Interview : คุณสุรพล โอภาสเสถียร
ผู้จัดการใหญ่
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)
‘โควิด-19’ เล่นงานอ่วมหนัก มาตรการช่วยเหลือของรัฐ เช่นโครงการพักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ งดจ่ายต้นจ่ายแต่ดอกเบี้ย ทำท่าจะยั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ หนี้เสียกว่า 5-6 แสนรายยังเป็นหนี้เสียเหมือนเดิม ไม่ลดลง มีแต่จะเพิ่ม เกรงจะไปเติมยอด NPL ให้สูงขึ้น เตือน...จับตาคนกลุ่มเสี่ยงเสมือนว่างงาน 2 ล้านคน ที่เวลาทำงานลดลง ค่าจ้างลดลง จะหมดแรงสิ้นลม รวมถึงคนชั้นกลางที่กินเงินเดือนจะตกชั้นมาเป็นคนจนรุ่นใหม่ ล่าสุดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติออกมาพูดว่า ไตรมาส 3 ปี 65 ทุกอย่างจะกลับมาเหมือนก่อนโควิดระบาดรอบแรก หมายความว่าทุกคนต้องอึด ต้องดำน้ำไปให้ถึงวันนั้นให้ได้ ทั้งๆ ที่ไม่รู้แน่ชัดว่าตัวช่วยเช่นเงินกู้ ซอฟต์โลน จะมาทันหรือไม่ คนตัวเล็กจะประคองตัวได้รอดถึงวันนั้นหรือไม่ เน้น...นาทีนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องช่วยคู่ค้ารายเล็ก เว้นรายละเอียดหยุมหยิมเรื่องการวางบิล ช่วยให้คู่ค้าได้รับเงินง่ายและเร็วขึ้น อีกทั้งควรเพิ่มช่องทางในการนำใบสั่งซื้อ-ใบอินวอยซ์ไปยื่นขอกู้จากแบงก์ได้ เพื่อนำเงินมาหมุนเวียนเป็นสภาพคล่องก่อนถึงกำหนดวันชำระเงินของผู้ซื้อ
โควิด-19 รอบนี้ ทำให้การทำงานของเครดิตบูโรมีอุปสรรคปัญหาอะไรบ้าง
ประมาณ 2 ปีก่อน เราลงทุนครั้งใหญ่ในการปรับเปลี่ยนระบบเรา หลังบ้านของเรา ขยายดาต้าเซ็นเตอร์ อัปเกรด แล้วก็วางแผนในการให้บริการทางดิจิทัลด้วยการให้แบงก์ช่วยเป็นเอเยนต์ให้บริการผ่านโมบายโฟน คือเอาบริการของเครดิตบูโรไปใส่ไว้บนฮับของแบงก์ มีแบงก์กรุงไทย ทหารไทย ธนชาต อย่างนี้เป็นต้น ก็ช่วยทำให้การให้บริการกับประชาชนจากที่เป็นกระดาษเปลี่ยนมาเป็นไฟล์ส่งทางอีเมลได้
ข้อสังเกตเรา เราพบแบบนี้ ก่อนนี้มีนาย ก. นาย ข. มีบริษัท ก. บริษัท ข. เขาขอมายื่นเปิดเครดิตบูโรตัวเองเพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ประมาณ 5-6 หมื่นรายการต่อเดือน แต่ตั้งแต่มีโควิด-19 มาตั้งแต่แรกๆ ปี 2563 จนถึงปัจจุบันขึ้นมาประมาณ 8 หมื่นรายการต่อเดือน คือมีการใช้บริการมากขึ้น เนื่องจากคนเตรียมจะไปขอสินเชื่อไปตรวจดูว่าตัวเองมีตำหนิตรงไหน อันนี้คือเตรียมไปขอ ไปตามแบงก์บางแห่ง ก็ใช้วิธีว่า ไปตรวจเครดิตบูโรแล้วเอามาดูก่อนว่าไหวหรือไม่ แล้วดูยอดขาย คล้ายๆ ว่าก่อนจะรับใบสมัคร ขอเปิดไปก่อน แต่ว่าลูกค้าเป็นคนเอามาให้ดู
อีกเรื่องคือคนที่จะไปค้ำประกันคนอื่นเขา สถาบันการเงินก็จะขอดูบ้าง ว่าคนค้ำเจ๋งขนาดไหน ต่อมาก็มีเรื่องสมัครงาน ก็มีบางที่เวลาสมัครงานนายจ้างก็จะขอดูเครดิตบูโร ท้ายสุดที่เราเจอก็คือว่า คนที่จะค้าขายระหว่างกัน นาย ก. คือบริษัทใหญ่ นาย ข เป็นคนมาขายของให้ บริษัทใหญ่ก็ขอให้บริษัทย่อยไปเปิดเครดิตบูโร แล้วเอามาดู เพราะเขากลัวว่า ฉันสั่งของเธอไป แล้วเธอเป็นหนี้ จ่ายหนี้ไม่ได้ แล้วถึงเวลาเธอจะหาเงินที่ไหนมาผลิตของให้ฉัน
ท้ายที่สุด จะเป็นเรื่องว่า มีมาตรการกองทุนที่มาช่วยเหลือ เช่นของ สสว. เขาก็จะขอตรวจเครดิตบูโรก่อน
ฉะนั้นวันนี้ก็เลยกลายเป็นว่าเอกสารเครดิตบูโรเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องใช้ แต่ก็มาเจอปัญหาแบบนี้คือ เรามีบางบัญชีที่ดันไปค้างตั้งแต่ในอดีต มี 2 ประเภทคือ ค้างก่อนโควิด-19 ค้างก่อนปี 2563 คือค้างก่อนเดือนมีนาคม 2563 อย่างนี้จะไปอ้างโรคระบาดก็ไม่ได้ ตรงนั้นคือมีอาการตั้งแต่ก่อนโควิด-19 และก็ยังมีโควิด-19 อีกประเภทหนึ่งก็คือว่า ค้างจากหลังเมษายนปี 2563 ที่ระบาดรอบแรก อันนี้คือคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เราก็เสนอทางการเขาไปว่า 2 คนนี้ เราแยกดีมั้ย คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ก่อนหน้าเขาไม่เคยมีปัญหาเลย คนคนนี้เขาไม่ใช่สีดำ แต่เขาเป็นสีเทาเพราะเหตุโรคระบาด ถ้าเขายังค้าขายกับใครต่อใคร เขาควรจะได้สินเชื่อ
สรุปว่า 1 ปีมานี้ เครดิตบูโรทำงานหนักมาก
ก็ระมัดระวัง มีเวลาทำมากกว่าเดิม ทีนี้เราไปพบข้อเท็จจริงอย่างนี้ จากการที่เราร่วมทำงานกับทางสถาบันวิจัยป๋วย เราพบว่ามีคนที่เราเชื่อว่า เขาเข้าโครงการรับความช่วยเหลือ 6 ล้านคน ปรากฏว่าที่เป็นหนี้เสีย 5-6 แสนคนมันไม่ได้ลดลง กลับเพิ่มขึ้นประมาณ 1 แสนกว่าราย เรามองว่าขนาดมีมาตรการช่วยเหลือประคองกันมาตั้งแต่แรกๆ พักการชำระหนี้ รอบสองปรับโครงสร้างหนี้ รอบสามให้พักต้นจ่ายแต่ดอกเบี้ย มีคนที่เป็นเอ็นพีแอลคือไม่ไหวแสนกว่า เราก็กลัวว่าที่มันเป็นสีเหลืองอยู่คือว่าค้างแล้ว แต่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล มันจะไหลไปเป็นเอ็นพีแอลมั้ย
สินเชื่อที่มีการช่วยเหลือเยอะจริงๆ คือสินเชื่อบ้านกับสินเชื่อรถยนต์ เพราะบ้านมีหลักประกัน รถยนต์มีหลักประกัน แต่พวกสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ไม่มีหลักประกัน เป็นการเอาเงินในอนาคตคือเงินเดือน รายได้ในอนาคต มาจ่ายหนี้วันนี้ ซึ่งขณะนี้มีคนที่เกิดอาการเสมือนว่างงาน คือว่าก่อนหน้านี้เคยทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตอนนี้สัปดาห์หนึ่งทำ 2 วัน ค่าจ้างก็ลดลง
มีการวิจัยกันว่า คนกลุ่มเสี่ยงเสมือนว่างงานตรงนี้มี 8 ล้านคน แล้วกลุ่มที่มีสิทธิ์เสี่ยง 2 ล้านคน เขาก็เกรงกันว่าถ้า 2 ล้านคนช็อตขึ้นมา รายได้หายจากรอบสามอีก คือหมดแรง สิ้นลม ตรงนี้ก็ไม่มีรายได้ ต่อให้พักต้นก็ไม่มีทางจะจ่ายดอกเบี้ย ตรงนี้จะไหลไปเป็นเอ็นพีแอลอีกมั้ย มันเป็นวิกฤตว่าคนที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบรุนแรงมาก ขนาดรถพุ่มพวงยังเข้าไปในหมู่บ้านไม่ได้ วิ่งในชุมชนได้ แต่ว่าเข้าไปในหมู่บ้านไม่ได้ เนื่องจากเขากลัวเรื่องโควิด-19 กัน ปัญหาก็คือรายได้เขาก็ไม่เข้า
ดังนั้น ประเด็นตอนนี้คือคนชั้นกลางที่กินเงินเดือนจะตกชั้นลงมาเป็นคนจนรุ่นใหม่ คนจนในเมืองก็จะหนัก คนชั้นกลางก็จะหนักขึ้น ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะเห็นบริษัทเครดิตของธนาคารต่างประเทศเขามองว่าใน 6 ปี ศักยภาพที่จะทำธุรกิจด้านนี้ไม่ไหว ซึ่งเหตุผลเขาเขียนดี บอกว่า ต้นทุนกับศักยภาพที่เขาจะทำรายได้จากตลาดใน 13 ตลาดนี้ ศักยภาพของตลาดมันโตไม่ทันกับกำไรต้นทุน
ตอนนี้เราได้แต่หวังว่าการกระจายวัคซีน จะทำให้เปิดเมืองได้มากขึ้น จะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างที่ท่านผู้ว่าฯ แบงก์ชาติบอกไตรมาส 3 ปี 2565 เราน่าจะกลับไปอยู่ในระดับเดียวก่อนโควิด-19 ซึ่งเราจะต้องดำน้ำไปจนถึงวันนั้น แล้วออกซิเจนก็คือเงินกู้ ซอฟต์โลนจะมาทันหรือไม่ พักหนี้จะไหวหรือไม่ พักต้นจ่ายดอกจะไหวหรือไม่ ตรงนี้คือคำถามที่ไม่รู้จะตอบอย่างไร
มาตรการที่รัฐบาลออกมา ที่จะช่วยเหลือกิจการต่างๆ ช่วยให้สถาบันการเงินปล่อยเงินให้กับประชาชน รวมถึงกิจการต่างๆ ที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน ตรงนี้ทำอย่างไรดี
มีข้อเสนอที่น่าสนใจ เรามีธุรกิจขนาดใหญ่ พอสั่งซื้อจากเอสเอ็มอี ก็ออกใบสั่งซื้อที่เรียก PO ตรงนี้เอา PO มาขายได้มั้ย สมมุติว่า PO 100 เอาไปขาย 50 ก่อนได้มั้ย เอาเงินออกจากแบงก์ไป 50 แล้วเอาไปหมุนผลิตของ พอผลิตของเสร็จแล้ว ก็ไปส่งของ แล้วพอได้เงินมาแล้ว ก็หักกัน ตรงนี้เป็นข้อเสนอของทางหอการค้า โดยที่บริษัทใหญ่จะคอนเฟิร์มให้ว่ารายนี้บริษัทใหญ่ซื้อกับเขาจริง และใบ PO ใบนี้จะมีการตรวจสอบว่าไม่มีการปลอม ไม่มีการเอาไปขายหลายที่ จะช่วยซื้อหน่อยได้หรือไม่
อีกคนหนึ่งจากสภาอุตสาหกรรมก็จะเสนอว่าบริษัทใหญ่ที่ซื้อของจากบริษัทเล็ก แล้วตอนที่บริษัทเล็กเอาของมาส่ง ก็จะออกอินวอยซ์คือใบส่งของ พอออกอินวอยซ์ คนขายจะเอาใบอินวอยซ์นั้นไปขายได้มั้ย โดยที่บริษัทใหญ่จะคอนเฟิร์มผ่านระบบที่แบงก์ชาติทำไว้ให้ คอนเฟิร์มว่าซื้อจากเขาจริง คนนี้เป็นซัพพลายเออร์ผม แล้วใบนี้จริง ใบนี้ไม่ปลอม ถ้าทำอย่างนี้ได้ คนตัวเล็ก ก็จะถูกยืนยันด้วยคนตัวใหญ่ แล้วถ้ายังไม่พอก็ให้ทางบสย.ค้ำได้มั้ย โดยที่แบงก์ชาติตอนนี้เขาทำดิจิทัลแฟคทอริ่งตรงกลางไว้ให้ ให้ทุกคนมาเช็ก อย่างไรก็ตาม ควรช่วยกัน ลำพังเอสเอ็มอีจะหมดแรงแล้ว ดังนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ที่พี่จะช่วยน้อง บริษัทใหญ่ช่วยซัพพลายเออร์ตัวเอง
อีกเรื่องที่บริษัทใหญ่ควรจะช่วยก็คือว่า เวลาเขาเอาของมาให้ คุณก็เปิดรายการของนั้นมาเลยได้หรือไม่ ไม่ใช่รอ 3 อาทิตย์ แล้วเวลาส่งของ ใบส่งของหรือใบอินวอยซ์ที่รับของ คุณอย่าเขียนเงื่อนไขสิ เช่นคืนได้ทุกเมื่อ คืนได้ตลอดเวลา ถ้าเขียนอย่างนั้นจะทำให้เอกสารใบนั้น นำไปขอกู้ไม่ได้ ถ้าคนจ่ายเงินมีเงื่อนไขว่ายกเลิกได้ทุกเมื่อ ทางแบงก์ก็กลัว เวลาที่ไปไฟแนนซ์ ใบนั้นเขาปฏิเสธการจ่ายได้ คือต้องทำให้ปฏิเสธการจ่ายไม่ได้ ไม่มีการดึงเช็ค ไม่มีการสร้างเงื่อนไขเอกสารมากเกินไป ต้องช่วยให้เอกสารนั้นมีคุณค่าเป็นหลักประกันปล่อยสินเชื่อได้หรือไม่ ถ้าช่วยกันลดหนักเบากันได้นิดนึง
เอสเอ็มอีบางคนมีประวัติการชำระหนี้ที่ไม่ดี แต่มีประวัติการค้าที่ดี ฉะนั้นเอา 2 อันมาผสมกัน มันพอจะปล่อยสินเชื่อได้ แต่ถ้าดูแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็ปล่อยสินเชื่อไม่ได้
Kommentare