top of page
379208.jpg

เตือน 'ผู้ส่งออก' รับมือ 4 ปัญหา


Interview คุณพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา

กรรมการผู้จัดการ

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)


เหตุวิกฤตพิษ ‘โควิด-19’ มหันตภัยกระทบการส่งออกไทย/โลก ส่งผลให้มีการขอร้อง ‘พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา’ อยู่ทำหน้าที่กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK วาระ 2 อีก 6 เดือนครบ 60 ปีจนเกษียณ เตือน ‘ผู้ส่งออกไทย’ รับมือ 4 ปัญหา ต้องระวัง หนึ่ง กระบวนการผลิต สอง ผู้ส่งวัตถุดิบหรือ Supply สาม เตรียมเงินสด/เงินทุนให้พร้อม สี่ ฐานะการเงินของลูกค้าเปลี่ยนไปหรือไม่หลังเจอพิษโควิด แนะ ‘ผู้ส่งออกไทย’ ป้องกันตัวเองด้วยการซื้อประกันภัยส่งออก-ประกันความเสี่ยงค่าเงิน หรือไม่อย่างนั้นถ้าคิดไม่ออกบอก EXIM BANK พร้อมช่วย

ล่าสุดมานี้คุณพิศิษฐ์ได้ต่ออายุการทำงานให้อยู่ต่ออีกวาระนึง

ใช่ในระหว่างนี้อาจจะไม่มีผู้ที่เหมาะสม ส่วนตัวก็ได้แสดงเจตจำนงไปแล้ว ว่าไม่ต้องการต่อ แต่ว่ายังไม่มีผู้เหมาะสม ทางคณะกรรมการเลยมาขอให้ส่วนตัว ต่อวาระ 2 อีกสัก 6 เดือนก็จะครบ 60 แล้ว ก็เลยตั้งใจว่าจะพอ แต่ก็เห็นเป็นเพราะว่าผู้ใหญ่และทางคณะกรรมการอาจจะมองเห็นว่ามันเป็นภาวะจำเป็น ช่วงนี้จึงไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก สถานการณ์ขณะนี้เป็นภาวะหนัก การส่งออกเศรษฐกิจโดยรวมมันตก และเศรษฐกิจโลกก็ตก เพราะฉะนั้นการส่งออกก็จะโดน 2 เด้งเลย ทั้งเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจต่างประเทศ


สถานการณ์การส่งออกไทยผ่านไป 5 เดือน ปี 2563 ที่เป็นประเด็นและมีความน่าเป็นห่วง

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ เกิดจากสงครามการค้าของ 2 ประเทศยักษ์โลก ส่วนของเราเป็นตัวมดก็เลยโดนไปด้วย ส่วนนี้คือส่วนแรก ส่วนที่สองก็คือกำลังซื้อของผู้บริโภคทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าของเรา ก็เปลี่ยนไป เพราะว่ากำลังซื้อเขาเปลี่ยน อย่างเช่นของเราก็เช่นกัน ของทั่วโลกก็จะเปลี่ยนเพราะฉะนั้นกำลังซื้อก็จะลดลงโดยรวมเลย สุดท้ายจะมีคนตกงานค่อนข้างมาก ในภาวะนี้ รูปแบบก็จะเปลี่ยน

แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคก็จะเริ่มเปลี่ยน เพราะว่าเริ่มคุ้นชิน กับการ Work from Home ในแต่ละจุด อะไรที่ไม่จำเป็น ก็จะมีการ Work from Home กันได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น หลายๆ รูปแบบของการทำงาน ก็จะเปลี่ยนไป ความต้องการของผู้บริโภคก็จะเปลี่ยนไป เราก็จะเปลี่ยนกันมากขึ้น ระบบเทคโนโลยีที่เดิม คิดว่ารอเวลา ก็เริ่มกลับมามีความจำเป็นมากขึ้น แล้วก็ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ตรงนี้จะมีผลกระทบกับสินค้าที่ส่งออกไปหลายประเภทเลย ส่วนนี้หวังว่าผู้บริโภค ต้องปรับตัว

ในภาวะนี้ อยากจะแนะนำผู้ส่งออก เนื่องจาก EXIM BANK มีหน้าที่ช่วยเหลือ ดูแลผู้ส่งออก อันดับ 1 เลยอยากให้ผู้ส่งออกดูแลว่า กระบวนการผลิตของตนเอง ควรต้องปรับปรุงอย่างไร มีประสิทธิภาพหรือไม่อย่างไร จะเห็นว่าตอนปิดโรงงาน ตอนหยุดอะไรทั้งหลาย ก็ต้องหันกลับมาดูตัวเอง ขาดบางอย่างไปก็ยังทำงานได้ ก็แสดงว่าประหยัดไปได้แล้ว และนั่นคือรูปแบบ ก็จะเห็นได้ชัดว่า บางอย่างไม่ต้องใช้ก็ยังได้ พอได้ก็แสดงว่า มันก็น่าจะโอเค ใช่หรือไม่ ก็จะประหยัดต้นทุนประหยัดกระบวนการทำงานไปได้ ตรงต้นทุนก็จะลดลง

อันดับที่ 2 ที่อยากให้ดู ก็คือเรื่อง Supply หรือคนที่ส่งของให้เรา รูปแบบจะเปลี่ยนไปหรือไม่ เราจะสามารถใช้อย่างอื่นทดแทนได้หรือไม่ ในภาวะนี้ เราจะเห็นบางอย่าง เขาส่งของมา บางอย่างขาดไป แล้ว ตรงนี้ เราจะทำอย่างไร เราอาจจะซื้อบางอย่างทดแทนได้ใช่หรือไม่ ในภาวะอย่างนี้ จะเห็นได้ว่า รูปแบบเราอาจจะมีโอกาส เปลี่ยนแปลง ในการที่จะไปซื้อของ ซื้อ Supply แต่บางอย่างไม่เปลี่ยน ก็ไปดูต่อว่า เขาสามารถลดการผลิตใดได้หรือไม่

ส่วนประการที่ 3 เมื่อการส่งออกกลับมา อยากให้ทุกคนเตรียมกระแสเงินสด หรือว่าเตรียมช่องทาง ในการที่จะหาว่า ถึงเวลาแล้ว ถ้ากระบวนการผลิต การสั่งซื้อกลับเข้ามา เราจะต้องเตรียมเงินหรือว่าไปหาธนาคาร เตรียมการเรื่องการขอกู้เอาไว้ เพื่อที่จะได้กลับมาผลิตได้อีก

อันดับสุดท้าย ขอให้ทุกคนระวังอย่างยิ่ง เพราะ คู่ค้าของเราคือผู้ซื้อของเราที่อยู่ต่างประเทศฐานะการเงินของเขาอาจจะเปลี่ยนแปลงไป เขาขาดสภาพคล่องไปพอสมควร ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพราะเราเห็นว่า ในประเทศของเรา ทุกแบงก์ก็ยืดหนี้ คู่ค้าของเรา เวลาขายของก็จะขายไม่ได้ ก็มีโอกาส ดูสภาพคล่องของเขาจะหายไป และมีโอกาสที่เขาจะขาดทุน เพราะฉะนั้น ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง


เราจะมีการตรวจสอบฐานะการเงินของคนสั่งซื้อ EXIM BANK เราจะช่วยอะไรได้บ้าง

ก็มี เราเองมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา แบงก์เองมีศูนย์รับให้คำปรึกษาสำหรับผู้ประกอบการ ฉะนั้นเรายินดีแนะนำ กรณีผู้ประกอบการอยากจะได้คำแนะนำว่าควรจะต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตอย่างไร จะมีความรู้ทางการเงิน ป้องกันความเสี่ยงอย่างไรบ้าง หรือว่าอยากจะรู้เรื่องคู่ค้า มีฐานะแข็งแรงหรือไม่ ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ควรจะซื้อประกันความเสี่ยงทางด้านการส่งออก ก็คือฐานะของผู้ซื้อ ตรงนี้มีความสำคัญ เพราะถ้าเกิดท่านส่งของไปแล้ว และผู้ซื้อไม่จ่ายเงิน ก็มีโอกาสที่จะเจ๊ง ตรงนี้เป็นข้อแนะนำ


กรณีที่มีออร์เดอร์เข้ามา และเราต้องไปผลิตของส่งเขา แต่ว่าไม่มีเงินทุน ทาง EXIM BANK จะช่วยได้หรือไม่

สำหรับผู้ส่งออก เรามีโปรแกรมที่จะช่วยผู้ส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่านมีออร์เดอร์ ท่านก็มาหารือกับทาง EXIM BANK ได้ เรามีโปรแกรมที่จะช่วยท่าน สามารถที่จะให้เงินกู้ท่านได้ กรณีท่านมีออร์เดอร์จากต่างประเทศมา ท่านจะได้นำเงินไปผลิตสินค้า เพื่อทำการส่งออก


ดูจากข่าวเห็นมีซอฟต์โลนจากแบงก์ชาติ แล้วให้แบงก์ใหญ่ๆ ไปกู้ ทำให้มีต้นทุนถูกๆ ขณะที่ EXIM BANK เราไม่มีอะไรพิเศษบ้างหรือ

ของเราจริงๆ อยากช่วย แต่ว่าถ้าเราช่วยเกินปกติไม่ได้ ก็จะมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่อง คือเราเอง โดน Monitor หรือโดนจำกัด เช่นบางประเทศ ไม่ให้เอาเปรียบบางประเทศ เพราะฉะนั้นก็เลยทำให้บางอย่างเราไม่สามารถทำได้เต็มที่ อย่างเช่นซอฟต์โลนอะไรทั้งหลาย สมัยก่อน กว่า 20 ปีที่แล้ว จะมีซอฟต์โลนจำได้หรือไม่ พอเราเข้า WTO เขาก็เลยบังคับว่าจะต้องไม่มี ถ้ามีก็ต้องเป็นอัตราดอกเบี้ย ตลาดไม่ได้เอามาสนับสนุน เพราะฉะนั้น ยกเว้นบางอย่างที่เราทำคู่กันไปกับผู้ประกอบการทั่วประเทศไทย ไม่จำกัดเฉพาะผู้ส่งออก ยกตัวอย่างเช่นโปรแกรมที่ท่านต้องการ ก็คืออยากจะเปลี่ยนเครื่องจักร เราก็จะมีโปรแกรมดอกเบี้ย 2% กู้ยาวถึง 7 ปี ตรงนี้เป็นดอกเบี้ยถูกที่รัฐบาลสนับสนุน ทั้งผู้ประกอบการที่ทำการส่งออกโดยตรง ส่วนนี้ก็จะเป็นโปรแกรมที่พอช่วยได้


ตอนนี้เรามีปัญหาเรื่องการบินไทย ต้องเข้าสู่แผนล้มละลาย คราวนี้ผู้ประกอบการที่ใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ แล้วมีปัญหากันบ้างหรือไม่

บางรายก็มี แต่บางรายก็ปรับตัวได้ เขาก็จะสามารถที่จะไปออร์เดอร์หรือเปลี่ยนวิธีการ หรือเปลี่ยนกระบวนการได้ ยกตัวอย่างเช่น เดิมเคยใช้คาร์โก้การบินไทย ตอนนี้ก็ไปใช้คาร์โก้ของบริษัทคาร์โก้โดยเฉพาะ พอจะมีอยู่บ้างตอนนี้คาร์โก้ของแอร์ไลน์ บางส่วนก็ยังมีอยู่แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือว่า การเดินเรือ ก็ยังเดินเรืออยู่ปกติ ในทุกประเทศยังไม่มีการปิด เพียงแต่ว่าเขาอาจจะเข้มงวด อาจจะมีโอกาสทำให้ต้นทุนสูงขึ้นนิดนึง อย่างไรก็ตาม จังหวะนี้น้ำมันถูกลงมา ก็เป็นการช่วยลดต้นทุนไปด้วย นั่นคือเหตุผลที่ส่วนตัวบอกว่า ต้องไปดูว่าช่องทางหนึ่งกระบวนการในการจัดจำหน่ายเรา ต้องไปทบทวนดูว่า มันจะต้องเปลี่ยนอย่างไรบ้าง ในภาวะนี้ และในภาวะที่จะกลับขึ้นมาทั้งหลาย ต้องเตรียมการให้ดี

วันนี้ค่าเงินบาท กลับมาแข็งค่าอีกแล้ว ลูกค้าผู้ส่งออกบ่นกันหรือไม่

ก็มีบ้าง คือตอนนี้เนื่องจากว่า จะเป็นทั่วประเทศทางเอเชีย ค่าเงินบาทที่มันผันผวน ก็เนื่องจากว่า ความมั่นใจของคนทั่วไป เริ่มกลับมามั่นใจประเทศไทยมากขึ้นมองว่าเราได้รับผลกระทบก็จริง แต่ผลกระทบที่ได้รับอาจจะใกล้เคียงคนอื่น หรืออาจจะน้อยกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้น ความมั่นใจในประเทศไทยก็เริ่มกลับมาดีขึ้น นั่นคือรูปแบบก็เลยทำให้ค่าเงินเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นนิดนึง แต่ยังไม่มากเทียบเท่าสมัยก่อนที่ลงไป ถึง 30 บาท ตอนนั้นหายไปเยอะทีเดียว ภาวะนี้ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ อยู่ประมาณ 32 บาท ก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าจะรับได้ เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง เราอาจจะแข็งกว่าคนอื่น ประมาณ 2% ถึง 3% ถือว่ายังไม่มาก ยังพอรับได้

อยากแนะนำผู้ประกอบการว่า คือตอนที่ท่านขายของไป ก็รู้ว่าราคาอยู่ประมาณนี้ ถ้าพอมีกำไร อย่างที่เราโค้ดไป ขอให้ป้องกันความเสี่ยงเอาไว้จะดีที่สุด


คืออย่าไปเก็งกำไรค่าเงิน

ใช่ อย่างไรก็ตามมีอีกเรื่องหนึ่งเราเองกำลังมีโปรแกรมช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ที่ส่งออก กำลังจะมีโปรแกรมพิเศษอยู่ ให้ท่านเข้ามาเรียนอบรมเกี่ยวกับเรื่องความรู้ทางด้านความเสี่ยงทางการเงิน หรือความเสี่ยงของการค้าระหว่างประเทศ ตรงนี้เราจะร่วมกับสมาคมธนาคาร และทางแบงก์ชาติด้วย จัดอบรมพร้อมกัน ก็จะมีคูปองแถมไปให้ เพื่อให้ท่านได้นำทดลองไปใช้ ก็จะมีคูปองเอาไปให้ใช้พอสมควรเลย 50,000 บาทอย่างนี้ ตรงนี้เป็นโปรแกรมที่กำลังจะจัด เดิมจัดแล้วแต่ว่า มีโควิด-19 มา จึงได้หยุดไป เพราะว่าผู้ประกอบการต้องแสดงตัวตน ตรงนี้อยู่ในกระบวนการที่จะกลับมาทำใหม่ เพื่อช่วยผู้ประกอบการให้มีความรู้และให้ทดลองนำออกไปใช้ก็สามารถที่จะได้เงินไปได้ใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยง

ตรงนี้สามารถสมัครได้ที่ EXIM BANK หรือธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดเลย รออีกสักนิดนึงเราเริ่มกำลังกลับมาใหม่ จะช่วยผู้ประกอบการส่งออกได้มาก

64 views

Comments


bottom of page