอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งเป็นผลงานการพัฒนาของบริษัทสตาร์ทอัพ Hyperchain และ China Xiong'an Group  นอกจากนี้ แพลตฟอร์มที่ให้ความช่วยเหลือทางออนไลน์ Xiang Hu Bao ของแอนท์ไฟแนนเชียล ก็ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อตรวจสอบติดตามการจ่ายเงินเคลมประกันอย่างรวดเร็ว หลังจากที่มีการเพิ่มโควิด-19 ไว้ในรายชื่อโรคติดต่อร้ายแรงที่สามารถเคลมประกันได้สูงสุด 100,000 หยวน (14,320 ดอลลาร์ หรือประมาณ 460,000 บาท)


ช่วงที่ 3 – เรื่องราวสนุกๆ และผ่อนคลาย

ขณะที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ใกล้จะถึงจุดเปลี่ยน ชาวจีนจึงเริ่มมองหาวิธีผ่อนคลายจากภาวะความเครียดที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรค โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น

ที่กรุงปักกิ่ง ผับมีชื่อว่า Jing-A Brewing Co. ยังเปิดให้บริการโดยรับเฉพาะออเดอร์ที่สั่งอาหารและเครื่องดื่มกลับบ้าน และให้บริการส่งอาหารถึงบ้าน รวมถึงรีฟิลสำหรับลูกค้าที่นำเหยือกแก้วใส่เบียร์มาเอง บาร์แห่งนี้มีสองสาขาในกรุงปักกิ่งได้ขยายเวลาให้บริการจัดส่งอาหารเป็น 11.00 น. ถึง 23.00 น. ลูกค้าสามารถสั่งอาหารและเครื่องดื่มผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ Meituan และทางผับก็ยังให้ส่วนลดพิเศษสำหรับบริการจัดส่งเบียร์อีกด้วย


สำหรับประเทศไทย บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ร่วมมือกันในการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และ 5G เพื่อช่วยควบคุมวิกฤตการณ์โควิด-19 โดยมีการใช้ 5G เพื่อปรับปรุงความสามารถของหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ซึ่งทำหน้าที่ตรวจวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อ และช่วยเหลือแพทย์และพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อหรือสงสัยว่าอาจติดเชื้อ

52 views

Comments


bottom of page