top of page
379208.jpg

นายแบงก์รุ่นเก๋ามอง วิกฤตประเทศไทยนาทีนี้ สาหัสกว่าครั้งต้มยำกุ้ง ปี 40



Interview : คุณเวทย์ นุชเจริญ

อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงไทย

ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ SME และธุรกิจรายย่อย


นายแบงก์รุ่นเก๋ามองวิกฤตประเทศไทยนาทีนี้ หนักหนาสาหัสกว่าครั้งต้มยำกุ้ง ปี 40 รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ทันการณ์ ไม่ตรงเป้า ทำให้ภาคธุรกิจ-ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ชี้...กลไกสำคัญที่จะช่วยนักธุรกิจผู้ประกอบการได้ดีที่สุดในขณะนี้คือแบงก์รัฐอย่างแบงก์กรุงไทย แต่จากบทเรียนที่ผ่านมาที่ผู้บริหารแบงก์กรุงไทยต้องคดี ติดคุก จากการทำงาน ทำให้ผู้บริหาร พนักงานแบงก์ต้องเซฟตัวเอง ไม่ทำอะไรที่สุ่มเสี่ยง ผลคือความชะงักงันในการช่วยเหลือลูกค้าแบงก์ในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน กระทบต่อธุรกิจ-เศรษฐกิจเป็นลูกโซ่ พร้อมมอบสูตรเด็ดเคล็ดลับ 7 ประการในการประคับประคองประเทศและธุรกิจให้ก้าวข้ามผ่านปัญหาได้อย่างทันท่วงที อยู่รอดปลอดภัยจนกว่าทุกอย่างจะดีขึ้นในวันข้างหน้า


มองแพ็กเกจเศรษฐกิจโดยเฉพาะแบงก์ไหวไหม


ขอเล่าประสบการณ์ตอนทำงานที่แบงก์กรุงไทยซึ่งเป็นช่วงวิกฤตมากในตอนนั้น บริษัทต่างๆมีปัญหาเยอะ เรามีโครงการนึงที่เรียกว่าโครงการขี่ม้าขาว แบงก์กรุงไทยอัดฉีดเงินไปหลายแสนล้าน พอกรุงไทยอัดฉีดเข้าไปแบงก์อื่นก็ต้องทำตาม ผมเชื่อสำหรับประเทศไทยส่วนที่สำคัญที่สุดในระบบที่จะแก้ไขปัญหาประเทศได้คือแบงก์ ถ้าแบงก์ขยับ ทุกอย่างแก้ไขได้ แต่ในครั้งนั้นสถานการณ์แตกต่าง ในความรู้สึกของผมตอนนั้นความรุนแรงไม่เท่ากับตอนนี้ เพราะตอนนั้นเป็นปัญหาต้มยำกุ้งที่เป็นปัญหาจากสถาบันการเงิน แต่ตอนนี้แตกต่างเพราะเป็นเรื่องของโลกซึ่งระบบ Social Media ทำให้คนตื่นตระหนกมาก เราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเป็นยังไง เราจะรอดไหม อันนี้เป็นความกังวล ทำให้คนเครียดกันมาก ผมเป็นห่วงมากว่าผู้ประกอบการไทยจะเสียชีวิตเพราะความเครียดก่อนที่จะเจอโรคไวรัสระบาด เพราะมันเครียดมากจากสภาพการค้า สภาพตลาดต่างๆ ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะจบตอนไหน อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าคนเราขาดความมั่นใจก็ค่อนข้างลำบาก


ในปีนี้เป็นปีนึงที่ผมคิดว่ากฎกติกาจะแตกต่างจากเดิม ผมว่าเป็นเรื่องที่ยากมากในความรู้สึกของผม ปีนี้เรามีกฎกติกา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานบัญชี มาตรฐานตั้งสำรองต่างๆ เปลี่ยนแปลงจากเดิมค่อนข้างเยอะ ลำพังไม่มีโควิด-19 เศรษฐกิจก็เหนื่อยแล้ว อันนี้เป็นปัญหาที่ทับถมเข้ามา แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีหนทาง ผมคิดว่าหากมีความตั้งใจและทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ ผมว่าจะข้ามไปได้และฟันฝ่าไปได้



จากประสบการณ์ มาตรการขี่ม้าขาวผมยอมรับว่าบางเรื่องมีจุดอ่อน มีช่องโหว่ ทำให้พรรคพวกผมลำบากลำบนกันเป็นแถว อันนี้กลายเป็นผลพวงยาวนานมาถึงวันนี้ ผมคิดว่าทุกคนที่แบงก์กรุงไทยเขาก็ยังขยาดกันอยู่ หลายคนติดคุก พอออกจากคุกบางคนป่วย บางคนเสียชีวิต ผมคิดว่ารัฐบาล ผู้นำ ต้องสร้างความมั่นใจให้กับคนทำงานว่าจะทำยังไงให้เป็นไปได้ ให้ย้อนดูมาตรการที่รัฐบาลออกมาโดยเฉพาะมาตรการทางด้านการเงิน ในความรู้สึกของผมมองว่ามันไม่ทันกาล มันช้าเกินไป


มาตรการที่ 1 การให้ซอฟต์โลนกับผู้ประกอบการรายนึงไม่เกิน 20 ล้าน แบงก์ออมสินปล่อยเงินให้แบงก์พาณิชย์คิดดอกเบี้ยที่ 0.01 แบงก์พาณิชย์ไปปล่อยให้ลูกค้าร้อยละ 2 ผมไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ลูกค้าจะได้รับเงิน เกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อต่างๆ ค่อนข้างเยอะมาก แต่ก็เป็นมาตรการหัวใจสำคัญที่ช่วยเหลือสภาพคล่องได้


มาตรการที่ 2 คือการพักชำระเงินต้นและลดดอกเบี้ย อันนี้แบงก์ก็ทำอยู่แล้ว ถ้าลูกหนี้รายได้ไม่เพียงพอก็ขยายเวลาการชำระหนี้ ขยายสัญญาออกไป ที่สำคัญแบงก์เคยลดดอกเบี้ยให้ลูกค้า แต่ลูกค้าก็ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะสภาพมันหมักหมมมายาวนาน


มาตรการที่ 3 เป็นนโยบายของแบงก์ชาติที่มีเจตนาดี แต่ผมไม่แน่ใจว่ามันจะได้ผลไหม เช่น สถาบันการเงินต่างๆไปจัดในกลุ่มต่างๆ ผ่อนคลายเพียงการให้สินเชื่อปกติ ผ่อนคลายการกันสำรอง ผมยังไม่ทราบเลยว่าพวก SSI กับ Non Bank ต่างๆจะเอายังไง และลูกค้าโทรมาหาผมทั้งที่ผมเกษียณมาหลายปี ผมพยายามแนะนำค่อยๆติดต่อหาข้อมูล


มาตรการที่ 4 คิดว่าสำคัญ ผมคิดว่าโรงงานต่างๆ ตอนนี้เขาหยุดกิจการ โรงแรมหยุดกิจการเยอะแยะ ทำอย่างไรจะรักษาคนงานไว้ได้ ตอนนี้เรามีสินเชื่อส่งเสริมการจ้างงานของสำนักงานประกันสังคม รัฐบาลให้เงินมาประมาณ 30,000 ล้าน อันนี้เป็นมาตรการที่รัฐบาลกำหนดออกมา ตอนนี้ไม่ทราบว่าคนทำงานจะเข้าใจหรือไม่


มาตรการรวมพวกนี้แม้จะดี แต่ผมว่าไม่ทันการณ์ บางประเภทธุรกิจต้องมีมาตรการเยียวยาที่เข้มข้นมากกว่านี้ โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อย่างนักท่องเที่ยวจีนหายไป80-90% นักท่องเที่ยวโดยรวมในประเทศหายไปเกือบ 50% อันนี้กระทบ GDP แน่นอน กระทบกับผู้ประกอบการ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ขนส่ง ผมไปทางใต้ โรงแรมบางแห่งมีค่าใช้จ่ายเดือนนึง 5 ล้าน แต่มีรายได้เดือนนึง 200,000 บาท เขาแบกการขาดทุนมารายเดือนแล้ว ตอนนี้ถ้ามายึดโรงแรมเขาก็ยอม กลุ่มลูกค้าพวกนี้ต้องพักชำระหนี้แล้ว ผมยังไม่เห็นรัฐบาลพูดถึงกรณีเช่นนี้เลย ต้องงัดมาตรการเอามาใช้กับกิจการที่มันทรุดหนักจริงๆ เช่น โรงแรม รถบัส รถตู้ ซึ่งพวกนี้มีรายละเอียดที่คิดว่ารัฐบาลกำหนดมาตรการออกมาหลายอย่าง แต่มันไปไม่ได้ เพราะอาจจะไม่มีประสบการณ์ อย่างคราวที่แล้วที่ให้เงินมา 150,000 ล้าน เหมือนกับให้ลูกค้าที่ดีๆ ให้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อลดภาระดอกเบี้ย ผมก็เป็นห่วงว่าลูกค้ากลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องซอฟต์โลน ดอกเบี้ยต่ำ 2% 2ปี อาจจะไม่ใช่กลุ่มลูกค้าที่เดือดร้อนจริง ผมคิดว่าต้องอาศัยผู้รู้เข้ามาดูแลเรื่องพวกนี้ ที่สำคัญจะทำยังไงถึงจะมีผู้นำในสถาบันการเงินที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกน้องเพื่อช่วยเหลือปัญหาประเทศ รุ่นผมที่ทำงานนายจะซีเรียสมากในเรื่องให้ขวัญกำลังใจทำงานทุกวันมันถึงฟื้นได้ อันนี้มีความสำคัญมาก


ผมเชื่อว่ากลไกสำคัญที่สุดในการช่วยเหลือปัญหาของประเทศ คือแบงก์กรุงไทย เพราะเป็นแบงก์ของรัฐ ผมเองก็พ้นจากแบงก์กรุงไทยมาสักพัก เรื่องกฎกติกามารยาทคงเปลี่ยนไปเยอะแล้ว เท่าที่เจอลูกน้องเขาทำงานค่อนข้างเหนื่อย ลำบากมาก ต้องเข้าไปดูสถานการณ์ ตอนนี้ไม่ใช่สถานการณ์ธรรมดา เป็นเรื่องพิเศษที่ต้องระดมคนเข้ามาช่วยค่อนข้างมาก


จะทำยังไงให้ธุรกิจมีสายป่านยาวๆ


ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ต้องหันหน้าเข้าหากันทุกฝ่าย แบงก์ต้องคิดใหม่ ต้องเห็นใจลูกค้า เพราะแบงก์เองก็ไม่อยากให้ลูกค้าเป็น NPL กันเงินสำรองเพิ่ม แต่ละแบงก์ผมไม่ทราบว่ามีทีม Crisis ดูแลลูกค้าเป็นกรณีพิเศษไหม เท่าที่เห็นให้มาเป็นมาตรการ routine ที่สำคัญ คือคู่ค้าที่เป็นคู่สัญญากับผู้ประกอบการตอนนี้ต้องผ่อนปรน ถ้าสินค้าที่ค้างการชำระหนี้ ไม่ควรใช้การฟ้องดำเนินคดี พวกนี้ต้องหันหน้าเข้าหากัน ขยายตัวออกไปเพื่อให้อยู่รอดให้ได้ แล้วที่สำคัญผู้ประกอบการให้คนอื่นช่วยอย่างเดียวไม่ได้ต้องช่วยตัวเองด้วย ตอนผมอยู่แบงก์กรุงไทยผ่านวิกฤตมาหลายครั้งก็มีประสบการณ์ทำงาน จริงๆบริษัทฝรั่งเขามีหลักการที่ดี ผมเคยทำงานตามหลักการตอนนี้ ผู้ประกอบการน่าจะนำมาใช้ได้


คือตอนนี้ผมได้อ่านบทความนึงเขาใช้ชื่อ covid-19 Implications for business อันนี้หลายหลักการผู้ประกอบการเอาไปใช้ได้เลย นอกจากหวังพึ่งรัฐหรือคู่ค้า ผู้บริโภค ต้องช่วยตัวเองได้ คือหลักการเอาปฏิบัติได้ เขาแบงออกเป็น 3 อย่างคือเดือนมิถุนายนฟื้นแล้ว แต่เท่าที่ดูผมว่ายังไม่น่าฟื้นเพราะวันนี้ก็พบคนป่วยมากขึ้น อย่างที่ 2 หลังจากนี้อีกกี่เดือนถึงจะฟื้น ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นจะทำยังไง ผู้ประกอบการต้องวางแผนให้ได้


เขาแนะนำมา 7 ประการเพราะเขาชอบเลข 7 ที่คิดว่าน่าจะดี


หลักการแรกเรื่องคนงานต้องรักษาไว้ ทำยังไงถึงจะรักษาสภาพจิตใจอารมณ์เพราะคนตื่นตระหนกมาก คนกลัววันนี้พบผู้ติดเชื้อมากขึ้นพรุ่งนี้จะขึ้นอีกเท่าไหร่ แล้วเขาพบใครมาบ้าง


เรื่องที่ 2 ต้องตั้งทีมขึ้นมา ทีมนี้ขึ้นกับ CEO ของบริษัทเลย ทีมนี้ต้องทิ้งงานประจำเดิมแล้วต้องมีภารกิจที่ชัดเจน เรื่องการสื่อสารกับพนักงาน กำหนดแผนให้ธุรกิจดำเนินการต่อได้ ไม่ใช่เฉพาะภาคธุรกิจ รัฐบาลก็ต้องมีทีมนี้ผมไม่ทราบว่ามีหรือยัง เพราะคนตอนนี้ตื่นตระหนกมาก น่าจะมีทีมนึงที่ออกข่าว ไม่ใช่ดูจากทิศนู้นทิศนี้ กลัวกันหมด มันควรออกมาจากภาครัฐที่คนเชื่อมั่น พอคนเชื่อมั่นแล้วจะฟื้นตัวขึ้นมาเร็ว


เรื่องที่ 3 ไฟแนนเชียล ถ้าใครมีสภาพคล่องก็อยู่รอดได้ ต้องเข้ามาสำรวจตัวเองแล้วว่ารายได้ที่มันลดลงจะทำยังไง รักษาสภาพคล่องไว้ยังไง อันนี้ต้องไปคุยกับแบงก์สำคัญที่สุด แบงก์จะตรวจเดือนนึงเหลือเงินเท่าไหร่ ปีนึงเหลือเงินเท่าไหร่ ดอกเบี้ยลดลงพอไหม เป็นเรื่องที่แนะนำที่สำคัญที่สุดในการอยู่รอดของผู้ประกอบการ


เรื่องที่ 4 Supply Chain สถานการณ์อาจจะฟื้นขึ้นมาเร็วก็ได้ พอฟื้นแล้วสั่งซื้อสินค้าเรา เราจะเตรียมวัตถุดิบยังไงเพื่อไม่ให้เสียโอกาส เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะจัดการกับดีมานด์จริง เรื่องนี้เป็นเรื่องของต้นทุน ในระยะยาวผู้ประกอบการต้องปรับแผนรับดีมานด์ ทำ portfolio ให้ชัดเจน


เรื่องที่ 5 เป็นหัวใจที่สำคัญเกี่ยวกับลูกค้า ต้องรักษาลูกค้าไว้ให้ได้อย่าปล่อยให้หลุดมือไป และศึกษาพฤติกรรมลูกค้า อย่างตอนนี้ร้านอาหารคนไปทานน้อยลงมาก เปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเดลิเวอรี ยิ่งพวก grab แต่ละวันวิ่งดีเลย เรื่องนี้ผู้ประกอบการต้องดูว่าจะวางแผนรองรับยังไง


เรื่องที่ 6 ต้องวิเคราะห์สถานการณ์ว่าถ้าในไตรมาส 4 ยังไม่ดีขึ้นจะทำยังไง ถ้าไม่เคราะห์ไว้ทำไปวันๆ รอชะตากรรมจะลำบากมาก ประเทศก็จะแย่ลง


เรื่องที่ 7 ผู้ประกอบการต้องมีส่วนช่วยเหลือสังคม โรงงานที่อยู่ในท้องที่นั้นๆ จะให้ความรู้กับคนท้องถิ่นยังไง จะช่วยเหลือเงินทุนหรืออุปกรณ์ยังไง ก็เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าสังคมฟื้นเร็วเศรษฐกิจก็ฟื้นเร็ว


นี่เป็นหลัก 7 ประการที่ผมคิดว่าทุกบริษัทเอาไปใช้ได้ ของฝรั่งใช่ว่าจะใช้ได้ทั้งหมด แต่เรื่องที่ดีก็เอามาใช้ เรื่องไม่ดีไม่ต้องเอามาใช้ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐด้วย ไม่ใช่คนนู้คนนี้ให้ข่าวที ผมเองยังสับสน ไม่รู้ผมอยู่ในประเทศไหนกันแน่


ผมอยากฝาก นสพ.ดอกเบี้ยธุรกิจให้ช่วยกระจายเรื่องพวกนี้เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ ที่สำคัญที่สุดอยากให้ผู้ประกอบการต้องสู้ หันหน้าเข้ากัน ต้องใช้ชีวิตที่มีแบบแผน ดูรายการทีวีก็อย่าดูเรื่องโควิด-19 มาก ดูตลกบ้าง ร้องเพลงได้ก็ร้องเพลง เดี๋ยวนี้ผมนั่งรถได้ก็ร้องเพลง อย่าให้ปัญหามาทำลายชีวิตของเรา


ผมอยากฝากเรื่องสุดท้ายคือ ผมคิดว่ากระทรวงการคลังควรดูแลมาตรการต่างๆ อย่างจริงจัง ลูกค้าผมเข้าไปคุยกับแบงก์ แบงก์ก็บอกว่ายังไม่รู้เรื่อง คือมันต้องทันการณ์ ตรงเป้าหมาย และตามความจำเป็น ก็เป็นคอนเซปต์ที่กระทรวงการคลังบอก มันต้องเป็นเรื่องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะกฎกติกาของแบงก์ต้องเปลี่ยนแปลงจากเดิมเยอะ และที่สำคัญพฤติกรรมของคนทำงานแบงก์ก็เปลี่ยนไปจากเดิม เดิมที่เราต้องดูแลลูกค้ากลายเป็นต้องไปขายอย่างอื่น คนที่เข้ามาลุยสนามยามวิกฤตคิดว่าหายากพอสมควร

1,854 views

Comments


bottom of page