top of page
379208.jpg

Asset Allocation Q3...เน้นลงทุนแบบถอยรับ


บล.หยวนต้า เปิดมุมมองการลงทุนไตรมาส 3/2563 แนะการจัดพอร์ตสินทรัพย์การลงทุน (Asset Allocation) ให้มุ่งเน้นการลงทุนเชิงรับมากขึ้น เพื่อรองรับสถานการณ์ความผันผวนที่มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับไตรมาส 3/2563 ที่กำลังจะมาถึง ทีมกลยุทธ์การลงทุนของ บล.หยวนต้า ระบุว่าได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นและทองคำเป็น Underweight และปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน REITs เป็น Overweight เพราะผลการดำเนินงานมีเสถียรภาพและมีความผันผวนด้านราคาน้อยกว่าหุ้น

“ประเด็นการลงทุนที่สำคัญในไตรมาส 3/2563 ได้แก่ ความคาดหวังได้รับการตอบรับแล้ว สินทรัพย์เสี่ยงฟื้นตัวอย่างโดดเด่น หลังจากปรับฐานแรงในไตรมาส 1/63 บนความคาดหวังว่า สถานการณ์โรคระบาด จะถึงจุดแย่สุดและมาตรการปิดเมือง/ ปิดประเทศ จะมีความเข้มข้นมากสุดใน 2Q63 ทำให้ราคาสินทรัพย์เข้าใกล้ระดับเดิม ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด

แต่เราประเมินว่าปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจมหภาคและผลประกอบการ บริษัทจดทะเบียนยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติในปีนี้ ดังนั้นการฟื้นตัวของราคาด้วยเวลาเพียง 2-3 เดือน ถือว่าค่อนข้างเร็ว และมีโอกาสที่จะถูกขายทำกำไรออกมา”

นอกจากนี้ บล.หยวนต้ามองว่า ทิศทางดอกเบี้ยต่ำน่าจะมีไปอีกนาน Fed ส่งสัญญาณชี้นำอย่างแจ่มชัดผ่าน Dot Plot ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐจะอยู่ในระดับใกล้ 0% จนถึงปี 2565 เป็นอย่างน้อย บวกกับการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินแบบเต็มรูปแบบของธนาคารกลางหลักหลายแห่ง เช่น Fed, ECB และ BOJ ประกาศใช้ QE แบบไม่จำกัดวงเงิน และที่พิเศษกว่านั้น เพื่อพยุงความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของบริษัทเอกชนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทั้ง Fed, ECB รวมถึง แบงก์ชาติจัดตั้งกองทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ด้วยการเข้าซื้อกองทุน ETF ประเภทตราสารหนี้ และตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนโดยตรง (ขึ้นอยู่กับนโยบายของธนาคารกลางแต่ละแห่ง)

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนนั้น แนะนำว่าถึงเวลาของการปรับพอร์ต ช่วงเวลาที่ตลาดถูกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ความกลัวสุดขีดและความหวังสดใสได้ผ่านพ้นไปแล้ว

“มองภาพของการลงทุนในไตรมาส 3/63 อยู่บนความเป็นจริงมากขึ้น นักลงทุนจะให้น้ำหนักบนปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น ลดความคาดหวังให้น้อยลง เน้นการตรวจสอบเชิงคุณภาพ และเลือกให้น้ำหนักการลงทุนกับสินทรัพย์หรือตลาดที่มีศักยภาพและปัจจัยพื้นฐานเกื้อหนุนให้ฟื้นตัวกลับไปอยู่จุดเดิมก่อนเกิดวิกฤต”

ปัจจัยที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ ปัจจัยที่เป็น Upside Risks จากการค้นพบวัคซีนหรือยารักษาโรค COVID-19 จะช่วยให้ประชาชนมีความมั่นใจในการกลับมาใช้ชีวิตปกติอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันมีหลายบริษัทหลายสัญชาติกำลังอยู่ระหว่างทดสอบ เช่น บริษัท Moderna ในสหรัฐ เตรียมเริ่มทดสอบวัคซีน Phase 3 ในเดือน ก.ค.นี้

ส่วน Downside Risks คือการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 รอบสองหรือ Second Wave

ล่าสุด หลายรัฐในสหรัฐเริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเร่งตัวขึ้นหลังจากทยอยคลายมาตรการ Lockdown และในประเทศจีน พบจุดแพร่ระบาดรอบใหม่ที่ตลาดค้าส่ง Xinfadi ในกรุงปักกิ่งทำให้ความเสี่ยงที่ทางการจีนอาจใช้มาตรการ Lockdown อย่างเข้มงวดอีกรอบ

นอกจากนี้ยังมีความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ ว่าประเทศสมาชิกกลุ่ม OPEC+ ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือไม่ นอกจากประเด็นนี้จะมีผลต่อราคาน้ำมันดิบโดยตรงแล้ว ยังมีผลทางอ้อมต่อตลาดหุ้น Emerging Markets ซึ่งมี Correlation กับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในระดับค่อนข้างสูง

ส่วนกระแสข่าวปั่นป่วนเกี่ยวกับประเด็นการให้สัมภาษณ์ของ Peter Navarro ที่ปรึกษาทำเนียบขาวสหรัฐ ที่เชื่อมโยงกับข้อตกลงด้านการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน กดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียทำให้แกว่งตัวผันผวนทางลงอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะมีการออกมาแก้ข่าว พร้อมกับ ประธานาธิบดีสหรัฐ ยืนยันผ่าน twitter ว่า ดีลการค้ากับจีน ยังคงมีผลอยู่หนุนให้ตลาดหุ้นเอเชียฟื้นตัว ขณะตลาดหุ้นไทยไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเปิดตลาดหลังจากประเด็นข่าวมีความชัดเจนแล้ว

อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า 1) ตลาดหุ้นโลกมีความเปราะบาง และพร้อมมีแรงขายทำกำไรเข้ามาหากมีปัจจัยลบ และ 2) DJ Futures มีผลอย่าง มากต่อการชี้นำจิตวิทยาการลงทุนของตลาดหุ้นเอเชีย

26 views

Comments


bottom of page