top of page
image.png

ตั้ง AMC ยังไม่จำเป็น...หวั่นเกิดปัญหาวินัยการกู้ของลูกหนี้







แนวคิดซื้อหนี้ ดี...แต่ยังไม่จำเป็น การซื้อหนี้และการตั้ง AMC มาซื้อหนี้ไปบริหารจัดการ ควรทำในสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน เช่นวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่ด้วยสถานการณ์ในขณะนี้ยังไม่วิกฤต ไม่เร่งด่วน ถ้าเดินหน้านโยบายการซื้อหนี้ตอนนี้อาจจะทำให้เกิดปัญหาวินัยการกู้ของลูกหนี้ในอนาคต เพราะรู้ว่าจะมีการเข้ามาช่วยเคลียร์หนี้ จึงสร้างหนี้โดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเอง แนะ...หากต้องการแก้ไขหนี้ครัวเรือน วิธีที่ดีที่สุดคือการสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ช่วยให้คนมีหนทางทำมาหากิน มีรายได้มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และมีเงินเหลือที่จะชำระหนี้ได้ด้วยตัวเอง


Interview : ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์มหภาค


มองเรื่องนโยบายการซื้อหนี้อย่างไร

           

ทราบว่ามีการพูดถึงเรื่องนี้บ้าง คือเป็นประเด็นความคิดทางการเมือง ส่วนแรกเราพูดถึงสถานการณ์ก่อน ของไทยช่วงหลายปีที่ผ่านมามีภาวะหนี้สินหมักหมมขึ้นเรื่อยๆ เริ่มต้นก็มีปัญหาหนี้สาธารณะ ในสมัยพลเอก เปรมไม่มีปัญหา แต่พอเกิดต้มยำกุ้งขึ้นมา หนี้จำนวนมากก็เกิดขึ้นในภาครัฐ เพราะรายได้ไม่เข้า และมีรายจ่าย ซึ่ง IMF พยายามบีบไทยไม่ให้ใช้จ่ายเยอะๆ เพื่อที่จะได้มีดุลการคลัง หรือดุลงบประมาณที่เป็นบวก แต่วิธีการของ IMF เป็นวิธีการที่ทำให้เศรษฐกิจเดินไปได้ยาก จึงทำให้รัฐบาลพลเอก ชวลิต อยู่ด้วยความยากลำบาก และมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เนื่องจากมาตรการ IMF รัดเข็มขัดมากเกินไป

           

หลังจากนั้น เริ่มมีการคลายเข็มขัด พอคลายเข็มขัด เลยทำให้หนี้สาธารณะขยายตัวมากขึ้น พอมาสมัยคุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เริ่มที่จะมีหนี้ครัวเรือนขึ้นมาในสมัยปี 2540 หนี้ครัวเรือนก็เริ่มจุดประกายแล้ว แต่ทางการยังไม่ได้เอาใจใส่ จนกระทั่งตอนนี้ไปแตะ 100 แล้ว เมื่อก่อนนั้นน้อยกว่านี้เยอะเลย ฉะนั้น ก็เลยกลายเป็นว่าเมืองไทยเรามีปัญหาหนี้สินทั้ง 3 ส่วน ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นสมัยก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง คือหนี้ภาคเอกชนพวกบริษัท ก็ยังสูงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน หนี้รัฐบาลหรือหนี้สาธารณะก็มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งรัฐบาลต้องขายรัฐวิสาหกิจที่ดีออกไป คือที่ไม่มีกำไรก็ไม่มีใครอยากซื้อ ก็ขายการบินไทยบ้าง ปตท.บ้าง อะไรต่างๆ เหล่านี้ออกไป ทำให้หนี้ครัวเรือนขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

           

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ล่าสุดก็คือแบงก์ชาติก็มีมาตรการที่คุยกับทางคลัง จะช่วยเหลือพวก NPL หรือหนี้ที่สงสัยจะสูญ หรือหนี้ที่มีปัญหา โดยใช้เงินประกันความเสี่ยงของภาคธนาคารที่แบงก์ชาติเก็บ ก็จะลดหย่อนส่วนนี้ให้ แล้วเอาส่วนที่ลดหย่อนไปใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนหรือหนี้รายย่อย ก็มีการทำอยู่ สางหนี้กันไป โดยสถานการณ์พวกหนี้เสียจริงๆ ก็ไม่ได้เยอะ ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ติดปัญหาการใช้จ่าย พอรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ เขาก็ไม่อยากจะไปใช้จ่ายเพราะต้องไปคืนหนี้ มันก็เป็นตัวรั่ว ก็คือว่าพอกระตุ้นเศรษฐกิจ แทนที่ประชาชนจะเอาเงินไปซื้อของ ก็ไม่ซื้อ เพราะต้องไปคืนหนี้ อันนี้ก็เป็นแนวคิดเชิงสถานการณ์ที่คิดว่าคุณทักษิณก็คงมองแบบนี้ คือมองว่าถ้าหนี้ครัวเรือนยังสูงอยู่ การกระตุ้นเศรษฐกิจหรือการที่จะไปให้ประชาชนมาจับจ่ายใช้สอยก็คงยากเพราะต้องมีการคืนหนี้ มันก็เป็นประชานิยมอีกภาคหนึ่ง เป็นตัวช่วยในระดับหนึ่ง โดยสถานการณ์มันเป็นอย่างนั้น ซึ่งถ้าทำอย่างนั้นก็หมายถึงว่าเงินที่จะมาใช้ในการดูแลการปรับโครงสร้างหนี้นี้จะอยู่ที่ไหน คืออยู่ที่ภาครัฐบาลหรืออยู่ที่ไหนก็ว่ากันไป

           

ทั้งนี้ แนวคิดที่มีอยู่อันหนึ่งคือตั้ง AMC ขึ้นมา ก็เป็นแนวคิดที่ทำในสมัยต้มยำกุ้งที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ตั้ง AMC ขึ้นมาสางหนี้ แล้วให้ดอกเบี้ยไม่สูงมาก แล้วให้ AMC นำไปดูแล ซึ่งประเด็นก็คือว่าถ้าดำเนินการแบบนี้ หนี้ภาคครัวเรือนก็อาจจะลดลงมาหน่อย โดยเฉพาะหนี้ที่เป็น NPL แล้วก็โอนไปอยู่ในส่วนที่เป็นของภาครัฐบาล ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะเอาเงินก้อนไหนมาซื้อ และซื้อในราคาเท่าไหร่ ถ้าซื้อในราคาขาดทุน รัฐบาลก็จะกลัว ถ้าซื้อในราคาที่ได้กำไร รัฐบาลก็จะสบายใจหน่อย

           

อย่างไรก็ดี โดยหลักวิชา ถ้ารัฐบาลจะเข้ามาแทรกแซงโอนหนี้เสีย จากภาคหนึ่งไปให้อีกภาคหนึ่งรับภาระ การทำแบบนี้เขาเรียกว่าเป็นการบริหารจัดการอยู่ในระดับของการแมเนจเมนต์ ซึ่งตัวนี้ปกติเราก็จะทำได้เหมือนกัน คือทำในสถานการณ์เกิดวิกฤตอย่างเช่นต้มยำกุ้ง ซึ่งในหลักวิชา จะมี 2 ข้างที่ต่างกัน ข้างหนึ่งคือถ้าทำไปมันก็ไปสร้างปัญหาคุณธรรมของผู้ก่อหนี้ ก็คือทุกคนก็อยากก่อหนี้ เพราะก่อหนี้แล้วได้กำไรคุ้ม ส่วนคนที่ไม่ได้มาก่อหนี้ ก็ต้องมาจ่ายให้คนก่อหนี้ ต้องมารับภาระคนก่อหนี้ ส่วนคนก่อหนี้ก็จะก่อหนี้ไม่มีที่สิ้นสุด คือไม่เลิกก่อหนี้ ก็เป็นลักษณะที่มีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย

           

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ไม่เห็นด้วยว่าในบางสถานการณ์เช่นที่เกิดวิกฤตฉับพลันขึ้นมา ภาคเอกชนไม่สามารถปรับตัวได้ ภาคครัวเรือนไม่สามารถปรับตัวได้ รัฐบาลน่าจะมีกำลังที่ปรับตัวได้ เอาหนี้มาอยู่กับรัฐบาลซะ จนกระทั่งสถานการณ์มันดีขึ้น ก็ค่อยเอาหนี้ออกมาขาย คือเอาหนี้ไปพักไว้ในตู้เย็น ฟรีซมันไม่ให้ส่งผลกระทบ และรัฐบาลค่อยเอาออกมาขายตามสถานการณ์เมื่อเศรษฐกิจปกติ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์จะมี 2 ข้างที่คิดต่างกัน เป็นความแตกต่างในเชิงหลักวิชา ถ้าในความคิดเห็นส่วนตัว ก็ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์มันเกิดวิกฤตหรือเปล่า ถ้าเกิดวิกฤตแบบต้มยำกุ้ง ก็ควรจะทำ เพื่อที่ว่าคนที่มีกำลังจะได้ช่วยคนที่ไม่มีกำลังไปก่อน พอรอสถานการณ์ที่ราคาสินทรัพย์มันอยู่ตัวแล้ว มีเสถียรภาพแล้ว สอดคล้องกับข้อเท็จจริงแนวโน้มระยะยาวแล้ว ค่อยเอาออกมาขาย คือเข้า AMC ซึ่ง AMC ก็คือตู้เย็น แล้วค่อยเอาออกมาทีหลัง

           

ทั้งหมดนี้คือแนวคิดที่ 2 ข้างคิดต่างกัน ในเชิงว่า 1. มีปัญหาโครงสร้างระยะยาวหรือมีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจระยะสั้น 2. ผู้ที่แบกรับภาระในการเอาตู้เย็นมาเก็บ เขารับภาระหรือว่าไม่รับภาระ ถ้ารับภาระก็หมายถึงว่าซื้อในราคาที่แพงเกินจริง แล้วถึงเวลาสถานการณ์เศรษฐกิจดี ก็ยังไม่ดีพอที่จะขายได้หรือบริหารได้ในราคาที่ดี แต่ถ้าซื้อมาในราคาที่ถูก เนื่องจากว่าสถานการณ์มันแย่จริงๆ อย่างไรมันก็ต้องถูก แล้วใครมีกำลังสายป่านยาวกว่ารัฐบาล AMC สายป่านยาว AMC ก็เอาเข้าตู้เย็นไว้ก่อน แล้วค่อยเอาออกมา หลักวิชาก็เป็นอย่างนั้น

 

เหมือนกับว่าตอนนี้เฉพาะเจาะจงไปที่หนี้ครัวเรือน อย่างคราวที่แล้วเป็นหนี้ภาคเอกชน การทำแบบนี้ถือเป็นวิธีการที่ทำได้เหมือนกัน

           

ทำได้คือบริหารจัดการ เพียงแต่ปัญหาจัดการควรจะทำที่เจ้าหนี้ลูกหนี้ หรือทำที่รัฐบาล ถ้าเราประเมินว่าสถานการณ์ไม่ได้เป็นสถานการณ์ระยะสั้นหรือวิกฤต เป็นสถานการณ์ปกติที่คนไทยชอบกู้มาซื้อมอเตอร์ไซค์ ชอบกู้มาซื้อรถกระบะ ทั้งที่เงินไม่มีจ่าย แล้วก็รอวันที่จะให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็จะมีปัญหาซึ่งซ้ำเติมสถานการณ์ ฉะนั้น ก็ต้องมีการวินิจฉัยที่แฟร์กับสถานการณ์ที่เป็นจริง

           

เข้าใจว่าแบงก์ในปัจจุบันเขาจะมีกลไกผ่านการสกรีนของแบงก์ชาติที่ให้มาแล้ว บางแบงก์ก็อาจประสบความสำเร็จพอสมควร บางสถานการณ์ก็อาจจะยังต้องทำอะไรอีกเยอะ ขึ้นอยู่กับว่าเขามีลูกหนี้ที่มีคุณภาพมากหรือน้อย ถ้าแบงก์นั้นปล่อยกู้รายย่อยแบบสนุกสนานเต็มที่ก็อาจจะได้ลูกหนี้ที่คุณภาพไม่ค่อยดี แล้วก็ไม่มีข้อมูลว่าลูกหนี้ที่กู้ จริงๆ กู้เพื่อซื้อมอเตอร์ไซค์มากี่คัน หรือมีภาระมากน้อยแค่ไหน ถ้ารัฐบาลมาช่วยแบบนี้ แบงก์แฮปปี้ เพราะเขาปล่อยหนี้เสียไปเยอะแยะเลย รัฐบาลมาช่วยซื้อไปก็ดีเลย และลูกหนี้คนนั้นก็กู้เขาต่อ กู้ใหม่ ที่เราเป็นห่วงคือคนกู้ที่ช่วยไปแล้ว พอไม่มีเงินก็จะกลับมากู้อีก อันนี้ก็เป็นลักษณะของการวินิจฉัย

           

ทีนี้คิดว่าแบงก์บางแห่งก็ไม่ได้มีปัญหามาก เขาดูแลจัดการลูกค้าเขาพอสมควร เรียกว่าลูกค้ามีประวัติทางการเงินดีพอที่จะให้กู้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเขาทำได้ดี ลูกค้าส่วนนี้เขาจะไม่เยอะ และที่แบงก์ชาติให้มาก็เหลือเฟือที่จะดำเนินการได้

 

ถ้ามีการเจาะลงไป ไม่ได้ซื้อหนี้ทั้งหมด เขาจะซื้อแค่ 35% ของ NPL จะเคลียร์เรื่องหนี้ครัวเรือนได้ขนาดไหน

           

ก็น่าจะยาก เพราะหนี้ครัวเรือนมันมีหลายส่วน มีหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ประกอบธุรกิจรายย่อยหรือรายได้เขาน้อย ฉะนั้นถึงสางหนี้ไป เขาก็ต้องก่อหนี้ใหม่ เพราะรายได้เขาไม่มี ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านี้จะมีเงินไปซื้อสินค้าบริการเพื่อช่วยภาคธุรกิจ มันก็ไม่ได้ช่วยได้มาก

           

ส่วนที่ดำเนินการได้ สถานการณ์ต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนหนี้เสีย สงสัยจะเสีย กับหนี้สูญ ซึ่งหนี้สูญคือหนี้ครัวเรือนเยอะเหลือเกินเมื่อเทียบกับจีดีพี ยิ่งจีดีพีต่ำ หนี้ก็ยิ่งสูง เพราะคนก่อหนี้ไม่ได้เป็นคนสร้างจีดีพี แต่คนสร้างจีดีพีหมดกำลัง ฉะนั้น ความรู้สึกนี้อาจทำให้เราเข้าใจว่าหนี้เสียมันสูงทุกๆ คน ฉะนั้น คิดว่าถ้าพูดถึงกระบวนการเฉพาะหนี้เสียไม่ใช่หนี้รวม ถ้าไม่ได้เยอะ คิดว่าสถาบันการเงินเขาน่าจะดูแลจัดการได้ และการติดตามตรวจสอบอะไรต่างๆ จะต้องติดตามให้ดีว่าสถาบันการเงินไหนที่ปล่อยเงินกู้หละหลวมเกินไป หรือมีสกิลในการดูแลลูกค้าไม่ดีพอ ก็ต้องหารือพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรดี เพื่อที่จะทำให้การดูแลลูกค้าเหมาะสมขึ้น เพราะไม่เช่นนั้น จะเกิดปัญหาว่า ใครๆ ก็อยากเป็นหนี้หมด พอเป็นหนี้ ก็ไม่ต้องจ่าย 100% จ่ายแค่ 70-80% ก็เป็นแรงจูงใจให้ก่อหนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

           

ตรงนี้คือสถานการณ์ที่ NPL ยังไม่วิกฤต แต่ถ้าวิกฤตจนเดินไม่ได้ อันนั้นก็ต้องไปตั้ง AMC ขึ้นมาเพื่อเคลียร์หนี้กองใหญ่ขนาดนั้น แต่ถ้าหนี้เสียกองไม่ได้ใหญ่ ก็ไม่ต้องถึงขั้นทำวิธีการนี้ ตรงนี้คือความคิดผม ประเมินในเชิงสถานการณ์และหลักวิชาว่า ถ้ามันเป็นสถานการณ์เชิงโครงสร้าง เป็นแนวโน้มอย่างนี้อยู่แล้วที่หนี้ครัวเรือนมันสูงเรื่อยๆ เนื่องจากประชากรไทยมีงานทำน้อย ถึงแม้ว่าค่าจ้างขั้นต่ำจะสูง แต่เขาก็ไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาคืน หรือว่าอาจจะสูงเพราะว่าคนไทยต้องไปกู้ซื้อรถมาขับแกร็บ แต่รายได้จากแกร็บเดือนหนึ่งหลายหมื่นบาท สูงพอที่จะไฟแนนซ์อยู่แล้ว ไม่ได้เป็นหนี้เสีย อย่างนี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการในการบริหารจัดการหนี้โดยใช้ AMC ดังนั้น อันนี้ก็ต้องดู

           

เมื่อดูสถานการณ์ของไทยปัญหาคือแนวโน้มเศรษฐกิจมันอ่อนแอมากเกินไปมากกว่า จีดีพีโตต่ำมากแค่ 2-3% นี่ถือว่าไม่พอเลี้ยงดูประชากร ก็ต้องคิดวิธีว่าจะทำอย่างไรถึงจะมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแรงกว่านี้ คิดว่าตรงนั้นน่าจะเป็นทางออกที่รัฐบาลควรจะโฟกัส

           

อย่างไรก็ตาม บางคนก็ก่อหนี้ด้วยเหตุผลที่ดี อย่างเช่น นาย ก. เปลี่ยนอาชีพมาขับแกร็บ ลาออกจากงานเพราะว่าไม่คุ้มได้เงินเดือนแค่ 2-3 หมื่นบาท สู้ไปขับแกร็บได้เงินเดือน 6-7 หมื่นบาทดีกว่า และงานก็ไม่ได้หนัก ไม่ได้ผูกพันกับใคร ไม่มีเจ้านาย ก็ไปกู้ดีกว่า ดังนั้น เงินกู้ที่มาวิ่งรถแกร็บทุกวันนี้ถือว่ามหาศาลเลย ที่วิ่งบนถนนอยู่ไม่รู้ว่ากี่คัน พวกนี้ก็เป็นหนี้ครัวเรือนที่สูง แต่ไม่ใช่ปัญหา จ่ายคืนได้สำเร็จ คืออ่อนแอแต่ไม่วิกฤต

 

Comments


bottom of page