top of page

ยุทธศาสตร์การค้าโลกยุคใหม่...เน้นความปลอดภัย ซื้อใจผู้บริโภค


Interview : คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล

ผู้เชี่ยวชาญการค้าระหว่างประเทศ

และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย


สงครามการค้าจีน-อเมริกา จะลดความร้อนแรงลงในยุค โจ ไบเดน โดยเฉพาะมาตรการด้านภาษี การบังคับให้จีนซื้อสินค้าจากอเมริกา จะไม่เข้มข้นเหมือนก่อน อเมริกาจะไม่เปิดฉากรบกับจีนโดยตรง แต่จะจับมือกับยุโรปและอาเซียนร่วมกันล้อมกรอบจีน แจง..ยุทธศาสตร์การค้าโลกยุคใหม่ถูกกำหนดโดยมีโควิด-19 เป็นตัวแปรและตัวเร่งที่สำคัญ ทำให้กระบวนการผลิตอาหาร-สินค้า รวมถึงการขนส่งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ซื้อ-ผู้บริโภคเป็นอันดับแรก ผู้ผลิตและทุกห่วงโซ่ต้องลงทุนเพิ่มเพื่อเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยให้เป็นที่ยอมรับ ไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลกต้องเริ่มคิด เริ่มทำ สร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยให้เป็นที่ประจักษ์ ช่วงแรกอาจต้องลงทุนเพิ่มสูงขึ้น แต่เมื่อผู้ซื้อมั่นใจ กำไรต่อหน่วยก็จะเพิ่มตามมาเอง ย้ำ...ที่ผ่านมาโควิด-19 สร้างความบอบช้ำให้การค้าโลกอย่างเลวร้ายที่สุดแล้ว จากนี้ทุกอย่างจะค่อยๆ ดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป


วิกฤตโควิด-19 จะทำให้โลก หรือยุทธศาสตร์การค้าเปลี่ยนแปลงหรือไม่

เปลี่ยนแปลงแน่นอนอยู่แล้ว ตอนนี้เราเริ่มได้ยินว่าประเทศต่างๆ เริ่มเข้ามาให้ความสนใจหรือว่าตระหนักเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับตัวสินค้าโดยตรง ดังนั้น ต้องจับตาว่ามาตรการความปลอดภัยของสินค้าในอนาคตข้างหน้าจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ก็ต้องดูรายละเอียดกันต่อไป แต่ถ้าเป็นอาหารคิดว่าจะเข้าใจง่ายขึ้น คิดว่ามาตรการการป้องกันโดยผ่านตัวสินค้าคงต้องมีแน่ อย่างไทยเราอยู่ในธุรกิจเกษตรและอาหารต่อเนื่องกัน ก็คงจะต้องมีมาตรการด้านความปลอดภัยที่เข้มข้นขึ้น วันนี้เราคงจะต้องมาหาวิธีการ เช่นจะต้องแสดงให้มีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ว่าสินค้าชุดนี้ได้มาตรฐานความปลอดภัยต่อร่างกาย ถูกสุขลักษณะอนามัยสากลอย่างชัดเจนขึ้น คิดว่าเราต้องรีบทำตรงนี้ได้แล้ว ตอนนี้เราต้องเริ่มคิดแล้ว สินค้าตัวอื่นก็คงเหมือนๆ กัน แม้กระทั่งท่องเที่ยวก็เหมือนกัน

ดังนั้น มาตรการความปลอดภัยคือเรื่องสำคัญอันดับที่หนึ่ง

เรื่องที่สองคือเรื่องการลงทุนเพิ่มในสิ่งเหล่านี้ก็คงจะต้องตามมา คือไม่ใช่เข้าไปทำเฉยๆ คงจะต้องมีการลงทุนเพิ่มเข้าไปอีก ฉะนั้นมาตรการทางการค้าที่จะต้องลงทุนในด้านนี้ ก็จะต้องมีขึ้นมา ตรงนี้ก็จะเป็นโอกาสทางการค้า เรื่องตระหนักรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มีคนบางคนพูดแล้วว่ามันมีผลกระทบซึ่งทำให้เกิดโรคระบาดในคราวนี้เหมือนกัน แต่ว่าไม่มีวิทยาศาสตร์เข้ามาพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ แต่ว่าก็เริ่มพูดกันมากขึ้น ที่เราทำอยู่เวลานี้มันกระทบสิ่งแวดล้อมหรือว่าจะไปกระทบอย่างอื่นอะไรต่อมิอะไร เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็จะเป็นมาตรการหนึ่งที่จะต้องเกิดขึ้นข้างหน้าต่อไป

ดังนั้น ยุทธศาสตร์ในการผลิตและขายสินค้า จะต้องออกมาในแนวนี้มากขึ้น ไม่รู้บังเอิญหรือไม่ที่รัฐบาลไทยประกาศยุทธศาสตร์แห่งชาติหรือวาระแห่งชาติของ BCG ก็คือเศรษฐกิจทางด้านชีวภาพเรื่องเกษตร เศรษฐกิจทางด้านการผลิตที่หมุนเวียนได้ หมายถึง กาก เศษ ไม่ให้ทิ้ง ต้องนำมาใช้ประโยชน์ ลดการใช้พลังงานที่สร้างมลพิษ ให้ใช้พลังงานสีเขียว พวกนี้จะเกี่ยวโยงกันไปเกี่ยวโยงกันมา ก็ต้องเอามาเช็กดู คงไม่ใช่แบบเดิมแล้ว ต่อไปนี้ก็คงต้องระมัดระวังเรื่องสุขอนามัยมากขึ้น ก็จะมาแนวๆ แบบนี้


จะทำให้ต้นทุนผลิตสินค้าแพงขึ้นหรือไม่

คือต้องมีการลงทุนเพิ่ม ต้นทุนแพงขึ้น ก็ขึ้นอยู่ที่ประสิทธิภาพในการผลิตแล้วก็ความสามารถในการลดต้นทุนต่อหน่วย ถ้าหากว่าเราจะไปทางเศรษฐกิจสีเขียว เช่นการลดใช้พลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน ใช้พลังน้ำ ใช้พลังงานอาทิตย์พวกนี้ บางประเทศดูแล้วอาจไม่คุ้ม จะลงทุนเพิ่มไหวมั้ย ประสิทธิภาพต่อหน่วยจะเป็นอย่างไร ก็จะกังวลไปทางนี้หมด แต่โดยตำรา โดยความจริงที่เขาพิสูจน์ออกมาแล้วสำหรับบางประเทศที่เดินในแนวนี้แล้ว สุดท้ายแล้วประสิทธิภาพต่อหน่วยเพิ่มขึ้น กำไรต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ก็เป็นตัวเลขที่บอกได้หลายๆ ตัวอย่าง อันนี้ก็คิดว่าไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องน่าเป็นห่วงอะไร

แต่ว่าการลงทุนต้องมีก่อน แต่ว่าการลงทุนไม่ใช่บอกว่านี่เป็นต้นทุนต่อหน่วย การลงทุนนี่มันก็เป็นดอกเบี้ย ต่อไปถ้าสินค้ามันออกมาแล้ว ลดได้จริงอย่างที่ว่าแล้วมีคนนิยมซื้อ ก็ต้องดูต่อหน่วยว่าลดลงเท่านั้นเอง คงไม่แพงขึ้น แต่ว่าตอนเริ่มต้นอาจจะต้องหาทุนมาลงทุนมากขึ้นเท่านั้นเอง


มองด้านส่งออก การค้าอย่างไร

เรื่องนี้มีคนคำนวณตลอดเวลาทุกวัน เนื่องจากคนก็เป็นห่วงว่าจะแย่กว่าเดิม ตัวเลขน่าจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่เรื่อยๆ ดูจากสถานการณ์แล้วก็ปรับกันที ส่วนตัวมองในแง่ดีในแง่บวก ก็เหมือนคนอื่น เพราะจากสภาพปัจจุบันคงไม่เลวร้ายไปกว่านี้แล้ว เพราะฉะนั้นก็คิดว่าโอกาสที่จะขยายเศรษฐกิจร่วมกันของคนทั้งโลกก็คงมีแน่นอน คิดว่าการส่งออกก็คงโตขึ้นจากวันนี้ที่ตกต่ำกันทุกประเทศ สุดขีดแล้ว ยกเว้นจีน เวียดนามจะดีกว่าคนอื่น ดูจากหลายสำนักที่เขาคำนวณก็คงจะโตได้ แต่ว่าจะปรับกันอย่างไรค่อยมาว่ากันอีกที โดยรวมแล้วเศรษฐกิจทั้งโลกก็คงจะดีขึ้น ดูแล้วก็น่าจะเป็นแง่บวก ก็สบายใจขึ้นนิดหน่อย ขอให้อดทนกัน ค่อยๆ ขยับไป เพราะโรคที่เป็นอยู่เป็นโรคของชาวโลก ไม่ได้เกิดขึ้นกับเราคนเดียว แล้วเราจะดีได้ คนอื่นก็ต้องดีด้วย จะดีได้คนเดียวก็ไม่ได้ อย่างการท่องเที่ยวต้องเขาดีไม่ใช่เราดีนะ ถ้าเขาไม่ดีแต่เราดี เราก็ไม่อยากให้เขาเข้ามาอยู่ดี ฉะนั้นตรงนี้ก็คิดว่าอาจจะอึดอัดพอสมควร

อย่างไรก็ตาม บ้านเราก็ต้องทำให้ดีก่อนเพื่อที่ว่าการบริโภคภายในจะได้เกิดขึ้น ไม่อย่างนั้นเราจะเหมือนเสียสองต่อไปเลย เราต้องทำให้บ้านเราดีขึ้นก่อน ส่วนคนอื่นค่อยมาดูกันอีกที ก็มองภาพเดียวกัน เป็นเชิงบวก


อย่างเงินบาทแข็งค่าสวนทางชาวบ้าน ตรงนี้จะเป็นอุปสรรคหรือไม่

สำหรับการส่งออกมันก็เป็นอยู่แล้ว แต่ว่าเงินบาทจะกลับสู่กระเป๋าน้อยลง อย่างที่เราเข้าใจกัน เงินบาทก็เป็นสินค้าตัวหนึ่ง มันเกิดขึ้นได้เสมอ อยู่ที่เศรษฐกิจของคนอื่นด้วย อยู่ที่ตัวเราด้วย อันนี้ก็เป็นประเด็นที่เราต้องคอยดูแลตัวเองตลอดเวลา คนที่ค้าขายก็ต้องคำนวณตลอดเวลา วันนี้หายไปสลึงหนึ่ง หายไป 20 สตางค์อะไรก็ว่าไป อันนี้ก็มองดูแล้วมันก็เป็นวิธีการในการทำสินค้าชนิดหนึ่ง เราจะทำให้เงินบาทอ่อนๆ มันก็ทำไม่ได้ อยากทำแต่ทำไม่ได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะระยะหลังสหรัฐอเมริกาเขาจับจ้องประเทศต่างๆ อยู่ ตอนนี้เป็นรัฐบาลใหม่แล้ว ยังจับจ้องหรือไม่ ถ้าสมัย โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ระวังตัวนี้มากว่า ประเทศไหนที่ทำให้ค่าเงินอ่อนโดยไม่มีเหตุไม่มีผลก็คงไม่ได้

ดังนั้น ตรงนี้ เป็นอุปสรรคแน่นอน ถามว่าเรามีพลังไปต้านหรือไม่ ก็คงไม่มี เพราะมันเป็นเรื่องที่ชี้บอกถึงฐานะเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ก็แล้วแต่ วันไหนเป็นอย่างไร ฉะนั้นค้าขายเราก็ต้องคอยเฝ้าระวัง อย่าให้มันเสี่ยงกับค่าเงินบาทโดยใช่เหตุ เราพอใจกี่บาทก็เท่านั้นแหละ บางทีเราได้มาก บางทีเราได้น้อย ก็ต้องปรับ ดีที่สุดคือพยายามตามใกล้ชิด และพยายามลดการแข่งขัน


ตลาดสินค้าไทยได้รับความเสียหายจากโควิด-19 มากน้อยแค่ไหน

ในภาพรวมทุกคนแย่ลง เพราะการซื้อขายหายไปเยอะอย่างที่เราเห็นจากตัวเลข คิดว่าแนวที่เราจะต้องมองต่อไป ซึ่งพูดกันมาแล้วระดับหนึ่ง ก็คือคงจะต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประสิทธิภาพในการผลิตของเราออกมาในรูปลักษณะที่ตอบสนองความต้องการของโลกแนวใหม่ ฉะนั้นเรื่องเทคโนโลยีการผลิตจะต้องพัฒนาขึ้น ยกตัวอย่างเช่นเรื่องเกษตร ต่อไปเราจะทำแบบใช้มือเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องใช้เทคโนโลยี ต้องมีการคำนวณ พื้นดินมีอยู่จำกัด ต้องปลูกอะไรให้ได้ผลสูงสุด ดังนั้น จึงเป็นยุคใหม่ ยุคเก่าคือก่อนโควิด-19 ซึ่งโควิด-19 เป็นตัวเร่ง ตอนนี้ยุคใหม่นั้นการใช้เทคโนโลยีจะมากขึ้น เพิ่มขึ้น ดังนั้นคนที่เรามีในภาคการผลิตต้องปรับตัว โรงงานก็ต้องปรับตัว สินค้าสำเร็จรูปก็ต้องเชื่อมกันเป็นห่วงโซ่ไปเลยตั้งแต่ต้นจนจบ คือคนทุกคนต้องรับผิดชอบซึ่งกันและกันในตัวสินค้า ไม่ว่าคุณจะอยู่จุดไหน ตรงนี้มันเป็นวิกฤตการณ์ใหม่ที่เราต้องมาช่วยกัน เพื่อการแข่งขันในโลกยุคใหม่

16 views

Comments


bottom of page