top of page
369286.jpg

เส้นทาง Data Centre ในอาเซียน...ไทยยังมีโอกาสเติบโตสูง 



เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ฝ่ายวิเคราะห์ กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ CGSI ได้จัดทำรายงานที่นาสนใจเรื่อง “เส้นทางการเติบโตของ Data centre ในอาเซียน” พร้อมกับวิเคราะห์โอกาสและการเติบโตของแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทย ที่จะเติบโตไปพร้อมกับความต้องการ Data centre เป็นประโยชน์ควรหยิบมาเผยแพร่ต่อดังนี้....


จากข้อมูลของ DC Byte ความจุ (capacity) ของศูนย์ข้อมูล หรือ Data centre ในอาเซียนอาจเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า จาก 1,677MW ในไตรมาส 1/67 เป็น 7,589MW ภายในปี 71 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากปริมาณการใช้งาน อินเตอร์เน็ต (data usage) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในภูมิภาคจากการใช้งานอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย, ความต้องการการประมวลผลเพื่อรองรับระบบการเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์ (AI training) และข้อจำกัดด้านพื้นที่และกำลังไฟฟ้าในตลาดหลัก เชื่อว่ามาเลเซียและอินโดนีเซียจะได้ประโยชน์มากสุดจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นใน Data centre เพราะมีความ ได้เปรียบด้านที่ตั้ง

           

ทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย สองประเทศนี้กลายเป็น “gateway” ในอุดมคติสำหรับการเชื่อมต่อข้อมูลอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ ถึงแม้ว่าขณะนี้สิงคโปร์จะเป็นประเทศที่มีความจุ Data centre มากที่สุดในอาเซียน แต่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่และพลังงานไฟฟ้า ทำให้ผู้ให้บริการหันไปพิจารณาหาประเทศอื่นอย่าง มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ไทย, เวียดนามและฟิลิปปินส์


ขณะที่ DC Bytes ประมาณการว่าความจุ Data centre ในมาเลเซีย, ไทย และอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 32-56% CAGR ในปี 2566-2571 สูงกว่าสิงคโปร์ที่ 8% CAGR นอกจากนี้คาดว่าความต้องการ Data centre ที่เพิ่มขึ้นนอกประเทศสิงคโปร์จะมาจากทั้ง Hyperscaler ระดับโลก (Amazon, Google และ Microsoft) และผู้ให้บริการรับฝาก Server (colocation provider) ที่มีลูกค้าต้องการทรัพยากรการประมวลผลสำหรับการพัฒนาและการใช้งาน AI


“เราเชื่อว่าผู้เล่นที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ธุรกิจการก่อสร้าง Data centre เช่นผู้จัดหาอุปกรณ์, เจ้าของอสังหาริมทรัพย์แล ผู้รับเหมาก่อสร้าง จะได้ประโยชน์มากกว่าผู้ให้บริการในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า เนื่องจากวงจรการเติบโตของอุตสาหกรรมในขณะนี้ยังมุ่งเน้นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ AI training นอกจากนี้เรามองว่าผลตอบแทนในรูปของกำไรของบริษัทโทรคมนาคมอาจยังไม่สูงนัก แต่ผู้ประกอบการเหล่านี้น่าจะได้ประโยชน์จากเงื่อนไขการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่มากขึ้นตามความจุ Data centre ที่เพิ่มขึ้น”


สำหรับประเทศไทยนั้นกล่าวได้ว่าในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยยังถือว่าเป็นผู้เล่นที่มีขนาดเล็กในอุตสาหกรรม Data centre เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์

         

ตามข้อมูลของ Cushman & Wakefield ประเทศไทยมี Data centre ทั้งหมด 59 แห่ง รวมความจุ 66MW ณ สิ้นไตรมาส 1/67 นอกจากนี้ไทยยังมี Data centre ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 80MW และอยู่ระหว่างการวางแผนอีก 246MW ขณะที่ DC Byte ประมาณการเชิงรุกว่า Data centre ในไทยอาจมีความจุเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 642MW ภายในปี 2567


“เราเชื่อว่าไทยมีความต้องการ Data centre ในประเทศสูง เนื่องจากประชากรที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก จึงส่งผลให้ความต้องการอินเตอร์เน็ตพุ่งสูงขึ้นตาม นอกจากนี้เชื่อว่าไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งและพัฒนาต่อเนื่อง เช่น โครงข่ายพลังงานไฟฟ้าที่เชื่อถือได้และโครงข่ายโทรคมนาคมที่พัฒนาแล้ว ส่งผลให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายการลงทุนด้าน Data centre ที่น่าสนใจ”


ภายใต้นโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ที่มุ่งเป้าเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ จากเดิมที่พึ่งพิงภาคการผลิตไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและดิจิทัล สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้เสนอสิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรม Data centre ในประเทศไทย ประกอบด้วย การยกเว้นภาษีเป็นเวลา 8 ปีและยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับการจ่ายเงินปันผล, การส่งกำไรกลับประเทศได้ง่ายขึ้น และการปลดล็อคหลักเกณฑ์การถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการอนุญาตให้ถือครองที่ดินเพื่อใช้ในโครงการ Data centre


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยจะมีโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายไฟฟ้าและการเชื่อมต่อข้อมูลอินเตอร์เน็ตที่แข็งแกร่ง แต่เราเชื่อว่าไทยยังต้องปรับปรุงอีกหลายด้าน เพื่อให้กลายเป็นจุดหมายที่น่าสนใจสำหรับ Data centre เมื่อเทียบกับมาเลเซียที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนากว่าไทยสำหรับการก่อสร้าง Data centre เช่น ไทยมีสถานีสายเคเบิ้ลใต้น้ำ (submarine cables) น้อยกว่ามาเลเซีย ทำให้ไทยสามารถรองรับปริมาณการใช้งานอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศได้จำกัด  จึงอาจไม่น่าสนใจสำหรับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกที่กำลังมองหาการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตประสิทธิภาพสูง


ตามข้อมูลของ Submarine Networks ประเทศไทยมีสถานีเคเบิ้ลใต้น้ำ 9 แห่ง เทียบกับมาเลเซียที่มี 19 แห่ง เราเชื่อว่าสาเหตุน่าจะเป็นเพราะสภาพภูมิประเทศของไทยไม่เอื้อต่อการวางสายเคเบิ้ลใต้น้ำเท่ากับมาเลเซีย และถึงแม้ว่าไทยจะยังเชื่อมต่อกับโครงข่ายสายเคเบิ้ลระหว่างประเทศที่สำคัญ แต่ไทยยังขาดศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์เหมือนมาเลเซีย


ข้อมูลของ Bloomberg ระบุด้วยว่า ไทยได้คะแนนน้อยกว่ามาเลเซียด้านความสะดวกในการขอใบอนุญาต, ความมั่นคงทางพลังงาน และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยได้ริเริ่มหลายโครงการเพื่อปรับปรุงเรื่องดังกล่าว เช่น รัฐบาลลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายการเชื่อมต่อข้อมูลอินเตอร์เน็ตด้วยการขยายโครงข่ายสายเคเบิ้ลใต้น้ำ โดย Asia Direct Cable (ADC) เป็นตัวอย่างของการลงทุนในเรื่องนี้ ซึ่งมุ่งเป้าเพิ่มแบนด์วิธและเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่อข้อมูลอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ


นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนสำหรับ Data centre เพื่อความยั่งยืน รวมทั้งลด ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยปกติแล้ว Data centre ในนิคมอุตสาหกรรมจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าสูง ซึ่งเชื่อว่าพลังงานทดแทนเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้


สำหรับโครงการลงทุนใน Data centre ใหม่ในไทย เช่น Microsoft ในเดือนพ.ค.67 ประกาศทุ่มเงินลงทุนก่อสร้าง Data centre hub ในประเทศไทย ซึ่งบริษัทวางแผนจะเปิด Data centre ระดับภูมิภาคแห่งแรกเพื่อเพิ่มความสามารถของแพลตฟอร์ม Azure cloud นอกจากนี้ Microsoft ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจพัฒนาทักษะด้าน AI มากกว่า 100,000 คนเพื่อสนับสนุนผู้พัฒนาในท้องถิ่น


เดือน กุมภาพันธ์ 2567 มีข่าวว่า บริษัท กัลฟ์เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) , Singtel และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ร่วมกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (JV) ถือหุ้นสัดส่วน 40%, 35% และ 25% ตามลำดับ เพื่อก่อสร้าง hyperscale Data centre แห่งใหม่ใกล้กับกรุงเทพ ทั้งนี้ Data centre จะบริหารงานโดยบริษัท จีเอสเอ ดาต้า เซนเตอร์  มีกำหนดจะเปิดดำเนินงานในปี 68 ด้วยความจุมากกว่า 20MW


เดือนพฤศจิกายน 2566 โฆษกรัฐบาลกล่าวว่าประเทศไทยจะได้รับเงินลงทุน 3 แสนล้านบาทจาก Amazon Web Services (AWS), Google และ Microsoft ขณะที่มีรายงานว่า AWS เตรียมจะสร้าง Data centre ในประเทศไทยด้วยงบลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์ ภายในระยะเวลา 15 ปี


ความคิบหน้าล่าสุดเมื่อ 30 กันยายน ที่ผ่านมา Google ประกาศแผนการลงทุนมูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในประเทศไทย โดยวางแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ และดาต้าเซ็นเตอร์ในกรุงเทพมหานคร และชลบุรี เพื่อจะช่วยตอบสนองความต้องการในการใช้งานคลาวด์ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก

           

นอกจากนี้ Google ยังได้เดินหน้าต่อยอดโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเติบโตในเศรษฐกิจ AI และช่วยให้คนไทยทุกคน สามารถเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลและ AI ได้มากขึ้น ตามภารกิจ ’Leave No Thai Behind’

           

การประกาศของ Google ครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานร่วมกันกับรัฐบาลไทย เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงที่ทำไว้ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2566

6 views

コメント


bottom of page