‘บริษัทประกัน’ เริ่มออกอาการ หลังยอดเคลม ‘เจอ จ่าย จบ’ ทะลุ 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่เก็บเบี้ยได้แค่ 5-6 พันล้านบาท ฉวยจังหวะสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย เสนอยกเลิกกรมธรรม์เจอ จ่าย จบ 96% ที่เหลือ พร้อมคืนค่าเบี้ย 100% หรือเปลี่ยนรูปแบบกรมธรรม์ รับส่วนลดไปซื้อประกันประเภทอื่น แจง...กฎหมายเปิดช่องให้บอกยกเลิกกรมธรรม์ได้ทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย ในส่วนผู้ขายหรือบริษัทประกันขอยกเลิกได้ถ้าประเมินแล้วว่าสถานการณ์สุ่มเสี่ยงต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะลูกค้าประกันรายอื่นที่อาจมีปัญหาไปด้วยถ้าบริษัทประกันเจ๊งจากเหตุเคลม เจอ จ่าย จบ พร้อมเชื่อ คปภ.เข้าใจในความจำเป็นและความอยู่รอดของธุรกิจประกันโดยรวมทั้งระบบ
Interview : คุณอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย
ตอนนี้สถานการณ์ของธุรกิจประกันวิกฤตแล้วใช่หรือไม่
ช่วงนี้ถือว่าซาลงแล้วสำหรับผู้ติดเชื้อ แต่ถ้าพูดถึงสถานการณ์มันยังแย่อยู่ คิดว่าบริษัทประกันภัยคงไม่กล้าทำแบบที่ผ่านมา เพราะคงต้องพยายามรับผิดชอบลูกค้าให้ดีที่สุดก่อน ซึ่งวันนี้จำนวนผู้ติดเชื้อดีขึ้นแล้ว แต่การเงินของบริษัทประกันภัยหลายๆ แห่งก็ไม่ค่อยดี ผลประกอบการที่ประกาศออกมาช่วงไตรมาสสามจะเห็นชัดแล้ว จึงเป็นความจำเป็นที่เขาจะต้องทำเรื่องบริหารความเสี่ยงวันข้างหน้าให้ดีที่สุด
การทำประกัน เจอ จ่าย จบ มีมากน้อยขนาดไหน คิดเป็นกี่กรมธรรม์ มีผลทำให้บริษัทประกันสั่นคลอนหรือไม่
ก็เป็นไปได้ เพราะ เจอ จ่าย จบ เป็นกรมธรรม์ที่ประชาชนยอมรับ มีการขายได้มากกว่า 10 ล้านกรมธรรม์ในปี 2564 เพราะถูกกับนิสัยคนไทย จ่ายง่าย ซื้อง่าย ราคาถูก ทำให้มีคนสนใจเยอะมาก และเราก็ได้จ่ายสินไหมเกินไปเยอะจริงๆ ซึ่งการออกโพรดักต์ตัวนี้มา ในส่วนบริษัทประกันวินาศภัยในเมืองไทย บริษัทที่ขาย เจอ จ่าย จบ ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทคนไทยเท่านั้น บริษัทต่างชาติเขาจะไม่กล้า แล้วบริษัทคนไทยก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อส่งเสริมนโยบายรัฐบาล เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาลตั้งแต่ต้นว่าติดเชื้อแล้วต้องอยู่กับบ้าน ทำมาหากินไม่ได้ แรกๆ ก็จะ 3 หมื่นบาทบ้าง 5 หมื่นบาทบ้าง ช่วงหลังๆ จะมีแสนบาทบ้าง
อย่างไรก็ดี ช่วงแรกๆ นั้นรัฐบาลออกค่ารักษาให้หมดสำหรับโรงพยาบาลของรัฐ และโรงพยาบาลของรัฐยังสามารถรับได้อยู่ แต่ตอนหลังผู้ป่วยเยอะมากๆ ต้องไปโรงพยาบาลเอกชน ก็เลยมีการขยายทุนจาก 3 หมื่นบาท 5 หมื่นบาท ขึ้นไปเป็น 1 แสนบาทบ้าง
สำหรับปี 2564 เราใช้สถิติของปี 2563 มาเป็นหลักในการคิดเบี้ย เพราะไม่เคยมีสถิติที่เกี่ยวกับโรคนี้บนโลกใบนี้มาก่อน เพราะเป็นโรคใหม่ เราไม่เคยเจอ โดยปี 2563 ประเทศไทยควบคุมได้ดีมาก ปีนั้นความเสียหายค่อนข้างน้อย เราก็ใช้เบี้ยประกันโดยใช้ฐานผู้เจ็บป่วยของปี 2563 มาเป็นฐานในการคำนวณ ซึ่งเบี้ยปี 2564 จะถูกกว่าปี 2563 ด้วย เพราะปี 2563 สถิติดี แต่ปี 2564 ทาง คปภ.ต้องให้เราลดเบี้ยอะไรลงบ้าง ก็ลดลงไป ปรากฏว่าการติดเชื้อเปลี่ยนไปเยอะ โดยปี 2563 ตลอดทั้งปีมีผู้ติดเชื้อประมาณ 6,800 คน ขณะที่ปี 2564 ตัวเลขล่าสุดทะลุ 2 ล้านคนไปแล้ว ตัวเลขเปลี่ยนไป 300 เท่า หรือ 3 หมื่นเปอร์เซ็นต์ ขณะที่ปี 2564 ยอดผู้เสียชีวิตมากกว่าปี 2563 ถึง 300 เท่าเหมือนกัน หรือ 3 หมื่นเปอร์เซ็นต์
บางสำนักก็บอกว่าบริษัทประกันภัยทำไมไม่คำนวณเรื่องความเสี่ยงอะไรให้ดี ส่วนตัวว่าเราเผื่อปัจจัยอะไรหลายๆ อย่างแล้ว ถ้าคิดว่าต้องเผื่อถึง 3 หมื่นเปอร์เซ็นต์มันขายไม่ได้ เพราะเบี้ยจะแพงมาก แต่ว่าไม่เป็นไรหรอก เมื่อขายไปแล้ว เกิดความเสียหายแล้ว ก็ทำหน้าที่จ่ายเคลมให้ดีที่สุด บริษัทบางบริษัทออกมาเหมือนคนไทยคุยกัน มีปัญหาก็บอกกันตรงๆ ว่าเรารับภาระมาก ถึงสิ้นปีนี้น่าจะมีเคลมถึง 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็มีจ่ายไปแล้วบางส่วน บางบริษัทพยายามอย่างมากในการหาเงินมาเติม เพื่อที่จะผ่านวิกฤตรอบแรกนี้ให้ได้ โดยตั้งแต่มิถุนายนปี 2564 พยายามทำหน้าที่ตรงนี้ให้ได้ แต่ตอนนี้ผู้ติดเชื้อลดลงไปมาก ดังนั้น ก็ต้องประเมินว่าล็อตหน้าไหวไหมถ้ามันอาจจะมีหรือไม่มี เราไม่รู้ เพราะเหลือเวลาที่ต้องคุ้มครองอีก 5 เดือน ถ้ามันไม่เกิดอะไรขึ้นก็ดีไป แต่เราเป็นนักบริหารความเสี่ยง เราไม่ได้บอกว่าเสี่ยงโชค ถ้ามันอาจจะต้องมีเคลมอีก บางบริษัทรับภาระไม่ไหว ลูกค้าประชาชนกลุ่มอื่นๆ ก็จะเดือดร้อนเหมือนของเอเชียประกันภัย ก็ประมาณ 2 ล้านกว่าคน ภาคธุรกิจก็ลงมาช่วยกันเต็มที่ หากมีอีกแล้วที่ไม่ไหว ก็ต้องบริหารความเสี่ยงโดยพูดกับประชาชนตรงๆ ว่า ถ้าข้างหน้าสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจก็ขอหยุดได้ไหม เขาก็อยากให้ประชาชนเลือก ประกันภัยก็มีภาระต้องเคลมเบี้ย พูดง่ายๆ 3-4 หมื่นล้านบาทที่ต้องจ่ายไปถือว่าจ่ายไปแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่อีก 96% ที่ยังคุ้มครองอยู่ ถ้าบอกเลิกได้ก็ต้องคืนเบี้ย 100% ก็ต้องคืนเบี้ย 5-6 พันล้านบาทให้กับประชาชน
บางคนบอกว่าเราเอาเปรียบประชาชนหรือไม่ บางคนมีเคลม คือจ่ายแน่นอน บางคนยังไม่เจ็บป่วย ยังไม่มีเคลม คือเราก็เอากลับไปคิดต่อว่า พอเดินต่อแล้วมีบริษัทที่มันไปไม่ไหวจะยุ่งกันกว่านี้
มีความเป็นไปได้ที่ทุกบริษัทจะยกเลิกกรมธรรม์เจอจ่ายจบทั้งหมดเลย
สถานการณ์บอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยมันมีสิทธิ์บอกเลิกทั้ง 2 ฝั่ง ของลูกค้าก็บอกเลิกกรมธรรม์ได้ตลอดเวลา ก็ได้เบี้ยคืนไป บริษัทเองก็สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ได้เช่นกัน ไปดูได้เลยทุกกรมธรรม์ในประเทศแม้แต่ทั่วโลก มันเป็นเหมือนกับเซฟทีคัท เป็นเครื่องตัดสาย พออันตรายแล้วต้องตัด ฉะนั้นมันเป็นสิทธิ์บอกเลิกทั้ง 2 ฝ่ายอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะบริษัทประกันภัยที่ทำได้ ทั้ง 2 ฝ่ายทำได้หากมีเหตุอันสมควร ซึ่งประกันรถยนต์ก็มี ประกันอัคคีภัยก็มี มีทุกกรมธรรม์ และทุกกรมธรรม์ คปภ.ก็เห็นชอบอยู่แล้ว คือไม่มีใครอธิบายให้ประชาชนฟังชัดเจนว่าตอนที่สินมั่นคงทำช่วงกรกฎาคม อาจจะเหตุผลยังไม่เพียงพอ เพราะช่วงนั้นเพิ่งจ่ายเคลมกันแค่พันล้านบาท คือสถานการณ์เวลายังไม่เหมาะสม ทุกคนก็ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วย สมาคมวินาศภัย บริษัทประกันภัยอื่นๆ เองก็คิดว่ามันมีแนวโน้มจะสูง มันยังไม่มีความชัดเจน ทุกคนก็ไม่เห็นด้วยในตอนนั้น แต่ปัจจุบันยอดเคลมมากกว่า 3 หมื่นล้านบาทแล้ว และช่วงนี้เป็นช่วงที่ดีที่สุดก็คือ สถานการณ์ในประเทศมันดีขึ้นมาก ยอดผู้ป่วยลดลง ผู้เสียชีวิตลดลง ดังนั้นเราคิดว่าจังหวะมันดี ประชาชนก็คงจะเข้าใจได้ ก็อยากจะพูดกันตรงๆ
ทาง คปภ.มีท่าทีอย่างไร จะตอบรับตามที่บริษัทประกันเสนอ หรือขอร้องว่าอย่ายกเลิก ขณะเดียวกันอาจจะทำให้คนไม่เชื่อมั่นต่อบริษัทประกันภัย
ส่วนตัวว่า การที่เราพูดความจริง เราเป็นนักบริหารความเสี่ยง รู้ว่าสถานการณ์ข้างหน้ามันไม่แน่นอน เหมือนขายตั๋วออกทะเล พอมาครึ่งทางเรือโดนพายุระลอกแรกไป มีความเสียหายไปบางส่วนแล้ว ถ้าโดนพายุใหญ่แล้วเรือล่มลงไป จะเดือดร้อนกว่านี้ การที่เราเข้าฝั่ง คืนค่าตั๋ว แล้วไปซ่อมเรือ ดีกว่าจะพาผู้โดยสารคนอื่นๆ ไปเสี่ยง ถ้าเราทนไม่ไหว สถานการณ์มันไม่ไหว ก็จะเสียหายมาก อย่างกรณีเอเชียประกันภัย ไปดูความเสียหายว่ามากขนาดไหน บางคนอาจเสียความตั้งใจบ้างล่ะ เสียเงินซื้อประกันแล้ว แล้วไปไม่สุด แต่ถ้ายังไม่เสียหายอะไร ท่านยังไม่ป่วย ท่านยังไม่เจ็บ และขอคืน หากท่านเจ็บป่วยก่อนกรมธรรม์ถูกยกเลิกเราต้องหาเงินมาจ่ายทุกบาททุกสตางค์ ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินขายทรัพย์สินอื่นๆ มาเพื่อจ่ายเคลม เราก็ทำ เราพิสูจน์แล้วว่าภายในช่วง 2-3 เดือนจ่ายเคลมไป 2-3 หมื่นล้านบาทนี่มันไม่ใช่เรื่องเล็ก ก็ขอให้เข้าใจไว้ ณ ตรงนี้ว่าเราไม่ได้ทิ้งท่าน แต่ข้างหน้ามันไม่แน่นอน
ตัวเลขอีกตัวที่สำคัญมากก็คือในประเทศไทยเหมือนคนที่มีประกันและฉีดวัคซีนแล้ว จะใช้ชีวิตค่อนข้างอิสระเหมือนเดิม ฉะนั้น สถิติของประเทศประชากรติดเชื้อโควิดประมาณ 2.7% แต่กลุ่มคนที่มีประกันติดเชื้อประมาณ 3.8-4% กว่าๆ ตัวเลขนี้ทำให้เรารู้สึกว่า คนที่มีประกันภัยโควิดติดเชื้อกว่าคนทั่วไปถึงกว่า 40% ทางสื่อบอกว่าประกันเป็นสาเหตุทำให้คนติด เพราะคนจะไม่ระมัดระวังตัว เราก็ถูกต่อว่าในหลายมุม ขอพูดตรงๆ ก็คิดว่าเมื่อถึงสถานการณ์ที่สมควร เราก็ต้องกล้าทำในสิ่งที่มันจะพาให้ทุกคนรอดไปได้ และไม่ให้มีความเสียหายไปมากกว่านี้
ลูกค้าผู้ทำประกัน จะต้องทำอย่างไร
ท่านต้องดูว่าที่เขาเสนอเปลี่ยน คือเปลี่ยนตรงประกันโคม่า 5 เท่า หรือประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล 10 เท่า หรือว่าจะเอาส่วนลดไปซื้อประกันประเภทอื่นเขาก็ให้ 2 เท่าของเบี้ยประกันที่ท่านจะรับคืน หรือสุดท้ายคือท่านบอกว่าไม่อยากซื้อแล้ว บริษัทเขาก็จะคืนเงินให้ 100% เลย ไม่มีหักอะไร ส่วนเคลมที่จ่ายๆ ไปไม่มีปัญหาก็คือ 100% ขณะที่ คปภ.ก็คงคุยกันได้ ซึ่ง คปภ.เองก็มีหน้าที่ดูแลบริษัทประกันภัยไม่ให้มีปัญหาถึงขนาดต้องปิดกิจการ ซึ่งถ้าปิดกิจการก็คือเงินของประชาชนที่เสียหาย โดยเงิน 3-4 หมื่นล้านบาทที่จ่ายไป ก็คือเงินของประชาชน บริษัทประกันภัยมีหน้าที่แค่เพียงเอาเบี้ยประกันของประชาชนมาบริหารให้ดีที่สุด ดูความเสี่ยงที่เหมาะสม ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องของเจ้าของบริษัทกับประชาชน เราจะต้องดูแลเงินของประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งกลุ่มไหนที่เสียหาย เราก็ไม่ทอดทิ้ง เมื่อสถานการณ์มันไม่ไหว ก็ต้องคุยกัน โดยคนที่ถูกบอกเลิกกรมธรรม์ก็ไม่ได้เสียหาย ก็ได้เบี้ยคืนกลับไปเก่า
Comments