แบงก์อเมริกา-ยุโรปเจ๊ง ส่งสัญญาณเร่งภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก Fed ออกอาการฝ่อ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายน้อยกว่าแผนเดิม ตลาดคาดเดือน มิ.ย. Fed อาจกลับลำลดดอกเบี้ยครั้งแรกหลังขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันหลายระลอก ฟาก กนง.ของไทยจะหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปตลอดทั้งปีนี้ และเริ่มใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ท่ามกลางกระแสเงินตึงตัว เตือนแบงก์ชาติ-แบงก์พาณิชย์ไทยต้องถอดบทเรียนแบงก์ฝรั่งเจ๊ง เร่งเสริมแกร่งทั้งกฎ ระเบียบ กติกา ป้องกันปัญหา-วิกฤตทั้งระยะสั้นและระยะยาว ด้านผู้ฝากเงิน ผู้ที่ลงทุนซื้อหุ้นแบงก์ ให้เลือกแบงก์ขนาดใหญ่ที่สถานะและความน่าเชื่อถือดีกว่าแบงก์ขนาดเล็ก
Interview : ดร.บุญธรรม รจิตรภิญโญเลิศ
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ การลงทุนและ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.ลิเบอเรเตอร์
ดูเหมือนเฟดไม่ค่อยให้น้ำหนักเรื่องแบงก์ล้ม แถมล่าสุดยังขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปอีก 0.25% เป็น 4.75-5% เฟดคิดอะไรอยู่
ในการให้สื่อมวลชนสอบถามช่วงหลังการประชุม ทางประธานเฟดก็ได้กล่าวว่าช่วงที่ตัว ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และซิกเนเจอร์ แบงก์ล้ม เขาก็มีความคิดในใจเหมือนกันว่าครั้งนี้อยากจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยเลย แต่หากเฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ยในวันพุธที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ตลาดก็คงจะมองว่าเฟดรู้อะไรในสิ่งที่เขาไม่รู้ ก็จะยิ่งทำให้ตลาดวุ่นวายกันไปใหญ่ ดังนั้นตัวประธานเฟดเองยอมรับว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจในอนาคต คือไม่การันตีแล้วว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในครั้งถัดๆ ไป
รวมถึงตลาดเงินก็ประเมินถึงว่าการประชุมครั้งต่อไปของเฟด โดยให้น้ำหนักการขึ้นดอกเบี้ยไม่ถึง 10% คือประมาณ 90% คิดว่าเฟดจะคงดอกเบี้ย และที่มากไปกว่านั้น ตลาดยังมองว่าภายในเดือนมิถุนายน เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ย 1 ครั้งด้วย ต้องบอกว่าการขึ้นดอกเบี้ยในวันที่ 22 ที่ผ่านมาเป็นการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้ตลาดวุ่นวาย คือถ้าไม่ขึ้นดอกเบี้ยเลย ตลาดจะเกิดความสงสัย อาจมีแรงเทขาย มีความค่อนข้างแกว่งตัวแรง เฟดไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น ก็เป็นลักษณะขึ้นดอกเบี้ยเชิงการทูตเล็กๆ
มีข่าวว่าดอยช์แบงก์ก็มีปัญหา แสดงว่าไฟยังลามทุ่งไม่จบ
มองว่าปัญหาของดอยช์แบงก์และแบงก์ยุโรปล่าสุดนี้ มีสาเหตุหลักมาจากการแก้ปัญหาของทางการสวิตเซอร์แลนด์ ที่ให้ UBS ไปเทคโอเวอร์เครดิตสวิส แต่ที่เป็นจุดที่ทำให้คลางแคลงและมีความสงสัยกันมากก็คือว่า ธนาคารกลางสวิสคือทำให้ตัวตราสารหุ้นกู้ที่เรียกว่า AT1 เป็นตราสารหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูงสุด แต่ว่าเสี่ยงน้อยกว่าตราสารทุนคือเสี่ยงน้อยกว่าหุ้น โดยทางธนาคารกลางสวิสปลดมูลค่า AT1 เหลือ 0 ฟรังก์สวิส คือไร้ค่าเลย แต่หุ้นตราสารทุนของเครดิตสวิสยังมีค่าอยู่บ้าง คือแม้จะลงมาเหลือแค่ 10% ก็ตาม แต่ก็ยังมีมูลค่าอยู่
ทีนี้ ทำให้คนสงสัยว่าจริงๆ แล้วหุ้นกู้ AT1 หรือที่เราเรียกว่า COCO BOND ก็คือ CONTINGENT CONVERTIBLE ก็คือหุ้นกู้แปลงสภาพโดยมีเงื่อนไข จริงๆ มันเสี่ยงมากกว่าตราสารทุนด้วยซ้ำหรือเปล่า อันนี้เป็นความสงสัยที่ตลาดคลางแคลงใจ และเผอิญเหลือเกินว่าถ้าเราไปตรวจสอบดูธนาคารพาณิชย์ ไม่ว่าจะยุโรป อเมริกา หรือเอเชีย ปรากฏว่าธนาคารพาณิชย์ของยุโรปมีตราสารหุ้นกู้ AT1 สูงสุด สูงกว่าอเมริกา สูงกว่าเอเชีย คือธนาคารพาณิชย์ยุโรปมีหุ้นกู้ AT1 อยู่เกินครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ดังนั้น เมื่อมีความคลางแคลงใจตัวตราสารหุ้นกู้ AT1 ตลาดก็เลยกังวลว่าแบงก์พาณิชย์ยุโรปที่มีตราสารหุ้นกู้ AT1 ประกาศในหุ้นกู้ AT1 ในแบงก์พาณิชย์ยุโรปมีค่าเป็นศูนย์อีก ซึ่งจะทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ของดอยช์แบงก์หรือแบงก์พาณิชย์ลดลงไปกว่านี้เยอะเลย คนก็เลยกังวลต่อแบงก์ยุโรปกันมากในช่วงนี้
ไทยจะได้รับผลจากสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้หรือไม่
จริงๆ ในมุมของธนาคารพาณิชย์ไทย ต้องบอกว่าแม้ว่าจะมีหุ้นกู้ AT1 บ้าง แต่ก็ไม่เยอะ และเป็นการขายนักลงทุนต่างประเทศทั้งหมดเลย ดังนั้น คิดว่ากระเทือนแบบมีนัยสำคัญน้อยมาก มันอาจจะมีผลกระทบต่อเนื่องในแง่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเครดิตสวิสและ SVB มันบอกอย่างหนึ่งว่า ถ้าเราจะเลือกแบงก์พาณิชย์ เลือกหุ้นแบงก์พาณิชย์ หรือเลือกฝากเงินกับแบงก์พาณิชย์ ไม่ว่าจะไทย ยุโรป อเมริกา จะต้องเลือกให้ดี โดยเฉพาะไทยกับยุโรป จะแบ่งเป็น 2 ประเภท ก็คือประเภทที่เรียกว่า Systemically Important Bank คือเป็นแบงก์ที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ
ดังนั้น ในอนาคตเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นหุ้นที่เราซื้อกันหรือว่าคนที่จะไปฝากเงิน ต้องเลือกแบงก์ที่เป็น Systemically Important Bank ซึ่งสำหรับแบงก์ไทยก็คือแบงก์ใหญ่ สำหรับแบงก์ชาติบ้านเราหรือยุโรปก็ตามเขาก็จะมีกำหนดว่า ถ้ามีสินทรัพย์ประมาณนี้ หรือว่ามีเงินฝากประมาณนี้ ขึ้นชื่อว่าเป็นแบงก์ใหญ่ ฉะนั้น ในอนาคตเชื่อว่าเขาจะแบงก์ใหญ่มากกว่า เพราะอย่างน้อยคือมีการคุ้มครองที่ดีกว่า
ตรงนี้ทำให้หุ้นที่เป็นแบงก์ใหญ่มีโอกาสมีราคาสูงขึ้นโดยปัจจัยนี้ แต่ว่าในภาพรวมหุ้นกลุ่มแบงก์บ้านเราไม่ได้รับผลกระทบจากแบงก์อเมริกาและยุโรปล้ม หรือเรียกว่าได้รับผลกระทบแต่ไม่มีนัยสำคัญ แต่มันเป็นสิ่งที่จะบอกว่าหุ้นแบงก์ใหญ่จะได้เปรียบหุ้นแบงก์เล็ก ก็คือมีการปกป้องจากทางการที่มากกว่าจากตัวอย่างของกรณีเครดิตสวิส
พายุวิกฤตที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกามายุโรป คิดว่าคนที่จะมาเป็นรัฐบาลของไทยที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง ต้องระวังเรื่องนี้อย่างไร
ถ้าพูดถึงแบงก์ในสหรัฐอเมริกา มันเป็นลักษณะที่ว่าถ้ามันกระจุกตัวเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเสี่ยง ก็จะมีโอกาสที่จะเกิดความวุ่นวายจาก Bank Run ค่อนข้างเยอะ และรวมถึงการที่คุ้มครองเงินฝากด้วย จริงๆ สหรัฐอเมริกาคุ้มครองเงินฝากค่อนข้างสูง จากแฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส ทำให้ขยับความคุ้มครองขึ้นมาเป็นขั้นต่ำ 2.5 แสนดอลลาร์ต่อราย ค่อนข้างสูงแล้ว แต่ว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง เต็มวงเงินฝากเป็นบริษัทเทคในสหรัฐอเมริกา ถ้าเป็นบ้านเราก็อาจจะเป็นกลุ่มผู้ฝากที่เป็นเศรษฐีก็ได้
ถ้าในอนาคตมี Bank Run ไม่ว่าจะในบ้านเรา ซึ่งหวังว่าจะไม่มี กรณีที่เกิดวิกฤตแล้วมีจริงๆ คิดว่าบทเรียนของสหรัฐอเมริกาก็คือการคุ้มครอง 1 ล้านเป๊ะ แล้วไม่ได้สนใจอะไรเลย มันอาจจะหยาบเกินไปเหมือนกัน เพราะถ้าเป็นแบงก์ขนาดกลางอาจจะต้องคุ้มครองมากกว่านั้น อย่างในบ้านเราต้องบอกว่าแม้ว่าคุ้มครองผู้ฝากรายย่อยก็จริง แต่ว่ากลุ่มที่เป็นเงินฝาก 1-2 ล้าน 1-3 ล้าน ก็ยังเป็นคนชั้นกลางอยู่ ตรงนี้ก็อาจจะต้องกลับมาคิดเหมือนกันว่าคุ้มครอง 1 ล้านต่อแบงก์มันเหมาะสมหรือไม่สำหรับคนในบางกลุ่มที่ถึงจะเป็นคนชนชั้นกลางก็ตาม เพราะสหรัฐอเมริกาเองก็จะมีการแก้กฎหมายแล้วว่าในเรื่องความคุ้มครองรายละ 2.5 แสนดอลลาร์กับทุกแบงก์มันอาจจะหยาบเกินไป
ส่วนอีกมุมหนึ่งในส่วนของยุโรป ถ้าพูดถึงแบงก์ยุโรปที่เป็นบทเรียนบ้านเราได้บ้างก็คือกรณีเครดิตสวิสที่ชัดเจนว่าธุรกิจแบงก์โดยธรรมชาติมีความเสี่ยง เพราะเอาเงินฝากระยะสั้นไปปล่อยกู้ระยะยาวอย่างไรก็มีความเสี่ยงอยู่แล้ว และเครดิตสวิสค่อนข้างต่างจากแบงก์อื่นๆ เพราะเป็นลักษณะแบงก์ที่เรียกว่าเป็นแบงก์ใหญ่ และมีลูกค้ารายใหญ่ ดังนั้น คิดว่าในมุมของบ้านเรา ในอนาคตจะมีบริษัทเทค หรือสตาร์ทอัพที่ขนาดใหญ่ขึ้น และแบงก์บางแบงก์อาจให้บริการเฉพาะทางกับเทค และสตาร์ทอัพ จึงอาจจะต้องมีกฎเกณฑ์ที่เฉพาะสำหรับแบงก์ลักษณะนี้ ซึ่งคิดว่าในอนาคตจะต้องมีแบงก์สไตล์นี้เกิดขึ้นมาตามวิวัฒนาการของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ กรณีของเครดิตสวิสมันค่อนข้างชัดเจนเลยว่าเป็นวิกฤตที่เกิดกับแบงก์ที่ทำธุรกิจพึ่งพาเม็ดเงินค่อนข้างเยอะในการลงทุนครั้งหนึ่งก็คือ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ถ้าเกิดความเสี่ยงขึ้นมา มันก็ไม่ไหว
อนาคตบ้านเราคงต้องถอดบทเรียนจากอเมริกาและยุโรป ก็คือในแบงก์ที่ถึงแม้จะมีการป้องกันความเสี่ยงที่ดี อาจจะไม่เพียงพอ ต้องดูการทำธุรกิจด้วย ดูความเป็นไปในภาคธุรกิจ อย่าให้กระจุกตัวมากจนเกินไป ต้องมีระเบียบ กฎเกณฑ์ มีกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีที่คล้ายๆ กับเครดิตสวิส ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และซิกเนเจอร์ แบงก์ ซึ่งพัฒนาการของบ้านเรา มันก็ต้องเดินไปตามโลก ล้อไปตามโมเดลธุรกิจที่มันเปลี่ยนไป
บทเรียนของเครดิตสวิสกับ SVB เป็นอะไรที่เราต้องเอาสิ่งนี้มาร่างกฎเกณฑ์ ร่างกฎหมายป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น เพราะขนาดที่ว่าทางการสวิสวางแผนเป็นอย่างดีในการจัดการ มันก็ยังมีอิมแพ็กในเรื่อง AT1 แล้วก็ลามมาสู่หลายๆ แบงก์ล่าสุดนี้ ซึ่งคงต้องดูสตอรีต่อไปว่า จะสามารถบ่มให้ระเบิดได้หรือไม่ ก็หวังว่าอย่าให้มันถึงจุดนั้น
สถานการณ์ที่เกิด กำลังบอกอะไรเรา โอกาสที่จะเกิดภาวะเงินตึงตัวในโลก จะมีหรือไม่
จริงๆ เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ประธานเฟดพูดประโยคนี้ และเขียนไว้ในเนื้อหาของเฟด เขากังวลเรื่องเครดิต ภาวะสินเชื่อตึงตัว ซึ่งตัวเฟดเขาจะมีข้อมูลที่ค่อนข้างเร็วกว่าเราเยอะ มันก็เห็นสัญญาณตึงตัว น่าจะเห็นแล้ว เชื่อว่าในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาจะเกิดภาวะสินเชื่อตึงตัวแน่ เอเชียอาจจะน้อยหน่อย แต่คงจะคล้ายๆ กัน ตรงนี้ก็ทำให้เร่งโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ไม่ว่าจะที่สหรัฐอเมริกาหรือนอกสหรัฐอเมริกา โอกาสสูงขึ้น และเชื่อว่ามีโอกาสที่เฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ก็คือเฟดจะคงระดับดอกเบี้ยที่ร้อยละ 4.75-5
จากเรื่องสินเชื่อตึงตัวมันจะทำให้เศรษฐกิจหลายๆ ประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรปอาจจะต้องชะลอ และเฟดอาจจะต้องลดดอกเบี้ยในช่วงต่อไป และคิดว่าธนาคารกลางยุโรปเองไม่น่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อแล้ว และเราน่าจะเห็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงครึ่งปีหลัง
ไทยควรดำเนินนโยบายการเงินอย่างไร เพราะดอกเบี้ยของเฟดก็ขึ้นเอาๆ 4.75-5%
ส่วนตัวมองคล้ายกันว่าวันที่ 29 มีนาคม กนง.ได้ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% คิดว่าจะเป็นการขึ้นครั้งสุดท้ายของ กนง. และคงหยุดขึ้นตลอดทั้งปีเลยก็น่าจะลักษณะคล้ายๆ กับเฟด ก็คือระวังเรื่องความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก เชื่อว่าทางแบงก์ชาติน่าจะทำนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง เนื่องจากคิดว่าพอจะทราบว่าโอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกน่าจะสูงขึ้นแล้ว ก็บ้านเราก็คงต้องรับมือในจุดนี้ เพราะการท่องเที่ยวบ้านเราถ้าจะบูมก็น่าจะกลางปีนี้ ถ้าเศรษฐกิจโลกมันดรอปลงในช่วงไตรมาส 3-4 นักท่องเที่ยวก็อาจจะลดลงเหมือนกัน ซึ่งตามที่เราคาดการณ์ไว้ก็จะดรอปลงหน่อย ดังนั้น แบงก์ชาติก็เริ่มที่จะทำนโยบายพวกสินเชื่อให้ผ่อนคลายขึ้น แล้วคงหยุดการขึ้นดอกเบี้ย คือขึ้นดอกเบี้ยสุดท้ายวันที่ 29 มีนาคม แล้วหยุดไปทั้งปีแล้วก็คงจะต้องพยายามที่ทำให้ตลาดเงินบ้านเราผ่อนคลาย ให้มีสภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพราะเตรียมรับกับภาวะสินเชื่อตึงตัว
Yorumlar