top of page
369286.jpg

ศึกหนักส่งออก 'บาท' แข็งซ้ำ....แนะรักษาตลาดเก่า เปิดตลาดใหม่



ส่งออกไทยครึ่งแรกปี 67 โต 2% ตามที่คาด สินค้าที่เป็น Key Highlights คือยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แต่ครึ่งปีหลังส่งออกน่าจะโต 1% เพราะมีปัญหาเรื่องเงินบาทแข็งค่า ปัญหาสงครามการค้าและปัญหาสงครามในภูมิภาคสำคัญของโลก หวัง...ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ Geopolitics จะอยู่ในพื้นที่จำกัด ไม่ขยายลุกลามเป็นวงกว้าง ไม่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เตือนผู้ส่งออกจับตา เฝ้าระวังและเตรียมรับมือผลกระทบจากปัญหา Geopolitics คือราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาเรื่องกระแสเงินสดในกรณีที่ส่งมอบสินค้าไม่ได้ ปัญหาเรื่องนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตไม่ได้ รวมถึงต้องรักษาตลาดเดิมและเปิดตลาดใหม่ได้ ถ้าเป็นไปได้ควรมองตลาดส่งออกใกล้บ้านเพื่อลดความเสี่ยงและลดต้นทุนในการส่งออก

 

Interview : คุณชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

 

เรื่องความตึงเครียดครั้งใหม่ในตะวันออกกลางและในโลกกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ผู้ส่งออกหรือสภาผู้ส่งออกประเมินสถานการณ์อย่างไร

           

อย่างที่เราติดตามตัวเลขการส่งออกถือว่าครึ่งปีทำได้ดี โต 2% ก็เป็นไปตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้ แต่คราวนี้จะเห็นได้ว่าถึงแม้ครึ่งปีแรกเราไม่มีปัญหามากนัก มีปัญหาแค่ในเรื่องของค่าระวางเรือรวมถึงเรื่องของระยะเวลาการเดินทางของเรือที่จะส่งสินค้าไปตะวันออกกลางหรือทางยุโรปมีความท้าทายมากขึ้น จะเห็นได้ว่าผู้ส่งออกปรับตัวมาโดยตลอดตั้งแต่ช่วงโควิดเป็นต้นมา คำถามคงอยู่ที่ว่าแล้วในครึ่งปีหลังเรามองอย่างไรโดยภาพรวมแม้จะเกิดปัญหาอะไรก็ตาม เราก็มองแล้วว่าถ้าเราทำตัวเลขได้อยู่ที่ 23,800 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนในครึ่งปีหลัง เราก็คิดว่าส่งออกจะโต 1% ก็น่าจะเป็นไปได้สูงมาก แต่ถ้าเป็น 2% ตลอดทั้งปีต้องมีใส่ในเรื่องของความพยายาม รวมถึงในปัจจัยภายนอกต่างๆ ก็จะต้องไม่กระทบกับในเรื่องของสิทธิการส่งออกของประเทศไทย เพราะถ้าจะต้องเติบโตถึง 2% แล้วเราต้องส่งออกให้ได้ถึง 24,300 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ถือว่าเป็นอะไรท้าทายมาก

 

6 เดือนที่ผ่านมา ภาพธุรกิจและอุตสาหกรรมดูอาจจะอ่อนแรงไป ไม่เข้มแข็งเหมือนเดิม มีภาคไหนบ้าง

           

ก็ต้องเอาสินค้าที่เข้มแข็งก่อน แน่นอนว่าน่าจะเป็นข้าวเพราะครึ่งปีแรกก็โตถึง 48% แล้วยางพาราปีนี้ราคาดี ทำให้ตัวเลขการส่งออกครึ่งปีแรกเติบโตถึง 30.6% อาหารสัตว์เลี้ยงยังถือว่าทำได้ดี 6 เดือนแรกน่าจะอยู่ที่โต 26% ส่วนตัวหนึ่งคือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่แม้จะเป็นห่วงในเรื่องของสินค้าที่เราผลิตว่าอาจจะล้าสมัย แต่เรามีสินค้าใหม่จากการลงทุนเพิ่ม ทำให้สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ใน 6 เดือนแรก เติบโตถึง 12% นี่คือพวกสินค้าที่น่าจะเป็นคีย์ไฮไลต์ได้ เป็นตัวเด่นได้

           

แต่ถ้าถามว่า 6 เดือนแรกตัวไหนบ้างที่น่าเป็นห่วง แน่นอนว่าเป็นสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นพวกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ส่วนด้านอุตสาหกรรมแน่นอนว่าคือเรื่องของรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่ครึ่งปีแรกเขาทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ติดลบ 4% และอีกตัวหนึ่งคือสินค้าปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ซึ่งตัวนี้ติดลบถึง 4%

 

ครึ่งปีแรกค่าเงินบาทอ่อนอยู่ที่ระดับ 36-37 กว่าๆ แต่ครึ่งปีหลังเงินบาทกลับมาแข็งค่า เพราะเงินดอลลาร์เริ่มอ่อน และมีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยด้วยสองเรื่องนี้จะเป็นปัญหาต่อการส่งออกไหม เพราะขาดตัวช่วยไป

           

ในครึ่งปีแรกเฉลี่ย 6 เดือนค่าเงินบาทอยู่ที่ 35.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สินค้าที่เราส่งออกแล้วทำได้ดีคือพวกสินค้าเกษตร ตัวนี้ถือว่าค่าเงินบาทก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การส่งออกของเราในครึ่งปีแรกสามารถทำได้ดี เพราะตัวสินค้าเกษตรเติบโตอยู่ถึง 3.3% ซึ่งก็ยังหวังว่าค่าเงินบาทจะเป็นปัจจัยบวกในครึ่งปีหลัง เรามองว่าถ้าอยู่ในกรอบ 34-36 บาท เราก็น่าจะยังบริหารจัดการได้ แต่ก็น่าจะเป็นตัวหนึ่งซึ่งทำให้ผู้ส่งออกอาจจะต้องระมัดระวังเวลาที่เรานำเสนอกับลูกค้า เพราะสินค้าส่งออกเป็นอะไรที่เราจะต้องคาดการณ์เยอะ ยกตัวอย่างเช่นเราจะทำข้อตกลงกันในต้นเดือนสิงหาคม เราจะได้รับเงินแน่นอนอาจจะประมาณตุลาคมหรือพฤศจิกายน เพราะเราจะต้องผลิตและเราส่งมอบเสร็จเมื่อลูกค้าได้รับสินค้าแล้วถึงค่อยชำระเงิน อย่างน้อยก็มี 3-4 เดือน ตัวนี้เป็นตัวหนึ่งซึ่งเราจะต้องประกันความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนไว้ด้วยในครึ่งปีหลัง

 

แล้วเรื่องสงครามการค้าที่จะเริ่มตั้งกำแพงภาษีกันอีก

           

ในมุมมองของสภาผู้ส่งออกฯ เรายังประเมินในแง่บวก เพราะเราดูตัวเลขย้อนหลังไปเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา สินค้าไทยก็ได้รับอานิสงส์จากการที่เกิดเรื่องของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐในช่วงแรกๆ คือ 6-7 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าการส่งออกของประเทศไทยไปทางสหรัฐได้รับอานิสงส์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยางล้อรถยนต์ เรื่องชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เรายังมองว่าในเรื่องของการย้ายฐานการผลิตมีแน่นอน แต่ก็คงไม่ใช่แต่เฉพาะประเทศไทย คงรวมถึงเพื่อนบ้านเราด้วย แต่คำถามคือเราจะทำอย่างไรที่จะทำให้ประเทศไทยได้รับอานิสงส์ ถือว่าเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส

 

ประเมินสถานการณ์ระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลอย่างไร


เราเป็นห่วง เพราะเราส่งออกไปทางกลุ่มตะวันออกกลางโดยถือว่าเป็นตลาดที่เรามองว่าเป็นตลาดยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะตลาดซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เราทำได้ดีใน 6 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกของไทยซาอุดีอาระเบียโตถึง 12% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์โต 5% เราไม่อยากให้เหตุการณ์อะไรที่รุนแรงแล้วขยายพื้นที่ไปมากกว่านี้ ถ้าจะเกิดความขัดแย้งก็ขอให้ยังอยู่ในพื้นที่ที่จำกัดเหมือนในช่วงที่ผ่านมา เรามองว่าน่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เราจะต้องเฝ้าระวัง

 

มีการเตรียมทางหนีทีไล่กันบ้างไหม สมมุติถ้าเกิดความตึงเครียด เพราะเขาพูดกันค่อนข้างเสียงดังว่าเป็นโฉมหน้าใหม่ เรื่องเก่าให้มันจบไป แต่เรื่องใหม่นี่น่ากลัวกว่าเก่า

           

ใช่ครับ เพราะปัจจัยนี้ก็เป็นปัจจัยที่มีโอกาสที่เป็นไปได้ว่าอาจจะมีความรุนแรง เป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกจะต้องจับตามอง ไม่ใช่เฉพาะแง่ของการส่งออกอย่างเดียว แต่รวมถึงในแง่ของการนำเข้าด้วย อย่าลืมว่าเราพึ่งพาน้ำมันจากตะวันออกกลางทั้งนั้น เพราะฉะนั้นผมว่าถ้ามีอะไรที่รุนแรงและขยายวงกว้าง ตรงนั้นคือจุดยุทธศาสตร์ของน้ำมันของโลกเลย

 

หลายวันนี้มีอะไรที่มันเปลี่ยนแปลงไปแบบไม่เหมือนเดิม

           

จากการเฝ้ามอง เราอยากให้ทุกฝ่ายบรรลุข้อตกลงในการที่จะยังอยู่ในพื้นที่จำกัด แล้วไม่ขยับให้เกิดความรุนแรงอะไรมากกว่านี้สำหรับผู้ประกอบการนั้น นอกจากเรื่องค่าเงินบาทแล้ว ส่งที่เราจะต้องเฝ้ามองคือเรื่องของ Geopolitics ว่าจะมีผลอะไรต่อเราบ้าง เรื่องที่หนึ่งคือเรื่องของราคาน้ำมัน บางประเทศอาจจะไม่ปรับตัว แต่ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะปรับตัว เรื่องที่ 2 เราต้องมองในเรื่องของกระแสเงินสดของเราให้ดีๆ เพราะบางทีถ้าเกิดอะไรแล้วเราส่งมอบสินค้าไม่ได้ ก็จะไม่มีเงินกลับมาหมุนเวียน แล้วช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่เราเห็นอยู่ว่าดอกเบี้ยแพงขึ้น ในเรื่องของเงินทุนหมุนเวียนก็หายากขึ้น สภาพคล่องต่างๆ ผมว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ข้อที่ 3 เราต้องมองต่อว่าเราอย่ามองแค่เพียงในเรื่องของการส่งออกอย่างเดียว เราต้องมองเรื่องของการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบอะไรต่างๆ ที่เราพึ่งพาต่างประเทศ เราก็ต้องประเมินว่าสินค้าตัวนี้มีโอกาสเสี่ยงมากน้อยขนาดไหน ก็ต้องประเมินในเรื่องของความเสี่ยง การบริหารความเสี่ยงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในช่วงนี้ เพราะต้องประเมินความเสี่ยงในหลายปัจจัยที่สำคัญ และข้อสุดท้าย คือประเทศไทยดีอย่างหนึ่ง เราส่งออกกระจัดกระจาย ก็ไม่ผิดใจกับกลุ่มประเทศใดประเทศหนึ่ง เราส่งออกไปที่สหรัฐอเมริกา จีน อาเซียนของพวกเรา และตะวันออกกลาง เพราะฉะนั้นเราต้องรักษาตลาดเดิมของเราไว้ แล้วก็พยายามกระจายความเสี่ยง ไม่พึ่งพากับตลาดใดตลาดหนึ่ง

 

ล่าสุดตลาดหุ้นตกหนัก ทองคำปรับสูงขึ้น เริ่มเห็นสัญญาณว่าจากการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐอ่อนตัวลงเกือบครึ่งหนึ่งจากเดิม ที่เคยอยู่ระดับเกือบ 200,000 ล่าสุดลงมาเหลือ 100,000 ต้นๆ เขาบอกว่าส่งสัญญาณแล้วว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ชะลอตัวเร็วกว่าที่คาด เรื่องนี้จะกระทบต่อการส่งออกของไทยมากน้อยอย่างไร

           

เราอยู่ภายใต้ความลำบากมาตั้งแต่โควิด 2562 ปีนี้ 2567 ก็ 5 ปีแล้ว ผู้ส่งออกเราปรับตัวโดยตลอด เราปรับในเรื่องของโครงสร้างราคาของเรา ปรับในเรื่องของการกระจายตัวของตลาดของพวกเรา จะเห็นได้ว่าวันนี้ในหลายผู้ประกอบการเขาก็เน้นในเรื่องของสินค้าที่มีนวัตกรรมมากขึ้น เป็นสินค้าที่สร้าง High Value Added มากขึ้น สินค้าที่มีมูลค่ามากขึ้น เราก็กระจายความเสี่ยงจากเดิมที่หาตลาดไกลก็มาตลาดใกล้มากขึ้น ในตลาดอาเซียนแล้วเราอาจจะใช้ในเรื่องของ RCEP สิทธิภาษีใน RCEP อาเซียน10 ประเทศ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อันนี้ผมว่ามาถูกที่ถูกเวลา ผมคิดว่าเราทำมาหากินในกลุ่ม RCEP น่าจะเป็นทางออกหนึ่งแทนที่การไปตลาดไกลซึ่งความเสี่ยงของค่าระวางเรือ ความเสี่ยงในเรื่องของระยะเวลา และรวมถึงเรื่องของการชะลอตัวทางด้านเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า

 

ล่าสุดมีเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเกือบ 500,000 ล้านบาทรอท่าอยู่ จะทำให้ผู้ส่งออกหันมาผลิตสินค้าเพื่อขายตลาดในประเทศมากกว่าคิดจะส่งออกไหม

           

สินค้าของพวกเราวันนี้เราทำกันทั้งผลิตเพื่อขายในประเทศและเพื่อส่งออกอยู่แล้ว ถ้ามีการกระตุ้นแน่นอนสินค้าบางตัวอาจจะได้รับอานิสงส์ในแง่ของการที่จะสามารถกระจายสินค้าให้ขายได้มากขึ้น แต่เราเห็นได้ว่าตอนนี้คู่แข่งจากต่างประเทศเข้ามาเยอะ เราต้องอย่าชะล่าใจ ต้องบริหารต้นทุนให้ดีและเหมาะสม ในครึ่งปีหลังก็เป็นห่วงหลายผู้ประกอบการ เพราะค่าแรงก็จะปรับตัว ค่าพลังงานก็ปรับตัว ค่าขนส่งปรับตัว จึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องทำอยู่ตลอดเวลาในแง่ของการลดต้นทุนเรื่องของการผลิต

 

ถ้าต้องเลือกระหว่างส่งออกกับขายในประเทศนี้ คิดว่าผู้ส่งออกจะเลือกอะไร ผู้ผลิตจะเลือกอะไร

           

ก็คงขึ้นอยู่กับตลาดของแต่ละคน แต่ถ้าดูในภาพรวมคือทำมาหากินใกล้ดีกว่าหากินไกล เพราะกินไกลมันจะเจอปัญหาในเรื่องของ Logistic Cost มันจะทำให้เรื่องของกำไรน้อยลง แต่ก็ต้องระวังเพราะตลาดในประเทศอาจจะเป็น Short Term หรือไม่ เราต้องมองตลาดที่เรารักษาไว้ด้วย การหาตลาดใหม่คือการลงทุน เพราะฉะนั้นผู้ส่งออกคงจะต้องอยู่ในสภาวะกดดันแบบนี้ตลอดไปจนกว่าที่ Geopolitics จะคลี่คลายในทั้ง 2 จุด ทั้งที่ยูเครน-รัสเซีย และ อิสราเอล-ฮามาส

14 views

Comments


bottom of page