Interview : ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์มหภาค
ติง...โครงการประชานิยมของรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาระดับมหภาค แต่เน้นแก้แบบจุลภาคที่ขาดความรอบคอบ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม สร้างปัญหาในแทบทุกรายละเอียด อีกทั้งรัฐบาลมุ่งแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 แบบ Short Term แทนการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนแบบ Long Term ทำให้ทุ่มใช้เงินแก้ปัญหามากเกินควร ทั้งๆ ที่หมดเวลาในการทุ่มเงินไปแล้ว เพราะเงินจะหมดหน้าตัก ไม่มีให้ใช้สำหรับฟื้นฟูหลังโควิด-19 หยุดการระบาด ต้นตอแห่งปัญหาอยู่ที่รัฐบาลใช้นโยบายการเมืองนำนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อเอาใจฐานคะแนนเสียง รวมทั้งเป็นรัฐบาลแห่งการเสียค่าโง่ ที่ต้องจ่ายชดเชยค่าโง่-ค่าปรับเป็นหมื่นล้านให้คู่สัมปทานของรัฐแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยิ่งเป็นการทำให้ประเทศไทยเข้าโซนอันตรายในยุคข้าวยากหมากแพงที่แทบไม่มีภาคธุรกิจใดที่มีกำไรมากพอที่จะผลักดัน GDP ของไทยได้เลย พร้อมย้ำ วันนี้เป็นโอกาสทองของคนที่มีทรัพย์สิน เงินทอง สามารถต่อยอดลงทุนให้ได้กำไรงอกเงยบานสะพรั่ง ส่วนคนจนก็จนกันต่อไป ทำให้ช่องว่างคนจน-คนรวย ถ่างกว้างมากขึ้นไปอีก
ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์มหภาค เห็นภาพประชาชนไปเข้าคิวร้องห่มร้องไห้ ไปขอความช่วยเหลือในโครงการเราชนะแล้วรู้สึกอย่างไร
ก็เป็นการแก้ปัญหาที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก คือไม่ได้แก้ระดับมหภาคแต่แก้แบบจุลภาค พอแก้แบบจุลภาคต้องคิดระบบแบบรอบคอบ พอไม่รอบคอบก็เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมขึ้น เช่นคนไม่มีมือถือจะทำอย่างไร คนที่จนจริงๆ ไม่มี wifi แบบคนอื่นก็ต้องไปซื้อซิมเติมเงินเรื่อยๆ คนเหล่านี้รู้สึกว่าเป็นปัญหาเหมือนกัน ความไม่สะดวก ความไม่คล่อง และยังมีคนกลุ่มนอกระบบทางการซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่มั่นใจว่าตัวเองควรเข้าสู่ระบบไหม ระบบนี้ต่อไปรัฐบาลจะมาเช็กบิลไหม ผมคิดว่าเป็นกับดักทางนโยบาย คือพอใช้วิธีแจกเงินแล้วคิดว่าแจกอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ พอไปถึงระบบก็ต้องคิดอีกว่าทำอย่างไรให้การแจกเงินนี้ยิงนกได้มากกว่าหนึ่งตัว นอกจากจะให้เงินแล้วก็อยากให้ประชาชนเข้าสู่ระบบภาษี วิธีคิดจะพาไปเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้นคนที่แก้ปัญหานโยบายต้องแยกระหว่าง Short Term กับ Long Term ก่อนว่าปัญหา Short Term กับ Long Term มีไหม ผมคิดว่าตอนหลังปัญหาคือรัฐบาลจะงงๆ นิดนึงว่ามีการระบาดโควิดที่สมุทรสาคร อาจจะรู้ว่าต้องทุ่มเยอะๆ แล้ว เพราะจริงๆ แล้วปัญหาระยะสั้นจะหมดเพราะวัคซีนจะมาแล้วเพียงแต่วัคซีนในเมืองไทยมาช้า ต่างประเทศเขาฉีดกัน คิดว่าประมาณกลางปีนี้จะเริ่มเข้าสู่ระดับที่เพียงพอ ขณะนี้ในยุโรป สหรัฐ ก็สบายใจว่าประเทศที่พัฒนาจำนวนมากยังไม่อยากใช้วัคซีนเท่าไหร่ ทำให้การขาดแคลนวัคซีนเบาลงไป สถานการณ์ในสหรัฐ ยุโรป การใช้วัคซีนต้องเร็วมากและเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วจากปัญหาที่ล็อกดาวน์หรือติดต่ออะไรไม่สะดวก แต่ของไทยเป็นประเทศร้อนโอกาสไวรัสระบาดมีโอกาสน้อยกว่าชาวบ้านเขา ตรงนี้พอเราไปทุ่มมากก็มีปัญหาว่าการจะฟื้นฟูหลังจากโควิดนั้นเราจะมีเงินไหม คนที่กำหนดนโยบายต้องมองภาพระยะยาวให้ขาดว่าระยะสั้นทุ่มเท่าไหร่แค่ไหนหมดเวลาทุ่มหรือยัง ถ้าถามผมหมดเวลาทุ่มไปแล้วตั้งแต่สมุทรสาครมีปัญหา super spread ไม่ใช่ปัญหาเศรษฐกิจแต่เป็นปัญหาการควบคุม เรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจต้องหยุด แล้วไปเน้นเรื่องฟื้นฟูมากกว่า อันนี้เป็นความแตกต่างในวิธีคิดและการมองที่ไม่เหมือนกัน
ทำไมมองว่าหมดเวลาทุ่ม เพราะเที่ยวนี้ทุ่ม 40 ล้านคนเลย
ผมไม่แน่ใจว่าที่เขาทุ่มเยอะเป็นเพราะการเมืองหรือไม่ ไม่แน่ใจว่าเพราะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วยหรือเปล่า มันมีความซับซ้อนเชิงการดำเนินนโยบาย เพราะหลายปีมานี้รัฐบาลปัจจุบันเอาปัจจัยการเมืองเป็นตัวนำ จริงๆ เราไม่มีทีมเศรษฐกิจเรามีแต่ดูผู้ที่มาแลด้านเศรษฐกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง ปัญหาเลยเป็นลักษณะแบบนั้น ทั่วโลกก็มีปัญหาไม่ใช่ไทยประเทศเดียว แต่ปัจจัยทางการเมืองกลับมามีอิทธิพลมากขึ้น ตอนช่วงเกิดโควิดมีความไม่พอใจเกิดขึ้นเยอะ รัฐบาลก็พยายามเอาเงินมาดูแล ถ้าสังเกตจะเห็นว่าหลายเดือนที่ผ่านมารัฐบาลทั่วโลกไม่กระตุ้นเศรษฐกิจกันแล้ว กระตุ้นกันน้อยมาก มีแต่สหรัฐที่ยังเถียงกันอยู่จนหมดเวลา เถียงไปเถียงมาจนใช้วัคซีนเกือบหมดไปแล้ว ถึงจะกระตุ้นประโยชน์ก็น้อย
ช่วงการฟื้นตัวที่ต้องฟื้นฟู ตอนนั้นจะมีเงินหรือไม่
จะฟื้นไหม คือสหรัฐกับยุโรปจะฟื้นเร็ว โดยเฉพาะสหรัฐฟื้นเร็วแน่นอน เคสที่มีปัญหาโควิดเขาลงเร็วมาก และประสานมาตรการกระตุ้นที่เขาออกมาเร็ว แต่ก็ระยะสั้น เพราะมาตรการกระตุ้นเขาทำช้าไปเพราะไม่มีความจำเป็นแล้ว
ถ้าถึงเวลาที่ไทยเราต้องฟื้นฟู อาจต้องมีการกู้อีกสำหรับใช้ฟื้นเศรษฐกิจได้ด้วย หลังจากที่เรากู้เพื่อแจกเพื่อเยียวยามาแล้ว ในระบบเศรษฐกิจไทยและวินัยการคลังยังเรารับเรื่องการกู้ได้ไหม
กู้หมายถึงเอาเงินอนาคตมาเติมวันนี้ เพราะฉะนั้นคนปัจจุบันจะชอบ เพราะมีโครงการต่างๆ ให้ใช้กัน คนจะรู้สึกว่าดี แต่คนไม่ได้คิดระยะยาวว่าการเติมเงินเข้าไปแบบนี้จะทำให้ตัวเองทรุดไหม เหมือนอยากรวยแต่ไม่มีเงินออม แล้วใช้วิธีกู้มา วิธีคิดตรงนี้ต้องระมัดระวังพอสมควร สถานการณ์ของไทยที่ต้องระวังคือระยะยาว การดูแลเศรษฐกิจมีความสำคัญมากว่าเราจะมีเม็ดเงินมากน้อยแค่ไหน คือประเทศไทยกำลังเจอปัญหาใหม่ในเรื่องราชการแผ่นดิน คือเรามีเศรษฐกิจที่มีรัฐบาลเสียค่าโง่เรื่อยๆ พวกค่าโง่ค่าปรับ ไปฟ้องศาลปกครองแล้วแพ้ศาลปกครอง แล้วต้องมาจ่ายเงินมหาศาลเป็นหมื่นล้านในหลายโครงการ ไม่ใช่โครงการนี้โครงการเดียวอาจจะมีอีกเป็น 10 โครงการที่รอเสียค่าโง่ ซึ่งพวกนี้เป็นโครงการที่ต้องเสียด้วยเหตุผลการทุจริต หมายความว่ามันมีกระบวนการร่างให้ทุกจริต แต่ถ้าคุณทุจริตต้องเสียค่าโง่ คือคุณทำไม่ถูกต้องก็เสียค่าโง่ คุณก็ไม่รับไม่รู้ไปทำนองนั้น
ตรงนี้เราก็ตั้งข้อสังเกตเคสของ กสทช.ว่าจะเกิดอีกกี่กรณี แล้วจะมีการเอาเนื้อหมูไปแปะเนื้อช้างอย่างไรบ้าง เราไม่รู้เลยตรงนี้ รัฐบาลในอนาคตจะต้องดูแลอย่างมาก ผมไม่รู้ว่ารัฐบาลนี้จะเป็นรัฐบาลไปอีกกี่ปีข้างหน้า แต่การที่เราใช้เงินอนาคตมันทำให้เราอ่อนแอลง เหมือนคนชรามีความเสื่อมเป็นวิกฤตที่สะสมทีละเล็กทีละน้อย กล้ามเนื้อค่อยๆ อ่อนแรงไป กระดูกพรุน แต่เวลาเดิน การพูด รู้สึกปกติดี ไปฉีดสเต็มเซลล์หน้าตาผ่องใสดี ใช้เทคโนโลยีบ้างให้ดูดี เช่นคนไทยมีมือถือใช้มากขึ้น ใช้ออนไลน์มากขึ้น แต่มันพรุนข้างใน ข้างนอกยังดูดี ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคิดโดยหลักใหญ่ว่าต้องให้การเมืองอยู่ห่างจากเศรษฐกิจมากหน่อย คืออย่าดำเนินนโยบายเศรษฐกิจโดยหวังผลในเรื่องฐานเสียง ดึงคนมาเลือกเราในอนาคต ยุบสภาเลือกตั้งคะแนนเสียงเรามาเท่าไหร่ จะได้เป็นนายกฯ ไหม หรือเราจะชนะเลือกตั้งในท้องถิ่นไหม อบต.ของเราจะอยู่ในมือใคร หรือ กทม.จะเป็นของเราหรือไม่ อันนี้ไม่ควรอยู่ในมือคนบริหาร
ต้องใช้เศรษฐกิจนำ
ใช่ โครงการต่างๆ อย่างเราชนะ เรารักกัน คำพวกนี้เป็นสีสัน เป็นการแต่งคำให้ดูเป็นการยอมรับ แต่คอนเทนต์ของมันสำคัญ อย่าง กสทช.ดูเหมือนเป็นองค์กรอิสระ หน่วยงานอื่นไม่น่าเข้ามาแทรกได้ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่
เรื่องเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยไทยเป็นอย่างไร
คือเงินเฟ้อโดยทั่วโลกและของไทยมีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลง เนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนไม่มี ตอนนี้พึ่งรัฐบาลให้มาถมให้เต็ม โอกาสที่ดอกเบี้ยจะขึ้นแรงๆ มันยากมาก ในสหรัฐอาจจะมีบ้างเพราะในช่วงนี้เขามีนโยบายของไบเดนที่จะมีขึ้นมาบ้าง แต่ชั่วคราว ส่วนเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับขึ้นแต่จะขึ้นแรงแค่ไหนในช่วงต่อไปก็เป็นอีกประเด็นนึง ถ้าให้ผมคาดน่าจะช่วงปลายปีอาจจะแรง ราคาสินค้าขั้นปฐมหรือสินค้าวัตถุดิบจะมีราคาแพงขึ้น อย่างวัตถุดิบขึ้นราคาแล้วหลายอย่าง และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขาดการลงทุนต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีพวกนี้ทำให้ราคาสูง ด้านพลังงานชัดเจนว่าไม่มีการลงทุนทั่วโลกมานานมากตั้งแต่เรากังวลเรื่องเศรษฐกิจจีน 2014 อันนี้ก็เป็นปัญหาที่จะต้องระมัดระวัง พอการลงทุนน้อยก็เป็นเรื่องยากที่ราคาสินค้าพวกแร่ธาตุหรือสินค้าพลังงานจะคงไว้แบบอดีต คงยาก มีแต่จะขึ้นและทำให้วัตถุดิบอื่นมีราคาสูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น เพียงแต่ใช้เวลานิดนึง สำหรับสินค้าขั้นสุดท้ายคือสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้วัตถุดิบอาจจะต้องใช้เวลาหน่อยซึ่งพวกนั้นยังมีกำลังการผลิตเหลือเฟืออยู่ อาจจะไปขึ้นราคาปลายปีประมาณ 1-2% แต่ถ้าขึ้น 8-9% ก็น่ากลัว แต่โอกาสที่จะถึงระดับนี้ภายใน 1-2 ปีนี้น่าจะยาก แต่ถ้าเป็นสินค้าวัตถุดิบเป็นไปได้บางตัวที่ราคาจะขึ้นมาก ถ้าสังเกตจะเห็นว่าตอนนี้พวกไมโครชิปขึ้นราคาหนัก เพราะที่ผ่านมาแทบไม่ได้ผลิตไม่มีการลงทุนเพิ่ม
ในระดับภาวะเงินเฟ้อก็เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องดูแลแต่ภาวะเงินเฟ้อไม่ใช่ค่าครองชีพอย่างเดียว ก็เป็นโอกาสทำเศรษฐกิจเหมือนกันถ้าราคามันขึ้น ดีขึ้น เราผลิตสินค้าที่กำลังขึ้นก็จะเป็นช่องทาง เป็นโอกาสในการทำกำไร คนที่ทำสินค้ากึ่งเกษตร หรือทำสินค้าวัตถุดิบก็อาจเป็นปีที่ดี ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการ
ดูสัญญาณจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปีขึ้นมาแรง รวมทั้งราคาน้ำมัน สถานการณ์ของไทยอย่างเงินเฟ้อข้าวของแพง ขณะนี้กำลังซื้อของไทยหายไปมากแล้ว มาเจอกันแบบนี้อันตรายไหม
อันตรายพอสมควร เพราะคนไทยขณะนี้ไม่มีธุรกิจที่ดี เพราะเราส่งเสริมการท่องเที่ยวมากจนไม่มีเศรษฐกิจอื่นเหลืออยู่ เวลาที่เพื่อนบ้านโตเราก็จะโตยาก เพราะไม่รู้จะแข่งกับเขาอย่างไร สินค้าเราน้อย รอนักท่องเที่ยวก็ต้องอีก 2-3 ปีกว่าจะมา ฉีดวัคซีนได้ คนเดินทางได้แต่จะมาแค่ทำธุรกิจ ที่จะมาเที่ยวคงยากแล้ว ก็ต้องระมัดระวัง ของไทยจะลำบากตรงนี้
แต่ของประเทศการที่ bond yield ผลตอบแทนขึ้นเป็นการบอกว่าสภาพคล่องระยะยาวมันอยู่ไม่ได้ด้วยอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยหลายปีข้างหน้าคงขยับขึ้นเยอะ อันนี้ต้องรอดูต่อไปว่าสถานการณ์สหรัฐเป็นอย่างไร ถ้าสหรัฐจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยมากๆ เนื่องจากสู้เงินเฟ้อไม่ได้ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงปีหน้า ปีนี้อาจจะยังไม่ใช่เวลา ก็เป็นช่วงที่ค่าเงินดอลลาร์ แข็งซึ่งตรงนั้นทำให้เราลำบากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นเป็นโอกาสเหมือนกัน คนที่ลงทุนในสินทรัพย์ราคาจะเริ่มเปลี่ยน โครงสร้างเริ่มเปลี่ยน บางตัวเริ่มดีขึ้น ก็เป็นโอกาสในการปรับพอร์ตไปลงทุนที่ต่างๆ ให้เหมาะสมขึ้น ก็เป็นโอกาสทำประโยชน์ได้ในทางการเงิน
แต่ระดับชาวบ้านที่เป็นคนชั้นกลาง ชั้นล่าง มีทรัพย์สินไม่มาก โอกาสก็จะไม่มี ความเหลื่อมล้ำของคนมีรายได้น้อยกับคนมีเงินจะห่างไปเรื่อยๆ ขณะที่คนชั้นกลาง ระดับบนหน่อย ที่มีทรัพย์สินหรือเงินพอที่จะไปลงทุนในหุ้นหรือที่ต่างๆ คนพวกนี้มีโอกาสใหม่ๆ ในการลงทุน แต่ต้องศึกษาหน่อยว่าควรจะทำอย่างไรกับมัน คนที่ไม่มีที่ยืนก็จะยืนในที่แคบลงเรื่อยๆ แต่ยังเป็นลูกค้าที่ดีอยู่ ยังต้องใช้มือถือ ซื้อมือถือให้ลูกเล่นเกม ยังเป็นผู้บริโภคที่ดี แต่ในแง่ทำมาหากินคิดว่าต้องเอาใจใส่มากขึ้น
มอง NPL อย่างไร ยังต้องระวังไหม
ยังต้องระวังอยู่ เพราะมันยังมีสาขา มีบางส่วนที่กู้เยอะๆ ออกตั๋วดีๆ ที่จะไปต่อได้หรือไม่ก็ไม่รู้ เราจะเห็นว่าราคาพันธบัตรต่างๆ สถานการณ์ยังไม่ดีอยู่เลยตอนนี้ และ NPL ยังผ่อนๆ ตัวเลขเลยยังไม่โผล่ แต่คงซึมไประยะนึง เขาคงไม่อยากให้โผล่มาก เลี้ยงไปเรื่อยๆ แต่ปัญหาคือระหว่างนี้ไปจะมีบริษัทที่ Default ไหม ซึ่งอันนี้ตอบยากมาก เช่น พวกที่ทำอสังหาฯ แล้วเอาเงินไปลงทุนด้านโรงแรมระดับ 5 ดาวหรือระดับสูงๆ พวกนี้เป็นพวกสายป่านยาวพอหรือไม่ ถ้ายาวไม่พอก็ต้องแก้ด้วยการขาย asset เพื่อเอาเงินมาปิดหนี้ แต่ถ้าขายไม่ได้ต้อง Default หรือไม่ ก็ต้องถามง่ายๆ คือยังมีโอกาสอยู่ที่จะเกิดแบบนั้นเหมือนกัน ถ้าเกิดขึ้นมาก็น่าเป็นห่วง แต่ก็เป็นสาขาเฉพาะ คงไม่ถึงกับพอเกิด NPL มันจะลามไปทั่ว คงไม่ใช่ ขณะนี้มันเจาะเฉพาะบางรายที่สายป่านไม่ยาวพอจริง พวกนี้น่าเป็นห่วง และประชาชนที่ไปซื้อพันธบัตรบริษัทเหล่านี้กลัวจะขายไม่ได้ แต่ถ้ามีเงินสดถือเป็นช่วงที่สามารถลงทุนได้ ก็ดูวิธีลงทุนต่างๆ ทำการบ้านหน่อย
Comments