เครือ “ดอกเบี้ย” ยกย่อง พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK รับรางวัล Banker of the Year 2020 จากผลงานสุดยอดในการรับมือกับโควิด-19 ทั้งปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือลูกค้าก่อนใครโดยไม่รอ กนง. พร้อมติดต่อลูกค้าทุกรายโดยตรงนำเข้าสู่มาตรการเยียวยา-ฟื้นฟู ด้วยการพักหนี้-เติมสภาพคล่อง จัดงบโครงการ CSR สู้ภัยโควิด ด้านบทบาทการพัฒนาเอสเอ็มอีส่งออกสำเร็จหลายด้าน ไม่ว่าดันขึ้นค้าขายออนไลน์ เปิดสำนักผู้แทนใน CLMV ครบ 4 ประเทศรับการส่งออก-ลงทุนจากไทย ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการค้าให้บริการผู้ส่งออกอย่างครบวงจร อีกทั้งยังมีการออกมาตรการช่วยผู้ส่งออกสู้เงินบาทแข็งค่าและสงครามการค้า
กองบรรณาธิการ นิตยสาร “ดอกเบี้ย” และหนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ประกาศยกย่อง พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM BANK ให้ได้รับรางวัลเกียรติยศ Banker of the year 2020 หรือนักการธนาคารแห่งปี 2563 โดยเป็น กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK คนแรกที่ได้รับรางวัล Banker of the Year จาก “เครือดอกเบี้ย”
ทั้งนี้คณะกรรมการตัดสินรางวัลมีมติเป็นเอกฉันท์ จากการพิจารณาข้อมูลตลอดปี 2563 พบว่า พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา เป็นผู้บริหารสูงสุดของสถาบันการเงินที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดในปี 2563 จากการทำงานอย่างเต็มความสามารถ เข้มแข็งและโปร่งใส มีวิสัยทัศน์ที่นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างยอดเยี่ยมเห็นผลเป็นรูปธรรม
โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ พิศิษฐ์ ได้มีการออกมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประกอบการส่งออก รวมทั้งยังมีการวางแผนป้องกันการติดเชื้อภายในองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ครบทุกมิติ ตลอดจนมีการทำโครงการตอบแทนสังคม (CSR) ด้วยการสนับสนุนทั้งเงินและสิ่งจำเป็นแก่สถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าในการต่อสู้กับโรคระบาด และยังให้การช่วยเหลือประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากมหันตภัยร้ายแรงของโลกในครั้งนี้
นอกจากนี้ในสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดที่ยังมีเรื่องของปัญหาสงครามการค้าและเงินบาทแข็งค่าผิดปกติ ได้มีการออกผลิตภัณฑ์และมาตรการต่างๆ ทั้งด้านการให้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ การลดค่าธรรมเนียมการรับประกันการส่งออกและการลงทุนต่างประเทศ เพื่อบรรเทาผลกระทบและป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีผู้ส่งออก
อีกทั้งยังให้ความสำคัญการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความรับผิดชอบต่อสังคม (CG & CSR) ตลอดจนการให้ความสำคัญและการดำเนินการเพื่อพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืน มีการ Transform ธนาคารตามแผนแม่บท 10 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2560-2570 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของไทย คือ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ซึ่งทำให้ธนาคารมีมิติใหม่ในการทำงาน มีการพัฒนาธนาคารให้เป็นที่พึ่งและสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ๆ แก่ผู้ประกอบการ ด้วยการตั้งศูนย์บริการให้คำปรึกษาแนะนำและโครงการอบรมสัมมนาของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า ตลอดจนการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศตลาดใหม่ (New Frontiers)
ส่วนในรายละเอียดผลงานอันโดดเด่นของ กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เช่น การเป็นธนาคารแรกที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจนอยู่ต่ำสุดในตลาดท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่มีความรุนแรงมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นการปรับลดก่อนที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมฉุกเฉินปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย อีกทั้งการปรับลดดอกเบี้ยของ EXIM BANK ถือเป็นครั้งแรกที่เป็นผู้นำ จากที่ก่อนหน้านี้มักเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ปรับอัตราดอกเบี้ยก่อนเสมอ การปรับลดดอกเบี้ยของ พิศิษฐ์ ครั้งนี้เกิดจากวิสัยทัศน์ที่มองเห็นความเดือดร้อนของลูกค้าและต้องเร่งให้ความช่วยเหลือก่อนที่ผู้ประกอบการจะไปไม่รอด
ขณะเดียวกัน พิศิษฐ์ ยังให้เจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อลูกค้าโดยตรงทุกราย เพื่อทราบถึงผลกระทบและความเดือดร้อน และเปิดมาตรการเยียวยาและฟื้นฟู ซึ่งมีทั้งการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน รวมทั้งยังสนับสนุนสภาพคล่องต้นทุนต่ำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และยังจัดเตรียมวงเงินต่างหากอีก 3 หมื่นล้านบาทเพื่อให้ผู้ประกอบการกู้นำไปดำเนินการธุรกิจอันเป็นการรักษาการจ้างงานในอุตสาหกรรมอีกด้วย พร้อมกันนั้นยังเปิด คลินิกให้คำปรึกษาแก่ผู้ส่งออกทางโทรศัพท์ เพื่อให้ลูกค้าเป็นฝ่ายติดต่อธนาคาร เพื่อรับคำปรึกษาและข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และจัดโครงการฝึกอบรมออนไลน์ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและขยายเครือข่ายธุรกิจเพิ่มมากขึ้น
ส่วนทางด้านการรับประกันการส่งออก ธนาคารยังได้ปรับลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน และขยายเวลาการค้ำประกันให้กับผู้ส่งออกที่ซื้อประกันการส่งออกไปแล้ว เพื่อรองรับคู่ค้าของผู้ส่งออกที่อยู่ในสถานการณ์โควิด-19 ที่อาจชำระเงินล่าช้า หรือไม่สามารถชำระเงิน เพื่อให้ผู้ส่งออกมีความกล้าที่จะส่งออก เพื่อไม่ให้การส่งออกที่เป็นรายได้หลักสำคัญอันหนึ่งของประเทศหยุดชะงัก
ในสถานการณ์โควิด พิศิษฐ์ ยังให้ธนาคารมีโครงการตอบแทนสังคม ในชื่อ โครงการ CSR “EXIM ร่วมใจสู้ภัยโควิด” โดยได้จัดงบของธนาคาร และระดมเงินจากผู้บริหารและพนักงานลงไปสนับสนุนเครื่องมือแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าในการเผชิญกับโรคระบาด รวมทั้งมีการให้ความช่วยเหลือประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนการยกเว้นค่าเช่าพื้นที่ให้แก่ร้านค้าและร้านอาหารที่อาคารเอ็กซิม เป็นเวลา 3 เดือน ที่สำคัญมีการป้องกันการติดเชื้อภายในสถานที่ทำงานอย่างเข้มข้นกว่ามาตรการของภาครัฐ จนอาคารเอ็กซิมไม่มีผู้ติดเชื้อแม้แต่รายเดียว
ขณะที่ภายหลังจากหมดมาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือน กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ยังให้มีการติดตามดูแลลูกค้าอย่างต่อเนื่อง มีการจำแนกลูกค้าเป็น 4 กลุ่มเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมในลูกค้าแต่ละกลุ่ม ในส่วนของลูกค้าที่ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็ให้มีการพักหนี้ต่อไป
ส่วนในการนำพาผู้ส่งออกสู้กับเงินบาทแข็งค่าผิดปกติ ในปี 2563 ธนาคารได้ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ออกมาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากสภาวะเงินบาทแข็งค่า ด้วยการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต โดยนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ในต้นทุนที่ต่ำลง นำไปสู่การพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น แข่งขันได้ในตลาดการค้าโลกยุคใหม่ ตอบสนองนโยบายการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่ Industry 4.0 ซึ่งถือเป็นมาตรการต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าที่ธนาคารได้จัดโครงการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ส่งออก รวมทั้งการจัดโครงการพิเศษจัดสรรคูปองให้ผู้ส่งออกเอสเอ็มอีไปทดลองซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (FX Option) ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกเอสเอ็มอีมีความรู้ในการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น
ด้านการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เป็นผู้ส่งออกในด้านหลัก ที่ พิศิษฐ์ ได้กำหนดเป็นแผนแม่บท 10 ปี (2560-2570) ให้กับธนาคาร ซึ่งในส่วนหนึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกหมดความกังวลกับการแข็งค่าของเงินบาทและสงครามการค้า ยุทธศาสตร์ในแผนแม่บทมีความรุดหน้าและประสบความสำเร็จหลายเรื่อง เช่น การเปิดสำนักงานผู้แทนในกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อรองรับการส่งออกและการลงทุนของภาคธุรกิจไทยได้ครบทั้ง 4 ประเทศ
การ Transformation ธนาคารสู่บทบาทการพัฒนาเอสเอ็มอีให้เป็นผู้ส่งออก และการเป็น “ธนาคารแห่งความยั่งยืน” โดยการปรับเปลี่ยนองค์กรส่งผลให้ธนาคารสามารถขยายยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อได้ถึง 78% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ควบคู่กับการพัฒนากระบวนการทำงาน โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี และทรัพยากรบุคคล เพื่อให้รับมือและปรับตัวได้ทันต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
สำหรับยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมการค้าและการทำธุรกรรมออนไลน์ (E-Trading Ecosystem) สอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าสู่การค้าขายออนไลน์ หรือ e-Commerce ธนาคารได้ดำเนินการจัดการอบรมให้ความรู้และนำผู้ประกอบการโพสขายสินค้าในแพลตฟอร์มชั้นนำของโลก เช่น อาลีบาบา ,HKTDC , gosoko และ ไทยเทรดดอทคอม ไปแล้วหลายร้อยราย
นอกเหนือจากนั้นยุทธศาสตร์ที่ดำเนินการจนประสบความสำเร็จโดดเด่นที่สุดในปี 2563 คือ การเปิด ศูนย์ความเป็นเลิศทางการค้าของ EXIM BANK (EXIM Excellence Academy : EXAC) ขึ้นอย่างเป็นทางการ ซึ่ง EXAC ถือเป็นเครื่องมือของ EXIM BANK ในการเข้าถึงลูกค้าเอสเอ็มอี ซึ่ง พิศิษฐ์ ตั้งเป้าว่า ศูนย์นี้จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้ส่งออกที่เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000 ราย ช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกโดยรวมของประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ ขณะที่เป้าหมายระยะยาวในอีก 10 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีลูกค้าเป็นเอสเอ็มอีส่งออกประมาณ 12,500 ราย หรือคิดเป็น 30% ของผู้ส่งออกทั้งประเทศ ซึ่ง EXIM สามารถเพิ่มสัดส่วนกลุ่มนี้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2563 สัดส่วนอยู่ที่ราว 13%
จากผลงานที่ พิศิษฐ์ พัฒนา EXIM BANK และผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีให้เจริญรุดหน้า จึงได้รับการตอบแทนด้วยการที่คณะกรรมการ EXIM BANK มีมติเป็นเอกฉันท์ต่อวาระให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK อีก 1 สมัย มีระยะเวลา 8 เดือน จนกว่า พิศิษฐ์ จะมีอายุครบ 60 ปี โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังจาก พิศิษฐ์ ครบวาระ 4 ปีแรกสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 และครบวาระที่ 2 สิ้นเดือนมกราคม 2564
ขณะเดียวกัน สิ่งที่พิสูจน์ว่า กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK มีผลงานที่โดดเด่นก็คือ ในการประกาศผล รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (State-owned Enterprise Award : SOE Award) ประจำปี 2563 พิศิษฐ์ ได้รับรางวัล รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น ซึ่งเป็น “ครั้งแรก” ที่ผู้อยู่ในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ได้รับรางวัลนี้ เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่า พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK มีผลงานที่ยอดเยี่ยม
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 4 ปีเศษ ในการบริหาร EXIM BANK ให้ก้าวสู่บริบทใหม่ ด้วยการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาผู้ส่งออก และพัฒนาองค์กรให้มีความก้าวหน้าสู่ความยั่งยืน รวมทั้งยังสามารถสู้กับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
ผลงานอันโดดเด่นของ พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา ตลอดปี 2563 และตลอด 4 ปีเศษที่ผ่านมา จึงเหมาะสมอย่างที่สุดแล้วสำหรับรางวัลเกียรติยศอันน่าภาคภูมิใจ Banker of the Year 2020 หรือ นักการธนาคารแห่งปี 2563
สำหรับรายละเอียดของการประกาศรางวัล สามารถติดตามได้จาก นิตยสาร “ดอกเบี้ย” ที่จะออกวางจำหน่ายในเร็วๆ นี้
Kommentare