top of page

อ่านใจผู้ว่าธปท. ...กนง.เตรียมลดดอกเบี้ย FIDF รอบนี้


สำนักวิจัย CIMB Thai นำโดย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย


กำลังซื้อหดหาย

เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญวิกฤติอีกครั้งจากการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 มาตรการรักษาระยะห่างที่เข้มงวดมากขึ้นมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้คนระมัดระวังการใช้จ่าย รายได้ครัวเรือนลดลง คนว่างงานมากขึ้น กำลังซื้อหดหาย เศรษฐกิจไทยเสี่ยงหดตัวเทียบไตรมาสก่อนหน้าและอาจมีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี แม้นักเศรษฐศาสตร์จะมองว่าการหดตัวทางเศรษฐกิจจากการระบาดรอบนี้อาจกระทบเศรษฐกิจเพียงชั่วคราว หรือเพียงช่วงไตรมาสแรกปีนี้เท่านั้น เพราะเชื่อว่าเราจะสามารถควบคุมการระบาดได้ดีขึ้นและจะสามารถเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ในช่วงปลายเดือนมีนาคมซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเวลาการระบาดรอบก่อน แต่ในมุมของผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจคงไม่มีใครเฝ้ารอให้ทุกอย่างกลับมาตามธรรมชาติได้ จึงต้องมีมาตรการกระตุ้นทั้งทางการคลังและการเงิน กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการเราชนะ หรือการโอนเงินให้ผู้ได้รับผลกระทบเป็นเงินสามพันห้าร้อยบาทเป็นเวลาสองเดือน รวมทั้งมีมาตรการคนละครึ่ง หรือการลดค่าครองชีพอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งเรามองว่ามาตรการทางการคลังรอบนี้ใช้เงินไม่มากเท่ารอบก่อน อาจด้วยรัฐบาลไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศ แต่ความรุนแรงทางเศรษฐกิจมีไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระที่อาศัยรายได้จากการขายสินค้าและบริการให้คนที่เดินทางมาทำงานหรือท่องเที่ยว หากคนเดินทางน้อยลง อยู่บ้านมากขึ้น รายได้คนกลุ่มนี้ก็ลดลงตาม และอาจเกิดการเลิกจ้าง ลดชั่วโมงทำงาน กำลังซื้อของคนก็ลดลงเป็นทอดๆ เงินโอนอาจเป็นการประคองให้มีค่าใช้จ่ายจำเป็นในการประทังชีวิตให้ผ่านช่วงไตรมาสแรกไปให้ได้ แต่อาจไม่ใช่มาตรการเดียวที่จะออกมา โดยเฉพาะหากครัวเรือนและธุรกิจมีภาระหนี้สินที่รุมเร้า ที่ผ่านมาได้มีมาตรการช่วยเหลือพักชำระหนี้ ลดภาระการใช้หนี้ เช่น ยืดเวลาชำระ ลดเงินต้นที่ต้องส่งคืน แต่สิ่งที่มองต่อไปคือการเติมสภาพคล่องให้คนมีรายได้น้อย มาตรการอัดฉีดซอฟท์โลนหรือการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่ม SMEs ทำได้น้อยมาก ขัดแย้งกับสภาพคล่องในระบบมีสูงมากจากเงินออมที่ล้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่และครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลาง-สูงยังลังเลในการใช้จ่ายและการลงทุน แล้วเราจะคาดหวังอะไรได้บ้างจากการประชุมของกนง.รอบที่จะถึงนี้


อ่านใจผู้ว่าธปท. ลดดอกเบี้ย FIDF รอบนี้

ข้อจำกัดของนโยบายการเงินคือสภาพคล่องที่ล้นแต่ไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย การแก้ไขอาจไม่ใช่การลดดอกเบี้ยที่เป็นลักษณะหว่านแหช่วยทุกคน แต่น่าจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะจุด เช่น การหยุดภาระการจ่ายหนี้ หรือ การอัดฉีดเงินกู้ให้ธุรกิจและครัวเรือนเพื่อต่อลมหายใจช่วงขาดรายได้ แต่สิ่งสำคัญอีกประการคือการสื่อสาร โดยเฉพาะในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำลากยาว ทางธนาคารกลางจะเข้ามาสร้างความคาดหวังของคนได้อย่างไรว่าดอกเบี้ยจะต่ำเช่นนี้อีกนานแค่ไหน และจะรับมือกับผลลบทางเศรษฐกิจจากดอกเบี้ยต่ำได้อย่างไร เพราะแม้ดอกเบี้ยที่ต่ำจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้คนลงทุนและบริโภค แต่ดอกเบี้ยต่ำลากยาวก็มีผลให้คนกังวลว่าจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด คนจะหันไปลดการใช้จ่าย หรือระมัดระวังการลงทุน หันกลับไปออมมากขึ้นไปอีก ถ้าให้ผมอ่านใจผู้ว่าฯ ผมคิดว่าท่านคงอยากแก้ปัญหาเฉพาะจุดมากกว่าหว่านแห หรือคลายเกณฑ์การปล่อยซอฟท์โลน การให้ธนาคารพาณิชย์ปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และอาจสื่อสารเพิ่มเติมว่าดอกเบี้ยจะยังต่ำลากยาว แต่ผมก็เชื่อว่าต่อให้ทำแบบนี้ ก็ยังไม่สามารถช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ รวมทั้งหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่ยังคงไม่สามารถทำให้ SME ได้เงินกู้ไปประคองธุรกิจได้เต็มที่ ผมเลยอยากอ่านใจว่า เครื่องมือด้านดอกเบี้ยก็ยังจำเป็นที่จะต้องหยิบมาใช้ แต่รอบวันที่ 3 ก.พ.นี้ทางกนง.อาจเลือกลดลดดอกเบี้ยที่นำส่งกองทุนฟื้นฟูหรือ FIDF ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 0.23% ลงทั้งหมด ซึ่งอย่างน้อยก็จะช่วยลดภาระรายจ่ายลูกหนี้ พร้อมๆ กับเพิ่มแรงจูงใจให้คนลงทุนหรือใช้จ่ายมากขึ้น แต่ส่วนสำคัญในการประชุมรอบนี้น่าจะอยู่ที่การสื่อสารว่า ทางกนง.จะฉายภาพสภาพคล่องที่ล้นในระบบตลาดการเงินแต่สภาพคล่องนี้ไม่ไหลไปสู่คนที่ต้องการสินเชื่อเช่นกลุ่มรายได้น้อยและ SME ได้อย่างไร


รอลุ้นลดดอกเบี้ยเดือนมีนาคม

ทำไมรอถึง 24 มีนาคม ผมมองว่านโยบายการเงินมีลักษณะเดินตามตัวเลขเศรษฐกิจ หรือ data dependent ไม่ใช่ตัวเลขในอดีต หรือต้องรอ GDP ไตรมาสสี่ปีก่อนที่ทางสภาพัฒน์จะรายงานในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ แต่น่าจะพิจารณาตัวเลขในอนาคตหรือการคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ที่ทางธปท.จะรายงานในช่วงการประชุมรอบเดือนมีนาคม ที่ปัจจุบันทางธปท.คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3.2% แต่เราเชื่อว่าทางธปท.น่าจะปรับลดการคาดการณ์ลง ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น จนทางกนง.น่าจะพิจารณาลดดอกเบี้ยลง 0.25% พร้อมๆ กับการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติม หรือ ทำ QE คล้ายๆ ซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพิ่มวงเงินในระบบเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต จูงใจให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม อีกทั้งผลทางอ้อมจากปริมาณเงินที่มากขึ้นและดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงจะช่วยลดแรงจูงใจในการเข้ามาซื้อพันธบัตรจากต่างชาติ เงินบาทน่าจะไม่แข็งค่าเร็วอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งช่วยสนับสนุนผู้ส่งออกและให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยสรุป แม้เราเชื่อว่าการลดดอกเบี้ยไม่ใช่ทางออกที่ดีเท่ากับการแก้ปัญหาเฉพาะจุด เช่น ปล่อยซอฟท์โลนและปรับโครงสร้างหนี้ แต่การลดดอกเบี้ยนโยบาย และ FIDF พร้อมๆ กับการทำ QE จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น เราไม่อยากเห็นเศรษฐกิจไทยรั้งท้ายในอาเซียนในปีนี้

20 views

Comentários


bottom of page