ธปท. เดินหน้าปรับระบบนิเวศตลาดอัตราแลกเปลี่ยน...แต่เงินบาทยังมีปัจจัยหนุนทิศทางแข็งค่าจากปัจจัยเฉพาะของไทยและสหรัฐฯ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
· หลังเปิดมาในปี 2564 ค่าเงินสกุลเงินหลัก สกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย รวมถึงเงินหยวนของจีนยังคงแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังคงเผชิญแรงเทขายอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะมีแรงกดดันจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ แล้ว ยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมในช่วงที่กำลังจะมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่การบริหารประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ สำหรับการเคลื่อนไหวของเงินบาทตั้งแต่ต้นปี 2564 นั้น ส่วนใหญ่ยังปรับตัวอยู่ในระดับที่แข็งค่ากว่าแนว 30.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งทำให้สถานการณ์เงินบาทยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และล่าสุด ธปท. ก็ได้เดินหน้าผ่อนคลายเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อปรับสมดุลของระบบนิเวศในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
· ล่าสุด ธปท. ดำเนินการเพิ่มเติมใน 2 เรื่อง ได้แก่ คือ 1. การผ่อนคลายการทำธุรกรรมเงินบาทให้กับนิติบุคคลต่างประเทศที่เข้าโครงการ NRQC (Non-resident Qualified Company) และ 2. การปรับลดวงเงินคงค้างการปล่อยสภาพคล่องเงินบาทแบบไม่มีภาระ หรือไม่มี Underlying รองรับให้แก่ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (NR) โดยสถาบันการเงินในประเทศ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การดำเนินการทั้ง 2 เรื่องพร้อมกันอาจจะช่วยลดสัดส่วนปริมาณการทำธุรกรรมเงินบาทในตลาดต่างประเทศ หรือ Offshore ลงจากที่มีสัดส่วนประมาณ 61% ในปี 2562
· ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มาตรการของธปท. ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สะท้อนความพยายามที่จะดูแลสถานการณ์เงินบาทในหลายๆ มิติ (ซึ่งล่าสุดเป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมเงินบาทของ NR) แต่มาตรการและการดำเนินการทั้งหมดก็คงต้องใช้เวลาในการติดตามเพื่อประเมินประสิทธิผลในการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทและการลดความผันผวนของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในภาพรวม แต่ในระยะสั้น โจทย์เฉพาะหน้าของภาคการส่งออกไทยที่จะต้องเตรียมรับมือทันที ก็คือ สถานการณ์ที่เงินบาทยังคงมีโอกาสแข็งค่าต่อเนื่องอีกในระยะเวลาที่เหลือของปี 2564 (คาดการณ์เงินบาทที่กรอบ 29.00-29.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นปี 2564) ขณะที่โจทย์ใหญ่สำหรับภาคธุรกิจของไทยที่จะต้องเร่งปรับตัว จะยังคงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เพื่อรักษาระดับมาร์จิ้นเพื่อความอยู่รอด และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
Comments