top of page
379208.jpg

ระวัง! สงครามเศรษฐกิจ...ตลาดเงิน-หุ้นระอุ


ระวัง! สงครามเศรษฐกิจ ตลาดเงิน-หุ้นระอุ

จี้แบงก์ชาติรับมือสถานการณ์ไม่ปกติ


Interview : ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


นโยบายเฟดทั้งเลิก QE ปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ตลาดเงิน ตลาดทุนของโลกปั่นป่วน สับสน ฝุ่นตลบจนมองไม่เห็นทางออก ช่วงไตรมาสแรก ปี 65 เต็มไปด้วยความกังวลและความไม่แน่นอน อาจนำไปสู่สงครามเศรษฐกิจผ่านตลาดการเงินเพื่อรับมือเฟดที่ดึงเม็ดเงินกลับไปในภาวะที่เศรษฐกิจ-การเงินทั่วโลกยังอ่อนแอ แนะแบงก์ชาติ ต้องออกมาตรการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ที่สำคัญต้องสื่อสารให้คนทุกกลุ่มรับรู้-เข้าใจว่านโยบายและมาตรการต่างๆ อาจไม่มีผลสัมฤทธิ์แบบฉับพลันทันที รวมทั้งต้องถอดบทเรียนกันใหม่ เลิกนโยบาย ลด แลก แจก แถม หันมาตั้งรับวิกฤตค่าครองชีพสูงด้วยมาตรการเพิ่มรายได้ให้ประชาชนอย่างทั่วถึงโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง


มองโลก มองการเงิน ภายหลังมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน ดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาอย่างไร

มันจะกลายเป็นความวุ่นวาย เพราะเมื่อก่อนเฟดเองรับหน้าที่โอกาสเป็นคนคอยประคองเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้เฟดจะต้องเร่งบทบาทในเชิงรุกมากขึ้น คาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยประมาณ 4 ครั้งในปีนี้ ขึ้นทีละ 0.25 จุด เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่โตล่าสุดขึ้นมา 7% เชื่อว่าถ้าใช้โมเดลค่อยๆ ทำ QE หรือควบคุมปริมาณเงินไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจะชะลอเศรษฐกิจได้ แล้วก็เปิดให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาฟื้นตัว อันนั้นคือภาพที่เฟดมองไว้

แต่อีกมิติหนึ่งคือ การขึ้นดอกเบี้ยแบบนี้จะส่งผลต่อการไหลของเงินของโลกว่าจะไหลไปสู่ที่ใหม่ และการที่เฟดพยายามใช้วิธีแบบนี้ ทำให้เกิดความสับสน กระทบความเชื่อมั่น ทำให้หุ้นตกไปทั่ว อาจจะเกิดการเทขาย แล้วไปหาสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยมากกว่า ทีนี้ตัวตลาดการเงินมันเป็นตลาดที่ไวต่อข่าวต่างๆ พอเป็นแบบนี้คนก็จะวิ่งหาสินทรัพย์ที่ปลอดภัยก่อน ก็ดังนั้น ถ้าจะมองตลาดการเงินตอนนี้ยังมองยาก คือฝุ่นมันคลุ้งไปหมดเลย เป็นตลาดที่มีความกังวลและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนในช่วงไตรมาสหนึ่งของปีนี้


ตั้งแต่เกิดโควิด สหรัฐอเมริกาก็แจกเงิน ปั๊มเงินออกมาตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงขณะนี้ แต่อยู่ๆ จะเอาเงินคืนและขึ้นดอกเบี้ย จึงตั้งรับกันไม่ทัน แต่พวกที่ไวกว่าคือตลาดหุ้น ขายหุ้นทิ้งกัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้น่ากลัวมากใช่หรือไม่

ในแง่ธรรมชาติไม่น่ากลัวเท่าไหร่ แต่ที่น่ากลัวคืออารมณ์ของคน ในโลกที่ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นจะน่ากลัว เพราะถ้าดูจากรอยเตอร์เขาก็สำรวจความเห็นนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐอเมริกาถึงผลกระทบจากโอไมครอนที่มีผลต่อเศรษฐกิจของเขา 18-20% ที่บอกไม่สะดุดในปัจจุบัน ที่เหลือบอกว่าผลกระทบมันอยู่ที่ประมาณกลางๆ ไม่มีแรงกดก่อนหน้านี้ ฉะนั้นในแง่ของความเห็นของคนที่เป็นนักวิชาการเขาไม่ได้มองว่าน่ากลัว การที่อยู่สภาพแบบนี้มา 2 ปี พอตอนนี้คือมีอะไรตลาดเงินก็ตกใจหมดแล้ว ตลาดการเงินอ่อนไหวกับข่าวดีและความไม่แน่นอนมาก เพราะฉะนั้นก็เลยมองว่าไม่ควรกังวลเกินกว่าเหตุ แต่เป็นความกังวลที่ควรจะกังวล

คิดว่าพอสหรัฐอเมริกาใช้นโยบายนี้จริงๆ มหาอำนาจทางเศรษฐกิจก็ต้องหานโยบายมาตั้งรับเพื่อจะบาลานซ์ตัวเองทั้งในแง่การไหลของเงินและอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ทีนี้กลายเป็นว่าจะเกิดสงครามอ้อมๆ อีกหรือเปล่า คือการทำสงครามเศรษฐกิจผ่านตลาดการเงิน ตรงนี้คือสิ่งที่เราเห็นภาพไม่ชัดว่า มหาอำนาจอื่นเขาจะเดินต่ออย่างไรเมื่อสหรัฐอเมริกาชัดแล้วว่าเขาจะเลิก QE แล้วจะดึงเงินกลับไป

นอกจากนี้ยังมีคนกังวลอีกว่า ก่อนหน้านี้มีเงินที่ปล่อยออกมาเหมือนสายออกซิเจน ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกากำลังป่วย การดึงเลือดกลับไปตอนที่คนยังไม่แข็งแรงมันสมควรหรือไม่ การคุมอัตราเงินเฟ้อแต่มันไปส่งผลต่อกำลังซื้อหรือเงินในระบบ มันใช่หรือไม่ แต่บริบทของเฟดเองเขาก็จะมองในมิติของคนคุมปริมาณเงินเป็นหลัก แล้วเอา QE เข้ามาช่วย มันก็เลยเป็นวิวาทะเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริการะหว่างนักเศรษฐศาสตร์การเงินที่สนใจเรียลเซ็กเตอร์กับนักเศรษฐศาสตร์การเงินแท้ๆ บางคนบอกเห็นด้วย แต่บางคนบอกดึงเงินกลับไปตอนนี้ ก็จะดึงกำลังซื้อกลับไปด้วย


การที่อเมริกาเขาปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน จะส่งผลกระทบต่อไทยมากน้อย

การที่เศรษฐกิจไทยเองก็มีพื้นฐานที่น่ากังวลทั้งในช่วงนี้และในอนาคต พอเกิดความเสี่ยงขึ้น ประเทศไหนที่อ่อนไหวจะมีความเสี่ยง ทำให้นักลงทุนปรับพอร์ตการลงทุนทั้งโลกใหม่ ฉะนั้นจะเห็นภาพว่าตลาดหุ้นเราก็ลงแรง ก็จะเห็นเรื่องของการที่เปลี่ยนพฤติกรรมโดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ เราจะเริ่มเห็นผลกระทบตรงนี้แล้ว ตลาดหุ้นก็จะไปกระทบกับความรู้สึกอื่นๆ ประกอบกับประเทศไทยเองก็มีปัญหาก่อนที่จะมีเรื่องของเฟดมา เรามีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน และอัตรารายได้ของประชาชนที่โตช้ามาก ต้องอีกอย่างน้อย 2-3 ปีกว่าจะกลับมาปกติ ความเสี่ยงในเรื่องโอกาสในการมีทำงานทำ ผลกระทบเรื่องโรคระบาดที่ยังอยู่ แถมยังเริ่มมีสัญญาณเงินเฟ้อ แต่เป็นเงินเฟ้อเฉพาะบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร และกระทบคนรายได้น้อยเป็นหลัก หลายๆ อย่างแบบนี้ก็เลยทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนลดลงไปด้วย

พอมีปัจจัยสหรัฐอเมริกา ก็เลยทำให้มีคำถามในวงการนักลงทุนในตอนนี้ ภาพตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็บอกชัดเจนอยู่แล้วว่า ความเชื่อมั่นในส่วนนี้เริ่มลดลง

ตอนนี้เรากำลังอยู่ในโลกที่เป็นเรื่องการเงินเดิมกับเรื่องการเงินใหม่ที่ไม่มีหน่วยงานไหนสามารถควบคุมได้ สิ่งที่เชื่อมการเงินใหม่กับเรื่องการเงินเดิมคือเงินสดแท้ๆ อย่างที่คนถือคริปโต สุดท้ายก็ต้องการเงินสดไปใช้ ดังนั้น พอเราเจอความผันผวนในตลาดจริงกับตลาดเสมือนควบคู่กันไปด้วยแบบนี้ มันทำให้เศรษฐกิจการเงินเราบอบบางกว่าปกติ เพราะมีหลายคนที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย และลงทุนในคริปโตควบคู่กันไปด้วย ไม่ใช่เป็นการกระจายความเสี่ยง แต่เป็นความเสี่ยงคู่กัน แล้วเวลาเกิดอะไรขึ้นมาก็ตาม เขาก็เจ็บหนักกว่าคนที่ลงทุนในตลาดใดตลาดหนึ่งอย่างเดียว และพอมันมีความเสี่ยงเยอะ คนพร้อมจะเสี่ยงหรือไม่ มันไม่ใช่ความเสี่ยงที่คำนวณอย่างรอบคอบแล้ว แต่มันเป็นการกึ่งลงทุนกึ่งกำไร ก็เลยมีความเสี่ยงสูงกว่าการใช้หลักวิชาการในการวิเคราะห์อย่างแท้จริง


ตอนนี้รัฐบาลไทยควรจะทำอะไร เพื่อเตรียมการรับมือกับนโยบายทิศทางการเงินของโลกที่มันจะเปลี่ยนแปลงจากการกดปุ่มของเฟด

ตอนนี้แบงก์ชาติติดตามเรื่องตลาดการเงินไทยอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว คงจะมีมาตรการที่เหมาะสมออกมา แต่คิดว่าควรสื่อสารให้สังคมได้รับทราบถึงผลกระทบที่เราจะเจอว่ามีอะไรบ้าง ส่วนตัวหวังว่าจะมีการสื่อสารสู่สังคมอย่างทั่วถึง ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนักลงทุน เพราะตอนนี้ คนวิ่งหาข่าวร้ายตลอดเวลา การสื่อสารเชิงรุกของการใช้นโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมองว่าเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับแบงก์ชาติ นโยบายออกมาเสร็จแล้วแต่ถ้าประชาชนไม่เข้าใจว่านโยบายทำเพื่ออะไร ผลจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันจะทำให้เกิดความกังวล เพราะไม่รู้ ฉะนั้นการสื่อสารในเชิงนโยบายการเงินที่ทั่วถึงไปยังคนทุกกลุ่มคือสิ่งที่แบงก์ชาติต้องทำ


ช่วง 2 ปีที่เกิดโควิด นโยบายต่างๆ ของรัฐและของแบงก์ชาติ เป็นนโยบายแบบประคองและอุ้มเอาไว้ ตอนนี้ถึงเวลาต้องมาเจอของจริง น่ากลัวขนาดไหน

น่ากลัวตรงที่มันอยู่ในสถานการณ์ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน และทำอะไรออกไปผลที่เกิดขึ้นมันจะไม่เร็วเหมือนสถานการณ์ปกติ จะให้คนตั้งคำถามว่านโยบายนี้ได้ผลไหม คือได้ผลแต่ต้องใช้เวลา แต่ว่าคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติอาจไม่เข้าใจ เช่นในทางเศรษฐศาสตร์เราไม่เคยเจอดีมานด์ขึ้นสูงก่อนเลย ฉะนั้นมันเป็นสถานการณ์ที่ทฤษฎีไม่ได้บอกไว้ และนโยบายอะไรก็ตามที่ออกมาตอนนี้ จะไม่สามารถออกผลในทันที และไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้คนได้เต็มที่

ดังนั้น เหมือนเป็นไฟต์บังคับใหม่ที่จะต้องออกนโยบายที่ชัดเจน ที่ผ่านมานโยบายหลายอย่างที่ประคองเศรษฐกิจมาได้ มันจะประคองได้ในสถานการณ์แบบนั้น แต่วันนี้ในส่วนของรัฐบาลเองมันมีขีดจำกัดไปหมดเลย ส่วนตัวมองว่าการประสานทำงานร่วมกัน และการสื่อสารที่ชัดเจน ก็จะประคองเศรษฐกิจไปได้ แต่บทเรียนที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าเครื่องมือหลายตัว มีบางตัวที่ยังไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเครื่องมือกระตุ้นกำลังซื้อในทางเศรษฐกิจ จะต้องมีการถอดบทเรียนกันใหม่ แล้วทำอะไรบูรณาการกว่าเดิม เพราะพอถึงจุดหนึ่งนโยบายการแจกเงินอย่างเดียวจะมีข้อจำกัดเหมือนกัน สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย คือแผนการหารายได้เข้ามา ยิ่งตอนนี้เราเจอสถานการณ์ค่าครองชีพสูง ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำก็คือหารายได้เพื่อประชาชนสามารถมีรายได้มากกว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยมีแผนสร้างรายได้ให้กับประเทศแบบทั่วถึง ฉะนั้นหลังจากนี้ กระบวนการนโยบายการเงิน ต้องมีเจาะรายกลุ่ม เพราะเรามีกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่พอจะประคองตัวเองไปได้ และกลุ่มที่ทำได้ดีอยู่แล้ว ที่ผ่านมาเราใช้นโยบายค่อนข้างปูพรมคือจะแบ่งแค่กลุ่มที่ลำบากกับกลุ่มที่โอเค ส่วนตัวว่าต้องมีความละเอียดมากกว่านั้นในช่วงเวลานี้


39 views

Comments


bottom of page