ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในระยะถัดไป มีแนวโน้มทยอยเปลี่ยนจากแรงขับเคลื่อนด้วยการลงทุน และการส่งออกไปสู่ “การบริโภค” มากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยจะเห็นว่าตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบันภาคการบริโภคของจีนยังคงฟื้นตัวช้าเมื่อเปรียบเทียบกับการบริโภคของสหรัฐฯ โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างดังกล่าว คือ
ลำดับของการเปิดเศรษฐกิจ โดยภายหลังจากสถานการณ์การระบาดในจีนเริ่มคลี่คลาย ทางการจีนได้อนุญาตให้โรงงานต่าง ๆ กลับมาเปิดดำเนินการเป็นลำดับแรก แล้วจึงเริ่มผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเคลื่อนที่ของบุคคลตามมา
การออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสหรัฐฯ ออกมาตรการเยียวยาครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการจ่ายเงินโดยตรงให้แก่ภาคครัวเรือนสหรัฐฯ ในวงเงินที่สูงและเป็นผลทำให้รายได้การออมและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ทางสหรัฐฯ ยังได้ผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในทางตรงกันข้ามการออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังของจีนที่ตรงไปที่ภาคครัวเรือนจีนค่อนข้างจำกัดมาก เช่น การให้สวัสดิการสังคมที่ยังไม่เพียงพอ โดยจะเห็นว่า ในระหว่างการ lockdown ในจีนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของจีนได้ปรับลดลง
อย่างไรก็ดี ในปี 2021 นี้ การบริโภคของจีนยังแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุน เช่น
1) เศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า Real GDP ของจีนในปี 2564 จะขยายตัวสูงถึง 8.4% ซึ่งสถิติในอดีต บ่งชี้ว่า การขยายตัวของ Real และ Nominal GDP ของจีน มีแนวโน้มเคลื่อนไหวสอดคล้องกับการขยายตัวของรายได้ภาคครัวเรือนของจีน นอกจากนี้อัตราการออมของภาคครัวเรือนจีน ในไตรมาส 1/2564 ปรับลดลงอยู่ที่ 33.7% (จากจุดสูงสุดในช่วงไตรมาส 1/2563 ที่ 36.1%) ดังนั้น ด้วยแนวโน้มการทยอยปรับลดลงของเงินออมส่วนเกินในภาคครัวเรือนจีน จะช่วยหนุนให้ภาคการบริโภคจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อไป
2) ภาวะตลาดแรงงานของจีนทยอยฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยตัวเลขอัตราการว่างงานของจีน เดือน มี.ค.ปรับลดลงอยู่ที่ 5.3% สูงกว่าระดับก่อนเกิดการระบาดในจีนเพียงเล็กน้อย และ ตัวเลขจำนวนแรงงานที่อพยพจากบ้านเกิดไปทำงานที่เมืองอื่น ในไตรมาส 1/2564 ฟื้นตัวดีขึ้นสู่ระดับ 174 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับระดับในช่วงไตรมาส 4/2562
3) ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจีนปรับตัวดีขึ้น โดยผลสำรวจในไตรมาส 1/2564 พบว่า ผู้บริโภคจีนมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้น เกี่ยวกับรายได้ในปัจจุบันและในอนาคตรวมถึงการจ้างงาน แต่ยังมองบวกน้อยกว่าผลสำรวจเมื่อปี 2562 เล็กน้อย ดังนั้น การที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังมีแนวโน้มดีขึ้นต่อ จะถือเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวของรายได้ของจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้
ในระยะกลางถึงยาว (5-10 ปีข้างหน้า) การบริโภคจีนยังมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุน เช่น
1) สัดส่วนของภาคบริการในการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลของนโยบายลูกคนเดียวในอดีต ทำให้จำนวนประชากรผู้สูงวัยของจีนเร่งตัวอยู่สูงขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงวัย ซึ่งเป็นรายจ่ายในภาคบริการ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตาม นอกจากนี้รายจ่ายในภาคบริการยังได้แรงหนุนจากการที่ประชาชนจีนเริ่มเปิดรับการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดในจีนโดยประชาชนให้ความสำคัญกับปัญหาสาธารณสุขของสังคมมากกว่าประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวสำหรับแต่ละบุคคล
2) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของจีน โดยจำนวนประชากรช่วงสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติ (UN) ประมาณการว่า ในปี 2573 ประชากรจีนในช่วงอายุ 20-34 ปี และ 45-54 ปี จะมีจำนวนลดลง 63.5 และ 50.4 ล้านคน ตามลำดับ ในขณะที่ประชากรจีนในช่วงอายุ 35-44 ปี และ 55 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น 25.3 และ 123.9 ล้านคน ตามลำดับ ดังนั้นแนวการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของจีนข้างต้นจะช่วยหนุนการขยายตัวของการบริโภคจีนโดยเฉพาะรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับ ครอบครัว และการวางแผนเกษียณ
3) แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2564-2568) ของจีน ที่มีเป้าหมายให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ โดยเน้นกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศผ่านยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน (Dual Circulation) ทั้งนี้ ทางการจีนได้ทยอยออกมาตรการต่างๆ ที่สอดรับกับ Dual Circulation เช่น เพิ่มรายได้ของประชากรจีนให้สูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่อาจเผชิญปัญหารายได้ไม่เพียงพอหรือไม่เป็นธรรม เพิ่มรายได้จากการลงทุนในตลาดการเงิน ผ่านการผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนเพิ่มการจ่ายปันผลมากขึ้นและการกระจายรายได้ให้เท่าเทียมขี้น โดยปรับปรุงระบบภาษีรวมทั้งพัฒนาสวัสดิการสังคมให้ดีขึ้น เป็นต้น
ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนระยะยาวในหุ้นจีนเพื่อให้ได้รับอานิสงส์ตามธีมการฟื้นตัวภาคการบริโภคของจีน คือ ให้เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่ม Consumer Staples และ Consumer Discretionary ของจีนโดยจะเห็นว่าบรรดานักวิเคราะห์ในตลาด (Consensus) คาดการณ์ว่า กำไรต่อหุ้นของกลุ่ม Consumer Staples และ Consumer Discretionary ในดัชนี MSCI China ในปี 2564 จะขยายตัว 28.5% และ 27.2% ตามลำดับ ขณะที่ ในดัชนี CSI 300 จะขยายตัว 26.5% และ 33.2% ตามลำดับ ในส่วน กลยุทธ์การลงทุนระยะสั้นในหุ้นจีน ให้เน้นหุ้นกลุ่ม Consumer Cyclicals เช่น กลุ่มท่องเที่ยว การจัดเลี้ยง กลุ่มบันเทิง และกลุ่มสินค้าบริโภค (Consumer goods) ซึ่งมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าหุ้นกลุ่ม Consumer โดยรวม เนื่องจาก ปัจจุบัน บริษัทในกลุ่ม Consumer Cyclicals ส่วนใหญ่ ยังกลับมาดำเนินการได้ต่ำกว่าแนวโน้มการเติบโตเฉลี่ยจึงทำให้หุ้นในกลุ่มนี้ยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มขึ้นได้อีกมาก ประกอบกับ กลุ่มฯ ยังมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์ จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตามความคืบหน้าในแจกจ่ายวัคซีนและการทยอยเปิดเศรษฐกิจของหลายประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจหลัก ในช่วงที่เหลือของปีนี้
เขียนโดย
นางสาวเกษรี อายุตตะกะ CFP® - ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด
ผู้ช่วยผู้เขียน
นายจตุรภัทร ทนาบุตร - ผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด
Comments