top of page
image.png

เคลมประกันโควิดส่อพุ่ง...ส.วินาศภัยยันพร้อมจ่าย


สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังคงอลหม่านขวัญผวากันทั้งประเทศ กระทั่งในแวดวงประกันภัยเริ่มมีการประเมินแนวโน้มและทิศทางของโอกาสความน่าจะเป็นในโอกาสการที่จะเกิดการเคลมสินไหมจากกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองโควิด ซึ่งกำลังขายดีเทน้ำเทท่าอย่างต่อเนื่อง โดยแค่ช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค-เม.ย.) ทั้งระบบมียอดขายรวม 7.3 ล้านฉบับ เมื่อเทียบกับปี 2563 ทั้งปีที่มียอดขายกว่า 9.3 ล้านฉบับ คิดเป็นเบี้ยประกันมากกว่า 4 พันล้านบาทเศษ


แหล่งข่าวในวงการประกันภัยระบุว่ามีการทำสมมติฐาน (Assumption) โดยยึดสถิติข้อมูลเทียบกันระหว่างปีที่แล้วกับปีนี้ พบว่าในปีที่แล้วประชาชนซื้อประกันโควิดกว่า 9 ล้านฉบับ คิดเป็นเบี้ยเฉลี่ยกรมธรรม์ละ 100 บาท ประชากรทั้งประเทศ 67 ล้านคน คิดเป็นอัตราการเข้าถึงกรมธรรม์ประมาณ 11% ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่าปีก่อนมีการเคลมสินไหม 170 ล้านบาท จึงคิด Loss Ratio ที่ประมาณ 5%


หากในภาพรวมของปีนี้ มีจำนวนผู้ติดเชื้อประมาณ 1 แสนราย เฉลี่ยความคุ้มครองแบบ “เจอ จ่าย จบ” ที่กรมธรรม์ละ 75,000 บาท เท่ากับเป็นวงเงินเคลมรวม 7,500 ล้านบาท เท่ากับขาดทุนทันที ถ้ามีคนซื้อ 10% เท่ากับอัตราการเคลม 750 ล้านบาท คิดเป็น Loss Ratio 19-20% ถ้าซื้อ 20% เท่ากับเคลม 1,500 ล้านบาท คิดเป็น Loss Ratio ประมาณ 40% และถ้าซื้อ 30% เท่ากับเคลม 3,000 ล้านบาท คิดเป็น Loss Ratioประมาณ 75– 80%

เหล่านี้ยังไม่รวมเคลมที่เป็นในส่วนค่ารักษาพยาบาลและเงินชดเชยรายได้ต่างๆ ประเด็นคือมีจำนวนกรมธรรม์ของแต่ละประเภทกี่ฉบับ ไม่เพียงเท่านั้น ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนและแน่นอนว่ามีจำนวนผู้เอาประกันที่ซื้อหลายฉบับที่เงื่อนไขเดียว หรือหลายเงื่อนไข

นอกจากนี้ ยังไม่มีข้อมูลสถิติว่า แต่ละบริษัทส่วนใหญ่ได้รับประกันไว้เอง (Self retention) หรือส่งประกันต่อออกไป ที่สำคัญต้นทุนในการบริหารจัดการเกี่ยวกับเคลมที่อาจจะสูงกว่าปกติ ซึ่งแต่ละบริษัทมีสถานะเงินกองทุนต่างกัน ถ้าบริษัทกลาง-เล็กต้องจ่ายเคลมจำนวนมาก จะกระทบต่อฐานะบริษัท ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระวังอย่างมาก เพราะปีนี้หลายบริษัทมียอดขายจากประกันชนิดอื่นๆ ลดลง เบี้ยประกันโควิดไม่อาจชดเชยได้ จากจำนวนเบี้ยที่ไม่สูงมากหากเกิดปัญหาร้องเรียนเรื่องเคลม ชื่อเสียงของบริษัทจะได้รับผลกระทบ

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่าแม้เบี้ยประกันโควิดจะเพิ่มขึ้นมาก แต่พบว่ายังไม่มีความผิดปกติใดๆ เชื่อว่าแต่ละแห่งจะสามารถบริหารจัดการได้ซึ่งในภาพรวมพบว่าค่าเฉลี่ยคนซื้อกรมธรรม์โควิด ยังอยู่ในระดับประมาณ 10-15% เท่านั้น และโดยส่วนตัวประเมินว่าทั้งระบบน่าจะรับอัตราการเคลมได้ในระดับ 2 แสนกรมธรรม์ โดย ณ สิ้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่าทั้งระบบมีเบี้ยโควิดสะสมรวมกันกว่า 7,000 ล้านบาท จากจำนวนกรมธรรม์ประมาณ 10 ล้านฉบับ

นอกจากนี้ นายอานนท์ กล่าวถึงว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องเผชิญกับภาระหนักในการปฏิบัติงานและความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะจัดหาประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโรค COVID-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ จำนวน 270,000 คน เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานในภารกิจ

ในฐานะที่สมาคมเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงสนับสนุนการดำเนินงานทางการแพทย์เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดและเพื่อแสดงความขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่ได้อุทิศตนและทุ่มเทในการปฏิบัติงานเพื่อต่อสู้กับโรค COVID-19 โดยสนับสนุนใน 2 ด้าน ดังนี้

1. มอบกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 270,000 คน โดยจะคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อ COVID-19 เป็นเวลา 6 เดือน จำนวน 1 ล้านบาท/คน รวมเป็นทุนประกันภัยทั้งสิ้น 2,7 แสนล้านบาท

2. มอบเครื่องช่วยหายใจให้กับโรงพยาบาลบุษราคัม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ณ อาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อ COVID-19 ให้สามารถดูแลรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที จำนวน 50 เครื่อง รวมมูลค่า 10.5 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีบริษัทประกันวินาศภัยที่ร่วมรับประกันภัยและบริจาคในโครงการ ได้แก่ กรุงเทพประกันภัย กรุงไทยพานิชประกันภัย บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) เจนเนอราลี่ ประกันภัย (ไทยแลนด์) ทิพยประกันภัย ไทยประกันภัย ธนชาตประกันภัย นวกิจประกันภัย นำสินประกันภัย ประกันภัยไทยวิวัฒน์ แปซิฟิค ครอส ประกันสุขภาพ ฟอลคอนประกันภัย เมืองไทยประกันภัย วิริยะประกันภัย สินทรัพย์ประกันภัย สินมั่นคงประกันภัย อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย อาคเนย์ประกันภัย เอเชียประกันภัย 1950 เอฟดับบลิวดีประกันภัย เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) และแอกซ่าประกันภัย

ทั้งนี้ ไทยรับประกันภัยต่อ (THRE) แจ้งงบการเงินในไตรมาส 1 ปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) บริษัทมีเบี้ยประกันต่อเติบโต 1% เพราะเบี้ยในส่วนของโครงการระยะยาวทยอยลดลง ในส่วนของเบี้ยประกันภัยต่อสุทธิลดลง 5% เนื่องจากเป็นไปตามแผนงานที่บริษัทปรับลดการรับประกันต่อโควิดประเภทเจอ จ่าย จบ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงลง แต่ถ้าไม่รวมเบี้ยประกันต่อโครงการระยะยาวและประกันโควิด เบี้ยประกันต่อสุทธิจะเติบโต 10%

ไทยรีประกันชีวิต (THREL) แจ้งงบการเงินในไตรมาส 1 ปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) บริษัทมีเบี้ยประกันต่อรับรวม 480 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 40 ล้านบาท คิดเป็น 8% จากสถานการณ์โควิด ทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อลดลง ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการชะลอตัวของตลาดประกันสินเชื่อและอีกส่วนเกิดจากการลดลงของสัญญาประกันสุขภาพ จากการยกเลิกสัญญาที่มีผลขาดทุนของปีก่อน



61 views

Comments


bottom of page